PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

การคำนวณส.ส.ตามรธน.60

จากการที่ รธน. 60 ได้ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศอย่างเป็นทางการไปแล้วนั้น
ในมาตรา 91 ของ รธน. ได้ระบุการคำนวณสัดส่วนของ จำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งแตกต่างจากของเดิม
ก่อนอื่นขอกล่าวว่า ส.ส. ตาม รธน. 60 มีทั้งหมด 500 คน มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 350 คน และมาจากแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน
โดย 150 คนนั้น มีวิธีการคำนวณ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. นำคะแนนของทุกพรรค ทุกเขต มารวมกัน สมมติว่าได้ 40 ล้านเสียง
2. นำคะแนนทั้งหมดของทุกพรรค หารด้วย 500 (คือจำนวน ส.ส.ทั้งหมด) ในทีนี้จะได้ 8 หมื่น
3. นำคะแนน ข้อ 2 มาหารกับคะแนนทั้งประเทศของ "แต่ละพรรค" สมมติ พรรค A ได้ 18 ล้านเสียง ในทีนี้ต้องเอา 18 ล้าน หาร 8 หมื่น จะได้ 225
ซึ่ง 225 คือ จำนวนส.ส.ที่พรรคนั้นพึงมี (ทั้งแบ่งเขต + บัญชีรายชื่อ)
4. นำเลขที่ได้จากข้อ 3 มา ลบ กับจำนวนส.ส.แบบแบ่งเขตที่แต่ละพรรคได้ สมมติ พรรค A ได้ ส.ส.แบ่งเขต 200 คนจาก 350 คน ในที่นี้จะได้ 225-200 =25 คน
สรุปแล้ว พรรค A จะได้ ส.ส. แบบแบ่งเขต 200 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 25 คน

วิธีการเช่นนี้มีมาเผื่อป้องกันเผด็จการทางรัฐสภา หรือการที่พรรคใหญ่ๆ ยึดเสียงข้างมากในรัฐสภา และทำให้พรรคเล็กๆ มีพื้นที่ในสภามากขึ้น

เลยอยากถามทุกคนว่า วิธีการนี้จะช่วยแก้ปัญหาการล็อคผลได้หรือเปล่า อาทิ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ การเลือกนายกรัฐมนตรี บลาๆๆๆ
ป.ล. ไม่มีสีนะครับ คุยกับด้วยตรรกะและเหตุผล

อ้างอิง : https://www.ilaw.or.th/node/4079

ชี้ข้อดี-ข้อเสียการตั้งพรรคสำรอง

รายงานพิเศษ 
ปรากฏการณ์แตกตัวของพรรคการเมือง เพื่อตั้งพรรคสำรอง หรือ พรรคอะไหล่ ไม่ว่าเป้าประสงค์เพื่อรวมเสียงส.ส.ให้ได้มากที่สุด แก้ปัญหายุบพรรค หรือเพื่อปรับตัวตามกติกาใหม่ เพื่อเก็บกวาดส.ส.บัญชี รายชื่อ
แนวทางดังกล่าวจะได้ผลตามที่นักการเมืองคิดหรือไม่ 
และมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรต่อระบบการเมืองไทย 
1.ฐิติพล ภักดีวานิช 
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
โมเดลการแตกพรรคสร้างพรรคสำรอง หวังเป็นทางเลือก เพื่อเก็บทุกคะแนนเสียงจากส.ส.เขตจะได้นำมาคิดเป็นคะแนนแบบส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากพรรคหลักจะได้ผล กระทบจากการเลือกตั้งบัตรใบเดียวที่จะทำให้พรรคใหญ่ได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อน้อยลง จึงหวังกระจายตัวไปยังพรรคทางเลือกนั้น วิธีคิดแบบนี้ไม่ได้การันตีว่าผลจะออกมาเป็นเช่นนั้นจริง
เพราะพฤติกรรมของประชาชนต่อการติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมืองนั้น จะพบว่าให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนโดยพรรคเดิมอย่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ที่มีฐานคะแนนนิยมตรงนี้อยู่
อีกทั้งในข้อเท็จจริงก็ยังไม่ชัดในความสัมพันธ์ อย่างพรรคนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตกปปส. กับประชาธิปัตย์ ก็ไม่ถือว่าเป็นเนื้อเดียวกัน พรรคนายสุเทพนั้นชัดเจนว่าสนับสนุนทหาร ส่วนทางประชาธิปัตย์ยังกั๊กอยู่ แม้หลายคนก็ประเมินกันว่าสุดท้ายก็พร้อมสนับสนุนทหารถ้าผลประโยชน์ทุกอย่างลงตัว
ทว่าโมเดลอย่างพรรคอนาคตใหม่นั้นมีความน่าสนใจกว่ามาก เพราะตั้งแต่กกต.รับรองการจดจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการก็ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อย่างก้าวหน้าสร้าง สรรค์มาโดยตลอด สร้างกระแสนิยมภายในเวลาอันสั้นได้มาก ขนาดพรรคทหารยังมองว่าเป็นคู่แข่ง ใช้กฎหมายเล่นงาน
ถ้ากระตุ้นคนรุ่นใหม่ที่แอ๊กทีฟอยู่ในโซเชี่ยลมีเดีย ตื่นตัวจนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมากได้ก็จะส่งผลให้พรรคการ เมืองแบบอนาคตใหม่ มีโอกาสเข้ามาสร้างอนาคตใหม่ได้อย่างแท้จริง
โมเดลแตกพรรคสำรองจึงควรมีการทบทวน ถือเป็นวิธีไม่ฉลาด สิ่งที่พรรค การเมืองควรทำคือ มุ่งเน้นไปที่การจัดทำนโยบายสาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน พร้อมทั้งต้องมีจุดยืนและประกาศอุดมการณ์ให้ชัดเจนว่า ยืนเคียงข้างประชาธิปไตย
เพราะตอนนี้กระแสการเลือกตั้งในปี 2562 ก็ชัดขึ้นเรื่อยๆว่า มีเพียง 2 ขั้วเท่านั้นคือ พรรคทหาร หรือประชาธิปไตย จุดนี้ เมื่อมองไปที่อนาคตใหม่ ก็จะพบความชัดเจน มากกว่าพรรคเพื่อไทย ที่ดูไม่เต็มร้อย เสียอีก แต่กระแสของพรรคเพื่อไทยยังได้อยู่ ก็เนื่องจากภาพที่ออกมา เพื่อไทยถูกกระทำจากทหาร ส่วนประชา ธิปัตย์นั้น ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับผลประโยชน์
ดังนั้น สิ่งที่พรรคการเมืองควรทำคือ สร้างระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ไม่ต้องแตกตัวส.ส.ไปลงพรรคสำรอง ที่ไม่ได้มีหลักประกันว่าจะได้ส.ส.มากขึ้น ถ้าเดินหน้าสู้โดยพรรคหลักพรรคเดียว แล้วผลคะแนนยังออกมาในลักษณะที่พรรคใหญ่ยังได้รับความ นิยมสูง มันก็จะยิ่งสะท้อนชัดว่า การเมืองไทยของเราเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ
หากจะแตกตัวส.ส.ไปพรรคสำรอง เพื่อหวังผลเอาจำนวนส.ส.มาคานกับพรรคทหาร ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร ที่สุดแล้วแต้มต่อของพรรคทหารก็มีอยู่แล้วคือ 250 ส.ว. ไม่สามารถทำอะไรได้มาก สู้เดินหน้าต่อไป ด้วยการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง หวังผลทางการเมืองในระยะยาวจะดีกว่า
2.ยุทธพร อิสรชัย 
รศ.ประจำคณะรัฐศาสตร์ มสธ.
เรื่องของพรรคสำรองไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องของการสร้างสถาบันทางการเมือง และไม่ได้สร้างการเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานจากมวลชน แต่เป็นเทคนิคทางการเมืองในการเลี่ยงกฎหมาย หรือปรับสภาพให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ
เมื่อมีข้อจำกัดก็จะมีการดิ้นหนีจากพันธนาการอยู่แล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กับพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้กำหนดการควบคุม การกำกับพรรคการเมืองไว้ค่อนข้างมาก 
หมายความว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของพรรคถูกกำหนดโดยกฎหมาย พรรคการเมืองไม่ได้ดำเนินกิจกรรมตามธรรมชาติเป็นเหตุให้เขาต้องดิ้นหนี เป็นที่มาของการเกิดพรรคการเมืองสำรอง
สิ่งที่ตามมาคือถ้าพูดถึงการพัฒนาของพรรค การเมืองก็แทบจะไม่พบข้อดีของการมีพรรคสำรองเลย นอกจากนี้พรรคสำรองยังอาจไม่ใช่พรรคการเมืองที่แท้จริง แต่ตั้งขึ้นเพื่อเลี่ยงผลทางกฎหมายคงไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาของพรรคการเมือง
แต่เอาไว้ส่งผู้สมัครส.ส.เพื่อลงรับเลือกตั้งเท่านั้นหากเกิดกรณียุบพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคถูกลงโทษ ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีภารกิจอะไรที่มากไปกว่านี้ ดังนั้น กรณีของการตั้งพรรคสำรอง เป้าหมายหลักเพียงเพื่อเผื่อไว้กรณีพรรคหลักมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะได้มีพรรคการเมืองเอาไว้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ 
ส่วนเป้าหมายของการตั้งพรรคสำรองเพื่อแบ่งส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้มากขึ้นนั้นไม่น่าจะมีผลต่อเรื่องนี้มากเท่าไร ด้วยปัจจัยทางกฎหมายที่มีการกำหนดไว้ เพราะพรรคสำรองก็ต้องส่งส.ส.เขตให้ครบจึงจะได้เสียงในส่วนดังกล่าว 
ถ้าไม่มีเจตจำนงเพื่อทำงานทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่มีแนวทางนโยบายที่ชัดเจน ผู้สมัครก็ไม่สามารถทำให้พรรคได้คะแนนได้
พรรคที่จะได้ประโยชน์น่าจะเป็นพรรคขนาดกลาง และพรรคใหม่ที่มีแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ชัดเจนมากกว่าซึ่งเป็นพรรคเฉพาะกลุ่ม 
สำหรับโอกาสที่ผู้สมัครที่ไปอยู่พรรคสำรองจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนหรือไม่นั้น ต้องดูว่าพรรคหลักนั้นๆ ถูกยุบหรือไม่ ถ้ามีกระแสส.ส.ย้ายไปอยู่พรรคสำรองก็มีโอกาส แต่ถ้าไม่ โอกาสก็เป็นไปได้น้อย 
3.สมชาย ปรีชาศิลปกุล 
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
พรรคสำรองกรณีนี้เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ทำให้พรรคการเมืองไม่มีความมั่นคง เห็นได้จากพรรคเพื่อไทย ตามจริงแล้วพรรคการเมืองไม่สมควรถูกยุบได้ง่าย แต่การออกแบบรัฐธรรมนูญและความไม่ชัดเจน กกต.ระบุไม่ได้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จนทำให้พรรคต้องเข้าไปเผชิญกับความเสี่ยงด้วยตัวเอง
ถ้าเป็นแบบนี้ก็สู้จะไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองและบีบให้เตรียมหาทางหนีทีไล่ไว้ เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นพรรคการเมืองที่ควรเป็นสถาบันทางการเมืองไม่ใช่จะมายุบกันได้ง่ายๆ 
ตอนประกาศให้ตั้งพรรคแต่ละพรรคคงมียุทธศาสตร์แตกต่างกัน ทั้งพรรคของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เน้นบางพื้นที่ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็มีกลุ่มคนอีกกลุ่มอยู่แล้ว 
พรรคที่สนับสนุนรัฐประหารแม้ว่าจะมีหลายกลุ่มแต่มีฐานเสียงที่แตกต่างกัน กรณีฝ่ายรัฐบาลจึงไม่ใช่พรรคสำรองแต่เป็นกรณีที่เขาเปิดหน้าเล่น และเปิดหลายๆหน้า ซึ่งต่างจากเพื่อไทย
ในส่วนของพรรคเพื่อไทยหากเกิดอุบัติเหตุเชื่อว่าน่าจะมาด้วยคำวินิจฉัยกกต. มากกว่าคำสั่งคสช. จึงเตรียมให้ส.ส.มีที่ ไปได้ การใช้ยุทธวิธียุบพรรคของฝ่าย ผู้มีอำนาจเพื่อให้พรรคแตกกระจายนั้น ไม่ได้ทำให้ฝ่ายตรงข้ามหายไป ไม่เป็นผลดี อะไรเลย
อย่างไรก็ตามไม่ควรมีพรรคสำรอง ถ้าเราอยู่ในระบบการเมืองที่มีความมั่นคง แน่นอนมีกติกาที่ชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ และมีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเชื่อว่าจะไม่มีพรรคสำรองแน่
แต่ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์การเมืองที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย ทุกพรรคพร้อมที่จะถูกยุบได้ง่ายๆ ยิ่งเป็นพรรคที่ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลยิ่งง่ายต่อการถูกยุบ 
การมีพรรคสำรองสะท้อนให้เห็นว่าระบบการเมืองไทยยังเป็นระบบที่หาความชัดเจนไม่ได้ ใครที่มาต้องระวังหลังตลอดเวลา 
4.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 
คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
การตั้งพรรคสำรองเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งของการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา พรรคถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือกกต.เสนอให้ยุบมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพรรคการ เมืองและฝ่ายต่างๆแน่นอน เพราะปัจจุบันพรรคต่างๆมีโอกาสถูกยุบทิ้ง เช่น ข้อจำกัดห้ามหาเสียงทางโซเชี่ยลมีเดีย
จนเกิดคำถามว่าอะไรคือการหาเสียง อะไรทำได้หรือไม่ได้ และในความเป็นจริงจะทำได้หรือไม่ จึงเป็นเหตุผลที่แต่ละฝ่ายแต่ละกลุ่มต้องรักษาพื้นที่ของ ตัวเอง โดยการเตรียมพรรคสำรองเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ
การเมืองที่เห็นขณะนี้ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ยกตัวอย่างกลุ่มสามมิตรที่ยังขยับเข้าออกรัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐแม้จะมีบุคคลที่ออกหน้าทั้งกลุ่มทุนที่สนับสนุนอย่างเป็นทางการ และรัฐมนตรีที่ยังไม่ลาออกจากตำแหน่ง 
แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคเหล่านี้จะไม่ถูกยุบ ถ้าการเมืองเปลี่ยนขั้วและประเด็นทางสังคมและแรงรับรู้ของสังคมเปลี่ยนไป หากพรรคเหล่านี้ยังภักดีต่อคสช.อาจไม่โดนยุบ แต่ถ้าแปรพักตร์ ถูกพลังดูด หรือกรณีงูเห่าก็เป็นเรื่องที่เกิดได้
และที่กล่าวมานั้นส่งผลในทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น คือการตั้งพรรคสำรองหรือพรรคนอมินี ยิ่งทำให้เกิดการบิดผันของระบบการเมือง เพราะปกติพรรคการเมืองจะเป็นตัวแทนประชาชนที่รู้สึกนึกคิดและเห็นพ้องต้องกันในแนวนโยบาย และการเปลี่ยนแปลงสังคม การเมือง อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงมารวมตัวกันเพื่อลงสมัครและเข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง 
แต่ถ้าเมื่อไรที่มีพรรคที่คล้ายกันหรือพรรคลูก ยิ่งทำให้หลักคิดการเป็นตัวแทนของประชาชนกระจัดกระจาย ผิดเจตนารมณ์ของการสร้างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากธรรมชาติการเมืองไทยที่บิดเบี้ยว
ฝ่ายการเมืองคงเรียนรู้อะไรมาพอสมควรถึงออกมาทำยุทธวิถีสร้างพรรคใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากการถูกยุบพรรค จึงมีทั้งข้อดีและเสียของผู้สมัครที่ไปอยู่พรรคสำรอง
หากมองอีกด้านจะเห็นว่าอาจทำให้ฐานเสียงของพรรคแตกกระจาย ยกตัวอย่างคะแนนปาร์ตี้ลิสต์หากมีการแยกพรรค คะแนนตรงนี้จะกลายเป็นเบี้ยหัวแตก มีการกระจายของคะแนนในกลุ่มที่มากขึ้น แม้จะเลือกได้ตัวบุคคลแต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ยังคาดเดายาก และทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจพรรคที่ไปเลือกว่าพรรคที่ตั้งสำรองจะเป็นตัวแทนของประชาชนได้หรือเปล่า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่
การเมืองบิดเบี้ยวในรอบหลายปีที่ผ่านมา การลดความเสี่ยงของฝ่ายการเมืองที่เกิดขึ้นด้วยการสร้างพรรคใหม่ทำให้ระบอบการเมืองอาจทำหน้าที่ไม่เต็มที่เหมือนกับที่ออกแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เพราะต้องกังวลระหว่างพรรคใหญ่ที่เป็นหลักที่อาจต้องเสื่อมถอยพลังทางการเมืองลงเพราะเสียงกระจายไปตามพรรคเล็กด้วย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีและเป็นผลในทางลบมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการตั้งพรรคสำรองที่เกิดจากการระบบการเมืองที่บิดเบี้ยวบังคับให้คนต้องตั้งพรรคเล็กขึ้นมาจะเป็นช่วงระยะสั้นๆ ถึงที่สุดก็จะเปลี่ยนไปโดยสภาพ 
การเมืองอย่างนี้ถ้ากติกาไม่เป็นธรรม มีความเสี่ยง หรือช่องทางที่ ทำไปแล้วรู้สึกว่าจะเปลี่ยนก็จะบีบให้คนที่อยู่ในกติกาหาเทคนิคเพื่อ เอาตัวรอด คงไม่ไปตัดสินว่าดีหรือไม่ดี เพราะถึงที่สุดคนที่อยู่ในเกมจะรู้ว่าเกมนี้จะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร และท้ายสุดคนที่ตัดสินคือประชาชน

แก้เกมกติกา อย่าซ้ำวิกฤติ : โหมโรงเลือกตั้ง “ปั่นกระแส” สะท้อนธาตุแท้เก่า

ผ่านสัปดาห์แรกเดือนตุลาคม ห้วงเวลาของการเริ่มต้นปีงบประมาณ
สถานการณ์ที่ขุนทหาร บิ๊กตำรวจ ผู้นำหน่วยงานราชการพลเรือน ผู้บริหารหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ เริ่มเข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการ
พร้อมๆกับบรรยากาศของการ “โหมโรงเลือกตั้ง
การเริ่มต้นนับหนึ่ง จังหวะสตาร์ตออกตัวทางการเมือง ภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์ที่ คสช.คลายล็อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมเพื่อเตรียมความพร้อม
ประแป้งแต่งตัวก่อนลงสนามเลือกตั้ง
ตามรูปการณ์ที่พรรคการเมืองทุกป้อมค่ายต่างเดินหน้าจัดการประชุมใหญ่ เพื่อเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค เลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ยกเครื่องทีมงานที่ถูกดองเค็มมาหลายปี
เน้นที่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค เลขาธิการ ทีมผู้บริหารพรรค
โชว์โฉมแม่ทัพนายกองที่จะนำทีมสู้ศึกเลือกตั้งครั้งสำคัญ ท่ามกลางสถานการณ์เปลี่ยนผ่านประเทศ
แน่นอน ไฮไลต์ร้อนแรงอยู่ที่คิวของค่าย “พลังประชารัฐ” ตามสถานะพรรค “ตัวแปร” ใหม่ในสมการการเมืองไทย ที่ได้ฤกษ์จัด “แกรนด์โอเพนนิง” เปิดตัวอย่างเป็นทางการ
ซึ่งก็เป็นไปตามโผตามคาด ตรงกับกระแสข่าวที่ออกมาก่อนหน้า
เปิดโฉมผู้บริหารพรรคตัวจริงเสียงจริง นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ขึ้นแท่นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รับตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รั้งตำแหน่งเลขาธิการพรรค และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ รับหน้าที่โฆษกพรรค
“4 กุมาร” ทีมงาน “จอมยุทธ์กวง” นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
“มาตามนัด” เพื่อเดินหน้าสานภารกิจเป็นฐานการเมืองต้นทุน สนับสนุน “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตีตั๋วต่อนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง
และก็มาตามนัดเหมือนกัน ทันทีที่ 4 รัฐมนตรีทีม
พลังประชารัฐเปิดหน้าเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ตามอาการคนของพรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ ขาใหญ่เจ้าถิ่นแท็กทีมกันรุมตีปี๊บ โห่ฮา ปั่นกระแสไล่ 4 รัฐมนตรีทีมพลังประชารัฐลาออกจากตำแหน่ง ไล่บี้โชว์สปิริตไม่เอาเปรียบพรรคการเมืองอื่น
“รับน้องใหม่” ไล่ตามด่ากัน 3 วัน 3 คืน
แบบที่ไม่สน ไม่ฟัง นายอุตตมและรัฐมนตรีทีมพลังประชารัฐจะออกตัวยืนยัน ไม่ใช้อำนาจ ไม่ใช้เวลาราชการหาเสียง พร้อมลาออกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม
ตามคิวรอประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในเดือนธันวาคม
อารมณ์เขี้ยวของนักการเมืองต้องเตะตัดขาคู่แข่งตามฟอร์ม
และก็โดยอัตโนมัติ กระแสกดดันให้รัฐมนตรีทีม
พลังประชารัฐไขก๊อก ไหลต่อเนื่องกระแสปรับ ครม.เข้าเหลี่ยมคนวงในรัฐบาลท็อปบูตที่รอจังหวะจ้องเขย่า
ทหารตกขบวนหวังเบียดแทรกเป็นรัฐมนตรีส่งท้ายก่อนกลับบ้าน
สถานการณ์ผสมโรงป่วนน้องใหม่ทีมพลังประชารัฐ
เจออัดวัคซีนไข้ทรพิษการเมือง หนาวๆร้อนๆ
แต่นั่นก็สะท้อนว่า ทีมหนุน “ลุงตู่” ได้สร้างอิมแพคการเมืองแรงๆจนเจ้าถิ่นนั่งไม่ติด
โดยเฉพาะสถานการณ์ของพรรคเพื่อไทยในฐานะ
แชมป์เก่าที่แสดงอาการกระหาย ตามอารมณ์เซียนเลือกตั้งอาชีพที่กำลังได้กลับสู่เกมถนัด
นัดประชุม 2-3 รอบ ตั้งแท่นรอเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่วันที่ 28 ตุลาคม
ในอารมณ์ที่ปั่นกระแสการตลาดยั่วกองเชียร์ตามแห่ ตามลุ้น แคนดิเดตจ่าฝูงคนใหม่ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุงพรรคเพื่อไทย ก็กลับมาแรง พร้อมๆกับชื่อของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร “หลานเขยน้าชาติ” สายราชครู โผล่มาประกบเป็นคู่แข่งแซงเข้าป้าย
แต่สุดท้ายมันก็อยู่ที่ “นายใหญ่-นายหญิง” เคาะโต๊ะ
และไม่ว่าหวยออกที่ใคร มันก็แค่หัวหน้าพนักงานบริษัทชินฯจำกัด
อีกทั้งรอบนี้ หัวหน้าพรรคกับ “นอมินีภาค 3” ไม่จำเป็นต้องคนเดียวกัน ตามเงื่อนไขผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะอยู่ใน “บัญชีนายกฯพรรค” นั่นต่างหาก “ไพ่สำคัญ”
นั่นไม่น่าสนใจเท่ากับการผุดยี่ห้อ “เพื่อธรรม” เป็นสาขารองพรรคเพื่อไทย
ในมุมที่อ่านทางได้ ด้านหนึ่งก็แก้ปมขบเหลี่ยม “เจ๊แดง” นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เจ้าแม่เมืองเหนือ ที่ไม่มีทางควักเนื้อให้ “เจ้าแม่เมืองกรุง” เสวยสุขหยิบชิ้นปลามัน
อีกด้านหนึ่งก็แก้เกมกติการัฐธรรมนูญที่บล็อก “ทักษิณ” กลับมายึดประเทศไทยตามเกณฑ์เลือกตั้งระบบจัดสรรปันส่วนผสม ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบหิมะถล่ม กวาด ส.ส.
เขตเต็มอัตรา ก็จะไม่ได้โควตา ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ จึงต้องเปิดค่ายเพื่อธรรมมากวาดแต้มบัญชีรายชื่อ รองรับผู้สมัครล้นทีม
รวมทั้งเป็นป้อมค่ายสำรองฉุกเฉิน หากเกิดอุบัติเหตุพรรคเพื่อไทยโดนยุบ จากปมแกนนำกระทำการขัดกฎหมายความมั่นคง ส่อเค้าโดนล้างน้ำสาม
ทั้งหมดทั้งปวงแกะรอยตามยุทธศาสตร์ ตามอาการที่จับทางได้
“นายใหญ่” รบทุกรูปแบบ “ทักษิณ” บุกทุกทาง เพื่อทวงแค้นกลับมาครองอำนาจประเทศไทย
เงื่อนไขสถานการณ์ใกล้เคียงกับ “เดอะมาร์ค” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ยังหวังลุ้นรีเทิร์นกลับมาแก้มือในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ทำให้สถานะ “ตัวแปร” กลายเป็นตัวปัญหา
ท่ามกลางสถานการณ์ “เลือดไหลไม่หยุด” อดีต ส.ส.ย้ายหนี ทั้งภาคตะวันออก ภาคกลาง ไม่เว้นปักษ์ใต้ เพราะมองไม่เห็นอนาคต แม้แต่กลุ่มทุนยังไม่กล้าแทงหวย
กระตุ้นดีกรี “ศึกสายเลือด” ประชาธิปัตย์ ภาคใหม่ ระอุเดือด
อารมณ์เปิดหน้าหักดิบแบบที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก “มือปราบจำนำข้าว” เดินสายขึ้นเหนือล่องใต้ ดึงแนวร่วมท้าชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคกับ “อภิสิทธิ์” โดยมีนายถาวร เสนเนียม อดีต ส.ส.สงขลา นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ทีม กปปส.เป็นพี่เลี้ยงสั่งลุย
ฉากหน้าดูสวยงาม ตามหลักการประชาธิปไตย ประชาธิปัตย์เป็นค่ายแรกที่นำร่องระบบไพรมารีโหวต เปิดให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการโหวตเลือกหัวหน้าพรรคโดยตรง
แต่ฉากหลัง สไตล์ประชาธิปัตย์ฟัดกัน ใครแพ้ชนะ หนีไม่พ้นพรรคแตก
ที่คึกคักกว่าใครดูเหมือนจะเป็นค่ายภูมิใจไทย โดยการนำของ “เสี่ยหนู” นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และอยู่ในกำกับของผู้มีบารมีนอกพรรคอย่าง “เสี่ยเน” นายเนวิน ชิดชอบ
ภายใต้ยุทธศาสตร์ “คั่วไพ่” สองหน้า
หน้าหนึ่งก็ดีลกับทีมพี่น้องบูรพาพยัคฆ์ ที่ “เนวิน” ต่อสายมาตั้งแต่คิวหัก “ทักษิณ” ด้วยประโยค “มันจบแล้วครับนาย” แฝงกายตีคู่พรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทยจ้องเบียดซีนเป็นพรรคอันดับหนึ่งในขั้วท็อปบูต
หรืออีกสูตรก็พร้อมพลิกขั้วไปจับมือกับ “นายใหญ่” ที่ “เสี่ยหนู” บินไปมาหาสู่ตลอดเวลา
โดยทั้งสองสมการ “เสี่ยหนู” แอบลุ้น “นายกฯตาอยู่” ได้ใกล้เคียงความจริงสุด
นั่นทำให้ทุ่มเดิมพันไม่อั้น ไดโวซิโน–ไทย กลายเป็นเครื่องดูดพลังแรงสุด ลุยกวาดดะอดีต ส.ส.เกรดเอ ชิงมาหมดทั้งคนประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ชาติไทยพัฒนา ฯลฯ
ดูดเพลินจนต้องเคลียร์ภาพแหล่งรวม “พรรคสีเทา”
ย้อนกลับไปตอนกลุ่มสามมิตรเดินสายทาบทามอดีต ส.ส. โดนรุมโห่ ตีปี๊บประจานเกมดูด ตกเขียว ส.ส. แต่พอมาถึงตอนนี้ กระแสดูดเงียบหายไปไม่มีการโวยวาย
เช่นเดียวกับการเรียกร้อง 4 รัฐมนตรีพลังประชารัฐลาออกเพื่อแสดงสปิริต แต่ย้อนกลับไปไม่ว่าจะเป็นยุค “ทักษิณ–อภิสิทธิ์–ยิ่งลักษณ์” ล้วนแต่ลากยาวจนรัฐบาลรักษาการ
มันก็สไตล์เดิมๆฟอร์มเก่งนักการเมือง เอาดีใส่ตัว เอาชั่วให้คนอื่น
โดยการสัมผัสบรรยากาศโหมโรงเลือกตั้ง จับจังหวะความเคลื่อนไหวพรรคเพื่อไทย ค่ายประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย รวมถึงการเปิดตัวน้องใหม่พรรคพลังประชารัฐ
มันก็ยังอยู่ในกระบวนท่าเดิมๆลีลาซ้ำๆ
ธาตุแท้โผล่ นักการเมืองพันธุ์เก่ายังแฝงอยู่ในทุกอณู
ไม่นับคนหน้าเก่าๆ อย่าง “บิ๊กจิ๋ว” พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ์ อดีตนายกฯที่โผล่ออกมาเล่นบท “ทหารเฒ่าไม่มีวันตาย” ป่วนเกมกดดันให้ “นายกฯลุงตู่” ถอยจากอำนาจ เปิดทางรัฐบาลแห่งชาติ
พูดเป็นเชิงเขย่าขวัญคนไทย ระเบิดตูมตาม ไฟความขัดแย้งจะลุกฮือกลับมา
มันก็มุกโบราณ เข้าข่ายตัวป่วนการเมือง
อะไรไม่เท่ากับว่า สังคมปัจจุบันอยู่ใต้อิทธิพลโซเชียลมีเดีย ข่าวลือ ข่าวปลอม กระจายว่อนไปทั่ว
ชาวบ้านร้านตลาดไม่มีพื้นฐานความรู้รัฐธรรมนูญ
ส่วนใหญ่เชื่อลมปากมากกว่ายึดตัวบทกฎหมาย
มันก็ยิ่งเพิ่มดีกรีความปั่นป่วนวุ่นวาย คสช.คลายล็อกก็ส่อวุ่นทันที
นี่แหละที่ทำให้ชาวบ้านเกิดอาการเบื่อ ไม่อยากยุ่งการเมือง
ซึ่งมันเป็นเรื่องไม่ดีเลย ในสถานการณ์ที่กำลังฝากความหวังไว้กับประชาชนในการรวมพลังเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์เปลี่ยนผ่านประเทศ
หวังพลังบริสุทธิ์คนไทยเป็นแรงฉุดให้ประเทศพ้นวงจรอุบาทว์.
“ทีมการเมือง”

ศึกในชวนเวียนหัวกว่า

ภูมิต้านทานยังแกร่ง
4 รมต.น้องใหม่ค่ายพลังประชารัฐยังนิ่ง ไม่แกว่งไปตามกระแสกดดันให้ไขก๊อกลุกจากเก้าอี้รัฐมนตรีที่โดนกระหน่ำต่อเนื่องมาร่วมสัปดาห์ตามสัญญาณที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม รวมถึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประสานเสียงไปทางเดียวกัน 4 รมต.ไม่จำเป็นต้องลาออก
สวมหมวก 2 ใบ ไม่ใช่เรื่องผิดกติกา หากจัดสรรเวลาอย่างเหมาะสม
กระแสเรียกร้องธรรมาภิบาลของคู่แข่งจุดไม่ติด กำลังภายในทีมน้องใหม่ยังไม่แผ่ว
ซ้ำยังเดินหน้าสเต็ปต่อไป ตามฉากที่ นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม ว่าที่หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ไปยื่นขอจัดตั้งพรรคต่อ กกต.อย่างเป็นทางการ
รับกับจังหวะของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ แกนนำกลุ่มสามมิตร ส่งสัญญาณคอนเฟิร์มยกขบวนมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐแน่นอน เตรียมเปิดตัวกันในสัปดาห์หน้า
ดับกระแสข่าวลือกลุ่มสามมิตรเตรียมชิ่งไปอยู่พรรคอื่น ไม่ลงเรือลำเดียวกับพรรคพลังประชารัฐเคลียร์กันให้ชัด จะไม่มีรายการทิ้งกันกลางทางเกิดขึ้น
เติมความมั่นใจให้ 4 รมต.เดินหน้าต่อ ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลัง
ประเมินรูปการณ์แล้ว น้องใหม่สามารถแบกรับแรงเสียดทาน ยืนระยะสู้ต่อได้ยาวๆ นอกจากไม่ยุบ ไม่แกว่งแล้ว ยังมีชั้นเชิงเป็นมวยมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างที่เห็นชัดๆจากการที่ 4 รมต.ค่ายพลังประชารัฐไม่ร่วมลงพื้นที่กับ “บิ๊กตู่”ไปตรวจราชการที่ จ.ลำพูน กันข้อครหาใช้กลไกอำนาจรัฐแฝงหาเสียงทางการเมือง เอาเปรียบคู่แข่ง
ระวังตัวทุกฝีก้าว เลี่ยงแม้กระทั่งการให้สัมภาษณ์ประเด็นการเมืองในเวลาราชการ
ยกการ์ดสูง ถนอมเนื้อถนอมตัวไม่ให้เป็นเป้าถูกถล่มได้ง่ายๆ
ปล่อยให้ “ลุงตู่” ตระเวนเก็บคะแนนตามพื้นที่ต่างๆ รุกทั้งภาคเหนือถิ่นพรรคเพื่อไทยในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ล่าสุดโผล่มาเซอร์ไพรส์กลางสวนลุมพินี ร่วมวิ่งออกกำลังกาย รำไท้เก๊ก เต้นบาสโลบ ร่วมกับชาวบ้าน
ประกาศตัวชัดพร้อมคลุกโคลนการเมือง ไม่กลัวการขุดคุ้ยประวัติใดๆ
ซุ่มหาเสียง เช็กเรตติ้งกันเนียนๆ ลีลาลูกล่อลูกชนเทียบชั้นนักการเมืองอาชีพเข้าไปทุกขณะ
ปิดทริปด้วยการตรวจสภาพการจราจร ลุยเชื่อมต่อระบบรถไฟฟ้า-รถไฟ-เรือ แก้วิกฤติเรื้อรังให้คน กทม.
เปิดเกมรุกโซนภาคเหนือและเมืองกรุง ขอแชร์ส่วนแบ่งการตลาดจากเจ้าถิ่น “เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์”
ย่อมเป็นอะไรที่ 2 พรรคใหญ่นั่งไม่ติด จ้องรุมกินโต๊ะบั่นทอนเครดิต “ลุงตู่” และพรรคน้องใหม่ต่อเนื่อง แฝงอาการหวั่นไหว กลัวพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้งอยู่ลึกๆ
แต่ศึกนอกที่เห็นยังไม่น่าห่วงเท่าแรงกระเพื่อมภายใน ตามร่องรอยจากการปล่อยข่าวกดดันปรับ ครม.อยู่เป็นระลอก
อย่างที่เห็น นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าที่กระบอกเสียงพรรคพลังประชารัฐต้องรีบเปิดห้องทำงานโชว์ ยังไม่มีการเก็บข้าวของหนีไปไหน กางตารางงานยังแน่นเอี้ยด
กลบข่าวถอดใจเก็บข้าวเก็บของออกจากห้องทำงานตึกบัญชาการ 1 เตรียมลาออกจากตำแหน่งเร็วๆนี้
ของแบบนี้อ่านเกมกันออก เป็นเกมปล่อยของจากคนในด้วยกันเอง
หวังกระตุกกระแสปรับ ครม. เพื่อนำโควตาที่ว่างลงมาเฉลี่ยสัดส่วนให้พวกพ้องตัวเองที่ไม่ได้เกาะขบวนไปต่อกับ พล.อ.ประยุทธ์ในเที่ยวหน้า
อย่างที่รู้กันอยู่ ที่นั่งในพรรคพลังประชารัฐ ไม่ได้เผื่อที่ว่างให้ “ท็อปบูต” ก็ย่อมมีการทิ้งทวนของระดับ “บิ๊กเนม” รุมแย่งขุมทรัพย์เก้าอี้รัฐมนตรีเป็นการส่งท้าย
รู้ทั้งรู้ทีมงาน 4 รมต.ประกาศจุดยืนกันล่วงหน้า จะเหลือหมวกใบเดียว เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมที่คาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี แต่ก็ยังมีเกมป่วนคอยหวังแซะเก้าอี้
คนเหนื่อยหนักก็คือ “ลุงตู่-ลุงป้อม” ที่ต้องคอยแก้ข่าวให้วุ่นวาย
ทำไปทำมาคนในนี่แหละ ทำ “บิ๊กตู่” เวียนหัวกว่าคนนอกเยอะ.
ทีมข่าวการเมือง