PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2559

กานดา นาคน้อย ทุนกองทัพไทย (3) : ที่ดินกองทัพบก


กานดา นาคน้อย ทุนกองทัพไทย (3) : ที่ดินกองทัพบก
บทความนี้เป็นตอนที่ 3 ในซีรีส์ “ทุนกองทัพไทย”   บทความ2 ตอนแรกอธิบายถึงกรรมสิทธิ์“ทุน”ของกองทัพไทยในธุรกิจต่างๆ  กล่าวคือธนาคารพาณิชย์  ฟรีทีวี  และสถานีวิทยุ เพื่อชี้ให้เห็นว่ากองทัพไทยคือกลุ่มทุนที่ผูกขาดในบางธุรกิจมานานกว่าครี่งศตวรรษ[1] [2]  ความเป็นกลุ่มทุนของกองทัพไทยเป็นเอกลักษณ์ของทุนนิยมแบบไทยๆ    เพราะกองทัพในประเทศทุนนิยมอย่างสหรัฐฯและญี่ปุ่นไม่ถือหุ้นบริษัทและไม่ลงทุนในกิจการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการป้องกันประเทศ
บทความตอนนี้อธิบายเรื่องการบริหารจัดการที่ดินในครอบครองของกองทัพบก 
ที่ดินในครอบครองของกองทัพบก
กองทัพบกมีกรรมสิทธิ์ที่ดินราวๆ460,000ไร่   แต่ที่มากกว่านั้นมหาศาลคือที่ดินที่กองทัพบกครอบครองโดยไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินประเภทหลังมีมากกว่า 4ล้านไร่ซึ่งจำแนกได้เป็นที่ดินสงวนและที่ดินหวงห้ามตามประมวลกฎหมายที่ดิน   ที่ดินที่เช่าจากหน่วยงานอื่นหรือเอกชน  รวมทุกประเภทแล้วกองทัพบกมีที่ดินอยู่ในครอบครองประมาณ 5 ล้านไร่ [3]
เพื่อให้เข้าใจว่ากองทัพบกครอบครองที่ดินมากแค่ไหนก็ลองเปรียบเทียบกับการรถไฟแห่งประเทศไทยได้  การรถไฟฯมีกรรมสิทธิ์ที่ดินราวๆ 230,000 ไร่   เทียบแล้วเป็นครึ่งหนี่งของกรรมสิทธิ์ที่ดินของกองทัพบก   เมื่อเปรียบเทียบกับที่ดินในครอบครองทั้งหมดของกองทัพบกแล้วการรถไฟฯมีที่ดินไม่ถึง 1 ใน 20 หรือ 5% ของกองทัพบก
ที่ดินในครอบครองของกองทัพบกกระจายอยู่ทุกภาคทั่วประเทศ   ภาคตะวันตกมีที่ดินในครอบครองของกองทัพบกมากที่สุดคือมากกว่า 3 ล้านไร่ และกระจุกอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรีและราชบุรี
กองทัพบกคือแลนลอร์ด
ไม่ปรากฎชัดเจนว่ากองทัพบกมีที่ดินแปลงว่างกี่ไร่  ก่อนรัฐประหาร 2549 รัฐบาลทักษิณขอข้อมูล"ที่ดินแปลงว่าง"ของหน่วยราชการต่างๆเพื่อนำมาจัดสรรให้ประชาชนทำกินหน่วยราชการหลายแห่งส่งข้อมูลที่แปลงว่างให้รัฐบาลทักษิณ  กล่าวคือ  กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กรมธนารักษ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.ให้ข้อมูลที่ดินป่าสงวนแห่งชาติเสื่อมโทรมที่ได้รับมอบจากกรมป่าไม้หรือพื้นที่จำแนกออกจากป่าไม้ถาวร) กรมป่าไม้ (ให้ข้อมูลที่ดินป่าสงวนแห่งชาติที่มีผู้ครอบครองแล้ว) กรมการปกครองแจ้งว่าไม่มีที่ดินแปลงว่าง ส่วนกระทรวงกลาโหมแจ้งว่าให้ข้อมูลไม่ได้ผู้แทนกลาโหมขอไปตรวจสอบก่อน [4]
อย่างไรก็ดี  กระทรวงกลาโหมมีกฎระเบียบการให้เช่าที่ดินชัดเจนอย่างน้อยก็ตั้งแต่พศ. 2509 ซึ่งจอมพลประภาส จารุเสถียรเป็นผบ.ทบ. เช่น  มีกฎระเบียบว่าที่ดินกองทัพบกนอกเขตพระนครธนบุรีและนอกเขตเทศบาลทั่วประเทศให้เช่าเพื่อทำการค้าได้แต่ห้ามการรับช่วงเช่าต่อ[5] หลังมี พรบ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ที่ดินกรรมสิทธิ์ของกองทัพบกก็จัดว่าเป็นที่ดินราชพัสดุประเภทหนึ่ง  และกฎกระทรวงการคลังอนุญาตให้เอกชนเช่าที่ดินราชพัสดุเพื่อการพาณิชย์และอุตสาหกรรมได้ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด[6]
หมู่บ้านจัดสรรของกองทัพบก
กองทัพภาคที่ 2 ใช้ที่ดินในครอบครองที่จังหวัดนครราชสีมาทำหมู่บ้านจัดสรรให้แก่ทหารในสังกัดตั้งแต่ พ.ศ. 2545พร้อมแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือที่เรียกว่า“บ้านธนารักษ์ทบ.” ปัจจุบันโครงการที่นครราชสีมามีพื้นที่ทั้งหมด 280 ไร่ จัดสรรเป็นแปลงละ 100 ตารางวา [7]
การจัดสรรที่ดินดังกล่าวไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินแต่มีการโอนกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้าง (ในทีนี้คือบ้าน)   เจ้าของบ้านทำสัญญาเช่ากับธนารักษ์พื้นที่นครราชสีมาโครงการแรกสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปีแต่โครงการหลังๆขยายระยะสัญญาเป็นไม่เกิน 30 ปีให้เท่าระยะเวลาเงินกู้   หลังจากนั้นต่อสัญญาเช่าครั้งละ 3 ปีไม่กำหนดครั้งในการต่อสัญญา  และไม่ส่งพื้นที่คืนกรมธนารักษ์ค่าเช่าที่ดินก็ต่ำมากเพียง 300 บาทในปีแรกๆ   ปีหลังๆก็ยังราคาไม่ถึง 1,000 บาท ที่สำคัญคือให้โอนกรรมสิทธิ์ให้ทายาทได้โดยไม่มีเงื่อนไขว่าทายาทต้องเป็นทหารด้วย
ฉันคิดว่ามีที่ดินในครอบครองของกองทัพบกในจังหวัดอื่นที่โดนจัดสรรด้วย   เพราะฉันพบประกาศโฆษณาขายที่ดินจัดสรรโครงการสวัสดิการกองทัพบกที่จังหวัดปทุมธานี [8] แต่ไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าโครงการสวัสดิการดังกล่าวให้กรรมสิทธิ์เจ้าของบ้านนำไปขายต่อได้จริงๆหรือไม่
มีข้อสังเกตว่ามีหน่วยราชการอื่นจัดทำ “บ้านธนารักษ์”ในลักษณะเดียวกับกองทัพบก  คือนำที่ดินรัฐมาทำหมู่บ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมแล้วขายกรรมสิทธิ์สิ่งปลูกสร้างและเก็บค่าเช่าที่ดิน เช่น กองทัพเรือ กองทัพอากาศ กรมชลประทาน กรมสรรพสามิต และจังหวัดนนทบุรี   โครงการบ้านจัดสรรหรือคอนโดมิเนียมเพื่อข้าราชการทำให้เกิดคำถามดังต่อไปนี้
ก) ในเมื่อทหารผู้น้อยได้สิทธิ์ซื้อบ้านในที่ดิน 100 ตารางวา  ผู้เสียภาษีที่มีรายได้เท่าทหารผู้น้อยควรมีสิทธิ์ได้ซื้อบ้านในที่ดินรัฐขนาด 100 ตารางวาเช่นกันหรือไม่?
ข) ถ้ากระทรวงสาธารณสุขอยากนำที่ดินหลังโรงพยาบาลมาทำบ้านจัดสรรให้แก่ข้าราชการสาธารณสุขบ้าง  ผู้เสียภาษีจะยอมรับได้ไหม?
ค) ถ้ากรมป่าไม้อยากนำที่ดินป่าสงวนที่เสื่อมโทรมแล้วมาทำบ้านจัดสรรให้ข้าราชการกรมป่าไม้บ้าง  ผู้เสียภาษีจะยอมรับได้ไหม?
ง) นโยบายนี้เอื้อประโยชน์ให้แก่ข้าราชการเกินไปหรือไม่เมื่อเปรียบเทียบกับโครงการบ้านเอื้ออาทรที่จัดสรรให้แก่ประชาชนที่ยากจน?
สนามกีฬา สนามม้าและสนามกอล์ฟ
กองทัพบกมี“สนามกีฬากองทัพบก” ฉันเข้าใจว่าการแข่งขันฟุตบอลระดับชาติหรือระดับนานาชาติที่สนามกีฬากองทัพบกช่วยยกระดับชื่อเสียงของประเทศ แต่ฉันก็ไม่เข้าใจว่าการยกระดับชื่อเสียงของประเทศช่วยยกระดับศักยภาพในการป้องกันประเทศของกองทัพบกอย่างไร   ในขณะเดียวกัน“สนามกีฬาแห่งชาติ”ไม่มีโฉนดที่ดินเป็นของตัวเองและต้องจ่ายค่าเช่าให้แลนลอร์ด(จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)ถ้ากระทรวงกลาโหมยกสนามกีฬากองทัพบกให้เป็นสนามกีฬาแห่งชาติและเป็นกรรมสิทธิ์ของกรมพลศึกษาก็จะช่วยลดต้นทุนการลงทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพนักกีฬาไทยไปสู่การแข่งขันในระดับโลก
ส่วนสนามกอล์ฟและสนามม้าของกองทัพบกก็ควรยกกรรมสิทธิ์ให้ชุมชนใช้ประโยชน์เพื่อสาธารณะ เช่น ปรับพื้นที่ให้เป็นสวนสาธารณะ   เพราะการพัฒนาที่ดินไม่ควรเป็นงานของกองทัพโรงเรียนนายร้อยจปร.ไม่ใช่โรงเรียนผลิตนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แต่เป็นโรงเรียนผลิตทหารที่มีหน้าที่ป้องกันประเทศ นอกจากนี้ยุคนี้ไม่มีชาติไหนขี่ม้ารบกันแล้ว   ไม่ใช่ยุคอัศวินมีไพร่ในสังกัดไม่ใช่ยุคอัศวินใส่ชุดเกราะขี่ม้ารบกัน   ดังนั้นกองทัพบกก็ไม่จำเป็นต้องมีสนามม้าอีกต่อไป  
ฉันขอย้ำว่าบทความนี้อธิบายถึงที่ดินในครอบครองของกองทัพบกเท่านั้น  ไม่ได้ครอบคลุมถึงที่ดินในครอบครองของกองทัพเรือและกองทัพอากาศ
 
[3] สถิติจากผลงานวิจัยที่“วิทยาลัยการทัพบก”

ไม่มีความคิดเห็น: