PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2560

จาก...แผนพัฒนาชาติ สู่...ยุทธศาสตร์ชาติ (2)

จาก...แผนพัฒนาชาติ สู่...ยุทธศาสตร์ชาติ (2)
โดย ซูม

(ต่อจากวานนี้)
นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2516 ซึ่งอยู่ในช่วงเวลาของแผน ฉบับที่ 3 (พ.ศ.2515-2519) เป็นต้นมาประเทศไทยได้แปรสภาพจากเผด็จการเต็มใบมาสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งแบบร้อยเปอร์เซ็นต์อีกครั้งหนึ่ง

เป็นธรรมชาติของรัฐบาลจากการเลือกตั้งย่อมจะมีนโยบายของตนเอง และได้เสนอนโยบายนั้นต่อประชาชนระหว่างหาเสียง ดังนั้น เมื่อได้เป็นรัฐบาลก็ย่อมจะต้องนำนโยบายมาใช้

หลายๆนโยบายอาจไม่สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศ ที่ส่วนใหญ่จะกำหนดโดย “เทคโนแครต” หรือข้าราชการประจำฝ่ายวิชาการ เช่น สภาพัฒน์, สำนักงบประมาณ, กระทรวงการคลัง เป็นต้น
พรรคประชาธิปัตย์ได้เสียงข้างมาก แต่ไม่พอที่จะจัดตั้งรัฐบาลกลายเป็นพรรคกิจสังคม ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ซึ่งมีแค่ 18 เสียง ได้รับการสนับสนุนจากสภา และอาจารย์คึกฤทธิ์ก็ได้เป็นนายกฯโดยมีอาจารย์ใหญ่ บุญชู โรจนเสถียร เป็นขุนคลังเอก

อาจารย์ใหญ่บุญชู ไม่ใช้แผนพัฒนาเลย เพราะท่านมีแผนเศรษฐกิจของท่านเอง โดยเฉพาะแผนเงินผันอันลือลั่นในยุคนั้น

ประกอบกับต่อมาก็เกิดเหตุวุ่นวาย หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 รัฐบาลที่กลับคืนสู่ระบอบเผด็จการอีกหน ท่านไม่สนใจเรื่องการพัฒนามากนัก เป็นรัฐบาลขวาสุดโต่งอย่างที่เราทราบ

แผนพัฒนาฉบับที่ 3 จึงถูกละเลยแทบจะโดยสิ้นเชิง

ยกเว้นบางโครงการที่เริ่มจัดทำในช่วงที่อาจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ มาเป็นรัฐบาล ตอนเปลี่ยนแปลงระยะแรกๆ ซึ่งก็มีไม่มากนัก

ต่อมาก็มีการจัดทำแผนพัฒนาฉบับที่ 4 พ.ศ.2520-2524 ซึ่งโดยห้วงเวลาจะต้องเตรียมการตั้งแต่ปี 2518-2519 อันเป็นช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบานสุดขีด (ก่อนเหตุการณ์สำคัญ วันที่ 6 ตุลาคม)

คณะทำแผนซึ่งมีสภาพัฒน์เป็นโต้โผมองว่า ต่อไปรัฐบาลต้องมาจากการเลือกตั้งจะต้องมีสัญญาประชาคมอย่างที่ว่า การเตรียมแผนพัฒนา

จึงจำเป็นต้องยืดหยุ่น

แผนพัฒนาประเทศจะไม่ใช่แผนสั่งการแบบแผน 1 แผน 2 หรือแผน 3 อีกแล้ว เพราะรัฐบาลที่มาจากประชาธิปไตยคงจะไม่สั่งการอะไรได้แบบยุคสมัยจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ในอดีต

แผนพัฒนาประเทศจึงควรเป็นเพียงคู่มือสำหรับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง จะพิจารณานำไปใช้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

สภาพัฒน์จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริงของสถานการณ์ทั้งหมดแล้ว ชี้ให้เห็นว่าปัญหาของชาติอยู่ตรงไหน ควรแก้อย่างไรและควรเดินอย่างไร

ซึ่งเป็นการพลิกโฉมการจัดทำแผนพัฒนาที่สำคัญยิ่ง จากวิธีเดิมคือแผนเพื่อให้รัฐบาลนำไป สั่งการ ให้ปฏิบัติ มาเป็นแผนเพื่อให้รัฐบาล (ที่จะมาจากประชาชน) “เลือก” เอาเองว่า ควรจะปฏิบัติอย่างไรบ้างตามข้อเท็จจริงของประเทศในขณะนั้น

ปรากฏว่า รัฐบาลที่มาจากประชาชนสลับกับเผด็จการ (เพราะช่วงนั้นสับสนมาก) ไม่ค่อยเลือกใช้ข้อเสนอจากแผนเท่าไรนัก ทำให้แผนพัฒนาฉบับที่ 4 (พ.ศ.2520-2524) เป็นแผนที่ถูกละเลยไปอีกฉบับหนึ่ง
ครั้นมาถึงแผนพัฒนาฉบับที่ 5 ซึ่งเป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ มีป๋าเปรมเป็นนายกฯ คนนอกได้แรงหนุนจากกองทัพ แผนพัฒนาฉบับที่ 5 (พ.ศ.2525-2529) จึงเริ่มกลับสู่ความเป็นแผน “ครบเครื่อง” คล้ายๆแผนที่ 1 คือ มีแผนงานมีโครงการที่พร้อมปฏิบัติการได้กลับมารองรับอีกครั้ง และมีกรรมการระดับชาติ ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คอยกำกับสั่งการ

แต่ก็เป็นแผนครบเครื่องแบบให้เกียรติประชาธิปไตย คือจะมีการสั่งการโดยอาศัยอำนาจนายกฯเพียงบางเรื่องที่สำคัญเท่านั้น เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนแผน 5 ไปได้

โดยเฉพาะ 2 เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ แผนพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก หรืออีสเทิร์นซีบอร์ด กับ แผนพัฒนาชนบทยากจน

ซึ่งจะเป็นแผนที่มีโครงการรับรองอย่างชัดเจน และจะมีเจ้าหน้าที่สภาพัฒน์กลุ่มหนึ่งลงไปประสานผลักดันกับส่วนราชการและภาคเอกชนให้ดำเนินตามแผนที่วางไว้

ในทางปฏิบัติก็อย่างที่ทราบ ประเทศไทยสามารถก้าวขึ้นสู่ความเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่เต็มตัวจากความสำเร็จของอีสเทิร์นซีบอร์ด.

(อ่านต่อพรุ่งนี้)
“ซูม”

ไม่มีความคิดเห็น: