PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560

แก้ปัญหาให้ตรงจุด

แก้ปัญหาให้ตรงจุด

ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองใหม่ ที่ผ่านความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สมาชิกพรรคเลือกตั้งเบื้องต้น หรือไพรมารี เพื่อเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรค ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลากหลาย ทั้งจากนักการเมือง และนักวิชาการ มีการโต้เถียงกัน แม้แต่ระหว่าง กรธ. ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ กับ กกต. จนอาจต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ชี้แจงว่า กรธ.ต้องไปดูรายละเอียดของปัญหาด้วยตัวเอง เพราะถ้าร่างกฎหมายส่งผลให้พรรคส่งผู้สมัครไม่ได้ และทำการเลือกตั้งไม่ได้ อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ส่งจดหมายเปิดผนึกร่ายยาวถึง กรธ. ชี้ถึงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น หากให้มีไพรมารีในไทยที่ใช้ระบบรัฐสภา

การเลือกตั้งเบื้องต้นหรือไพรมารี เป็นการเมืองระบบอเมริกัน ที่มีการเลือกตั้งทุกอย่างที่ขวางหน้า เป็นระบบประธานาธิบดีที่แยกอำนาจ ระหว่างฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ มีกำหนดวันเวลาเลือกตั้งตายตัว เช่น 2 ปีต่อครั้ง หรือ 4 ปีต่อครั้ง ต่างจากไทยที่ใช้ระบบรัฐสภา อาจมีการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ได้ทุกเมื่อ จนอาจทำไพรมารีไม่ทัน

คนอเมริกันชอบผูกพันเป็นสมาชิกพรรคใดพรรคหนึ่ง ในสองพรรคใหญ่ แต่ละพรรคจึงมีสมาชิกมากมายมหาศาล เหมาะกับการทำไพรมารี แต่คนไทยไม่ชอบผูกพันเป็นสมาชิกพรรค มีคนเป็นสมาชิกพรรคไม่เกิน 2-3 ล้านคน จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดเกือบ 50 ล้าน บางพรรคอาจมีสมาชิกในเขตเลือกตั้งแค่ร้อยกว่าคน ถ้ามีเลือกตั้งเบื้องต้นจะเป็นปาหี่การเมือง

ถ้าเป็นพรรคเล็กหรือพรรคที่จัดตั้งใหม่ ไม่มีสมาชิกมากพอ และจัดไพรมารีไม่ได้ก็จะส่งสมาชิกสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ได้ และนำไปสู่ผลกระทบอื่นๆตามมา วิธีการที่น่าจะเหมาะกับประเทศไทยมากที่สุด น่าจะจัดการประชุมใหญ่ในเขตเลือกตั้ง เพื่อให้สมาชิกพรรคเลือกผู้สมัคร ส่วนมาตรการป้องกันนายทุนเป็นเจ้าของพรรค ต้องบังคับใช้กฎหมายเข้มข้น

ตัวอย่างเช่น รัฐธรรมนูญ 2550 ระบุว่า การบริหารพรรคต้องสอดคล้องกับหลักการพื้นฐานประชาธิปไตย หาก ส.ส. หรือสมาชิกพรรคเห็นว่ามติหรือข้อบังคับพรรคใด ขัดต่อหลักประชาธิปไตย มีสิทธิยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกมติ แต่ต้องเพิ่มความเข้มข้นถ้าผู้นำพรรคหรือคณะผู้บริหาร กระทำการครอบงำพรรค ต้องได้รับโทษถูกถอดถอนและติดคุก

สนช.มีเจตนาดี ต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วม เป็นเจ้าของพรรค และป้องกันการครอบงำจากนายทุนใหญ่ แต่ต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยคำนึงถึงความเป็นจริง และวัฒนธรรมการเมืองคนไทย เหตุที่พรรคถูกครอบงำ เพราะการซื้อเสียงเป็นปัจจัยสำคัญในการเลือกตั้ง พรรคเงินหนามักจะเป็นผู้ชนะ ส่วนพรรคเงินน้อยคือผู้แพ้ เราจะแก้ปัญหาซื้อเสียงอย่างไร?

ไม่มีความคิดเห็น: