PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559

นับใหม่

ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศนับคะแนนที่หน่วยออกเสียงในพื้นที่กรุงเทพฯ ปรากฎว่าเกิดความวุ่นวายในหลายพื้นที่ อาทิ หน่วยออกเสียงที่ 19 เขตจตุจักร ที่มีผู้ไปใช้สิทธิ 293 คน แต่เจ้าหน้าที่ประจำหน่วยนับคะแนนได้ 335 คะแนน ขณะที่เขตคันนายาว มีบางหน่วยเลือกตั้งมีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 507 คน มีการฉีกบัตรลงคะแนนออกจากต้นขั้ว 348 ใบ แต่ปรากฎบัตรลงคะแนนในหีบเพียง 347 ใบ

ทั้งนี้ นางอุดมพร พัฒนโกวิท ผู้อำนวยการเขตคันนายาว กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่ามีจำนวนบัตรลงคะแนนในตู้หย่อนบัตรไม่ตรงกับจำนวนที่เจ้าหน้าที่ฉีกออกไปว่า กรณีดังกล่าวมาจากการนับผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้มีการนับใหม่อีก 1 รอบ โดยมีประชาชนเป็นพยานในการสังเกตการพบว่าตรงกัน ไม่ได้มีปัญหาบัตรหายไปแต่อย่างใด

ขณะที่นายเชาวฤทธิ์ ทรงนวรัตน์ ผู้อำนวยการเขตจตุจักร กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่าบัตรลงคะแนนไม่ตรงกับคะแนนที่ปรากฎบนกระดานนับคะแนนว่า เป็นความผิดพลาดในการขีดคะแนนของเจ้าหน้าที่บนกระดาน แต่เมื่อมีการนับทวนระหว่างจำนวนบัตรกับจำนวนผู้มาลงคะแนนพบว่าตรงกันจึงไม่เป็นปัญหาแต่อย่างใด

โหวตเยส! ผลประชามติ “รับร่างรัฐธรรมนูญ-คำถามพ่วง” ท่วมท้น

โหวตเยส! ผลประชามติ “รับร่างรัฐธรรมนูญ-คำถามพ่วง” ท่วมท้น
Cr:ผู้จัดการ
ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ การออกเสียงประชามติ 2559 พบร่างรัฐธรรมนูญเห็นชอบมากถึง 15.56 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 9.7 ล้านเสียง ส่วนคำถามพ่วง เห็นชอบ 13.96 ล้านเสียง ไม่เห็นชอบ 10 ล้านเสียงเศษ รอนายกรัฐมนตรีรายงานผลอย่างเป็นทางการ
วันนี้ (7 ส.ค.) เมื่อเวลา 19.33 น. ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ จากศูนย์แถลงข่าวการจัดการออกเสียงประชามติ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หลังนับคะแนนได้ร้อยละ 94 จากจำนวนผู้มาใช้สิทธิทั้งประเทศ 27,623,126 คน พบว่า ประเด็นคำถามที่ 1 ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 ทั้งฉบับ พบว่ามีผู้เห็นชอบ 15,562,027 คน คิดเป็นร้อยละ 61.40 ไม่เห็นชอบ 9,784,680 คน คิดเป็นร้อยละ 38.60
ส่วนประเด็นคำถามที่ 2 ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี พบว่ามีผู้เห็นชอบ 13,969,594 คน คิดเป็นร้อยละ 58.11 ไม่เห็นชอบ 10,070,599 คน คิดเป็นร้อยละ 41.89
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ระบุว่า เมื่อแสดงผลการออกเสียงถึงร้อยละ 95 ของจํานวนหน่วยออกเสียง ให้หยุดการแสดงผลการออกเสียงต่อสาธารณะ และเมื่อ กกต. ได้รับรายงานผลการนับคะแนนออกเสียงจากหน่วยออกเสียงทุกหน่วยทั้งประเทศ หากไม่มีการร้องคัดค้าน ให้ กกต. ประกาศผลการออกเสียงและจํานวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง แล้วให้รายงานนายกรัฐมนตรีทราบโดยเร็ว

“ประยุทธ์” ชี้ถูก “มิตรประเทศ”แทรกแซงในช่วงเปลี่ยนผ่านทางการเมือง


นายกรัฐมนตรีระบุรัฐบาลทำประชามติโดยสมัครใจ โปร่งใส เปิดกว้าง และตรากตำ กว่าจะถึงจุดหมาย แต่ต้องผิดหวังกับการแทรกแซงอย่างไม่เหมาะสมจากต่างชาติโดยเฉพาะผู้ที่เรียกตนเองว่าเป็นมิตรประเทศ
หลังสิ้นสุดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งการประกาศผลอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าคนไทยส่วนใหญ่เห็นชอบกับทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง สำนักงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้ ส่งเอกสารทางออนไลน์ให้สื่อมวลชนต่างชาติ มีข้อความจั่วหัวว่าสารจากนายกรัฐมนตรี “ถึงคนไทยทุกคนไม่ว่าจะเป็นผู้ออกไปใช้สิทธิ์ในการลงประชามติหรือไม่ รัฐบาลได้ยินเสียงของพวกท่าน” ในสารดังกล่าว
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การทำประชามติไม่ใช่สิ่งที่รัฐบาลถูกกำหนดให้ต้องดำเนินการ แต่เป็นการทำโดยสมัครใจ เป็นความคิดริเริ่มของรัฐบาลที่มีนโยบายอันคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก และว่าการทำประชามติที่จัดขึ้นเป็นไปอย่างโปร่งใสและเปิดกว้าง กับเป็นส่วนหนึ่งของโรดแมปที่จะนำไทยไปสู่การปฏิรูปทางการเมืองอันเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง
“การจัดทำประชามติวันนี้เป็นความคิดริเริ่มของรัฐบาลที่ต้องอาศัยความเหนื่อยยากตรากตรำกว่าจะมาถึงจุดหมายสูงสุด ในอันที่จะตัดสินอนาคตของตนเองได้อย่างมีอารยะ อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าผิดหวังที่ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองนี้กลับมีการแทรกแซงอย่างไม่เหมาะสมจากต่างชาติ การแทรกแซงเหล่านี้ทำให้เราอดที่จะรังเกียจอคติของคนที่เรียกตนเองว่าเป็นมิตรของไทยไม่ได้ อย่างไรก็ดี การแทรกแซงด้วยความมุ่งร้ายนี้กลับได้รับแรงสะท้อนกลับอย่างกังวานและชัดเจนจากคนไทยที่ออกไปลงประชามติในวันนี้!” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
นายกรัฐมนตรีระบุด้วยว่าจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่แสดงออกมาในวันนี้และดำเนินการทุกอย่างที่จัดการปัญหาที่เป็นข้อกังวล ในเวลาเดียวกันก็จะเสนอทางเลือกที่ยั่งยืนในการแก้ปัญหาการเมืองของชาติ
ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ประกาศผลการนับคะแนนการลงประชามติอย่างไม่เป็นทางการจำนวน 94% พบว่าประเด็นที่ 1 มีผู้เห็นชอบ 61.40% ไม่เห็นชอบ 38.60% ประเด็นที่ 2 เห็นชอบ 58.11% ไม่เห็นชอบ 41.89 % โดยคาดว่ามีผู้มาใช้สิทธิ 55% และจะมีการรายงานผลอย่างเป็นทางการภายในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ ‪#‎ประชามติ‬

ตำรวจยังไม่ให้ประกันตัว 'โตโต้' ฉีกบัตร

ตำรวจยังไม่ให้ประกันตัว 'โตโต้' ฉีกบัตร พร้อมเตรียมเพิ่มข้อหา 'สร้างความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน' ม.60 (9) หลังจากโดนแล้ว 3 ข้อหา
8 ส.ค.2559 เวลา 20.30 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน แจ้งว่า ที่ สน.บางนา โตโต้ ปิยะรัฐ จงเทพ นายกสมาคมเพื่อเพื่อน FFA ที่ให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมืองและอดีต ทำการฉีกบัตรประชามติ พร้อมตะโกนว่า "เผด็จการจงพินาศประชาธิปไตยจงเจริญ" หลังจากนั้นถูกตำรวจควบคุมตัวจากหน่วยออกเสียงมายัง สน.บางนา และทำประวัติตั้งแต่เวลา 12.00 น. ซึ่งการจับกุมปิยรัฐนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สอบปากคำผู้ต้องหาทันที แต่ตำรวจไปสอบสวนกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยสำนักเขตบางนาซึ่งเป็นเจ้าทุกข์
หลังจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสอบเจ้าทุกข์และแจ้งความดำเนินคดี 3 ข้อหา 1.ทำให้เสียทรัพย์ มาตรา 358 มีโทษจำคุก 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท, 2.ทำลายเอกสารราชการ มาตรา 188 มีโทษจำคุก 5 ปี หรือปรับไม่เกิน1หมื่อนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, 3.การกระทำผิดตาม พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ (ฉีกหรือทำลายบัตรเลือกตั้ง) มีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ล่าสุดเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน แจ้งว่า ในขณะนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่ให้ดำเนินการประกันตัว เพราะยังไม่รู้ว่าจะสอบปากคำเพิ่มข้อหาอีกหรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นข้อหา ม.60(9) สร้างก่อความวุ่นวายในหน่วยลงคะแนน
‪#‎ส่องประชามติ‬

หนังสือพิมพ์เดอะ การเดี้ยน วิจารณ์

7 ส.ค.59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บนเว็บไซต์ หนังสือพิมพ์เดอะ การเดี้ยน ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์รายวันแห่งชาติของประเทศอังกฤษ ที่มี "แคทารีน ไวเนอร์" เป็นบรรณาธิการ ได้โพสต์ข้อความรายงานถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในประเทศไทย เมื่อช่วงเช้าวันอาทิตย์ที่ 7 ส.ค.ก่อนจะมีการปิดหีบให้ประชาชนชาวไทยไปลงคะแนนรับร่างหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นเพียงการปูทางไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ในปี 2560 ตามโมดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้วางไว้ก่อนหน้านี้ แต่เนื้อหานั้น เดอะการ์เดี้ยน ระบุว่า ยังคงสานต่ออำนาจ คสช.ให้ปกครองประเทศต่อไป
เดอะ การ์เดี้ยน ระบุว่า การลงประชามติ คือบททดสอบความนิยมรัฐบาลทหาร ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เป็นครั้งแรก หลังการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองประเทศของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อเดือน พ.ค.57 โดยจากการสำรวจเห็นว่า มีผู้ให้การสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ขณะที่ประเทสไทยมีผู้มีสิทธิออกเสียบงประชามติกว่า 50.5 ล้านคน
เดอะ การ์เดี้ยน อ้างว่า ประชาชนคนไทยจะไปลงคะแนนเพื่อแสดงประชามติทิศทางและอนาคตของประเทศของพวกเขา แต่ยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของทหารโดยพฤตินัย ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศไว้ก่อนว่าไม่ว่าประชาชนจะลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ก็จะไม่มีการลาออกอย่างแน่นอน แต่จะดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายตามโรดแมป คือ ให้มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2560
เว็บไซต์เดอะ การ์เดี้ยน ระบุด้วยว่า กองทัพได้ทำการโค่นล้มรัฐบาลพลเรือนที่ดำเนินการโดยคนในตระกูลชินวัตรที่บริหารประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ 2 ครั้ง ในช่วงกว่าทศวรรษของความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศไทย โดยแหล่งข่าวของเดอะ การ์เดี้ยน อ้างว่ากองทัพพยายามออกกฎบัตรต่างๆ ที่เป็นการทำดีกับประชาชน ขณะที่จุดมุ่งหมายในการกำจัดและขับไล่ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เจ้าของนโยบายประชานิยมเกิดความล้มเหลว
"ทักษิณหลบหนีออกมาอยู่ในต่างประเทศ แต่เขายังคงมีอิทธิพลทางการเมืองอยู่อย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มีฐานสนับสนุนของเขาในชนบทในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผู้นำท้องถิ่นเดิมเป็น "เสื้อแดง" ที่สนับสนุนตระกูล "ชินวัตร" ทำให้น้องสาวของเขา "ยิ่งลักษณ์" กวาดคะแนนเสียงในการเลือกตั้งอย่างถล่มทลายเมื่อปี 54 ทำให้ก้าวขึ้นสู่อำนาจในการปกครองประเทศ"

ส่องประชามติ รวมข้อร้องเรียนในการนับคะแนน

ส่องประชามติ รวมข้อร้องเรียนในการนับคะแนน

we watch สรุป 6 ประเด็นร้องเรียงออกเสียงประชามติ ได้แก่ จนท.สับสนในการนับบัตรดี/บัตรเสีย, นับคะแนนก่อนเวลาปิดหีบ, จนท.ไม่ให้ถ่ายภาพนอกคูหา เรียกดูบัตรปชช.,คะแนนรวมไม่ตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ, มีการย้ายหน่วยโดยไม่แจ้ง, เปลี่ยนที่นับคะแนนนอกหน่วยเลือกตั้ง
7 ส.ค.2559 สรุปข้อร้องเรียนและประเด็นที่อาสาสมัครของ We Watch ร่วมสังเกตการณ์หน่วยออกเสียงหลายจุด มีดังนี้
1. หลายหน่วยเจ้าหน้าที่มีความสับสนในการนับบัตรดี/บัตรเสีย และในบางจุด เช่น หน่วยหนึ่งใน ต.สันทรายงาม อ.เทิง จ.เชียงใหม่ การนับคะแนนต้องหยุดชะงักไปราว 5 นาที เพราะเจ้าหน้าที่ต้องโทรสอบถามส่วนกลาง ไม่มีการดูคู่มือ หรือหน่วยออกเสียงที่ศาลากลางจังหวัดนนทบุรีก็มีการร้องเรียนในประเด็นนี้
2. มีหน่วยที่เจ้าหน้าที่ต้องการเริ่มนับคะแนนตั้งแต่ยังไม่ถึงเวลาปิดหีบใน เวลา 16.00 น. แต่เนื่องจากมีประชาชนที่ไปสังเกตการณ์ทักท้วงจึงมีการรอจนกระทั่งถึงเวลา ปิดหีบ เช่น หน่วยออกเสียงในหมู่ 8 ต.ไผ่ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์
3. มีหน่วยที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เฝ้าหน่วยไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพ แม้จะอยู่นอกคู่หาก็ตาม และมีการเรียกดูบัตรประชาชนผู้สังเกตการณ์ที่จะถ่ายรูปการนับคะแนน เช่น ในเขตดินแดง กรุงเทพฯ และที่อ.เขาวง จ.มุกดาหาร
4. มีหน่วยที่เมื่อนับคะแนนเสร็จสิ้นต้องเริ่มนับคะแนนใหม่เพราะคะแนนรวมไม่ตรง กับจำนวนผู้มาใช้สิทธิ เช่น หน่วยที่ 2 หมู่ 2 ต.สามัคคี อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส มีคนมาใช้สิทธิ 389 คน แต่เมื่อรวมการนับคะแนนแล้วได้ 379 หายไป 10 คะแนน เมื่อมีการนับใหม่คะแนนออกมาตรงกัน หรือที่หน่วยออกเสียงที่ 9 หมู่7 ต.หนองควาย เทศบาลหนองควาย อ.หางดง จ.เชียงใหม่ ผู้มีสิทธิ 906 มีผู้มาใช้สิทธิ 533 คน ผลการนับคะแนน สรุปรวมคะแนนทั้งหมดตรงกับจำนวนผู้มาใช้สิทธิแต่เมื่อแยกจำนวนคะแนนระหว่าง ผู้ลงคะแนนเห็นชอบ/ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กับ คำถามพ่วง พบว่า จำนวนไม่ตรงกับบัตร โดยพบว่าในส่วนคำถามเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีคะแนนมากกว่าในส่วนคำถาม พ่วงอยู่ 2 คะแนน จึงได้มีการนับคะแนนใหม่
5. มีการย้ายหน่วยลงคะแนนในช่วงเช้าวันที่ 7 ส.ค.โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าและไม่มีการติดประกาศให้ทราบ ณ ที่ตั้งหน่วยเดิม
6. มีการนำบัตรลงคะแนนไปนับที่อำเภอ ไม่นับที่หน้าหน่วยออกเสียง เช่น หน่วยออกเสียงในต.บางยี่เรือ อ.ธนบุรี หรือหน่วยออกเสียง 6 หน่วยใน ต.คลองเขื่อน อ. คลองเขื่อน จ. ฉะเชิงเทรา ซึ่งนำหีบไปนับที่อำเภอทั้งหมด

เวลา 19.08 น. ผลประชามติ รับร่างฯ 14.6 ล้านเสียง ไม่รับ 9.2 ล้านเสียง

7 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นวันลงคะแนนออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยหลังจากปิดหีบลงคะแนนเสียงไปในเวลา 16.00 น. และคณะกรรมการได้มีการนับคะแนน โดยผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ณ เวลา 19.08 น. มีผู้ออกเสียงรับร่างรัฐธรรมนูญ 14,698,915 คน ไม่รับ 9,222,192 คน

ส่วนประเด็นคำถามพ่วงนั้น มีประชาชนเห็นด้วยกับคำถามพ่วง 13,189,257 คน ไม่เห็นด้วย 9,493,004 คน

นักวิชาการงง คนไทยสวนกระแสโลก’ปชต.’น้อย ปราบโกงได้

นักวิชาการงง คนไทยสวนกระแสโลก’ปชต.’น้อย ปราบโกงได้
นางสิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญมุ่งปราบโกงสูง แต่มีประชาธิปไตยน้อย เป็นบทพิสูจน์ว่าเจตนารมณ์ผู้ร่างต้องการปราบโกง ลดประชาธิปไตย แต่ทางสากล ความมีประชาธิปไตยเต็มที่ถึงจะปราบโกง คอร์รัปชั่นได้ เป็นบทพิสูจน์การเมืองเชิงประจักษ์นั้นเห็นแล้วว่าการเพิ่มบทบาทให้ประชาชนเข้ามีส่วนร่วมจะลดคอร์รัปชั่นได้ ดังนั้นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญตั้งใจถูกหรือไม่ และถ้าต่อไปทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ลด จะทบทวนการใช้รัฐธรรมนูญนี้ได้แค่ไหน
นางสิริพรรณกล่าวว่า ในคำถามพ่วง ไม่แน่ใจคนเข้าใจหรือไม่ ที่ให้รัฐสภาเลือกนายกรัฐมนตรีได้ นัยยะคือให้นอกจากให้ ส.ส. 500 คนแล้ว ยังให้ ส.ว. 250 คน ที่ คสช.เลือกมา เลือกนายกรัฐมนตรีด้วย ถ้าย้อนกลับไปได้ อธิบายให้คนเข้าใจ จะยอมให้วุฒิสภามีส่วนร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีหรือไม่
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผลประชามติที่ออกมาเป็นการแสดงออกของประชาชนเหนื่อยต่อการเมืองก่อน 22 พฤษภาคม 2557 ที่มีความเป็นประชาธิปไตยแต่ทะเลาะกัน ถือว่านี่คือการแสดงออก ที่เบื่อผลประโยชน์ทับซ้อน แต่การที่จะให้ทุจริตคอร์รัปชั่นน้อย ความเป็นประชาธิปไตยต้องเข้มแข็ง ถือว่าสวนทางกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะเครื่องมือประชาธิปไตยคือการตรวจสอบที่โปร่งใส ซึ่งเป็นขอยุติทั่วโลกแล้วว่าการจะปราบทุจริตคอร์รัปชั่นได้ต้องมีประชาธิปไตย

ด่วน! นักกิจกรรมการเมือง ประท้วงฉีกบัตรลงประชามติที่เขตบางนา

วันนี้ (7 สิงหาคม) เมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. ที่หน่วยออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ สำนักงานเขตบางนา มีรายงานว่า นายปิยรัฐ จงเทพ หรือโตโต้ นายกสมาคมเพื่อเพื่อนและนักกิจกรรมทางการเมือง สวมเสื้อยืดโดยมีคำว่า “NO COUP” เข้าไปยังหน่วยออกเสียง ก่อนตะโกนว่า “เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ” พร้อมฉีกบัตรลงคะแนนเสียงประชามติ จึงถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุมตัวไปที่ สน.บางนา
โดยนายปิยรัฐได้เขียนแถลงการณ์ลงบนกระดาษว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้ ผมขอเรียนต่อเจ้าหน้าที่พนักงาน สื่อมวลชน และประชาชน ให้ทราบว่า การกระทำของผมได้กระทำไปโดยมีสติครบสมบูรณ์ ไม่มีซึ่งอาการป่วยทางจิตใดๆ ไม่ได้เสพติดสุราและของมึนเมา ทุกสิ่งอย่างล้วนเกิดขึ้นโดยจิตสำนึกของพลเมืองที่เพียงต้องการเรียกร้อง และยืนยันต่อสิทธิเสรีอันพึงมีพึงได้ของเราก็เพียงเท่านั้น หากแม้ว่าผลของมันจะเป็นเช่นไร ผมจะขอรับผิดชอบกับการกระทำของผม โดยไม่หลีกลี้หนีหายเพราะความกลัวแต่อย่างใด
ผมจะขอสู้คดีนำสืบให้ศาลเห็นถึงการใช้อำนาจอย่างเผด็จการ บิดเบือนกฎหมายจากความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตย จับกุมคุมขังประชาชนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ทำลายหลักนิติรัฐ นิติธรรม จนยากจะหาทางแก้ และไร้ซึ่งความมั่นคงในเสรีภาพ อิสรภาพของประชาชนชาวไทย
โดยก่อนเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว นายปิยรัฐได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เผด็จการจะพินาศสาบสูญไป ประชาชนประชาธิปไตยจงเจริญ”
ก่อนที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวไปสืบสวนที่ สน.บางนา

“มีชัย”กลางปฏิทินหลังรับร่างรธน. จากนี้อีก 90 วันประกาศใช้ แย้มเลือกตั้งต้นปี 61

“มีชัย”กลางปฏิทินหลังรับร่างรธน. จากนี้อีก 90 วันประกาศใช้ แย้มเลือกตั้งต้นปี 61
เมื่อเวลา 18.00 น.วันที่ 7 สิงหาคม นายมีชัย ฤชุพันธุ์ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้สัมภาษณ์ผ่านช่อง 9 อสมท.ว่า เมื่อคำถามพ่วงผ่าน กรรมการร่างจะนำมาผนวกไว้กับบทเฉพาะกาลให้แล้วเสร็จใน 30 วัน แล้วส่งศาลรัฐธรรมนูญให้เสร็จ 30 วัน รวม 60 วัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญเห็นถูกต้องจะส่งให้นายกรัฐมนตรีกราบบังคบทูล เพื่อพระปรมาภิไธย ใน 30 วัน ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ตรง จะใช้เวลาไม่เกิน 15 วัน แล้วส่งให้กรรมการร่างแก้ไข สรุปขั้นตอนทั้งหมดต้องทำให้เสร็จใน 3 เดือนเศษๆแล้วประกาศใช้รัฐธรรมนูญได้
“กำหนดคร่าวๆ เต็มเหนี่ยว ปลายปี 2560 หรือต้นปี 2561 จะมีการเลือกตั้ง”นายมีชัยกล่าว
นายมีชัยกล่าวว่า สำหรับเหตุผลที่ประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านนั้นมีเหตุผลผสมผสานกัน คือประชาชนออกมาลงประชามติด้วยความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง เพราะอย่าลืมว่า ไม่ใช่การเลือกตั้ง ไม่มีหัวคะแนนเกณฑ์มา และคำพูดนายกรัฐมนตรีที่แสดงจุดยืนรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นสำคัญ ทั้งที่ควรจริงนายกฯไม่ได้ตั้งใจ แต่มีคนบิดเบือนบอกว่านายกรัฐมนตรีไม่สั่งให้ไม่รับร่าง ไม่อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน นายกรัฐมนตรีจึงต้องบอกว่าตัวเองรับ ตรงนี้มีผลเพราะประชาชนทั่วไปที่มาลงประชามติรับนายกฯ
นายมีชัยกล่าวว่า สำหรับพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต้องให้เสร็จทั้ง 10 ฉบับ ใช้เวลาอีก 8 เดือน ฉบับหนึ่งใช้เวลาร่างไม่ถึง 1 เดือน เพราะองค์กรอิสระ 5-6 แห่งยังขาดพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญใช้ทำงาน ไม่อย่างนั้นรัฐรรมนูญใช้การไม่ได้ ส่วนท่าทีพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทยที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ นายมีชัยกล่าวว่า เมื่อผลออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องพยายามคุยกับ 2 พรรคนี้

ผลคะแนนไม่เป็นทางการ17:55น.

ตัวเลขผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 50,585,118 คน ชาย 24,465,842 คน หญิง 26,119,331 คน เฉพาะในกทม. มีจำนวน 4,483,075 คน
.
ผลคะแนนรวมประชามติทั้งประเทศ (เมื่อเวลา 17.55 น.)
คะแนนรับร่างฯ 7,736,491
คะแนนไม่รับ 4,896,748
คะแนนรับคำถามพ่วง 7,153,623
คะแนนไม่รับคำถามพ่วง 5,056,247
.
-ภาคเหนือ-
คะแนนรับร่างฯ 1,446,038
คะแนนไม่รับ 1,055,925
คะแนนรับคำถามพ่วง 1,299,738
คะแนนไม่รับคำถามพ่วง 1,070,989
.
-ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ-
คะแนนรับร่างฯ 2,072,247
คะแนนไม่รับ 2,193,750
คะแนนรับคำถามพ่วง 1,778,722
คะแนนไม่รับคำถามพ่วง 2,224,314
.
-ภาคกลาง-
คะแนนรับร่างฯ 3,117,104
คะแนนไม่รับ 1,369,174
คะแนนรับคำถามพ่วง 2,853,618
คะแนนไม่รับคำถามพ่วง 1,456,255
.
-ใต้-
คะแนนรับร่างฯ 1,536,306
คะแนนไม่รับ 414,842
คะแนนรับคำถามพ่วง 1,440,312
คะแนนไม่รับคำถามพ่วง 447,887

ยูเอ็นลงพื้นที่กรุงเทพฯ-อีสาน จับตาการลงประชามติ

ยูเอ็นลงพื้นที่กรุงเทพฯ-อีสาน จับตาการลงประชามติ ขณะที่สหภาพนักศึกษาพม่าออกแถลงการณ์สนับสนุนนักศึกษาไทยต่อสู้กับร่างรัฐธรรมนูญที่ผลักดันโดยทหาร
สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยแพร่ภาพและข้อความผ่านเครือข่ายทวิตเตอร์ว่าคณะผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งของสหประชาชาติลงพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย เพื่อสังเกตการณ์การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2559 ที่จัดขึ้นทั่วประเทศในวันนี้ (7 ส.ค.)
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงคำให้สัมภาษณ์ของนายลุค สตีเวนส์ ผู้ประสานงานสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย ซึ่งระบุว่าไม่ว่าผลการลงประชามติจะเป็นอย่างไร สหประชาชาติต้องการเห็นการพูดคุยระหว่างกองทัพและกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองไทยเกิดขึ้น ถ้ากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป้นคนวางเงื่อนไขในการปรองดอง คงไม่เกิดการปรองดองที่แท้จริงได้ ทั้งยังต้องเปิดโอกาสให้คนทุกกลุ่มทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย เพื่อจะได้ไม่มีใครถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง
นอกจากนี้ สหภาพนักศึกษาแห่งสหพันธ์พม่า (ABFSU) ซึ่งเป็นองค์กรเครือข่ายของนักศึกษาเมียนมาที่ก่อตั้งขึ้นในสมัยที่เมียนมายังอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ได้ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 6 ส.ค. เพื่อเรียกร้องให้นักศึกษาไทยและประชาชนไทยยืนหยัดคัดค้านรัฐธรรมนูญและการลงประชามติที่มาจากทหาร โดยระบุว่าจากประสบการณ์ของ ABFSU พบว่ารัฐธรรมนูญที่ร่างโดยรัฐบาลทหารมีเป้าหมายเพื่อให้ทหารยึดบทบาททางการเมืองอย่างถาวร ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการทำลายประชาธิปไตย
เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่าด้วยว่า ABFSU เชื่อมั่นในประชาชน นักศึกษา และองค์กรภาคประชาสังคมของไทย ที่เคยให้การสนับสนุนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า และเชื่อว่าทุกฝ่ายจะร่วมกันคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ได้รับการสนับสนุนโดยทหาร ซึ่งไม่ได้มาตรฐานประชาธิปไตย ด้วยความกล้าหาญและเข้มแข็ง