PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เดินหน้าชน : ตั้งรัฐบาล‘วิน-วิน’

เดินหน้าชน : ตั้งรัฐบาล‘วิน-วิน’


ช่วงที่่ สุเทพ เทือกสุบรรณ เปิดตัวเป็นแกนนำจัดตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ถามไถ่กันให้วุ่นถึงสาเหตุที่ “สุเทพ” ยอมกลืนน้ำลาย หลังเคยประกาศวางมือทางการเมือง
ผ่านไประยะหนึ่ง เสียงวิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง โดยให้น้ำหนักไปที่พรรครวมพลังประชาชาติไทย หรือ “พรรคสุเทพ” จะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสม
เป้าหมายคือ ดัน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้ง
โดยขณะนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันหมดว่า รัฐบาลที่มาจากการเลือกสมัยหน้าจะเป็นรัฐบาลผสมแน่นอน เพราะจะไม่มีพรรคการเมืองใดชนะการเลือกตั้งแบบขาดลอยอีก
เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ได้กำหนดกติกาใหม่
เป็นกลไกสกัดพรรคเพื่อไทย ไม่ให้ผูกขาดชนะการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แม้จะถูกสกัด และการเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่ที่เข้มข้น แต่ก็ยังประเมินกันว่า พรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 1 เหมือนเดิม
พรรคอันดับ 2 จะเป็นพรรคประชาธิปัตย์ เหมือนเดิมเช่นกัน
ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ที่ประกาศสนับสนุน “บิ๊กตู่” น่าจะเข้าวินเป็นอันดับที่ 3
แม้ “กลุ่มสามมิตร” จะเป็นหัวหอกของพรรคพลังประชารัฐ และเดินหน้าแบบเต็มสูบ ก็ยากที่จะได้ ส.ส. ชนะพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์
หากผลเลือกตั้งออกมาตรงตามนี้ คือ อันดับ 1 พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 พรรคประชาธิปัตย์ อันดับ 3 พรรคพลังประชารัฐ
จะทำให้เส้นทางก้าวขึ้นเป็นนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งของ “บิ๊กตู่” จะมีปัญหาเรื่่องความไม่สง่างาม
เพราะโดยธรรมเนียม มารยาท และการเคารพเสียงของประชาชน ต้องเปิดโอกาสให้พรรคเพื่อไทยที่ชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลก่อน ซึ่งค่อนข้างแน่นอนว่า ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

จึงเป็นโอกาสของพรรคประชาธิปัตย์ พรรคอันดับ 2 ที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล
แม้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จะจับมือกับพรรคพลังประชารัฐจัดตั้งรัฐบาลได้ แต่ก็ยังไม่ถึงคิวของ “บิ๊กตู่” ที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ
เนื่องจาก อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไว้ชัดเจนแล้วว่า ส.ส.ของพรรค ต้องหนุนหัวหน้าพรรคเท่านั้น ใครจะหนุน “บิ๊กตู่” ให้ไปอยู่พรรคอื่น
ด้วยเหตุนี้ “สุเทพ” จึงต้องตระบัดสัตย์ มาเป็นแกนนำก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย เพื่อสร้างภาพลักษณ์
“บิ๊กตู่” ให้สง่างามในการขึ้นเป็นนายกฯ
โดย “พรรคสุเทพ” ที่มีฐานเสียงเดียวกับประชาธิปัตย์ ย่อมต้องเฉือนแบ่ง ส.ส. ทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อจากพรรคประชาธิปัตย์ได้จำนวนหนึ่ง
ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.น้อยกว่าที่ควรจะเป็น และหวังว่า จะแพ้พรรคพลังประชารัฐ
ซึ่งหมายถึง พรรคพลังประชารัฐจะได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 2 ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะตกไปอยู่ที่อันดับ 3 แทน
ทำให้พรรคพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้
แน่นอนว่า พรรคพลังประชารัฐจะจับมือกับพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาล พร้อมเสนอชื่อ “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ
สูตรนี้ จะทำให้เส้นทางก้าวขึ้นเป็นนายกฯของ “บิ๊กตู่” สง่างาม
ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ที่น่ารู้ตัวดีอยู่แล้วว่า ไม่มีโอกาสได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็จะได้เป็นพรรคร่วมรัฐบาล และไม่ขัดแย้งกับ “สุเทพ” ที่ตั้งพรรคแย่งฐานเสียง
“บิ๊กตู่-มาร์ค-สุเทพ” จึงจบแบบ “วิน-วิน”

วิพากษ์หมุดเลือกตั้ง ก.พ.62 เร็วกว่านี้ไม่ได้ แต่ช้าได้?

วิพากษ์หมุดเลือกตั้ง ก.พ.62 เร็วกว่านี้ไม่ได้ แต่ช้าได้?


หมายเหตุความเห็นกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมายืนยันปฏิทินการเลือกตั้งว่าในเบื้องต้นยังเป็นไปตามกำหนดเดิมที่เคยประกาศ วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 และเป็นไปตามที่คณะกรรมการเลือกตั้งระบุ



โอฬาร ถิ่นบางเตียว
คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา

ผมคิดว่าคำพูดท่านนายกฯในการสื่อสารทางการเมืองสาธารณะ มีหลักในขั้นเบื้องต้นว่าสัญญาณแบบนี้แสดงว่าการเลือกตั้งมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นปีหน้าแน่นอน แต่ในทางการเมืองเมื่อดูความสัมพันธ์ระหว่าง นายกฯ-กกต.-สนช. พบว่ามีความสัมพันธ์บางอย่างที่นายกฯสามารถมีอิทธิพลเหนือองค์กรเหล่านั้นที่จะให้ขับเคลื่อนไปตามความต้องการจริงหรือไม่ เช่น นายกฯสื่อสารว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้น ก.พ. แต่ถ้าในทางลับสื่อสารให้ สนช.หรือ กกต. ขยับไปด้วยเงื่อนไขทางกฎหมาย ก็สามารถทำได้
อีกประการคือสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้ไป ถ้า คสช.มีความได้เปรียบ รัฐบาลมีความได้เปรียบในการยึดกุมฐานคะแนนเสียง หรือกลุ่มขั้ว กลุ่มพลังทางการเมืองต่างๆ ได้มาก รัฐบาลอาจทำให้เกิดการเลือกตั้งในเดือน ก.พ.ก็ได้ เพราะตอนนี้รัฐบาลพยายามใช้โอกาสในการเดินสายหาคะแนนเสียง หรือพยายามรวบรวมกลุ่มก๊วนการเมืองต่างๆ ถ้าทำได้โอกาสเกิดเลือกตั้งจะมีสูง แต่ถ้าหลังจากนี้รัฐบาลสูญเสียคะแนนนิยม หรือกลุ่มพรรคพลังการเมืองอื่นที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาลสามารถทำให้กลุ่มก๊วนของตัวเองมีคะแนนนิยมทางการเมืองสูง รัฐบาลถูกวิพากษ์วิจารณ์มาก รัฐบาลก็อาจยื้อการเลือกตั้งได้ ซึ่งการยื้อเลือกตั้งนั้นง่ายมาก ก็บอกว่าผมเห็นว่าเลือกตั้งต้องเกิดขึ้นเมื่อ ก.พ.62 แต่กระบวนการทางนิติบัญญัติ ทาง สนช.ยังไม่พร้อม เราอาจต้องขยับไป
ที่นายกฯพูดสามารถรับฟังได้ส่วนหนึ่ง แต่ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางการเมืองหลังจากนี้ ถ้ารัฐบาลและกลุ่มก้อนมีความได้เปรียบ โอกาสที่จะเป็นไปตามที่พูดก็มีสูง แต่ขณะเดียวกันถ้าฝ่ายตรงข้ามซึ่งพูดอย่างตรงไปตรงมาก็คือฝ่ายพรรคเพื่อไทย หากสามารถตั้งหัวหน้าพรรคและปลดล็อกดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ นำไปสู่เรื่องคะแนนนิยมของพรรคเพื่อไทย การเลือกตั้งก็อาจยื้ออีกได้ ต้องมองหลายอย่าง ทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต กลุ่มก๊วนพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล และความได้เปรียบเสียเปรียบของรัฐบาลหลังจากนี้ไป
ที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาพูดครั้งนี้คิดว่าเป็นเพราะโรดแมปมาถึงจุดสุดท้ายแล้ว ไม่สามารถยื้อได้ต่อ ถนนการเมืองหรือหมุดหมายทางการเมืองที่วางไว้มาถึงที่สุดแล้ว ไม่สามารถยื้อกว่านี้ได้อีก เพราะถ้ายื้อกว่านี้จะหมดความชอบธรรมลงเรื่อยๆ และสถานการณ์หลังปีหน้า รัฐบาลประเมินไว้หลายอย่าง คือรัฐบาลสามารถรวบรวมกลุ่มก๊วนและพรรคการเมืองได้อย่างชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น เช่น พรรคพลังประชารัฐ กลุ่มสามมิตร รวมถึงโผโยกย้ายทหาร ตำรวจ ข้าราชการมีความลงตัว กลุ่มทุนมีความลงตัว กลไกสถาบันทางการเมืองต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กกต. สนช. ทุกอย่างมีความลงตัว นักการเมืองลงตัว ซึ่งอาจลงตัวช่วงนี้หรือช่วงนั้นพอดี ทำให้รัฐบาลมีความมั่นใจที่จะประกาศว่าเลือกตั้ง ก.พ.ปีหน้า
อีกอย่างหนึ่งคือเรื่องคดีความ โดยเฉพาะคดีความของคุณทักษิณและแนวร่วม จะเห็นว่ามีคดีความออกช่วงนี้เยอะมาก และจะจบปีหน้าทั้งสิ้น เราเห็นสัญญาณบางอย่างว่าเป็นการช่วงชิงความได้เปรียบทุกทาง
รัฐบาลบอกจะปลดล็อกบางอย่างในกันยายนนี้ ทั้งที่จะมีเลือกตั้ง ก.พ.62 มองว่าการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ไม่ปกติอยู่แล้ว ยิ่งถ้าปลดล็อกบางเงื่อนไขยิ่งทำให้เกิดสภาวะไม่ปกติซ้ำซ้อน จะพิการซ้ำซ้อน ถ้าติดตามการเมืองจะรู้ว่ากติกาทั้งหมดถูกร่างขึ้นมาเพื่อใช้ในการเลือกตั้ง แต่กติกานั้นไม่ค่อยเป็นประชาธิปไตยเท่าที่ควร กติกาพิการอยู่แล้ว ถ้าไม่ปลดล็อกอีก แสดงว่าคุณใช้อำนาจอภิสิทธิ์ หรือใช้ ม.44 เหนือรัฐธรรมนูญ ทำให้การเลือกตั้งเป็นแบบพิการซ้ำซ้อน เพื่อให้ตัวเองได้เปรียบ ซึ่งก็เป็นไปได้ เมื่อ คสช.มีอำนาจมากขนาดนี้และ คสช.มีเป้าประสงค์ชัดเจนในการสืบทอดอำนาจหลังการเลือกตั้ง


สุขุม นวลสกุล
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์

การที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าวันเลือกตั้งเร็วสุดคือวันที่ 24 กุมภาพันธ์ปี 62 นั้น ผมมองว่าตัวท่านเองก็คงอยากจะเลือกตั้งแล้ว แต่พรรคพวกท่านอาจจะยังไม่พร้อมและยังไม่อยากเลือกตั้ง ส่วนการออกมาประกาศยืนยันเเละย้ำว่าจะมีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์นี้ ผมว่าท่านก็พูดอย่างนี้ทุกครั้ง แต่มันก็ยังขยับได้เพราะมีการบอกด้วยว่า ยกเว้นแต่มีเหตุ ซึ่งพอถึงเวลาก็สามารถหาเรื่องไหนมาเลื่อนก็ได้ เอาเรื่องไพรมารีมาเลื่อนก็ยังได้ เพราะฉะนั้นถ้ายังไม่มีการกำหนดวันเลือกตั้งแล้วประกาศเป็นพระราชกฤษฎีกา ผมว่าคนก็ยังไม่เชื่อครับ ส่วนการเปลี่ยนวันเลือกตั้งให้เร็วขึ้น คิดว่าน่าจะไม่มีทาง แต่น่าจะมีโอกาสช้าลงหรือเลื่อนออกไป
เเล้วถ้ามีการเลื่อนอีกครั้งจะส่งผลกระทบต่อรัฐบาลหรือไม่นั้น ผมมองว่ากระทบแน่นอน เพราะการเลื่อนแต่ละครั้งเครดิตท่านเสื่อม ในแง่ของคนเป็นผู้นำที่พูดแล้วไม่เป็นไปตามที่พูด ซึ่งอย่างน้อยที่สุดวันนี้ผมตอบเรื่องวันเลือกตั้งด้วยความรู้สึกที่ไม่เชื่อถือในคำพูดท่าน เเละผมคิดว่าเราอยู่ในฐานะไม่มีอะไรที่จะเลือกได้ ไม่มีสิทธิเรียกร้อง ทุกอย่างแล้วแต่รัฐบาลกำหนด

ส่วนเรื่องการปลดล็อกทางการเมือง ความจริงมันควรจะปลดล็อกมาก่อนหน้านี้แล้วด้วยซ้ำ ซึ่งวันนี้ควรจะปลดล็อกเลย ไม่ใช่แค่คลายสถานการณ์ ผมว่าพรรคการเมืองเขาพร้อมที่จะเลือกตั้ง ไม่มีพรรคไหนบอกว่าอย่าเพิ่งเลือก แต่เรื่องนี้อยู่ที่รัฐบาล ไม่ได้อยู่ที่คนอื่นเลย ทั้งนี้ หากไม่มีการปลดล็อกก็จะมีกลุ่มหนึ่งที่เขารู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะทุกวันนี้บอกว่าล็อกไว้หมด แต่ก็มีบางกลุ่มรณรงค์หรือทำกิจกรรมกันได้อยู่
ส่วนเรื่องการกำหนดให้เลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เท่ากับว่าเหลือเวลาเพียง 6 เดือน จะส่งผลต่อการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ย้อนกลับไปเราเคยเลือกตั้งโดยใช้เวลาแค่ 30 วัน หรือ 1 เดือน ในปี 2526 ซึ่งสมัยก่อนเครื่องไม้เครื่องมือก็ไม่ได้ทันสมัยเหมือนทุกวันนี้ ดังนั้นโดยระยะแล้วเวลาสามารถทำได้เเน่นอน
อย่างไรก็ตาม วันนี้ยังไม่มีความแน่นอน มีแต่คำพูด ซึ่งเหมือนที่เคยพูดมาเเล้วหลายครั้ง


พงศ์เทพ เทพกาญจนา
อดีตรองนายกรัฐมนตรีและแกนนำพรรคเพื่อไทย(พท.)

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรอบระยะเวลาการเลือกตั้งไว้วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ว่าเป็นช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมนั้น เข้าใจว่าคงดูตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบการเลือกตั้ง หรือกฎหมายลูกว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ส. ซึ่งระยะเวลาต่างๆ ถูกกำหนดขึ้นโดยกรอบของกฎหมายทั้งสิ้น โดย กกต.กำลังทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง และทำให้เกิดความเชื่อมั่นขึ้นในประเทศ
ส่วนจากท่าทีของนายกรัฐมนตรีและ คสช. เชื่อได้หรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในกรอบระยะเวลาดังกล่าวจริง รัฐธรรมนูญแม่น้ำ 5 สาย ก็เป็นคนทำให้เกิดขึ้น กฎหมายลูกต่างๆ ก็ได้มีการกำหนดกรอบระยะเวลาไว้ โดยผู้กำหนดก็คือแม่น้ำ 5 สายทั้งสิ้น คณที่ไม่ได้มาจากประชาธิปไตยตราบใดที่ยังไม่มีการเลือกตั้งก็จะสามารถอยู่ในอำนาจได้ต่อไปเรื่อยๆ แต่สภาวะความไม่เป็นประชาธิปไตยนี้ ไม่เป็นประโยชน์ต่อคนไทย และไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะทำให้เรามีปัญหาด้านเศรษฐกิจ การเจรจาการค้าจะลำบากเนื่องจากประเทศคู่ค้าเขาไม่เจรจากับเราเพราะไม่มีความเชื่อมั่น นอกจากนี้ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสิทธิเสรีภาพของคนในสังคมถูกจำกัด ดังนั้นคนส่วนใหญ่ของประเทศคือผู้ที่เสียหาย มีเพียงคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มเดียวเท่านั้นที่ได้ประโยชน์
ส่วนเชื่อหรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นได้จริงตามกรอบระยะเวลาที่ กกต.กำหนด คงหนีไม่พ้นคือยังไม่เชื่อ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องใช้สารพัดข้ออ้างจนหมดความน่าเชื่อถือ จากนี้ไปคงไม่มีข้ออ้างอะไรที่ประชาชนในประเทศหรือต่างประเทศเขาจะเชื่ออีกแล้ว

ไชยวัฒน์ ไตรยสุนันท์
อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.)

กรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ระบุว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 แต่มีเงื่อนไขว่าถ้าไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ก็จะพิจารณาอีกครั้ง ว่าการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปของ พล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ถือว่าแปลกและแตกต่างจากทุกครั้ง ก่อนหน้านี้ที่เลื่อนมาแล้ว 4 ครั้ง และการที่ พล.อ.ประยุทธ์กำหนดวันเลือกตั้งว่าเป็นวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 ตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดใหม่ระบุ แต่ที่ยังมีเงื่อนไขเรื่องความไม่สงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งน่าแปลกทั้งที่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ มาจาก คสช. ที่ทำการรัฐประหารยึดอำนาจ ถือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดและเข้ามาบริหารบ้านเมืองกว่า 4 ปีแล้ว แต่ตัวหัวหน้า คสช. ที่เป็นนายกฯเองยังพูดถึงความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง เท่ากับว่าท่านกำลังยอมรับว่าที่ คสช. ยึดอำนาจมาบริหารเองนานกว่า 4 ปี แต่ยังไม่สามารถทำให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อยเช่นนั้นหรือไม่
ผมอยากบอกสังคมว่า อย่าพึ่งตั้งความหวังหรือเชื่อถือคำพูดไปทั้งหมด เพราะที่นายกฯกล้ากำหนดวันเลือกตั้งครั้งนี้ เนื่องจากรู้ว่าประชาชนต่างรอคอยความหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีขึ้น หลังจากมีการเลือกตั้งแล้ว อยากบอกว่ารัฐบาลและ คสช. จะจัดเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น ผมไม่อยากให้มาบอกล่วงหน้าแต่อ้างเงื่อนไขต่างๆ นานา ที่สามารถเลื่อนออกไปได้อีก มันก็เหมือนกับการหลอกให้ความหวังกับประชาชนไปเรื่อยๆ เพราะหากมีความจริงใจว่าจะพร้อมจัดเลือกตั้งเมื่อใดก็ขอให้ประกาศกำหนดวันให้ชัดเจน โดยไม่ติดโรคเลื่อน ไม่มีเงื่อนไขต่างๆ จะดีกว่า
แต่ถ้าจะให้ดีที่สุด คสช.ต้องปลดล็อกพรรคการเมืองก่อน อย่ารอความพร้อมของพรรคการเมืองที่จะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และ คสช. ให้กลับมาเป็นนายกฯหรือรัฐบาลต่อในอนาคต เพราะพรรคการเมืองส่วนใหญ่ขณะนี้ต่างมีความพร้อมกันหมดแล้ว รอเพียงการปลดล็อกทางการเมืองเท่านั้น

‘เพื่อไทย’ ร่อนแถลงการณ์ จี้ คสช.ปลดล็อกการเมืองโดยสิ้นเชิง เปิดทางเลือกตั้งเสรี

‘เพื่อไทย’ ร่อนแถลงการณ์ จี้ คสช.ปลดล็อกการเมืองโดยสิ้นเชิง เปิดทางเลือกตั้งเสรี


“เพื่อไทย” ร่อนแถลงการณ์ จี้ คสช. ปลดล็อกการเมืองโดยสิ้นเชิง เพื่อเปิดทางสู่การเลือกตั้งที่เสรี
เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่าพรรคเพื่อไทย(พท.) ได้ออกแถลงการณ์เรื่องเรียกร้องให้ปลดล็อกการเมืองโดยสิ้นเชิง เพื่อเปิดทางสู่การเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน โดยแถลงการณ์ระบุว่า ตามที่นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ได้กล่าวหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า การเลือกตั้งจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 นี้ถ้าบ้านเมืองสงบ โดยที่รัฐบาลและ คสช.ได้ยืนยันเองหลายครั้งว่าประสบความสำเร็จในการทำให้ประเทศสงบมาตั้งแต่ยึดอำนาจในปี 2557 จึงไม่อาจอ้างความไม่สงบเพื่อเป็นเหตุในการเลื่อนการเลือกตั้งออกไปได้อีก อีกทั้งในขณะนี้รัฐบาลและ คสช.อยู่ในอำนาจจะย่างเข้าปีที่ 5 ซึ่งนานกว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทุกรัฐบาล พรรคเพื่อไทยเห็นว่าการที่ประชาชนยังไม่มีสิทธิเลือกตัวแทนของตนไปบริหารประเทศ ทำให้ประเทศว่างเว้นการมีรัฐบาลที่มาจากประชาชนเป็นเวลานาน ย่อมกระทบต่อหลักพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย กระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาคมโลกดังที่เป็นมาตลอดในห้วงเวลาของการยึดอำนาจ ทั้งนี้ เนื่องจากเหลือเวลาอีกเพียงประมาณ 6 เดือนก็จะถึงการเลือกตั้ง ซึ่งทุกพรรคการเมืองต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ คำสั่งของหัวหน้า คสช. และดำเนินการอื่นๆ รัฐบาลและ คสช.มีหน้าที่นำประเทศเดินไปสู่การเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และน่าเชื่อถือ พรรคจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลและ คสช.ยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และคำสั่งที่ 57/2557 ที่ห้ามมิให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมือง ตลอดจนยกเลิกเงื่อนไขและข้อห้ามอื่นใด ตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 ทั้งนี้ ควรยกเลิกโดยสิ้นเชิงเบ็ดเสร็จ มิใช่เพียงการ “คลายล็อก” พรรค พท.ไม่เห็นด้วยที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯแถลงว่าจะมีการปลดล็อกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกคือ ช่วง 90 วันหลังกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ จะปลดล็อกบางส่วน เช่น ให้มีการประชุมพรรค การจัดตั้งสาขาพรรค การทำไพรมารี ฯลฯ ช่วงที่ 2 คือ หลังพ้น 90 วันแล้วจะปลดล็อกทั้งหมดให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมได้ทุกอย่างตามกฎหมาย

แถลงการณ์ระบุอีกว่า พรรคขอเรียกร้องให้มีการปลดล็อกทั้งหมดโดยทันที ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 1.พรรคการเมืองต้องใช้เวลาในการจัดทำนโยบายเพื่อให้ประชาชนพิจารณาในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะพรรคต้องประชุมปรึกษาหารือ ลงพื้นที่พบปะและรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปการเมืองตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดมาตรการให้การจัดทำนโยบาย การส่งผู้สมัคร การจัดทำข้อบังคับพรรค จะต้องให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง ไม่นับรวมที่พรรคจำเป็นต้องศึกษาว่านโยบายที่จะประกาศใช้นั้นเป็นไปตามเงื่อนไขข้อจำกัดที่ คสช.ได้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างยิบย่อยมากมายหรือไม่ อย่างไร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวล้วนต้องใช้เวลาทั้งสิ้น และเวลาเพียง 6 เดือนนี้ไม่พอเพียงด้วยซ้ำ 2.พรรคการเมืองต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายใหม่และคำสั่งของ คสช. ไม่ว่าจะเป็นการหาสมาชิกใหม่แทนสมาชิกเก่าที่พ้นสภาพไป และการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองใหม่เนื่องจากสาขาเก่าต้องยุบไปตามคำสั่ง คสช.ที่ 53/2560 การประชุมพรรคการเมือง การเลือกตั้งกรรมการบริหารพรรค และการจัดทำไพรมารี และยังไม่ชัดเจนว่ารูปแบบจะเป็นอย่างไร ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวล้วนต้องใช้เวลาพอสมควร 3.การเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และน่าเชื่อถือ ประชาชนต้องมีสิทธิเสรีภาพ และต้องมาจากการแข่งขันที่เป็นธรรม การแข่งขันของทุกกลุ่ม ทุกพรรคที่จะลงเลือกตั้ง ต้องอยู่ภายใต้กติกาเดียวกัน ไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดได้เปรียบอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น จึงควรให้ทุกพรรคการเมืองได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่เกิดการเลือกปฏิบัติหรือแบ่งแยกเป็นพรรคเก่า พรรคใหม่ และ 4.การปลดล็อกทางการเมือง และความชัดเจนของการเลือกตั้ง จะสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศสอดคล้องกับความต้องการของประชาชน
“พรรค พท.ยึดถือประโยชน์ของชาติมาก่อนประโยชน์ของพรรค การปลดล็อกทางการเมืองโดยเบ็ดเสร็จสิ้นเชิง ให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมต่างๆ ไม่ได้เรียกร้องเพื่อประโยชน์ของนักการเมือง แต่เป็นความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศ และให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มีความเป็นเสรี เป็นธรรม และน่าเชื่อถือ เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้า สร้างความผาสุกแก่พี่น้องประชาชน พาประเทศก้าวหน้าและประชาชนจะได้ประโยชน์” แถลงการณ์ระบุ

“ทักษิโณมิกส์” ปะทะ “ประชารัฐ” นำการเมืองพ้นวัฏจักรน้ำเน่า

“ทักษิโณมิกส์” ปะทะ “ประชารัฐ” นำการเมืองพ้นวัฏจักรน้ำเน่า


อ่านข่าวการเมืองวันนี้ เหมือนย้อนไปอ่านข่าวเก่าเหมือน 20 ปีที่ผ่านมาอย่างไม่ผิดเพี้ยน
ภาพนักการเมืองจำพวกหน้าเก่าๆ คนเก่าๆ จับกลุ่มรวมตัวเดินสายจีบอดีตส.ส.ก็ไม่พ้นพวกคุ้นหน้าคุ้นตา กลุ่มคนพวกนี้ทำการเมืองไม่ต่างเป็นพวกนายหน้า หรือ ล็อบบี้ยีสต์ ทาบทามอดีตส.ส.เข้ามาร่วมด้วยเงื่อนไขต่างๆนานา ซึ่งหนีไม่พ้นผลประโยชน์ส่วนตัวนำหน้า เอาผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นเรื่องรอง
ส่วนพรรคนอมินีของรัฐบาล ถ้าไม่พลิกโผหนีไม่พ้น พลังประชารัฐ ที่ใช้กลุ่มทุนเครือข่ายประชารัฐ เรื่องทุนรอนไม่ต้องพูดถึง น่าจะสายป่านยาวกว่าเพื่อน ก็ใช้กลยุทธ์ทั้งพระเดชพระคุณ นอกจากยื่นเงื่อนไขผลประโยชน์เป็นตัวตั้ง ยังบีบด้วยคดีความที่ติดตัวอดีตส.ส.ทั้งขู่ทั้งปลอบ
บรรดานักการเมืองตกยุคบางพวกที่หลงใหลอำนาจ ก็ไปหลงเหลี่ยมเล่นตามบทที่เค้าวางเอาไว้ หารู้ไม่ว่านอกจากซ้ำเติมให้การเมืองเสื่อมทราม กลับไปสู่วัฏจักรน้ำเน่าแบบเดิมๆแล้วยังทำให้ชาวบ้านเอื้อมระอา ส่ายหน้าเบื่อหน่ายการเมืองเข้าไปอีก
การเมืองยุคปฎิรูป ชาวบ้านคงอยากเห็นพรรคการเมืองระดมสมอง คิดค้นหานโยบายที่เจ๋งๆ เอามาแก้ไขปัญหาปากท้อง ในยิ่งภาวะ “รวยกระจุก จนกระจาย” รัฐบาลใช้ตัวเลข จีดีพีโตคุยโว แต่การขยายตัวก็ยังกระจุกเฉพาะคนกลุ่มบน ส่วนคนกลุ่มล่าง หรือ “ฐานราก”กลับไม่ได้อานิสงส์
รัฐบาลก็คงรู้อยู่เต็มอก ล่าสุดพลิกเกมวางเชื้อ นโยบายสอดรับชื่อ “พรรคพลังประชารัฐ” หลังครม.สัญจรครั้งล่าสุด ไฟเขียว ร่าง พ.ร.บ.การจัดประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม กำหนดจัดตั้งกองทุนประชารัฐฯ ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย
สาระสำคัญ คือ ออกกฎหมายฉบับนี้ก็เพื่อรองรับแผนการดำเนินงาน มาตรการ หรือโครงการเกี่ยวกับประชารัฐสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ที่รัฐบาล “บิ๊กตู่” หวังให้เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงตีกินหาเสียงระหว่างเลือกตั้ง

เบื้องต้นคงจะจัดสรรงบประมาณกลาง 2,730 ล้านบาทเติมให้กองทุนเป็นเชื้อนำร่องไว้ก่อน
ขณะที่พรรคเพื่อไทยต้นแบบ “ประชานิยม” ก่อนเพี้ยนมา “ประชารัฐ” กลายเป็นเสือซุ่ม มอบหมาย “พิชัย นริพทะพันธุ์” อดีต รมว. พลังงาน กำลังระดมสมองปรับปรุงแนวคิด “ทักษิโณมิกส์” เป็นเวอร์ชั่นใหม่
ทักษิโณมิกส์เวอร์ชั่นใหม่นี้ นำหลักคิดทางเศรษฐกิจเดิมในสมัยพรรคไทยรักไทยที่ประชาชนชื่นชอบมาพัฒนาต่อยอด โดยชื่อ ทักษิโณมิกส์ นี้ อดีตประธานาธิบดี อาร์โรโยของประเทศฟิลิปปินส์เป็นผู้ตั้งให้ในปี 2546 และพยายามจะนำไปใช้พัฒนาประเทศฟิลิปปินส์ จนกลายเป็นชื่อสากลที่รู้จักกันทั่วโลก ดังนั้น ชื่อทักษิโณมิกส์นี้ จึงไม่ได้มีการครอบงำแต่อย่างใด
คล้ายกับการนำแนวคิดเศรษฐกิจแบบเคนเซี่ยน ของจอร์น เมย์นาร์ด เคนส์ หรือ เรแกนโนมิกส์ ของอดีตประธานาธิบดีเรแกน แล้วนำมาพัฒนา แนวคิดหลักๆคือ การลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ และ ขยายโอกาส ประกอบกับการพัฒนาเศรษฐกิจแบบคู่ขนาน (Dual Track)ที่พัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้านบนไปพร้อมกับพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ลดช่องว่างของรายได้ พัฒนาให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี
พร้อมๆกับบลัฟ “รัฐบาลบิ๊กตู่”ว่าแนวคิดนี้จะมาแก้ไขไม่ให้ประชาชนรู้สึกว่าทำไมเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัว แต่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้รู้สึกว่าดีขึ้นเลยแต่กลับแย่ลง
เพื่อสร้างความหวังและความสุขให้กับประชาชนได้ทันทีตั้งแต่วันแรกหากพรรคเพื่อไทยได้เข้าบริหารประเทศโดยไม่ต้องรอ 4 ปีแล้วค่อยมาคิดทำ
พรรคเพื่อไทยเพียงรอประกาศปลดล็อคพรรคการเมือง จะมีการเสนอ “ทักษิโณมิกส์” เวอร์ชั่นใหม่นี้เข้าสู่กรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ และที่ประชุมพรรค เพื่อพิจารณาทำเป็นนโยบายของพรรคต่อไป
เชื่อว่าจะทำให้ความนิยมของพรรคเพื่อไทยพุ่งสูงและเป็นความหวังของประชาชนได้อย่างแน่นอน
การเมืองเริ่มเข้มข้น ต้องจับตานโยบาย ประชารัฐ ปะทะ ทักษิโณมิกส์ ใครจะถูกใจชาวบ้านมากกว่ากัน
เล่นการเมืองต้องสร้างสรรค์กันอย่างนี้ อย่าไปหลงเหลี่ยมตกบ่อน้ำเน่าที่คสช.ขุดบ่อล่อเอาไว้

คลายล็อกครึ่งเดียว

คลายล็อกครึ่งเดียว



หลังจาก กกต.ชุดใหม่ ล็อกปฏิทินวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562 เป็นวันเลือกตั้งใหญ่อย่างชัดเจน
กระแสสังคมพากันปลาบปลื้มชื่นชม กกต.ชุดใหม่กันทั่วบ้านทั่วเมือง
แต่ผ่านไปชั่วข้ามคืน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. ก็ออกมาชี้แจงข่าวว่า วันที่ 24 กุมภาพันธ์ปีหน้า อาจไม่ใช่วันหย่อนบัตรเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ
วันเลือกตั้งใหญ่ยังถ่างออกไปได้อีก 40 วัน
ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ ไปยันวันอาทิตย์ที่ 5 พฤษภาคมโน่นเลย
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนว่า โดยหลักการ ประธาน กกต.มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้งโดยตรง
แต่...แต่ผู้มีอำนาจชี้ขาดว่าจะมีเลือกตั้งหรือไม่?
และจะให้เลือกตั้งเมื่อไหร่?
คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หน.คสช.
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ชี้แจงว่าวันเลือกตั้งเบื้องต้นให้ยึดตาม กกต.ไว้ก่อน คือวันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ 2562
แต่ถ้าทำไม่ได้...ก็ค่อยว่ากันอีกที
เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ยืนยันว่าวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เป็นวันเลือกตั้งใหม่แน่นอน
ความแน่นอน จึงเป็นความไม่แน่นอนต่อไป
อย่างไรก็ดี พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า คสช.จะเริ่มคลายล็อกให้พรรคการเมืองเริ่มเตรียมการเลือกตั้งเฉพาะบางเรื่องที่จำเป็น ตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป
ส่วนการ “ปลดล็อก” ให้พรรคการ เมืองหาเสียงเลือกตั้งเมื่อไหร่??
คสช.ยังกั๊กไว้ก่อนตามฟอร์ม
“แม่ลูกจันทร์” ชี้ว่าเหตุผลที่ คสช.ต้องยอมคลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินการต่างๆได้ตามความจำเป็น
เพราะ พ.ร.บ.พรรคการเมือง และ พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.ได้เขียน “ล็อกเวลา” ให้พรรคการเมืองทั้งพรรคเก่าและพรรคใหม่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขมากมาย ก่ายกอง
ถ้า คสช.ไม่คลายล็อก จะส่งผลให้พรรคการเมืองใหม่หลายพรรคที่ประกาศชูธงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังเลือกตั้ง จะไม่สามารถส่งคนลงสมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อได้เลย
แล้วจะเอา ส.ส.จากไหน เป็นลูกหาบแบกหาม พล.อ.ประยุทธ์ เข้าสภาฯ เพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.??
ดังนั้น การคลายล็อกให้พรรค การเมืองเตรียมการเลือกตั้ง จึงเป็นประโยชน์ทางอ้อมต่อ คสช.ด้วยเช่นกัน
“แม่ลูกจันทร์” ย้ำว่า หลังจาก คสช.ประกาศคลายล็อกให้พรรคการเมืองตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป
พรรคการเมืองทุกพรรคจะต้องเร่งรีบปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆที่กำหนดไว้ 10 ประการ ให้เสร็จภายในเวลา 90 วัน
เช่น ต้องหาสมาชิกพรรคให้ครบ 500 คน
ต้องจัดตั้งสาขาพรรคอย่างน้อย 1 สาขา ครบทั้ง 4 ภาค
ต้องมีตัวแทนพรรคในทุกจังหวัดที่จะส่งผู้สมัครเลือกตั้งไม่ต่ำกว่าจังหวัดละ 100 คน
ต้องจัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อ บังคับพรรค จัดประชุมเลือกหัวหน้าพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรค ต้องทำไพรมารีโหวตหาผู้สมัคร ส.ส.ระบบเขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเสนอให้ที่ประชุมพรรคลงมติเห็นชอบอย่างเป็นทางการฯลฯ
พรรคไหนทำไม่ครบตามเงื่อนไข 10 ประการ หมดสิทธิส่งสมัคร ส.ส.ทันที!
เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้แลเฮย.
"แม่ลูกจันทร์"

หัวจ่าย ‘ปั๊มสามทหาร’

หัวจ่าย ‘ปั๊มสามทหาร’



ตัดอารมณ์ไร้สาระเรื่อง “แม่ปู–พ่อปู”ออกไป
กรองเอาเฉพาะแก่นๆ ไม่สนใจ “กระพี้” จะเห็นได้เลยว่า “งานโชว์โบแดง” ของรายการเดินสายตรวจราชการที่จังหวัดระนอง ต่อด้วยประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดชุมพร ของทีมงาน “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหางเครื่องชุดใหญ่ที่ขนกันไป
มันอยู่ที่การตั้งงบประมาณ 2 แสนล้านบาท ผุดเมกะโปรเจกต์ระเบียงเศรษฐกิจ ภาคใต้ “เอสอีซี”
พัฒนาเส้นทางสุราษฎร์ธานี-อ่าวไทยตอนบน รวมทั้งโครงข่ายคมนาคมสิ่งอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางเรือ ขนส่งตามชายฝั่ง การพัฒนารถไฟทางคู่ชุมพร-ระนอง เชื่อมระบบขนส่งฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย
อาศัยศักยภาพของ จ.ชุมพร คือแหล่งผลไม้และท่องเที่ยว จ.ระนอง มีท่าเรือสู่พม่า อินเดีย ศรีลังกา บังกลาเทศ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นครศรีธรรมราช คือพื้นที่เกษตรที่จะเป็นแหล่งผลิตและแปรรูป
พร้อมกับเส้นทางรถไฟรางคู่เชื่อม จ.ชุมพร และ จ.ระนอง เพื่อเชื่อมพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) กับทะเลอันดามัน เป็นโครงการใหญ่เคียงคู่ “ไทยแลนด์ ริเวียร่า” จาก จ.เพชรบุรีสู่ จ.ชุมพร
แน่นอน มันคือพิมพ์เขียวโครงการพัฒนาเศรษฐกิจในภาคใต้อย่างมียุทธศาสตร์เชื่อมโยง
บ่งบอกระดับความเป็นไปได้มากกว่าการ “ขายฝัน”
ที่แน่ๆมันก็ล้อกับอาการหวั่นๆที่สะท้อนออกมาจาก “ปรมาจารย์ชวน หลีกภัย” ที่ออกมาบ่นปมเศรษฐกิจปักษ์ใต้ทรุด เบิ้ลบลัฟตัดหน้า “นายกฯลุงตู่” ก่อนขนขบวนประชุม ครม.สัญจรภาคใต้
“เสาไฟฟ้า” ประชาธิปัตย์ นิ่งรอกินบุญเก่าไม่ได้อีกแล้ว
เพราะในสถานการณ์เทียบเคียงกัน ประชาธิปัตย์พูดเก่งอย่างเดียว คิดไม่เป็น ไม่เห็นการพัฒนา
หรือแม้แต่รัฐบาลยี่ห้อ “ทักษิณ” คิดได้ ทำเป็น แต่หนีไม่พ้นโดนระแวง “คอร์รัปชัน”
เพิ่งมาถึงยุครัฐบาล “ลุงตู่” ที่ได้อำนาจพิเศษทะลุทะลวง บวกกับกัปตันทีมเศรษฐกิจที่ชื่อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” ที่มี “วิชั่น” ระนาบเดียวกับ “ทักษิณ ชินวัตร”
โดยจังหวะความลงตัว มันเลยนำมาซึ่งโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงกับระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (เอสอีซี)
เมกะโปรเจกต์ “เรือธง” ของรัฐบาลที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ
เสริมจุดเด่นทางยุทธศาสตร์ที่ได้เปรียบของประเทศไทยอยู่ในจุดศูนย์กลางภูมิภาค จุดเชื่อมวันเบลต์วันโรดของมังกรจีน
ถ่วงดุลอำนาจทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในโซนทะเลจีนใต้ เป้าหมายของเหล่ามหาอำนาจ สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น ยุโรป ออสเตรเลีย
การพัฒนาทางเศรษฐกิจก่อตัวเป็นรูปเป็นร่าง วางฐานประเทศไทยรองรับโลกอนาคต
หมายเหตุ “ตัวถ่วง” อย่างเดียวคือความขัดแย้งทางการเมือง
แต่ตามท้องเรื่องมาถึงตรงนี้เงื่อนไขสถานการณ์ “เข้าทาง”
ทีม “นายกฯลุงตู่” เกือบหมดแล้ว
แนวโน้มปมเศรษฐกิจที่ถูกนักการเมืองอาชีพล็อกเป้าทุบจุดอ่อนรัฐบาลทหาร แต่กลับกลายเป็น “จุดแข็ง” มีเนื้องานการพัฒนาเศรษฐกิจภาพรวม โดยหลักฐานยืนยันด้วยตัวเลขมาตรฐานที่ประเมินการเติบโตทางเศรษฐกิจจากองค์กรทั้งในและต่างประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ มันคือ “ของจริง” ที่ทีม “ลุงตู่” ฉุดลากขึ้นมาจากศูนย์
เอาเป็นว่า “จุดอ่อน” ในการเลือกตั้ง เป้าทำลายล้างปมเศรษฐกิจไม่น่าห่วง
แต่ที่น่ากังวลก็คือปม “เศรษฐกิจของทีมหนุนลุงตู่” นั่นแหละ
แบบที่เริ่มมีข่าวกระเส็นกระสาย คนของพรรคเพื่อไทยโดน “ดูดกลับ”
สถานการณ์ไม่ได้ต่างจากเครือข่าย “ทักษิณ” ที่ตกอยู่ในภาวะท่อน้ำเลี้ยงพรรคเพื่อไทยเหือดแห้ง โดนบล็อกหัวจ่าย เจ๊ๆเฮียๆไม่กล้าควักกระเป๋า
ป้อมค่ายหนุน “ลุงตู่” ก็น้ำเลี้ยงไม่ค่อยเดินเหมือนกัน
พวกอดีต ส.ส.ที่มีชื่อในบัญชี ยังอยู่ในภาวะลอยๆ เคว้งคว้างกับตัวเลขลมๆ
เจอหัวจ่าย “ปั๊มน้ำมัน 3 ทหาร” ที่ฝืดไหลยาก
แถมจะคิดแบบ “เหมาจ่าย” ราคาเดียวกันหมด ไม่เลือกเกรดเอ เกรดบี เกรดซี
ไม่มีระบบ “หัวหน้ากลุ่ม” หรือ “ลูกก๊วน” ตามวิถีธรรมชาติพรรคการเมืองทั่วไป
เรื่องของเรื่องทหารยิงปืนแม่นในสนามรบ แต่ในสนามเลือกตั้ง ไม่มีทางเก่งกว่านักการเมืองอาชีพ
ถ้าไม่รีบแก้ระบบ “หัวจ่าย” เสี่ยงเจ๊งก่อนลงสนามเลือกตั้ง.
ทีมข่าวการเมือง รายงาน