PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560

"วิกฤตต้มกบ" ซึมลึกย่ำแย่กว่า"วิกฤตต้มยำกุ้ง"

นักวิชาการเตือนไทยระวังเจอ"วิกฤตต้มกบ" ซึมลึกย่ำแย่กว่า"วิกฤตต้มยำกุ้ง" ขืนย่ำอยู่กับที่ ภาคธุรกิจวิจัยพัฒนาต่ำ การเกษตรขาดประสิทธิภาพ ข้าราชการคอร์รัปชั่น ทำไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เพื่อนบ้านแซงหน้า
29 มิ.ย.60 ดร.สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ ว่า เราเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป และไทยยังเป็นประเทศที่ที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจเข้ามาลงทุนอยู่ เนื่องจากมีความพร้อมด้านสาธารณูปโภคและข้อได้เปรียบจากการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงในภูมิภาค แต่ภาคธุรกิจยังคงระมัดระวังในทุกด้าน โดยเฉพาะภาคสถาบันการเงินที่เรียนรู้จากประสบการณ์ความผิดพลาดจากวิกฤตในอดีต มีการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อให้กับลูกค้า เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL มากจนเกินไป ซึ่งการใช้วิธีนี้จะทำให้เกิดผลดีในอนาคต เนื่องจากเป็นการลดความเสี่ยงในการขาดทุนของภาคสถาบันการเงิน และทำให้ลูกค้าสถาบันการเงินมีวินัยทางการเงินมากขึ้นด้วย
นอกจากนั้น แม้ภาคอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มเกิดภาวะฟองสบู่บ้างจากปริมาณที่อยู่อาศัยรอการขายมากสวนทางกับความต้องการของประชาชนที่ลดลง โดยเฉพาะในแถบชานเมือง แต่ยังเชื่อว่าในระยะต่อไปภาวะฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์จะเริ่มลดลงจากการชะลอเปิดตัวโครงการใหม่ ซึ่งทำให้จำนวนที่อยู่อาศัยรอการขายจะทยอยลดลงในอนาคต ประกอบกับการบริหารจัดการของภาครัฐที่มาถูกทาง โดยเฉพาะการส่งเสริมธนาคารรัฐในการออกผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยเหลือภาคประชาชน และสนับสนุนเงินทุนเพื่อช่วยพัฒนาธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยกับ "วิกฤตต้มยำกุ้ง" เมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา
ดร.สุทธิกร กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม มาตรการที่สำคัญที่ภาครัฐควรทำเพิ่มเติม คือ การสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเกิดการลงทุนในธุรกิจอย่างต่อเนื่อง หรือ Reinvestment อาทิ การนำผลกำไรที่ได้ไปต่อยอดซื้อเครื่องจักรหรือพัฒนาฝีมือแรงงานเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจในระยะยาว แทนที่จะนำผลกำไรไปใช้เพื่อผลประโยชน์ระยะสั้น เช่น การเก็งกำไรในตลาดหุ้นหรือตลาดอสังหาริมทรัพย์ นอกจากจะเป็นการพัฒนาธุรกิจของตนแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้แรงงานมีทักษะและรายได้เพิ่มมากขึ้น
นอกเหนือจากการสนับสนุนภาคธุรกิจทั่วไปแล้วนั้น ภาครัฐควรเร่งให้เกิดการพัฒนาในภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งมีการจ้างงานถึงเกือบประมาณครึ่งหนี่งของกำลังแรงงานไทยทั้งระบบ โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรของประเทศ เพื่อก้าวข้ามการแข่งขันในเรื่องราคากับประเทศเพื่อนบ้านที่มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่า โดยการยกระดับภาคธุรกิจและภาคการเกษตรจะเป็นแนวทางสำคัญที่สามารถกระตุ้นการบริโภคของทั้งระบบเศรษฐกิจ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจโดยรวม
นอกจากนั้น การพัฒนาเหล่านี้จะสร้างความมั่นใจและเป็นพื้นฐานในการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนจากต่างประเทศในกลุ่มอุตสาหกรรมมูลค่าสูง เพื่อช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ในช่วงที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายประเทศมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เช่น ประเทศเมียนมาร์ที่มีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น หลังจากการเปิดประเทศอันเนื่องมาจากความได้เปรียบของต้นทุนการผลิตที่ต่ำและทรัพยากรที่มีมาก รวมถึงเวียดนาม ที่มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วในหลากหลายด้าน ทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์และสาธารณูปโภค เป็นต้น
ดร.สุทธิกร ยังกล่าวอีกว่า ในภาพรวมถึงแม้ไทยจะมีข้อได้เปรียบเรื่องทำเลที่ตั้งที่เป็นศูนย์กลางการคมนาคมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภูมิภาค สามารถเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศเมียนมาร์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และยังอยู่ในความสนใจของต่างชาติในการลงทุน แต่ประเทศเราก็ยังมีปัญหาการพัฒนาในหลายภาคส่วน ทั้งการวิจัยและพัฒนาของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ ภาคการเกษตรที่ยังขาดประสิทธิภาพในการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่ม ระบบการศึกษาที่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของประเทศได้ และระบบราชการที่ยังขาดประสิทธิภาพเต็มไปด้วยการคอรัปชั่น เป็นต้น
"ปัจจัยเหล่านี้ ส่งผลทำให้ประเทศไทยเราย่ำอยู่กับที่เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ปัญหาเรื้อรังเหล่านี้คอยฉุดรั้งการพัฒนาของประเทศก่อให้เกิด "วิกฤตต้มกบ" ในปัจจุบัน ซึ่งสร้างผลกระทบกับประเทศแตกต่างจาก "วิกฤตต้มยำกุ้ง" ในอดีต ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงในทันทีทันใด ทำให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างและกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวอย่างรวดเร็ว ต่างจาก "วิกฤตต้มกบ" ในปัจจุบันที่ประเทศเราสูญเสียความสามารถในการแข่งขันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งกว่าที่เราจะรู้ตัวอีกทีก็อาจสายเกินกว่าที่จะปรับตัวแล้ว" ดร.สุทธิกร กล่าว

จับ“โจชัว หว่อง”แกนนำประท้วงฮ่องกง


29 มิถุนายน 2560
นายโจชัว หว่อง แกนนำนักศึกษาผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกตำรวจฮ่องกงจับกุมตัวเมื่อวันพุธ หลังนั่งชุมนุม
ประท้วงในรูปปั้นดอกชงโค เพื่อต่อต้านจีน ก่อนหน้าการเดินทางมาเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง
 นายโจชัว หว่อง แกนนำนักศึกษาผู้ชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตย ถูกตำรวจฮ่องกงจับกุมตัวพร้อมกับพวกรวม 30 คนที่เข้าไปนั่งชุมนุมประท้วงนาน
ชั่วโมง เพื่อต่อต้านรัฐบาลจีนภายในบริเวณรูปปั้นดอกชงโคบริเวณท่าเรือ และถูกตำรวจนำตัวขึ้นรถแวนไป
การจับกุมผู้ชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐบาลจีน มีขึ้นก่อนหน้าการเดินทางมาเยือนฮ่องกงของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ในโอกาสครบรอบ 20 ปีของ
การส่งมอบเกาะฮ่องกงจากอังกฤษกลับคืนมาสู่จีนและยังเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดความหวาดวิตกว่ารัฐบาลจีนกำลังเข้มงวดในการควบคุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ
ในเขตปกครองพิเศษแห่งนี้
ผู้ชุมนุมประท้วงไปรุมล้อมกันบริเวณรูปปั้นดอกชงโคสีทอง ซึ่งกลายเป็นสัญลักษณ์ของฮ่องกงมาตั้งแต่ปี 2540 และจีนได้มอบรูปปั้นดังกล่าวเพื่อ
เป็นสัญลักษณ์ของการส่งมอบอำนาจให้กับฮ่องกง
ก่อนที่จะถูกนำตัวขึ้นรถตำรวจไป นายโจชัว หว่อง แกนนำคนสำคัญได้ตะโกนขอให้ชาวฮ่องกงออกมามาประท้วงในวันที่ 1 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งเป็น
วันครบรอบการส่งมอบฮ่องกง
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 5ต.ค.ปีที่แล้ว โจชัว หว่อง เคยถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจคนเข้าเมืองของไทยที่สนามบินสุวรรณภูมิกักตัว ไม่อนุญาตให้เดินทางเข้า
สู่ประเทศไทย และคาดว่าจถูกส่งตัวกลับด้วยเครื่องบินเที่ยวต่อไปที่เดินทางไปยังฮ่องกง ด้วยสายการบินเอมิเรตส์
แกนนำนักศึกษาประท้วงรัฐบาลจีนรายนี้  เดินทางมาไทย เพื่อร่วมเป็นแขกรับเชิญพิเศษของงานปาฐกถา 6 ตุลาคม 59 ในหัวข้อการเมือง
ของคนรุ่นใหม่ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันพฤหัสบดี ที่ 6 ต.ค.ปีดังกล่าว

ทราบแล้วเปลี่ยน ชัดเจนช่วงปลายปี



ทราบแล้วเปลี่ยน ชัดเจนช่วงปลายปี
พันเอก สุชาติ จันทรโชติกุล อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนเพื่อการปฎิรูปประเทศ ซึ่งเป็นเพื่อนร่วมรุ่นเตรียมทหาร12 ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึงการตัดสินใจลาออกจากสปท. เพื่อมาทำงานการเมืองร่วมกับนักการเมืองคนอื่นๆผ่านพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่มีแนวทางสนับสนุนพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ถามถึงความชัดเจนของการจัดตั้งพรรคการเมืองที่จะมาหนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกบอกยังไม่มีความชัดเจนในช่วงนี้ แต่จะชัดเจนในช่วงปลายปี
พันเอกสุชาติ อดีตสส.พรรคความหวังใหม่ พร้อมเพื่อน อดีตสปท.อีกหลายคนรวมถึงพลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร นายสุชน ชาลีเครือ อดีตประธานรัฐสภา นายสมพงษ์ สระกวี ได้ลาออกจากสปท.เพื่อรักษาสิทธิ์ทางการเมืองในการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้า ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของของรัฐธรรมนูญให้ต้องลาออกก่อน90วันหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 6เมษายน

ทอล์คทหารรุก10เป้าหมาย/เดือนทั่วประเทศ

Talk รักชาติ Delivery

ทบ. เตรียมจัด "ชุดวิทยากร" นักทอล์คทหาร  เดินสายไป บรรยาย ประกอบ แสงสีเสียง การแสดง แบบนี้ ไปตามจังหวัดต่างๆ  เดือนละ10 เป้าหมาย เพื่อปลุกอุดมการณ์รักชาติ รักทหาร รักสามัคคี ให้ประชาชน ด้วยการใช้ประวัติศาสตร์ 

วันนี้ พันเอกวรวุฒิ แสงทอง นักพูดทหาร จาก มทบ.11  ที่ทำหน้าที่ "สร้างคนดี ด้วยประวัติศาสตร์ สร้างขาติ ด้วยอุดมการณ์" มา25ปี...เดินสาย ปลุก "อุดมการณ์รักชาติ"....ด้วยประวัติศาสตร์ ชาติไทย และความเสียสละของทหาร....ที่ว่ากันว่า ไม่ว่าไปบรรยายที่ไหน. ก็ทำให้คนไทยน้ำตาซึม มาแล้ว นับไม่ถ้วน

วันนี้ มาบรรยาย ให้ บิ๊กเจี๊ยบ พลเอกเฉลิมชัย ผบ.ทบ. และบิ๊กๆ ทบ. พร้อมกำลังพล  ฟัง แต่เช้า  ที่หอประชุมกิตติขจร...

ผบ.ทบ.-พรรคคสช.

เป็นเรื่องอนาคต
"บิ๊กเจี๊ยบ"โบ้ย ไม่รู้ คสช.จะตั้งพรรคมั้ย บอกไม่ทราบ  "เป็นเรื่องอนาคตข้างหน้า"

ปัดนั่ง เลขาฯพรรค ยันเกษียณแล้ว ก็จบ  สยบทุกข่าวลือ /ระบุการเลือกตั้งเป็นเริ่องของรัฐบาล ส่วน คสช.ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคง  ถ้าทุกอย่าง เรียบร้อย  ก็เลือกตั้ง ตามโรดแมพ  ตามที่นายกฯระบุ

พลเอกเฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. กล่าวถึง กระแสหนุน คสช.ตั้งพรรค และการให้ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกฯต่อ ว่า ผมไม่ทราบ และไม่ขอแสดงความคิดเห็น

ส่วนโอกาสที่จะเลื่อนเลือกตั้ง เพราะกฏหมายลูก ไม่ผ่านนั้น พลเอกเฉลิมชัย ซึ่งเป็น สนช. ด้วย ระบุว่า ไม่มี และเชื่อว่า เป็นไปตามโรดแมพ ปลายปี2561 ตามที่นายกฯบอก  

ทั้งนี้ การเลือกตั้งเป็นเริ่องของรัฐบาล ส่วน คสช.ทำหน้าที่ดูแลความมั่นคง  ถ้าทุกอย่าง เรียบร้อย  ก็เลือกตั้ง ตามโรดแมพ

เมื่อถามว่า ในฐานะเลขาฯคสช. มองการตั้งพรของคสช.อย่างไร พล.อ.เฉลิมชัย กล่าวว่า  ไม่ทราบ เพราะสำหรับผม เกษียณแล้ง ผมก็จบ แล้ว

เมื่อถาม ว่า พรรคที่ คสช.ตั้งมา ประชาชนจะยอมรับ หรือไม่ พลเอกเฉลิมชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องของอนาคตข้างหน้า

‘ไพรมารีโหวต’เพื่อ..? โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข

‘ไพรมารีโหวต’เพื่อ..? โดย วรศักดิ์ ประยูรศุข



แฟ้มภาพ
เป็นประเด็นถกเถียงเมื่อ สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองเพิ่มเติมให้มี “ไพรมารีโหวต” หรือการเลือกตั้งเบื้องต้นเข้าไปด้วย

สาระสำคัญคือ บังคับว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งแบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อ ต้องผ่านกระบวนการไพรมารีโหวต

จากร่างเดิมที่ กรธ.ของ อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ กำหนดหลวมๆ ให้การคัดเลือกผู้สมัครฟังความเห็นสมาชิกในพื้นที่ประกอบการพิจารณา

สนช.เพิ่มความเข้มข้นในมาตรา 35 ให้พรรคการเมืองจะต้องมีตัวแทนในทุกเขตเลือกตั้ง

เพิ่มในมาตรา 49 ให้ผู้สมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาจากการลงคะแนนเลือกของที่ประชุมสาขาพรรคการเมืองที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน

หรือที่ประชุมตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดที่มีสมาชิกไม่น้อยกว่า 50 คน

ส่วนผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ กำหนดว่าต้องคัดเลือกโดยคำนึงถึงผู้สมัครรับเลือกตั้งจากภูมิภาคต่างๆ และความเท่าเทียมระหว่างชายและหญิง

จากนั้นจัดการประชุมเพื่อให้สมาชิกลงคะแนนเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อ

เมื่อได้รายชื่อแล้ว ส่งให้กรรมการบริหารพรรคดำเนินการต่อไป

เจอ 2 รายการนี้เข้าไป พรรคการเมืองก็กระอัก เพราะเท่ากับ “งานงอก” จากเดิมที่หนักอยู่แล้ว
ต้องมานับหนึ่งใหม่อีกรอบ ตั้งตัวแทนพรรค หาสมาชิกสาขาพรรคให้ครบทุกเขตเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่เรื่องหมูๆ

โดยเฉพาะในยามที่ประชาชนแหยงๆ การเมือง การสมัครเป็นสมาชิกพรรคต้องเสียเงิน อย่างในปัจจุบันนี้

ถ้าพูดกันอย่างลอยๆ เชิงหลักการ ไพรมารีโหวตเป็นระบบที่ดี เพราะทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนจากพื้นฐาน

แต่ถ้าจะปฏิบัติให้ได้ผลตามหลักการต้องมีขั้นตอนและใช้เวลาในการสร้างพื้นฐาน

ถ้าทำเร็วๆ ลวกๆ จะกลายเป็นช่องทางต่อรอง เล่นเกม และบั่นทอนทำลายความแข็งแรงขององค์กรพรรคแบบไทยๆ ที่ยังโซเซ ไม่มีความต่อเนื่อง

นักการเมืองรุ่นใหญ่หลายคนฟันธงว่า ถ้าจะให้พรรคการเมืองทำแบบนี้ เลือกตั้งปี 2561 ที่พูดๆ กันคงเป็นไปไม่ได้แล้ว

บ้างก็ชี้ว่าเป็นการเติมเข้ามาเพื่อ “เตะถ่วง” ไม่ให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น

และยังถกเถียงกันอยู่ว่า หากเกิดปัญหาในไพรมารีโหวต จะร้องเรียนร้องค้านกันยังไง จะมี กกต.เข้าไปเกี่ยวข้องหรือไม่

ทั้งหมดนี้ต้องรอดูว่า ในขั้นตอนการปรับแก้โดยคณะกรรมาธิการร่วมระหว่าง กกต. กรธ. และ สนช. ผลจะออกมายังไง

จะตัดออกตามความประสงค์ของอาจารย์มีชัย หรือจะต้องเจอกันครึ่งทาง ค่อนทาง ฯลฯ

เรื่องนี้ทุกฝ่ายต่างอ้าง “เจตนาดี” อ้าง “หลักการ” ด้วยกันทั้งหมด

แต่ “เจตนาดี” หรือหลักการที่มาผิดจังหวะจะโคน อาจเกิดผลเป็นตรงกันข้าม

โดยเฉพาะเจตนาดี รักประชาธิปไตย แต่ยังไม่ค่อยอยากให้มีการเลือกตั้ง

การแก้ไขที่กำลังจะเกิดขึ้นจะบ่งบอกเบื้องลึกของเรื่องนี้
……………
วรศักดิ์ ประยูรศุข

คนคุ้นเคย

คนคุ้นเคย

โครงการรถไฟความเร็วสูงสายโคราช-กรุงเทพฯ ราคา 1.7 แสน ล้านบาท ระยะทาง 252 กม. กลายเป็นแม่เหล็ก ดึงดูดใครต่อใครออกมาวิจารณ์โครงการนี้กันเกรียวกราว
โดยเฉพาะการยกเว้นกฎระเบียบต่างๆ เพื่อผลักดันให้โครงการรถไฟความเร็วสูงจีน-ไทยสามัคคีเดินหน้าได้อย่างสะดวกโยธิน
และประเด็นสำคัญ...คือความคุ้มค่าของการลงทุน

เนื่องจากโครงการรถไฟความเร็วสูงสายนี้จะถึงจุดคุ้มทุนภายใน 50 ปี
แสดงว่ากว่าถึงจุดคุ้มทุนจะต้องขาดทุนบานฉ่ำไปอีก 49 ปี
ใครฟังแล้วก็ต้องสะดุ้งโหยงไปตามๆกัน
“แม่ลูกจันทร์” กราบเรียนตาม ตรงว่าโครงการรถไฟความเร็วสูง (จีน-ไทยสามัคคี) มีจุดอ่อนให้วิพากษ์วิจารณ์ได้มากกว่าโครงการอื่นๆของรัฐบาล
ต้องขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เปิดใจ กว้างรับฟังความเห็นต่างด้วยความอดทน
ถ้ามองมุมกลับ กระแสคัดค้านโครงการนี้จะเป็นผลดีต่อรัฐบาลเช่นกัน
เพราะถ้าเป็นข้อท้วงติงที่มีเหตุมีผลน่ารับฟัง รัฐบาลสามารถนำไปใช้เป็นเงื่อนไขเจรจาต่อรองกับฝ่ายจีนเพิ่มเติมก่อนเซ็นสัญญา
เพราะถ้าเซ็นสัญญาไปแล้วจะ เปลี่ยนแปลงเงื่อนไขไม่ได้ทุกกรณี!!
“แม่ลูกจันทร์” เชื่อว่าในบรรดาเสียงวิจารณ์ดังสนั่นหลายพันเดซิเบล
มีหนึ่งเสียง...ที่ดังสนั่นกว่าใครๆ
เนื่องจากเจ้าของเสียงวิจารณ์เคยลงเรือแป๊ะลำนี้มาเอง
เขาคือ นายสมหมาย ภาษี อดีต รมว.คลัง เบอร์แรกของรัฐบาล คสช.
แม้ช่วงหลังๆอดีต รมว.คลังเคยออกมาวิจารณ์โครงการรัฐบาลประปราย
แต่ครั้งนี้ “นายสมหมาย” วิจารณ์โครงการรถไฟความเร็วสูงแบบดับ เครื่องชน
พุ่งเป้าไปที่ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” รองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจ สุดลิ่มทิ่มประตู
สรุปย่อๆคือ ไม่เห็นด้วยที่รัฐบาลเร่งรีบลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ ซึ่งมีผลตอบแทนทางการเงินต่ำเตี้ยติดดิน
เพราะเสี่ยงขาดทุนหนักในระยะยาว
ข้อสำคัญ งบลงทุน 1.7 แสนล้านบาท ที่รัฐบาลอัดฉีดลงไป ส่วนใหญ่จะไหลไปเข้ากระเป๋าจีน ซึ่งผูกขาดทั้งการออกแบบ การควบคุมงานก่อสร้าง ผูกขาดระบบอุปกรณ์สัญญาณ ผูกขาดขายหัวรถจักร และตู้รถโดยสารเบ็ดเสร็จครบวงจร
ส่วนเงินลงทุนที่เหลือจะตกอยู่ในมือบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่เพียงไม่กี่ราย
และสุดท้าย เสือนอนกินตัวจริง คือธนาคารที่ปล่อยเงินกู้ให้รัฐบาลได้รับประทานดอกเบี้ยสะดือบวม

อดีตรัฐมนตรีคลัง สมหมาย ภาษี ยํ้าว่า การเร่งลงทุนโครงการรถไฟ ความเร็วสูงไม่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยอย่างที่รัฐบาลฉายหนังโฆษณา
เพราะเม็ดเงินไม่ตกไปถึงรากหญ้าเลย
นอกจากแรงงานขุดดินขนหินแบก ปูน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างชาติบ้านใกล้เรือนเคียง
สิ่งเดียวที่คนไทยจะได้แน่ๆ คือได้แบกหนี้ก้อนโตไปอีก 50 ปี
ประทานโทษ เคยลงเรือแป๊ะมาแท้ๆ ไม่น่าจัดหนักขนาดนี้เลยนะคุณลุง.
“แม่ลูกจันทร์”

แก้ปัญหาให้ตรงจุด

แก้ปัญหาให้ตรงจุด

ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สมาชิกพรรคเลือกตั้งเบื้องต้น หรือไพรมารี เพื่อเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย ทั้งจากนักการเมือง และนักวิชาการ มีการโต้เถียงกัน แม้แต่ระหว่าง กรธ. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ กับ กกต. จนอาจต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงว่า กรธ.ต้องไปดูรายละเอียดของปัญหาด้วยตัวเอง เพราะถ้าร่างกฎหมายส่งผลให้พรรคส่งผู้สมัครไม่ได้ และทำการเลือกตั้งไม่ได้ อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งจดหมายเปิดผนึกร่ายยาวถึง กรธ. ชี้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากให้มีไพรมารีในไทยที่ใช้ระบบรัฐสภา

การเลือกตั้งเบื้องต้นหรือไพรมารี เป็นการเมืองระบบอเมริกัน ที่มีการเลือกตั้งทุกอย่างที่ขวางหน้า เป็นระบบประธานาธิบดีที่แยกอำนาจ ระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ มีกำหนดวันเวลาเลือกตั้งตายตัว เช่น 2 ปีต่อครั้ง หรือ 4 ปีต่อครั้ง ต่างจากไทยที่ใช้ระบบรัฐสภา อาจมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ได้ทุกเมื่อ จนอาจทำไพรมารีไม่ทัน

คนอเมริกันชอบผูกพันเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่ง ในสองพรรคใหญ่ แต่ละพรรคจึงมีสมาชิกมากมายมหาศาล เหมาะกับการทำไพรมารี แต่คนไทยไม่ชอบผูกพันเป็นสมาชิกพรรค มีคนเป็นสมาชิกพรรคไม่เกิน 2-3 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเกือบ 50 ล้าน บางพรรคอาจมีสมาชิกในเขตเลือกตั้งแค่ร้อยกว่าคน ถ้ามีเลือกตั้งเบื้องต้นจะเป็นปาหี่การเมือง

ถ้าเป็นพรรคเล็กหรือพรรคที่จัดตั้งใหม่ ไม่มีสมาชิกมากพอ และจัดไพรมารีไม่ได้ก็จะส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้ และนำไปสู่ผลกระทบอื่นๆตามมา วิธีการที่น่าจะเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด น่าจะจัดการประชุมใหญ่ในเขตเลือกตั้ง เพื่อให้สมาชิกพรรคเลือกผู้สมัคร ส่วนมาตรการป้องกันนายทุนเป็นเจ้าของพรรค ต้องบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น

ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุว่า การบริหารพรรคต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย หาก ส.ส. หรือสมาชิกพรรคเห็นว่ามติหรือข้อบังคับพรรคใด ขัดต่อหลักประชาธิปไตย มีสิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกมติ แต่ต้องเพิ่มความเข้มข้นถ้าผู้นำพรรคหรือคณะผู้บริหาร กระทำการครอบงำพรรค ต้องได้รับโทษถูกถอดถอนและติดคุก

สนช.มีเจตนาดี ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของพรรค และป้องกันการครอบงำจากนายทุนใหญ่ แต่ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยคำนึงถึงความเป็นจริง และวัฒนธรรมการเมืองคนไทย เหตุที่พรรคถูกครอบงำ เพราะการซื้อเสียงเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้ง พรรคเงินหนามักจะเป็นผู้ชนะ ส่วนพรรคเงินน้อยคือผู้แพ้ เราจะแก้ปัญหาซื้อเสียงอย่างไร?

"พรเพชร"ขออย่ากังวลข่าวคว่ำร่าง พ.ร.ป.เพื่อเลื่อนเลือกตั้ง ย้ำทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลา

"พรเพชร"ขออย่ากังวลข่าวคว่ำร่าง พ.ร.ป.เพื่อเลื่อนเลือกตั้ง ย้ำทุกอย่างเป็นไปตามกรอบเวลา

โดย MGR Online   
29 มิถุนายน 2560 14:29 น.
        นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีมีนักการเมืองวิเคราะห์มีช่องทางที่จะคว่ำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อเลื่อนวันเลือกตั้ง โดยขอให้อย่าเพิ่งกังวล เพราะการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญยังอยู่ในกรอบเวลาที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และ สนช. ต้องยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 10 ฉบับ ให้แล้วเสร็จ และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับแรกได้ผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้ว แม้ว่าร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจะมีความคิดเห็นขัดแย้งกันในเรื่องไพรมารีโหวต แต่ส่วนตัวยังเชื่อมั่นว่ากรรมาธิการร่วม จะได้ข้อสรุปภายใต้กรอบเวลาที่กำหนด จึงไม่ใช่กระบวนการคว่ำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะทุกอย่างต้องเป็นไปตามกรอบเวลา ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญอื่นๆ ก็ยังต้องดำเนินการต่อไป ดังนั้นจึงมั่นใจว่าจะไม่กระทบต่อเวลา และยังไม่เห็นว่าจะมีผลต่อการเลื่อนวันเลือกตั้ง
       
       อย่างไรก็ตาม ประธาน สนช. ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์การแสดงความเห็นของนักการเมืองที่ออกมาวิเคราะห์ เพราะเห็นว่าทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความเห็น ซึ่ง สนช. ก็มีสิทธิชี้แจง พร้อมย้ำว่า ไม่มีกระบวนการเหมือนที่นักการเมืองกังวล และอย่ามองว่าความเห็นต่างคือความขัดแย้ง เพราะ กรธ. และ สนช. ไม่เคยทะเลาะกัน 

จาก...แผนพัฒนาชาติ สู่...ยุทธศาสตร์ชาติ (2)

จาก...แผนพัฒนาชาติ สู่...ยุทธศาสตร์ชาติ (2)
โดย ซูม

(ต่อจากวานนี้)
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2516 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของแผน ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2515-2519) เป็นต้นมาประเทศไทยได้แปรสภาพจากเผด็จการเต็มใบมาสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแบบร้อยเปอร์เซ็นต์อีกครั้งหนึ่ง

เป็นธรรมชาติของรัฐบาลจากการเลือกตั้งย่อมจะมีนโยบายของตนเอง และได้เสนอนโยบายนั้นต่อประชาชนระหว่างหาเสียง ดังนั้น เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็ย่อมจะต้องนำนโยบายมาใช้

หลายๆนโยบายอาจไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะกำหนดโดย “เทคโนแครต” หรือข้าราชการประจำฝ่ายวิชาการ เช่น สภาพัฒน์, สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง เป็นต้น
พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก แต่ไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาลกลายเป็นพรรคกิจสังคม ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งมีแค่ 18 เสียง ได้รับการสนับสนุนจากสภา และอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้เป็นนายกฯโดยมีอาจารย์ใหญ่ บุญชู โรจนเสถียร เป็นขุนคลังเอก

อาจารย์ใหญ่บุญชู ไม่ใช้แผนพัฒนาเลย เพราะท่านมีแผนเศรษฐกิจของท่านเอง โดยเฉพาะแผนเงินผันอันลือลั่นในยุคนั้น

ประกอบกับต่อมาก็เกิดเหตุวุ่นวาย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลที่กลับคืนสู่ระบอบเผด็จการอีกหน ท่านไม่สนใจเรื่องการพัฒนามากนัก เป็นรัฐบาลขวาสุดโต่งอย่างที่เราทราบ

แผนพัฒนาฉบับที่ 3 จึงถูกละเลยแทบจะโดยสิ้นเชิง

ยกเว้นบางโครงการที่เริ่มจัดทำในช่วงที่อาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ มาเป็นรัฐบาล ตอนเปลี่ยนแปลงระยะแรกๆ ซึ่งก็มีไม่มากนัก

ต่อมาก็มีการจัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 4 พ.ศ.2520-2524 ซึ่งโดยห้วงเวลาจะต้องเตรียมการตั้งแต่ปี 2518-2519 อันเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานสุดขีด (ก่อนเหตุการณ์สำคัญ วันที่ 6 ตุลาคม)

คณะทำแผนซึ่งมีสภาพัฒน์เป็นโต้โผมองว่า ต่อไปรัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้งจะต้องมีสัญญาประชาคมอย่างที่ว่า การเตรียมแผนพัฒนา

จึงจำเป็นต้องยืดหยุ่น

แผนพัฒนาประเทศจะไม่ใช่แผนสั่งการแบบแผน 1 แผน 2 หรือแผน 3 อีกแล้ว เพราะรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยคงจะไม่สั่งการอะไรได้แบบยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ในอดีต

แผนพัฒนาประเทศจึงควรเป็นเพียงคู่มือสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะพิจารณานำไปใช้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

สภาพัฒน์จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ทั้งหมดแล้ว ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของชาติอยู่ตรงไหน ควรแก้อย่างไรและควรเดินอย่างไร

ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการจัดทำแผนพัฒนาที่สำคัญยิ่ง จากวิธีเดิมคือแผนเพื่อให้รัฐบาลนำไป สั่งการ ให้ปฏิบัติ มาเป็นแผนเพื่อให้รัฐบาล (ที่จะมาจากประชาชน) “เลือก” เอาเองว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรบ้างตามข้อเท็จจริงของประเทศในขณะนั้น

ปรากฏว่า รัฐบาลที่มาจากประชาชนสลับกับเผด็จการ (เพราะช่วงนั้นสับสนมาก) ไม่ค่อยเลือกใช้ข้อเสนอจากแผนเท่าไรนัก ทำให้แผนพัฒนาฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) เป็นแผนที่ถูกละเลยไปอีกฉบับหนึ่ง
ครั้นมาถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ มีป๋าเปรมเป็นนายกฯ คนนอกได้แรงหนุนจากกองทัพ แผนพัฒนาฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) จึงเริ่มกลับสู่ความเป็นแผน “ครบเครื่อง” คล้ายๆแผนที่ 1 คือ มีแผนงานมีโครงการที่พร้อมปฏิบัติการได้กลับมารองรับอีกครั้ง และมีกรรมการระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คอยกำกับสั่งการ

แต่ก็เป็นแผนครบเครื่องแบบให้เกียรติประชาธิปไตย คือจะมีการสั่งการโดยอาศัยอำนาจนายกฯเพียงบางเรื่องที่สำคัญเท่านั้น เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนแผน 5 ไปได้

โดยเฉพาะ 2 เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด กับ แผนพัฒนาชนบทยากจน

ซึ่งจะเป็นแผนที่มีโครงการรับรองอย่างชัดเจน และจะมีเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์กลุ่มหนึ่งลงไปประสานผลักดันกับส่วนราชการและภาคเอกชนให้ดำเนินตามแผนที่วางไว้

ในทางปฏิบัติก็อย่างที่ทราบ ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่เต็มตัวจากความสำเร็จของอีสเทิร์นซีบอร์ด.

(อ่านต่อพรุ่งนี้)
“ซูม”

ลงสนามเองเท่กว่า

ลงสนามเองเท่กว่า

ผิดหวัง เหนื่อยฟรี อารมณ์นี้เลย
โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและ รมว.กลาโหม ที่หมายมั่นปั้นมือเต็มที่ในการระดมสรรพกำลัง ฝ่ายความมั่นคง ทหาร ตำรวจ มหาดไทย ไปยันกรมประมง
ถึงขั้นใช้อำนาจมาตรา 44 ลุยแก้ปมเรือประมงผิดกฎหมาย
ตามข่าวตลอดช่วงปีที่ผ่านมา ในมุมรัฐบาลทหารของไทยแสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างเต็มที่ในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ที่โยงถึงธุรกิจการส่งออกสินค้าการประมงของไทย
หมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นผลงานโบแดงของรัฐบาล คสช.
แต่เมื่อผลสอบออกมา อันดับไม่ดีขึ้น ประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 2 บัญชีรายชื่อประเทศที่ต้องจับตามอง หรือ “เทียร์ ทู วอทช์ลิสต์”
ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ฉบับล่าสุดของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่ารัฐบาลไทยไม่ได้ดำเนินการขจัดการค้ามนุษย์ให้เป็นไปตามมาตรฐานต่ำสุดอย่างครบถ้วน นอกจากนี้ยังไม่ได้ดำเนินความพยายามเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่มีการจัดทำรายงานครั้งที่แล้ว
โดยไทยไม่ได้ดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนรู้เห็นในการก่ออาชญากรรมค้ามนุษย์ และปล่อยให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นยังคงขัดขวางความพยายามในการแก้ปัญหา
เรื่องของเรื่อง สาเหตุอย่างเป็นทางการก็แล้วแต่จะเอ่ยอ้างกันไป
แต่ถ้ามองในเชิงยุทธศาสตร์ เงื่อนไขของเกมต่อรองทางการเมืองระหว่างประเทศ
ก็ต้องเข้าใจ “มวยหมัดเมา” อย่าง “โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่มีประวัติศาสตร์ทางการเมือง ไม่เน้นนโยบายที่ยึดโยงกับเรื่องพันธสัญญา ข้อตกลงองค์กรโลกบาลต่างๆ
แบบที่ฉีกสัตยาบันข้อตกลงปารีสหน้าตาเฉย หันหลังให้ความร่วมมืออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการลดภาวะเรือนกระจกหรือโลกร้อน
ถอนตัวกันดื้อๆโดยไม่สนใจจะโดนโจมตี โดนโห่ฮายังไง
นั่นก็สะท้อนถึงมาตรฐาน กระบวนการความคิด ตอนนี้ผู้นำสหรัฐฯคือนักธุรกิจใหญ่ ที่ยึดผลประโยชน์ของฝ่ายตัวเองเป็นหลักเท่านั้น
ตามสูตร “อเมริกาต้องมาก่อน”
โดยรูปการณ์ประเด็น “เทียร์ 2” ของไทยหนีไม่พ้นโยงกับการประคองดุลอำนาจโลก
ก็อย่างที่เห็นๆ ทั้งเรือดำน้ำ ทั้งรถถัง ทั้งรถไฟความเร็วสูง
ที่รัฐบาลไทยเซ็นสัญญา ล้วนแล้วแต่ “เมด อิน ไชน่า” ไม่ได้มี“เมด อิน ยูเอสเอ” ร่วมแจมแต่อย่างใด
อย่าได้แปลกใจ ทำไมไทยถึงโดนผลสอบค้ามนุษย์ไม่ดีขึ้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อเงื่อนไขข้อตกลงต่างๆระหว่างประเทศมันโยงกับดุลการเมืองโลก ทุกอย่างก็อยู่ที่ลีลาการเจรจา จังหวะการต่อรองในการถ่วงดุลระหว่างชาติมหาอำนาจ
ซึ่งไม่น่าจะเกินขีดความสามารถของยี่ห้อ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” กัปตันทีมเศรษฐกิจไทย
ณ วันนี้ การเมืองภายนอกไม่ได้กดดันรัฐบาลทหารเหมือนช่วงยึดอำนาจปีแรกๆ
ไม่ต่างจากสถานการณ์การเมืองภายใน ที่ถึงตรงนี้ดุลได้เปรียบก็ยังอยู่กับฝั่ง คสช.
ล่าสุดกับคำพูดลึกๆ “สถานการณ์จะเป็นตัวชี้วัดเองว่าเราควรจะทำอย่างไรในอนาคต”
“นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. แสดงความขอบคุณโพลที่ประชาชนสนับสนุนให้ตั้งพรรคการเมืองสนับสนุนรัฐบาล คสช.
ไม่ตอบรับ แต่ก็ไม่ปฏิเสธ
สะท้อนเหลี่ยมลีลานักการเมืองค่อนตัวไปแล้ว
เอาเป็นว่า แนวโน้มตามรูปการณ์ ถ้า “ลุงตู่” จะลงสนามเลือกตั้งเองก็ไม่แปลกแต่อย่างใด
ด้วยต้นทุนของ “นายกฯลุงตู่” ที่มีแฟนคลับอยู่พอตัว ไม่ต้องกลัวแต้มโบ๋
และไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ก็มี 250 เสียง ส.ว.สรรหาเป็นฐานต้นทุนหน้าตักประกันความชัวร์ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
แต่จุดสำคัญมันอยู่ตรงได้ชื่อว่า เป็นนายกฯที่มาจากสนามเลือกตั้ง
ยังไงก็สง่างามกว่า ชอบธรรมกว่าสถานะนายกฯคนนอก
ไม่ต้องถูกค่อนขอดว่า “ลากตั้ง” เข้ามา.

ทีมข่าวการเมือง