PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2561

ชี้ข้อดี-ข้อเสียการตั้งพรรคสำรอง

รายงานพิเศษ 
ปรากฏการณ์แตกตัวของพรรคการเมือง เพื่อตั้งพรรคสำรอง หรือ พรรคอะไหล่ ไม่ว่าเป้าประสงค์เพื่อรวมเสียงส.ส.ให้ได้มากที่สุด แก้ปัญหายุบพรรค หรือเพื่อปรับตัวตามกติกาใหม่ เพื่อเก็บกวาดส.ส.บัญชี รายชื่อ
แนวทางดังกล่าวจะได้ผลตามที่นักการเมืองคิดหรือไม่ 
และมีข้อดีหรือข้อเสียอย่างไรต่อระบบการเมืองไทย 
1.ฐิติพล ภักดีวานิช 
คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
โมเดลการแตกพรรคสร้างพรรคสำรอง หวังเป็นทางเลือก เพื่อเก็บทุกคะแนนเสียงจากส.ส.เขตจะได้นำมาคิดเป็นคะแนนแบบส.ส.บัญชีรายชื่อ เนื่องจากพรรคหลักจะได้ผล กระทบจากการเลือกตั้งบัตรใบเดียวที่จะทำให้พรรคใหญ่ได้ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อน้อยลง จึงหวังกระจายตัวไปยังพรรคทางเลือกนั้น วิธีคิดแบบนี้ไม่ได้การันตีว่าผลจะออกมาเป็นเช่นนั้นจริง
เพราะพฤติกรรมของประชาชนต่อการติดตามข้อมูลข่าวสารทางการเมืองนั้น จะพบว่าให้ความสำคัญกับนโยบายสาธารณะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อการตัดสินใจลงคะแนนโดยพรรคเดิมอย่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์ที่มีฐานคะแนนนิยมตรงนี้อยู่
อีกทั้งในข้อเท็จจริงก็ยังไม่ชัดในความสัมพันธ์ อย่างพรรคนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตกปปส. กับประชาธิปัตย์ ก็ไม่ถือว่าเป็นเนื้อเดียวกัน พรรคนายสุเทพนั้นชัดเจนว่าสนับสนุนทหาร ส่วนทางประชาธิปัตย์ยังกั๊กอยู่ แม้หลายคนก็ประเมินกันว่าสุดท้ายก็พร้อมสนับสนุนทหารถ้าผลประโยชน์ทุกอย่างลงตัว
ทว่าโมเดลอย่างพรรคอนาคตใหม่นั้นมีความน่าสนใจกว่ามาก เพราะตั้งแต่กกต.รับรองการจดจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองอย่างเป็นทางการก็ดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อย่างก้าวหน้าสร้าง สรรค์มาโดยตลอด สร้างกระแสนิยมภายในเวลาอันสั้นได้มาก ขนาดพรรคทหารยังมองว่าเป็นคู่แข่ง ใช้กฎหมายเล่นงาน
ถ้ากระตุ้นคนรุ่นใหม่ที่แอ๊กทีฟอยู่ในโซเชี่ยลมีเดีย ตื่นตัวจนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวนมากได้ก็จะส่งผลให้พรรคการ เมืองแบบอนาคตใหม่ มีโอกาสเข้ามาสร้างอนาคตใหม่ได้อย่างแท้จริง
โมเดลแตกพรรคสำรองจึงควรมีการทบทวน ถือเป็นวิธีไม่ฉลาด สิ่งที่พรรค การเมืองควรทำคือ มุ่งเน้นไปที่การจัดทำนโยบายสาธารณะ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน พร้อมทั้งต้องมีจุดยืนและประกาศอุดมการณ์ให้ชัดเจนว่า ยืนเคียงข้างประชาธิปไตย
เพราะตอนนี้กระแสการเลือกตั้งในปี 2562 ก็ชัดขึ้นเรื่อยๆว่า มีเพียง 2 ขั้วเท่านั้นคือ พรรคทหาร หรือประชาธิปไตย จุดนี้ เมื่อมองไปที่อนาคตใหม่ ก็จะพบความชัดเจน มากกว่าพรรคเพื่อไทย ที่ดูไม่เต็มร้อย เสียอีก แต่กระแสของพรรคเพื่อไทยยังได้อยู่ ก็เนื่องจากภาพที่ออกมา เพื่อไทยถูกกระทำจากทหาร ส่วนประชา ธิปัตย์นั้น ประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องสำคัญเท่ากับผลประโยชน์
ดังนั้น สิ่งที่พรรคการเมืองควรทำคือ สร้างระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง ไม่ต้องแตกตัวส.ส.ไปลงพรรคสำรอง ที่ไม่ได้มีหลักประกันว่าจะได้ส.ส.มากขึ้น ถ้าเดินหน้าสู้โดยพรรคหลักพรรคเดียว แล้วผลคะแนนยังออกมาในลักษณะที่พรรคใหญ่ยังได้รับความ นิยมสูง มันก็จะยิ่งสะท้อนชัดว่า การเมืองไทยของเราเข้มแข็งมากขึ้นเรื่อยๆ
หากจะแตกตัวส.ส.ไปพรรคสำรอง เพื่อหวังผลเอาจำนวนส.ส.มาคานกับพรรคทหาร ก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไร ที่สุดแล้วแต้มต่อของพรรคทหารก็มีอยู่แล้วคือ 250 ส.ว. ไม่สามารถทำอะไรได้มาก สู้เดินหน้าต่อไป ด้วยการสร้างพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง หวังผลทางการเมืองในระยะยาวจะดีกว่า
2.ยุทธพร อิสรชัย 
รศ.ประจำคณะรัฐศาสตร์ มสธ.
เรื่องของพรรคสำรองไม่ใช่หลักการที่ถูกต้องของการสร้างสถาบันทางการเมือง และไม่ได้สร้างการเป็นพรรคการเมืองที่มีฐานจากมวลชน แต่เป็นเทคนิคทางการเมืองในการเลี่ยงกฎหมาย หรือปรับสภาพให้สอดคล้องกับบริบทต่างๆ
เมื่อมีข้อจำกัดก็จะมีการดิ้นหนีจากพันธนาการอยู่แล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 กับพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองได้กำหนดการควบคุม การกำกับพรรคการเมืองไว้ค่อนข้างมาก 
หมายความว่าการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของพรรคถูกกำหนดโดยกฎหมาย พรรคการเมืองไม่ได้ดำเนินกิจกรรมตามธรรมชาติเป็นเหตุให้เขาต้องดิ้นหนี เป็นที่มาของการเกิดพรรคการเมืองสำรอง
สิ่งที่ตามมาคือถ้าพูดถึงการพัฒนาของพรรค การเมืองก็แทบจะไม่พบข้อดีของการมีพรรคสำรองเลย นอกจากนี้พรรคสำรองยังอาจไม่ใช่พรรคการเมืองที่แท้จริง แต่ตั้งขึ้นเพื่อเลี่ยงผลทางกฎหมายคงไม่ช่วยให้เกิดการพัฒนาของพรรคการเมือง
แต่เอาไว้ส่งผู้สมัครส.ส.เพื่อลงรับเลือกตั้งเท่านั้นหากเกิดกรณียุบพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคถูกลงโทษ ส่วนตัวเชื่อว่าไม่มีภารกิจอะไรที่มากไปกว่านี้ ดังนั้น กรณีของการตั้งพรรคสำรอง เป้าหมายหลักเพียงเพื่อเผื่อไว้กรณีพรรคหลักมีเหตุการณ์ฉุกเฉิน จะได้มีพรรคการเมืองเอาไว้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งได้ 
ส่วนเป้าหมายของการตั้งพรรคสำรองเพื่อแบ่งส.ส.บัญชีรายชื่อให้ได้มากขึ้นนั้นไม่น่าจะมีผลต่อเรื่องนี้มากเท่าไร ด้วยปัจจัยทางกฎหมายที่มีการกำหนดไว้ เพราะพรรคสำรองก็ต้องส่งส.ส.เขตให้ครบจึงจะได้เสียงในส่วนดังกล่าว 
ถ้าไม่มีเจตจำนงเพื่อทำงานทางการเมืองอย่างแท้จริง ไม่มีแนวทางนโยบายที่ชัดเจน ผู้สมัครก็ไม่สามารถทำให้พรรคได้คะแนนได้
พรรคที่จะได้ประโยชน์น่าจะเป็นพรรคขนาดกลาง และพรรคใหม่ที่มีแนวทางการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองที่ชัดเจนมากกว่าซึ่งเป็นพรรคเฉพาะกลุ่ม 
สำหรับโอกาสที่ผู้สมัครที่ไปอยู่พรรคสำรองจะได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้แทนหรือไม่นั้น ต้องดูว่าพรรคหลักนั้นๆ ถูกยุบหรือไม่ ถ้ามีกระแสส.ส.ย้ายไปอยู่พรรคสำรองก็มีโอกาส แต่ถ้าไม่ โอกาสก็เป็นไปได้น้อย 
3.สมชาย ปรีชาศิลปกุล 
คณะนิติศาสตร์ ม.เชียงใหม่
พรรคสำรองกรณีนี้เป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญที่ทำให้พรรคการเมืองไม่มีความมั่นคง เห็นได้จากพรรคเพื่อไทย ตามจริงแล้วพรรคการเมืองไม่สมควรถูกยุบได้ง่าย แต่การออกแบบรัฐธรรมนูญและความไม่ชัดเจน กกต.ระบุไม่ได้ว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ จนทำให้พรรคต้องเข้าไปเผชิญกับความเสี่ยงด้วยตัวเอง
ถ้าเป็นแบบนี้ก็สู้จะไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองและบีบให้เตรียมหาทางหนีทีไล่ไว้ เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิดขึ้นพรรคการเมืองที่ควรเป็นสถาบันทางการเมืองไม่ใช่จะมายุบกันได้ง่ายๆ 
ตอนประกาศให้ตั้งพรรคแต่ละพรรคคงมียุทธศาสตร์แตกต่างกัน ทั้งพรรคของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ก็เน้นบางพื้นที่ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐก็มีกลุ่มคนอีกกลุ่มอยู่แล้ว 
พรรคที่สนับสนุนรัฐประหารแม้ว่าจะมีหลายกลุ่มแต่มีฐานเสียงที่แตกต่างกัน กรณีฝ่ายรัฐบาลจึงไม่ใช่พรรคสำรองแต่เป็นกรณีที่เขาเปิดหน้าเล่น และเปิดหลายๆหน้า ซึ่งต่างจากเพื่อไทย
ในส่วนของพรรคเพื่อไทยหากเกิดอุบัติเหตุเชื่อว่าน่าจะมาด้วยคำวินิจฉัยกกต. มากกว่าคำสั่งคสช. จึงเตรียมให้ส.ส.มีที่ ไปได้ การใช้ยุทธวิธียุบพรรคของฝ่าย ผู้มีอำนาจเพื่อให้พรรคแตกกระจายนั้น ไม่ได้ทำให้ฝ่ายตรงข้ามหายไป ไม่เป็นผลดี อะไรเลย
อย่างไรก็ตามไม่ควรมีพรรคสำรอง ถ้าเราอยู่ในระบบการเมืองที่มีความมั่นคง แน่นอนมีกติกาที่ชัดเจนว่าอะไรทำได้หรือทำไม่ได้ และมีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาเชื่อว่าจะไม่มีพรรคสำรองแน่
แต่ตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์การเมืองที่ไม่สามารถคาดเดาอะไรได้เลย ทุกพรรคพร้อมที่จะถูกยุบได้ง่ายๆ ยิ่งเป็นพรรคที่ยืนอยู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลยิ่งง่ายต่อการถูกยุบ 
การมีพรรคสำรองสะท้อนให้เห็นว่าระบบการเมืองไทยยังเป็นระบบที่หาความชัดเจนไม่ได้ ใครที่มาต้องระวังหลังตลอดเวลา 
4.บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ 
คณะรัฐศาสตร์ ม.รามคำแหง
การตั้งพรรคสำรองเป็นผลพวงมาจากความขัดแย้งของการเมืองไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา พรรคถูกยุบโดยศาลรัฐธรรมนูญ หรือกกต.เสนอให้ยุบมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของพรรคการ เมืองและฝ่ายต่างๆแน่นอน เพราะปัจจุบันพรรคต่างๆมีโอกาสถูกยุบทิ้ง เช่น ข้อจำกัดห้ามหาเสียงทางโซเชี่ยลมีเดีย
จนเกิดคำถามว่าอะไรคือการหาเสียง อะไรทำได้หรือไม่ได้ และในความเป็นจริงจะทำได้หรือไม่ จึงเป็นเหตุผลที่แต่ละฝ่ายแต่ละกลุ่มต้องรักษาพื้นที่ของ ตัวเอง โดยการเตรียมพรรคสำรองเผื่อเกิดเหตุฉุกเฉินต่างๆ
การเมืองที่เห็นขณะนี้ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ ยกตัวอย่างกลุ่มสามมิตรที่ยังขยับเข้าออกรัฐบาลโดยพรรคพลังประชารัฐแม้จะมีบุคคลที่ออกหน้าทั้งกลุ่มทุนที่สนับสนุนอย่างเป็นทางการ และรัฐมนตรีที่ยังไม่ลาออกจากตำแหน่ง 
แต่ไม่ได้หมายความว่าพรรคเหล่านี้จะไม่ถูกยุบ ถ้าการเมืองเปลี่ยนขั้วและประเด็นทางสังคมและแรงรับรู้ของสังคมเปลี่ยนไป หากพรรคเหล่านี้ยังภักดีต่อคสช.อาจไม่โดนยุบ แต่ถ้าแปรพักตร์ ถูกพลังดูด หรือกรณีงูเห่าก็เป็นเรื่องที่เกิดได้
และที่กล่าวมานั้นส่งผลในทางการเมืองที่จะเกิดขึ้น คือการตั้งพรรคสำรองหรือพรรคนอมินี ยิ่งทำให้เกิดการบิดผันของระบบการเมือง เพราะปกติพรรคการเมืองจะเป็นตัวแทนประชาชนที่รู้สึกนึกคิดและเห็นพ้องต้องกันในแนวนโยบาย และการเปลี่ยนแปลงสังคม การเมือง อย่างใดอย่างหนึ่ง จึงมารวมตัวกันเพื่อลงสมัครและเข้าไปใช้อำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง 
แต่ถ้าเมื่อไรที่มีพรรคที่คล้ายกันหรือพรรคลูก ยิ่งทำให้หลักคิดการเป็นตัวแทนของประชาชนกระจัดกระจาย ผิดเจตนารมณ์ของการสร้างระบบการเมืองแบบประชาธิปไตยแบบมีตัวแทน สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้จากธรรมชาติการเมืองไทยที่บิดเบี้ยว
ฝ่ายการเมืองคงเรียนรู้อะไรมาพอสมควรถึงออกมาทำยุทธวิถีสร้างพรรคใหม่ เพื่อลดความเสี่ยงทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นจากการถูกยุบพรรค จึงมีทั้งข้อดีและเสียของผู้สมัครที่ไปอยู่พรรคสำรอง
หากมองอีกด้านจะเห็นว่าอาจทำให้ฐานเสียงของพรรคแตกกระจาย ยกตัวอย่างคะแนนปาร์ตี้ลิสต์หากมีการแยกพรรค คะแนนตรงนี้จะกลายเป็นเบี้ยหัวแตก มีการกระจายของคะแนนในกลุ่มที่มากขึ้น แม้จะเลือกได้ตัวบุคคลแต่คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ยังคาดเดายาก และทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจพรรคที่ไปเลือกว่าพรรคที่ตั้งสำรองจะเป็นตัวแทนของประชาชนได้หรือเปล่า ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่
การเมืองบิดเบี้ยวในรอบหลายปีที่ผ่านมา การลดความเสี่ยงของฝ่ายการเมืองที่เกิดขึ้นด้วยการสร้างพรรคใหม่ทำให้ระบอบการเมืองอาจทำหน้าที่ไม่เต็มที่เหมือนกับที่ออกแบบประชาธิปไตยแบบตัวแทน เพราะต้องกังวลระหว่างพรรคใหญ่ที่เป็นหลักที่อาจต้องเสื่อมถอยพลังทางการเมืองลงเพราะเสียงกระจายไปตามพรรคเล็กด้วย ซึ่งไม่ก่อให้เกิดผลดีและเป็นผลในทางลบมากกว่า
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการตั้งพรรคสำรองที่เกิดจากการระบบการเมืองที่บิดเบี้ยวบังคับให้คนต้องตั้งพรรคเล็กขึ้นมาจะเป็นช่วงระยะสั้นๆ ถึงที่สุดก็จะเปลี่ยนไปโดยสภาพ 
การเมืองอย่างนี้ถ้ากติกาไม่เป็นธรรม มีความเสี่ยง หรือช่องทางที่ ทำไปแล้วรู้สึกว่าจะเปลี่ยนก็จะบีบให้คนที่อยู่ในกติกาหาเทคนิคเพื่อ เอาตัวรอด คงไม่ไปตัดสินว่าดีหรือไม่ดี เพราะถึงที่สุดคนที่อยู่ในเกมจะรู้ว่าเกมนี้จะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร และท้ายสุดคนที่ตัดสินคือประชาชน

ไม่มีความคิดเห็น: