PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

พวงทอง ภวัครพันธุ์ : มองกรณีสหรัฐฯ ตั้ง"กลิน เดวีส์"นั่งเอกอัครราชทูต

วันที่ 16 เม.ย. รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นถึงกรณีที่สหรัฐฯ แต่งตั้งนายกลิน ทาวน์เซนด์ เดวีส์ นักการทูตอาชีพ และอดีตผู้แทนพิเศษด้านนโยบายเกาหลีเหนือ ระหว่างปี 2555-2557 มาดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำประเทศไทย ผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า
http://www.matichon.co.th/online/2015/04/14291771121429177328l.jpg

กรณีสหรัฐอเมริกาส่งนายกลิน เดวีส์ (Glyn Davies) นักการทูตที่มีประสบการณ์รับมือกับปัญหายากๆ แบบเกาหลีเหนือ มาประจำประเทศไทย ชี้ว่าสหรัฐฯให้ความสำคัญกับไทยอย่างแน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าเขากำลังจะหันมาเอาใจรัฐบาลทหารของไทยสักนิด
นายเดวี่ส์ เป็นนักการทูตที่มีประสบการณ์การทำงานในปัญหาด้านความมั่นคงที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญสูง เช่น ปัญหาการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ โดยเขาเคยเป็นผู้แทนพิเศษ (ฐานะเท่าเอกอัคราชทูต) ประจำสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ International Atomic Energy Agency (IAEA) จึงทำให้เขาต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน และต่อมาได้เป็น “ผู้แทนพิเศษของรัฐมนตรีต่างประเทศว่าด้วยนโยบายเกาหลีเหนือ” ซึ่งพยายามคิดค้นอาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน

(หมายเหตุ: เขาไม่ได้มีตำแหน่งทูตประจำเกาหลีเหนือ เพราะสหรัฐฯ ไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการกับเกาหลีเหนือ จึงไม่มีทูตประจำ)
เป็นที่รู้กันว่าทั้งอิหร่านและเกาหลีเหนือเป็นเสมือนกระดูกชิ้นใหญ่ที่เคี้ยวยากสำหรับสหรัฐฯเป็นภัยคุกคามต่อนโยบายความมั่นคงของสหรัฐเสมอมาและมีปัญหาประชาธิปไตย ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่านายเดวีส์ เป็นนักการทูตที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานเรื่องสำคัญสำหรับสหรัฐฯ มีประสบการณ์ทำงานกับประเทศยากๆ มาแล้ว การที่สหรัฐฯ ส่งนายเดวีส์มาไทยจึงชี้ว่าสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับไทยไม่น้อย แต่ก็ต้องไม่หลงละเมอเพ้อพกไปว่า ไทยสำคัญอยู่ประเทศเดียว หรือสำคัญที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จนทำให้สหรัฐฯกำลังจะโอนอ่อนผ่อนตามรัฐบาลทหารไทย เพราะกลัวอิทธิพลจีน

แน่นอนว่าสหรัฐฯ ย่อมไม่สบายใจที่เห็นรัฐบาล คสช. พยายามเล่นไพ่จีน (และรัสเซีย ซึ่งกำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนัก) เพื่อตอบโต้ที่สหรัฐฯ กดดันเรียกร้องให้ไทยเคารพในหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน แต่ไม่ได้หมายความว่า ความกังวลนี้จะทำให้สหรัฐฯ ละทิ้งแนวนโยบายของตนจากหน้ามือเป็นหลังมืออย่างทันทีทันใด เพราะอะไร

หนึ่ง ในแง่เศรษฐกิจ นับแต่สงครามเย็นยุติลง ใครๆ ก็มองว่าประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งอาเซียนมีศักยภาพในการเติบโตสูงมากจนกลายเป็นสาวเนื้อหอมสำหรับนักลงทุนจากทั่วทุกภูมิภาค ความมั่นคงทางการเมืองของไทยจึงสำคัญต่อกระเป๋าเงินของทั้งภูมิภาคและนักลงทุนทั่วโลก

แต่ความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาจนเกือบจะครบทศวรรษและยังไม่มีท่าทีจะยุติลงในระยะเวลาอันใกล้แถมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนกลับถดถอยลงนับแต่การรัฐประหารโดย คสช. ทำให้นักลงทุนทั้งหลายเริ่มเห็นว่าการฝากความหวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของภูมิภาค โดยไม่มองหาช่องทางอื่นบ้าง คงไม่ปลอดภัยสำหรับพวกเขาแน่ ฉะนั้น นับแต่ปีที่ผ่านมา เราเริ่มเห็นบรรรษัทใหญ่ๆ เริ่มย้ายฐานการลงทุนอุตสาหกรรมไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้นๆ

สอง ในแง่เศรษฐกิจ สหรัฐฯ สำคัญกับไทยมากกว่าที่ไทยสำคัญต่อสหรัฐฯ สหรัฐฯ เป็นหนึ่งในสามตลาดที่ใหญ่ที่สุดของสินค้าไทย แค่สหรัฐฯ และอียูประกาศลดระดับสถานะประเทศที่ป้องกันการค้ามนุษย์ของไทย จากระดับ 2 ไปเป็นระดับ 3 ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ไทยเต้นเป็นจ้าวเข้าได้

ไม่มีใครรับประกันได้ว่าหากปีหน้า ประเทศไทยยังไม่มีเลือกตั้งเสียที เราจะเจอกับมาตรการลงโทษทางเศรษฐกิจจากสหรัฐฯด้วยหรือไม่ เพราะขณะนี้ทั่วโลกรู้ดีว่าเศรษฐกิจไทยกำลังวิกฤติ และเชื่อว่าจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาลทหาร ซึ่งที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญอเมริกัน เช่น Joshua Kurlantzick ก็ได้เสนอให้สหรัฐฯ เพิ่มมาตรการกดดันทางเศรษฐกิจต่อรัฐบาลทหารไทย เพราะเชื่อว่าจะทำให้แรงกดดันในประเทศเพิ่มสูงขึ้นแน่นอน

สาม ในแง่การทหาร ไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์แนบแน่นมาตั้งแต่ยุคจอมพลสฤษดิ์ ในปัจจุบันก็ยังมีข้อตกลงความร่วมมือด้านการทหารหลายฉบับ หนึ่งในข้อตกลงที่สำคัญคือ คอบร้าโกลด์ อันเป็นการฝึกร่วมทางทหารที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย-แปซิฟิค โดยไทยเป็นฐานสำหรับการฝึกซ้อมร่วม แต่พอรัฐประหารปุ๊บ สหรัฐฯก็ประกาศ “ลดระดับ” การฝึกซ้อมกับไทย ให้เหลือแค่การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและภัยธรรมชาติ และยังส่งสัญญาณว่าอาจพิจารณาย้ายที่ฝึกซ้อมร่วมไปออสเตรเลียแทน

นอกจากนี้ สหรัฐมองว่าการแอบอิงจีนไม่สามารถตอบสนองความต้องการด้านอาวุธของกองทัพไทยได้อย่างน่าพึงพอใจ เพราะเทคโนโลยี่ด้านอาวุธของสหรัฐฯ นั้น มีเหนือกว่าจีนมาก แง่นี้แปลว่า เราต้องการสหรัฐฯ มากกว่าที่สหรัฐฯ ต้องการเรา

อันที่จริงในแง่การทหาร นับแต่สงครามเย็นยุติลง บทบาทของสิงคโปร์ด้านความร่วมมือด้านการทหาร ได้โดดเด่นขึ้นมาแทนที่ฟิลิปปินส์ นับแต่ปี 1992 สิงคโปร์เปิดและพัฒนาฐานทัพของตน เป็นฐานโลจิสติคส์ให้กับกองเรือรบที่ 7 (หน่วยรบนอกประเทศที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ทำงานประสานกับฐานทัพทหารสหรัฐฯในญี่ปุ่นและเกาหลีใต้) และกองทัพอากาศของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าฟิลิปปินส์อาจเปิดฐานทัพของสหรัฐฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อคานอำนาจทางทหารกับจีน อันเนื่องมาจากข้อพิพาทเขตแดนในทะเลจีนใต้


สี่ นับแต่สงครามเย็นยุติลง ภัยคอมมิวนิสต์ยุติลง สหรัฐฯและยุโรปเริ่มใช้มาตรการสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย มาดำเนินความสัมพันธ์กับพันธมิตรทั้งเก่าและใหม่ของตนมากขึ้น เพื่อสถาปนาภาพลักษณ์ของผู้นำเสรีนิยม แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าสหรัฐฯ จะต้องใช้หลักการนี้อย่างเท่าเทียมกับทุกประเทศ มันขึ้นกับการประเมินว่าแนวทางไหนกับประเทศใดที่จะทำให้เขาได้ประโยชน์สูงสุด ในกรณีของไทย ปัจจุบันยังไม่มีภัยคุกคามที่น่ากลัวจนทำให้สหรัฐฯต้องละทิ้งหลักการปชต.แล้วหันมาจูบปากกับรัฐบาลทหาร แบบที่เคยเกิดขึ้นในยุคคอมมิวนิสต์มาแล้ว

ห้า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อนับแต่รัฐประหารปี 2549 ดูเหมือนจะทำให้ผู้นำสหรัฐฯ เริ่มเปลี่ยนทัศนคติที่เคยมีต่อชนชั้นนำ-กลุ่มอำนาจเก่าของไทยอย่างมีนัยสำคัญ

ในอดีต ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ กระทำผ่านกลุ่มชนชั้นอนุรักษ์นิยมเป็นหลัก เพราะมีจุดยืนต่อต้านคอมมิวนิสต์ร่วมกัน และสหรัฐฯมองว่ากลุ่มนี้คือ ผู้กุมอำนาจและกำหนดทิศทางการเมืองไทยเป็นหลัก ทำให้การเมืองมีเสถียรภาพได้อย่างน่าพอใจ แม้จะมีรัฐประหารบ่อย แต่เสถียรภาพทางการเมืองก็ไม่ได้ถูกสั่นคลอนจริงๆ การร่วมมือกับคนชนช้ำนำอนุรักษ์นิยม ไม่เพียงตอบสนองผลประโยชน์ของสหรัฐฯอย่างราบรื่น แต่ยังรับได้ในเชิงหลักการด้วย (หลักการต่อต้านคอมฯ)

แต่ปัจจุบัน สหรัฐฯ เริ่มตระหนักว่ากลุ่มอำนาจเก่าของไทยคือ หนึ่งในสาเหตุของปัญหาที่ยืดเยื้อ นั่นคือ การปฏิเสธไม่ยอมรับกติกาการเมืองประชาธิปไตย ไม่เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประเทศ เหยียบย่ำหลักการหนึ่งสิทธิหนึ่งเสียงของประชาชน เอาชนะฝ่ายทักษิณไม่ได้ ก็หันใช้ตุลาการภิวัตน์ ก่อม๊อบปิดหน่วยราชการเพื่อสร้างภาวะ failed state ไปจนถึงทำรัฐประหาร แม้จนกำลังจะกลายเป็นคนป่วยแห่งเอเชีย ก็ยังไม่มีท่าทีว่ากลุ่มอำนาจเก่าจะยอมปรับเปลี่ยนหรือเรียนรู้ข้อผิดพลาดของตนแต่ประการใด ยังคงเดินหน้าใช้อำนาจกดปราบประชาชน ช่วยกัน เขียนรธน. เพื่อใช้เป็นเครื่องมือกดเสียงส่วนใหญ่ของประเทศต่อไป โดยไม่ไยดีต่อความคับแค้นของประชาชนเสียงข้างมากของประเทศที่รอวันเอาคืนแต่ประการใดในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจากที่ได้เคยพูดคุยกับนักการทูตจากตะวันตกหลายประเทศดิฉันพบว่านี่คือมุมมองหลักที่พวกเขามีในปัจจุบัน

นอกจากนี้ สื่อมวลชนใหญ่ๆ ของโลกยังมีผลต่อมุมมองของรัฐบาลในประเด็นปัญหาสำคัญๆ ด้วย หากเรากลับไปอ่านสื่อใหญ่ๆ เช่น New York Times, BBC, the Economist, Wall Street Journal, CNN ฯลฯ เราจะพบข้อเขียนที่วิพากษ์กลุ่มอำนาจเก่าของไทยอย่างเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ

ฝ่ายอนุรักษ์นิยมมักปลอบใจตัวเองว่าสื่อพวกนี้ถูกทักษิณซื้อไปแล้วแต่ข้อเท็จจริงคือสื่อเหล่านี้รังเกียจทักษิณอย่างยิ่งเช่นกัน เขาอาจพูดถึงข้อดีของนโยบายต่างๆ ของทักษิณต่อคนจนและคนชนบท แต่เขามักบรรยายคุณสมบัติของทักษิณว่าเป็นพวกอำนาจนิยม คอรัปชั่นเชิงนโยบาย สงครามต่อต้านยาเสพติดทำให้คนบริสุทธิ์ตายจำนวนมาก ฯลฯ


หก เวลาสหรัฐฯ ต้องดีลกับประเทศยากๆ สหรัฐฯ ไม่ใช้วิธีโอ๋เอาใจ แต่จะใช้ทั้งไม้นวมและไม้แข็ง โดยอีกฝ่ายมักต้องแสดงท่าทียอมอ่อนให้ก่อน สหรัฐฯ จึงจะใช้ไม้นวมตาม เช่น กรณีเกาหลีเหนือ ยื่นเงื่อนไขการเจรจาว่าเกาหลีเหนือจะยกเลิกการวิจัยนิวเคลียร์เพื่อแลกกับการที่สหรัฐฯและโลกตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรทางการทูตและเศรษฐกิจและให้ความช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจแก่เกาหลีเหนือแต่เมื่อเกาหลีเหนือปฏิเสธไม่ให้ผู้แทนภายนอกเข้าไปตรวจสอบการดำเนินการของตนตามการเงื่อนไขของสหรัฐฯ สหรัฐฯ ก็พร้อมจะยุติการเจรจาเช่นกัน

นอกจากนี้ เมื่อปีที่แล้ว เกาหลีเหนือยังเจรจาทำนองขู่ว่าตนจะยินดียกเลิกการทดลองนิวเคลียร์ หากสหรัฐฯกับเกาหลีใต้ยกเลิกการฝึกซ้อมทางทหารร่วมกัน สหรัฐฯ บอกไม่สน เดินหน้าซ้อมรบกับเกาหลีใต้ต่อไป

สุดท้าย สิ่งที่สหรัฐฯ กังวลเกี่ยวกับไทยก็คือ คนป่วยคนนี้ยังมองหาสาเหตุความเจ็บป่วยของตนเองไม่เจอ แถมยังงมงายอยู่กับแนวทางเผด็จการปนไสยศาสตร์พ่อมดหมอผี หากเป็นที่แน่ชัดว่า ไทยจะไม่มีการเลือกตั้งภายในต้นปีหน้า มีการละเมิดสิทธิของประชาชนด้วยมาตรา 44 อย่างกว้างขวางมากขึ้น ก็อย่าหวังเลยว่าสหรัฐฯ ภายใต้นายเดวีส์ จะหันมาฮันนีมูนกับไทย การกดดันเป็นเครื่องมือเพื่อเข้าถึงจุดหมายที่สหรัฐฯใช้มากกว่าการโอ้โลมปฏิโลม

คนจำนวนไม่น้อยในประเทศนี้ยังหวังลมๆแล้งๆ ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยเจอปัญหามามากมาย ก็เอาตัวรอดมาได้ด้วยดี พระสยามเทวาธิราชจะยังช่วยเราต่อไปแน่ๆ ยังไงเราก็เอาตัวรอด ทะยานกลับมายิ่งใหญ่ได้อีกเหมือนเดิม แต่คนที่เขามองมาจากข้างนอก เขาเชื่อว่า “โชค” ที่ว่านั้น หมดไปนานแล้ว

แนวหน้า:ผ่าขบวนการ..จ้างโจรใต้5ล้านทำลายชาติ?

การขยายผลการสืบสวนสอบสวนคดีลอบก่อการร้ายระเบิดคาร์บอมบ์ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล เกาะสมุย จ.สุราษฏร์ธานี ในทางลึกคืบหน้าไปเรื่อยๆโดยเฉพาะการสอบปากคำนายอับดุลรอเซะ ดูมีแด เจ้าของรถที่ใช้ปฏิบัติการคาร์บอมบ์ที่อ้างว่ารถถูกขโมยไปซึ่งพบพิรุธและในที่สุดนายอับดุลรอแซะเริ่มยอมเปิดปากให้ข้อมูลบางส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายผล ขณะที่มีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลเกาะสมุยหลายคนซึ่งมีพื้นเพอยู่ในชายแดนภาคใต้และจากการตรวจค้นบ้านพักพบวัสดุที่ใช้ในการประกอบระเบิด ทำให้เชื่อว่าระเบิดป่วนชาติครั้งนี้มีวางแผนล่วงหน้ามาอย่างดีและทำเป็นขบวนการ
แต่ที่น่าตกใจและน่าเป็นห่วงอย่างมากก็คือรายงานข่าวกรองของหน่วยงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ชี้ว่า ระเบิดคาร์บอมบ์ที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลเชือมโยงกับกลุ่มอำนาจเก่าที่ชักใยอยู่เบื้องหลังโดยว่าจ้างแกนนำกลุ่มโจรก่อการร้ายบีอาร์เอ็นในประเทศเพื่อนบ้านด้วยเงิน 5 ล้านบาทสำหรับปฏิบัติการก่อการร้ายครั้งนี้ ซึ่งข่าวดังกล่าวทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่างหวาดผวาเพราะเกรงจะถูกต้องสงสัยมีส่วนรู้เห็นกับการก่อการร้ายที่เกิดขึ้น โดยหนึ่งในแกนนำพรรคเพื่อไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้คนสำคัญ อาทิ นายวัน มูหะมัดนอร์มะทา อดีตประธานรัฐสภาและอดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง
ทั้งนี้ขบวนการโจรก่อการร้ายในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้นมีอยู่หลายกลุ่มรวมทั้งกลุ่มบีอาร์เอ็นที่แกนนำส่วนใหญ่ล้วนอายุมากและไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านนานแล้ว ขณะที่สมาชิกบีอาร์เอ็นในชายแดนภาคใต้ปัจจุบันไม่ได้มีบทบาทมากนัก แต่สมาชิกที่เหลืออยู่บางส่วนยังมีความเชี่ยวชาญเรื่องการก่อการร้าย  โดยขบวนการโจรก่อการร้ายที่มีบทบาทอย่างแท้จริงและก่อเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในเวลานี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มบีอาร์เอ็น
การที่กลุ่มบีอาร์เอ็นรับจ็อบเพื่อลอบก่อวินาศกรรมป่วนประเทศก็อาจเพราะต้องการแสดงศักยภาพให้เห็นความสำคัญของตัวเอง ขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นว่า โจรก่อการร้ายพวกนี้ไม่ได้มีอุดมการณ์อย่างแท้จริง แต่เป็นแค่แก๊งมือปืนรับจ้างป่วนเมือง และถือเป็นพวกไร้ศาสนาเพราะศาสนามุสลิมไม่สนับสนุนให้คนทำชั่วหรือใช้ความรุนแรงโดยเฉพาะกับแผ่นดินเกิดของตัวเอง
แต่ที่เลวยิ่งกว่าก็คือกลุ่มอำนาจเก่าที่อยู่อยู่เบื้องหลังจ้างโจรผีโม่แป้งที่อดอยากเหล่านี้มาทำลายชาติเพื่อตัวเองโดยไม่คำนึงถึงความย่อยยับที่จะเกิดกับชาติบ้านเมืองแม้แต่นิดเดียว
ข้อน่าสงัเกตุคือหลังเกิดเหตุระเบิดคาร์บอมที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลเกาะสมุย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯนักโทษหนีคุก แพร่ภาพตัวเองผ่านอินสตาแกรมยิ้มหน้าบานพร้อมระบุข้อความว่าสบายใจที่ได้ทำบุญสงกรานต์ที่บ้านพักในนครดูไบ
จากความชั่วร้ายของกลุ่มอำนาจเก่าที่บงการระเบิดทำลายชาติจึงไม่น่าแปลกใจที่พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงประณามการกระทำของกลุ่มที่สนับสนุนอยู่เบื้องหลังเหตุคาร์บอมบ์ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัลเกาะสมุย โดยชี้ว่าเป็นความตั้งใจของกลุ่มที่สูญเสียผลประโยชน์ที่ต้องการทำลายบรรยากาศแห่งความสุขของคนไทยทั้งประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เป็นความพยายามทำลายภาพลักษณ์ของประเทศไทยและสร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม ที่สำคัญประสงค์ต่อชีวิตของประชาชนผู้บริสุทธิ์ในที่สาธารณะ ซึ่งเหตุการณ์รุนแรงลักษณะนี้เคยเกิดขึ้นในกทม.มาแล้ว
ทีมข่าวการเมือง

รัสเซียกับเบลารุสซ้อมรบทหารพลร่มร่วมกัน

รัสเซียกับเบลารุสซ้อมรบทหารพลร่มร่วมกัน
-------------
เมื่อนาโต้ภายใต้การนำของสหรัฐฯขยันซ้อมรบในประเทศต่างๆรอบบ้านรัสเซียมากขึ้น ซึ่งทางรัสเซียก็รู้ว่านั่นคือภัยคุกคามความมั่นคงของรัสเซียและเข้าใจว่านั่นเป็นแผนยั่วยุให้รัสเซียเริ่มโจมตีนาโต้หรือกลุ่มประเทศที่ให้การสนับสนุนนาโต้ตามชายแดนรัสเซียก่อน แต่รัสเซียก็ไม่หลงอุบายนั้นของสหรัฐฯ ครั้นจะตั้งรับซ้อมรบโชว์ศักยภาพด้านอาวุธและกองทัพของตนเองอยู่แต่ในประเทศเพียงอย่างเดียว ก็ดูเหมือนว่ายิ่งจะทำให้สหรัฐฯและนาโต้ได้ใจมากขึ้นไปอีก แผนตั้งรับเพียงอย่างเดียวโดยไม่เดินเกมรุกบ้างนี้บางครั้งก็อันตรายเช่นกัน
มีหรือที่ปูตินจะยอมตั้งรับเพียงอย่าง มันต้องออกอาวุธกันบ้าง หมายถึงเดินเกมรุกกลับบ้าง แต่ไม่ใช่ไปหาเรื่องหรือไปตอบโต้หรือไปทำลายการซ้อมรบของผู้ไม่หวังดีที่หวังจะรุกรานรัสเซียหรอกนะ การเดินเกมรุกของรัสเซียก็คือจัดการซ้อมรบนอกพื้นที่ในประเทศของตัวเองอย่างที่สหรัฐฯกับจัดทำอยู่บ่อยๆนั่นเอง เมื่อสหรัฐฯเริ่มคุกคามทางกองทัพต่อประเทศอื่นโดยอ้างการซ้อมรบบังหน้า งั้นรัสเซียก็เอาแผนนี้มาย้อนศรสหรัฐฯและอียูบ้าง แต่ไม่ใช่เพื่อการรุกรานประเทศอื่น อย่างที่อเมริกาทำอยู่บ่อยๆ งานนี้รัสเซียจัดซ้อมรบทหารพลร่มร่วมกับกองทัพของเบลารุสที่ประเทศเบลารุสเองซะเลย
เบลารุสมีเมืองหลวงชื่อกรุงมินส์ก เมืองที่ 4 ผู้นำประเทศและคู่กรณีความขัดแย้งวิกฤตยูเครนตะวันออกไปเจรจาสันติภาพกันเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมานั่นเอง เบลารุสมีชายแดนติดกับรัสเซีย ยูเครน โปแลนด์ ลิทัวเนียและลัตเวีย (ดูแผนที่ที่แนบมากับโพสต์นี้ประกอบ) การซ้อมรบระหว่างทั้งสองประเทศมีมาตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาจนถึงวันที่ 16 เมษายน 2558 เป็นการฝึกการทำงานและดำเนินการเชิงกลยุทธ์ร่วมกันระหว่างทหารพลร่ม (paratrooper) ของทั้งสองประเทศ
นี่แค่จัดเบาๆไปก่อน เป็นการส่งสัญญาณบางอย่างไปยังกลุ่มประเทศบอลติกที่หันไปนิยมนาโต้และเปิดโอกาสให้นาโต้มาซ้อมรบภายในประเทศของตนเองใกล้ชายแดนรัสเซีย ไม่แน่นะ... ต่อไปอาจจะมีการซ้อมรบที่หนักกว่านี้ก็ได้


แอนโทนี่ กาตาลัซซี่ เผย สหรัฐส่งทูตคนใหม่เล่นหมดหน้าตักแทรกแซงไทย

แอนโทนี่ กาตาลัซซี่ เผย สหรัฐส่งทูตคนใหม่เล่นหมดหน้าตักแทรกแซงไทย
Cr:สำนักข่าวเจ้าพระยา
แอนโทนี่ กาตาลัซซี่ เผย สหรัฐส่งทูตคนใหม่ซึ่งเชี่ยวชาญพิเศษด้านแทรกแซง โดยถูกระบุว่าสหรัฐกำลังเล่นหมดหน้าตักแทรกแซงไทย
16/4/2558 แอนโทนี่ กาตาลัซซี่ นักวิจัยภูมิศาสตร์การเมือง ชาวต่างประเทศได้เปิดเผยทางเฟสบุ๊คส่วนตัว Anthony Cartalucci ครั้งล่าสุดเป็นภาษาไทย ต่อกรณีที่สหรัฐอเมริกาได้เปลี่ยนตัวทูตคนใหม่เพื่อเข้าทำงานในประเทศไทยในเร็วๆนี้นั้น โดยระบุว่า
ประเทศไทย: เตรียมรับมือกับทูตอเมริกาคนใหม่ นายเกล็น ทาวน์เซนด์ เดวีส์ ดูจากประวัติแล้วบทบาทของเขาน่าจะเข้ามาแทรกแซงกิจการประเทศไทยอย่างเปิดเผย ไม่ทำนิสัยเฮอาปากว่าตาขยิบ/เหมือน นางคริสตี เคนนีย์ สำหรับประเทศไทยนั้น เป็นประเทศสำคัญที่สหรัฐอยากจะครอบครองและปู้ยี่ปู้ยำ เหมือนกับที่ทำกับ ลิเบีย /ยูเครน/ซีเรีย/ เยเมน เป็นอย่างมาก แต่ทำไม่สำเร็จ เพราะประเทศไทยมีสถาบันหลักที่เข้มแข็ง
เพราะฉะนั้น นายเดวีส์ น่าจะได้การบ้านอย่างหนัก เพื่อจัดการประเทศไทยให้ได้ เพราะตอนนี้สหรัฐไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เพราะ ระบอบทักษิณทาสรับใช้สหรัฐกำลังสั่นคลอน และพร้อมเทหมดหน้าตัก “จากนี้ไปคนไทยจะเห็นองค์กรสิทธิมนุษยชน/พลเมือง/กฎหมาย/ นักเรียกร้องประชาธิปไตยกำมะลอที่รับเงินจากกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐ สื่อตะวันตกฉบับต่างๆ สื่อขายชาติแบบประชาไท นักวิชาการทรยศแผ่นดินสายนิติราษฎร์ /มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน รวมถึงผู้ก่อการร้ายเสื้อดำ/เสื้อแดง ออกมาถล่มประเทศไทยอย่างต่อเนื่องและหนักกว่าที่เป็นอยู่ เพราะงานแทรกแซงกิจการภายในต่างประเทศ เป็นงานที่นายเดวีส์ ถนัดมากที่สุด”
เกมนี้เรียกว่า สหรัฐเปิดไพ่หมดแล้ว ว่าต้องการทำลายประเทศไทย ซึ่งคนไทยเห็นได้จากการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆข้างต้น ทั้งการบั่นทอนทำลายสถาบัน /การเรียกร้องเรียกหาประชาธิปไตย แต่ใจจริงคือ “อยากได้ทักษิณ ฆาตรกร 3,000 ศพ และผู้ต้องหาหนีคดีอาชญกรรม/คอรัปชั่น” กลับมาบริหารประเทศ ดังนั้น คนไทยต้องเตรียมตัวให้พร้อม ปิดประตู่ไล่สาปส่งคนเลวๆพวกนี้ ไม่ให้มีที่ยืนในประเทศไทย ขอให้คนไทยเข้มแข็งสามัคคีและรู้ทันคนเหล่านี้ เพราะอนาคตของประเทศไทย อยู่ในมือทุกคนที่จะต้องช่วยกันรักษาไว้

สหรัฐฯและอังกฤษกล่าวขอบคุณรัสเซียที่ช่วยเหลือพลเมืองของตนเองออกกจากเยเมน

สหรัฐฯและอังกฤษกล่าวขอบคุณรัสเซียที่ช่วยเหลือพลเมืองของตนเองออกกจากเยเมน
------------
ยังมีอีกนะ... แถมให้อีกข่าวหนึ่งครับ ข่าวแรกเป็นระดับโฆษกก.ต่างประเทศของสหรัฐฯที่ออกมาจ้อหน้าไมค์เท่านั้น คราวนี้ตัวเป้งออกโรงเองเลย ในวันเดียวกันนี้ John Kerry รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯยกหูถึง Sergey Lavrov รมว.ต่างประเทศของรัสเซียเพื่อพูดคุยต่อรองกรณีปัญหาของอิหร่านกับรัสเซีย โดยในการสนทนากันนั้น รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯได้กล่่าวขอบคุณทางรัสเซียที่ให้ความช่วยเหลือกู้ภัยอพยพพลเมืองของสหรัฐฯหนีตายจากการทิ้งระเบิดโดยเครื่องบินรบของฝั่งซาอุดิอาระเบียที่มีสหรัฐฯให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
เว็บไซต์ของก.ต่่างประเทศของรัสเซียก็เอาข้อความการสนทนาของรมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯมาโพสต์เย้ยอเมริกาในอินเตอร์เน็ทซะเลยว่า "John Kerry รมว.ต่างประเทศของสหรัฐฯได้แสดงความขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือในการอพยพประชาชนชาวอเมริกันออกจากเยเมนในการสนทนากันทางโทรศัพท์"
Alexander Yakovenko เอกอัครราชทูตรัฐเซียประจำอังกฤษได้ออกมาส่งรายชื่อพลเมืองของประเทศต่างๆที่รัสเซียได้ให้ความช่วยเหลืออพยพออกจากเยเมนทางเรือผ่านทวีตเตอร์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ในรายชื่อนั้นมีชาวเยเมนจำนวน 159 คน, รัสเซีย 45 คน, อเมริกัน 18 คน, ยูเครน 14 คน,… อังกฤษ 5 คน จากทั้งหมดประมาณ 308 คน ล่าสุดเครื่องบินรบของฝั่งซาอุดิฯและพันธมิตรไม่อนุญาตให้เครื่องบินโดยสารของรัสเซียบินเข้าไปในเยเมนเพื่อให้ความช่วยเหลือในการอพยพผู้คนออกจากเยเมน ทางรัสเซียจึงส่งเรือรบเข้าไปช่วยแทน และก็พบว่ามีชาวอเมริกันขออาศัยเรือของรัสเซียหนีตายออกจากเยเมนมาด้วย ซึ่งทางรัสเซียก็ไม่ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือพลเมืองชาวอเมริกัน
ในขณะที่รัฐบาลสหรัฐฯเองนั้นไม่เคยส่งทั้งเรือและเครื่องบินไปช่วยเหลือพลเมืองของตัวเองออกจากพื้นที่ดังกล่าวหลังเครื่องบินรบของซาอุดิฯเปิดฉากทิ้งระเบิดใส่เยเมนเป็นต้นมา ทางโฆษกก.ต่างประเทศของอังกฤษก็ออกมากล่าวว่า "พวกเราขอยืนยันว่ามีพลเมืองสัญชาติอังกฤษจำนวน 6 คนได้อาศัยเรือรบของรัสเซียหนีออกจากเยเมนมาได้ พวกเรา (รัฐบาลอังกฤษ) ขอขอบคุณทางการรัสเซียที่ได้ให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้" (แต่รัฐบาลยูเครนหุบปากเงียบ)
มีชาวอเมริกันคนหนึ่งพร้อมครอบครัวที่อาศัยเครื่องบินของรัสเซียออกจากเยเมนให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว RT ของรัสเซียว่า "พวกเรามีความรู้สึกเหมือนกับว่าถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง ไม่มีการให้การสนับสนุนใดๆ เราโทรหาสถานทูต (ของสหรัฐฯ) ทุกแห่ง ทั้งใน Riyadh (เมืองหลวงของซาอุดิฯ), Cairo (เมืองหลวงของอียิปต์) แลในประเทศจิบูตี (Djibouti) เพื่อขอความช่วยเหลือให้ผมและครอบครัว แต่พวกเขาเอาแต่กล่าวขออภัยแสดงความเสียใจ (they always apologize) พวกเขา (สถานทูตของสหรัฐฯในเมืองต่างๆในละแวกนั้น) เอาแต่กล่าวว่า 'ความช่วยเหลือกำลังจะมา (เหมือนในหนังฮอลลิวูดเลย)' (help is coming) แต่มันไม่เคยมาถึงเลยซักครั้ง (but it never came) ตอนนี้ผู้คนพากันคิดว่าชาวอเมริกันเชื้อสายเยเมนก็เป็นเหมือนประชาชนขั้นสองของอเมริกันชนไปซะแล้ว" (Yemeni American are like second-class Americans.)
นั่นแหละคือความช่วยเหลืออย่างจริงใจจากรัฐบาลสหรัฐฯและอังกฤษที่ชอบออกมาเรียกร้องเรื่องสิทธิมนุษยชนกับประเทศนั้นประเทศนี้อยู่บ่อยๆ พอประชาชนของตนเองตกอยู่ในอันตรายที่รัฐบาลตัวเองมีส่วนเกี่ยวข้อง กลับไม่ยื่นมือเข้าไปช่วยแล้วแอบส่งข้อความผ่านมือถือไปบอกให้ไปอาศัยเรือรบและเครื่องบินโดยสารของรัสเซียหนีเอาตัวรอบเองซะงั้น กรรม!
The Eyes
16/04/2558
----------


สุทิน วรรณบวร: ระเบิดสุราษฎร์ธานี สัมภเวสีก้าวพลาด

@แผนการชั่วที่คิดจะก่อการร้าย 100 จุดต้องชะงักเพราะอเมริกาไม่รับลูก ปลุกกระแสต่อว่าผู้ก่อการร้ายกำลังขยายพื้นที่ปฏิบัติการมาสู่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ คดีก่อการร้าย 150 ครั้งที่ทำชั่วไว้ในปี2552-2553 กำลังถูกรื้อฟื้นขึ้นมาสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ที่ดินเขาใหญ่กำลังถูกมาตรา44 จัดการ เครือญาติต้องรับความผิดอาญาเพิ่ม ประตูคุกเปิดรอคนใกล้ชิด และสมุนบริวารคนแดนไกล ระเบิดสุราษฎร์ธานี จึงเป็นเรื่องที่สัมภเวสีก้าวพลาด”

ระเบิดสุราษฎร์ธานี สัมภเวสีก้าวพลาด

คนข่าวที่คุ้นเคยกับเหตุการณ์สามจังหวัดภาคใต้มาหลายสิบปี วิเคราะห์ให้ฟังว่า เหตุระเบิดเซ็นทรัลที่เกาะสมุย และไฟไหม้โคออป เป็นเรื่องฝนตกขี้หมูไหลที่คนแดนไกล, คนเขาใหญ่ และยะลา มารวมกัน

สื่อกระแสหลักทั้งภายในและต่างประเทศทั่วโลก รวมทั้งสื่อสังคมซึ่งมีอิทธิพลมากต่อการรับรู้ของผู้คนในยุคดิจิตอล เสนอข่าวเหตุการณ์ระเบิดชั้นใต้ดินห้างสรรพสินค้า เซ็นทรัล เฟสติวัลสมุย อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และเหตุไฟไหม้สหกรณ์สุราษฎร์ธานี จำกัด หรือโคออป เมื่อวันที่ 10 เมษายน นำเสนอสอดคล้องกันคือ ให้น้ำหนักว่าเป็นการกระทำของกลุ่มอำนาจเก่าที่มีเป้าหมายทำลายเศรษฐกิจชาติ ดีสเครดิต คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และ คู่แค้นทางการเมือง ในคราวเดียวกัน

สำนักข่าวเอพี รอยเตอร์ และ สำนักข่าวเอเอฟพี รายงานข่าวระเบิดในห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล ที่เกาะสมุย ในทำนองเดียวกันคือ เหตุระเบิดทำให้มีคนบาดเจ็บเล็กน้อย 7 คน รวมทั้งเด็กหญิงชาวอิตาเลี่ยนวัย 12 ปีหนึ่งคน รายละเอียดของระเบิดก็เหมือนกันทุกสำนักคือ ระเบิดซ่อนในรสมาสด้าที่ถูกปล้นมาจากจังหวัดยะลา

สำนักข่าวเอพีรายงานอ้างคำสัมภาษณ์ของพลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกรัฐบาลว่า มีหลักฐานหลายอย่างบ่งชี้ว่า เป็นฝีมือของกลุ่มอำนาจเก่า “ทั้งหลักฐานจากที่เกิดเหตุ หลักฐานจากการสอบสวนผู้ต้องสงสัยที่เชิญตัวมาสอบปากคำ ทำให้เจ้าหน้าที่มั่นใจว่า เป็นกลุ่มผู้ที่เกี่ยวโยงกับอำนาจเก่าที่เคยก่อเหตุในกรุงเทพฯ”

ส่วนสำนักข่าวเอเอฟพีกับสำนักข่าวรอยเตอร์ ตั้งข้อสังเกตว่า คาร์บอมบ์เหมือนกับระเบิดที่ใช้ในสามจังหวัดภาคใต้ ก็ได้รับคำชี้แจงจากพันเอกบรรพต พูลเพียรว่า “เป็นไปได้ว่ามีคนประสงค์ร้ายต่อประเทศชาติจ้างคนร้ายที่เชี่ยวชาญ ให้มาวางระเบิดที่สุราษฎร์ฯ เพื่อจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่ง”

ส่วนวิทยุเสียงอเมริกา(วีโอเอ) อ้างคำสัมภาษณ์ของนายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกฯฝ่ายความมั่นคงที่ให้ความเห็นไปในทางเดียวกันกับพันเอกบรรพต หนังสือพิมพ์ซิดนี่ เฮอรอล ในออสเตรเลียให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ในอดีตผู้ก่อความไม่สงบจากสามจังหวัดภาคใต้ ไม่เคยขยายพื้นที่ปฏิบัติการร้าย ขึ้นมาถึงเมืองท่องเที่ยว หนังสือพิมพ์เดลี่เทเลกราฟในลอนดอน ก็นำเสนอข่าวในทำนองเดียวกัน

เป็นที่น่าสังเกตว่า สื่อตะวันตกเสนอข่าวทำเนียบขาวแต่งตั้งนายเกล็น ทาวน์เซนด์ มาดำรงตำแหน่งทูตสหรัฐประจำประเทศไทย หลังจากว่างเว้นทูตมาตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน 2557 โดยไม่ได้กล่าวถึงเรื่องคาร์บอมบ์ที่เกาะสมุยเลย อเมริกาซึ่งเป็นหัวโจกต่อต้านพฤติกรรมก่อการร้ายทุกรูปแบบ และมักออกความเห็นสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของกลุ่มอำนาจเก่า กลับปิดปากเงียบ ทำไม่รู้ไม่เห็น ไม่มีปฏิกิริยาใดๆต่อเหตุระเบิดรถยนต์ในแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกเลย เป็นเรื่องผิดปรกติที่ทำเอาสัมภเวสีหนีคุกแทบกระอักออกมาเป็นเลือด

นายฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ นักวิชาการสถาบันมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งมักออกความเห็นที่เป็นคุณต่อระบอบทักษิณ เป็นแหล่งข่าวคนแรกที่สื่อ
ตะวันตกมักขอความเห็นทุกๆเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่คราวนี้ไม่มีความเห็นของนักวิชาการคนนี้ในสื่อตะวันตกเลย ถือเป็นเรื่องผิดความคาดหมายอย่างหนึ่งของกลุ่มอำนาจเก่าเช่นกัน
การให้ข่าวที่ชัดเจนตรงไปตรงมา ไม่อ้อมค้อมแบบทหารของพลตรีสรรเสริญ ทำให้ชาวโลกได้รู้ความจริง และสร้างความผิดหวังให้กับกลุ่มอำนาจเก่าเป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวสัมภเวสีหนีคุก เพราะความตั้งใจที่จะสร้างสถานการณ์เลวร้ายทำลายภาพลักษณ์ประเทศให้ชาวโลกเข้าใจว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ได้ขยายพื้นที่ก่อการร้ายขึ้นมาถึงเมืองท่องเที่ยวสำคัญแล้ว แต่กลับส่งผลในทางตรงกันข้าม และความผิดพลาดคราวนี้มันจะนำความหายนะมาถึงกลุ่มอำนาจเก่าเร็วขึ้นมากกว่าที่คิด

ส่วนความคิดชั่วร้ายที่จะทำลายเศรษฐกิจของชาติ ทำลายภาพลักษณ์ประเทศจากการระเบิดห้างสรรพสินค้า และเผาโคออปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ก็ไม่เป็นผลตามความตั้งใจของคนร้าย เพราะสมาคมการท่องเที่ยว และโรงแรมในจังหวัดสุราษฎร์ธานียืนยันว่า เหตุร้ายที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน ไม่มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวและโรงแรมเพราะยังไม่มีใครยกเลิกห้องพัก ส่วนสายการบินบางกอกแอร์เวย์ ซึ่งเป็นผู้บริหารสนามบินเกาะสมุย และบินรับนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกเกาะสมุยถึงวันละ 50 เที่ยวบินยืนยันว่า ไม่มีนักท่องเที่ยวยกเลิกการเดินทาง

นายภุมรัตน์ ทักษาดิพงษ์ อดีตผู้อำนวยการ สำนักข่าวกรองแห่งชาติวิเคราะห์ว่า เหตุระเบิดและไฟไหม้ที่สุราษฎร์ฯน่าจะเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ร้ายที่เกิดขึ้นถึง 150 ครั้งในปี 2552-2553 เมื่อคราวที่แนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (นปช.) จัดชุมนุมก่อเหตุรุนแรง ขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และเป็นที่น่าสังเกตกว่ามีคนโพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัวก่อนระเบิดจะเกิดขึ้นนานสิบกว่าชั่วโมง ว่า จะมีเหตุร้าย ซึ่งเป็นพฤติกรรมเหมือนกับคราวที่เสื้อแดงฮาร์ตคอร์ โพสต์ข้อความล่วงหน้าก่อนที่คนร้ายจะยิงใส่ขบวนรถของ เครือข่ายนักศึกษาประชาชน (คปท.) แนวร่วม กปปส.เมื่อปี 2557

เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2557 เกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงใส่รถบัสและรถปราศรัย คปท.ที่บริเวณทางด่วนแจ้งวัฒนะ ส่งผลให้มีผู้ชุมนุม คปท.ได้รับบาดเจ็บ 5 ราย เป็นชาย 2 ราย และหญิง 3 ราย ผู้ปราศรัยคนหนึ่งเสียชีวิตที่โรงพยาบาล ก่อนเกิดเหตุคนร้ายยิงใส่ ขบวนรถ คปท.คนเสื้อแดงที่ใช้ชื่อว่าลุงยิ้ม ตาสว่าง โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คว่า “วันนี้โกตี๋จะจัดหนัก คปท.”

เหตุร้ายที่เกิดขึ้นในจังหวัดสุราษฎร์ธานีครั้งนี้ แนวร่วมนปช.นายนรินทร์ อ่ำหนองบัว ใช้ชื่อ “เอ็ม เสื้อแดง” โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คว่า “คืนนี้จะจัดหนักสุราษฎร์ฯใครเอากับกูบ้างกูไม่เอา คสช.กูไม่เอามาตรา 44…..” ข้อความนี้แพร่กระจายในสื่อสังคมสิบกว่าชั่วโมงก่อนเสียงระเบิดดังขึ้นในชั้นใต้ดินลานจอดรถห้างเซ็นทรัลฯ และแสงเพลิงจะลุกวาบขึ้นในโคออป ทำให้คนข่าวที่คุ้นเคยกับข่าวเสื้อแดง และเหตุการณ์สามจังหวัดภาคใต้ฟันธงว่า ระเบิดและการวางเพลิงโคออป เป็นฝีมือกลุ่มอำนาจเก่าร่วมมือกับผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้

“คนที่โพสต์ข้อความก่อนมีเหตุระเบิดเป็นแดงอยากดัง ที่รับรู้เรื่องนี้มาจาก แดงในระนาบเดียวกันที่แฝงตัวอยู่ในเกาะสมุยมานานแล้ว”คนข่าวที่คุ้นเคยกับเหตุการณ์สามจังหวัดภาคใต้มาหลายสิบปีวิเคราะห์ให้ฟังว่า เหตุระเบิดและไฟไหม้โคออป เป็นเรื่องฝนตกขี้หมูไหลที่คนแดนไกล, คนเขาใหญ่ และยะลา มารวมกัน

“คนแดนไกล,เขาใหญ่,ยะลา” แค้นฝังเข็มคนสุราษฎร์ธานีมานานหลายปี ตั้งแต่เรื่องเหตุการณ์สามจังหวัดภาคใต้ เรื่องปัญหาบ้านพักส่วนตัว เรื่องก่อการร้ายกลางเมืองในปี 2552-2553 เรื่องการชุมนุมไล่รัฐบาลทรราชครั้งประวัติศาสตร์ จนถึงวันที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชายึดอำนาจจากรัฐบาลหุ่นเชิดของคนแดนไกล

คนแดนไกลเคยส่งท่อน้ำเลี้ยงผ่านยะลา ไปถึงกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบและโจรรับจ้าง ที่จัดตั้งไว้ในพื้นที่เป็นเวลานานหลายปี ผู้ก่อการร้ายจัดตั้งและโจรจัดตั้งเหล่านี้ หลายสิบคนทั้งที่ถูกตั้งข้อหาแล้วและยังไม่ถูกตั้งข้อหา หลบมาแฝงตัวทำงานในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และในเกาะสมุยเป็นเวลานานหลายเดือนแล้ว เมื่อถึงวันที่คนแดนไกลสมคมกับเขาใหญ่ วางแผนชั่วทำลายเศรษฐกิจชาติ ทำลายคสช. และทำลายสุราษฏร์ธานี ในเวลาเดียวกัน ยะลา ซึ่งเป็นตัวผ่านท่อน้ำเลี้ยงมาตลอดจึงจัดให้

แต่ความหายนะกลับมาเกิดขึ้นกับนรกสามเส้า เพราะแผนชั่วร้ายเล็ดลอดไปถึงหู”แดงระดับยาม” ผ่านไปถึงหู”แดงอยากดัง”เพื่อสร้างราคาจากแผนการที่นรกสามเส้าทำให้ประเทศนี้วิบัติฉิบหายไปพร้อมๆกับ คสช. และสุราษฎร์ธานี แต่เมื่อแผนการชั่วไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ความวิบัติฉิบหายก็ย้อนกลับเข้าสู่สัมภเวสีหนีคุก และนรกสามเส้า

แผนการชั่วที่คิดจะก่อการร้าย 100 จุดต้องชะงักเพราะอเมริกาไม่รับลูก ปลุกกระแสต่อว่าผู้ก่อการร้ายกำลังขยายพื้นที่ปฏิบัติการมาสู่เมืองท่องเที่ยวสำคัญ คดีก่อการร้าย 150 ครั้งที่ทำชั่วไว้ในปี2552-2553 กำลังถูกรื้อฟื้นขึ้นมาสอบสวนเพื่อดำเนินคดี ที่ดินเขาใหญ่กำลังถูกมาตรา44 จัดการ เครือญาติต้องรับความผิดอาญาเพิ่ม ประตูคุกเปิดรอคนใกล้ชิด และสมุนบริวารคนแดนไกล “ระเบิดสุราษฎร์ธานี จึงเป็นเรื่องที่สัมภเวสีก้าวพลาด”

′เทียนฉาย′เตือน! ทำประชามติรธน.อาจไม่ผ่าน! หากคนไม่เข้าใจ-เล็งทำการ์ตูนแอนิเมชั่น

เมื่อวันที่ 14 เมษายน นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงประเด็นหลายฝ่ายระบุว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังดำเนินการตามขั้นตอนต้องทำประชามติก่อนว่า เคยบอกว่าถ้าประชาชนยังไม่เข้าใจเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้แล้วไปทำประชามติคงไม่ผ่านแน่ แต่มาวันนี้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญและ กมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช.เอง เร่งออกเดินสายรับฟังความเห็นมากขึ้น จะสิ้นสุดในเดือนสิงหาคม-กันยายนนี้ ถึงเวลานั้นคงพอเหมาะ เพราะประชาชนคงเข้าใจเนื้อหามากกว่าเดิม

"หากจะทำประชามติจริงต้องเพิ่มช่องทางอื่นด้วย โดยเฉพาะประเด็นที่ถูกวิจารณ์มาก หากเป็นรูปแบบรายการโทรทัศน์ แล้วมีพิธีกรไปนั่งพูด คนจะเบื่อ ได้ผลแค่ระดับหนึ่ง จึงต้องทำให้คนไม่เบื่อ เช่น ใช้การ์ตูนแอนิเมชั่นน่าจะได้รับความสนใจ ให้ความเข้าใจในประเด็นสำคัญ เช่น ที่มานายกรัฐมนตรี และที่มา ส.ว. เป็นต้น" นายเทียนฉายกล่าว
          
นายเทียนฉายกล่าวถึงการทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม สปช. เพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ระหว่างวันที่ 20-26 เมษายนนี้ว่า ส่วนตัวไม่กังวล ไม่มีเตรียมการใดเป็นพิเศษ แม้วันนี้เริ่มมี กมธ.แต่ละคณะของ สปช.ออกมาแสดงความเห็นกว้างขวางตามหน้าสื่อว่าการอภิปรายจะดุเดือดนั้น คิดว่าในฐานะประธานคงไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะสมาชิกทั้งหมดรู้หน้าที่ตัวเอง ถ้าจะหนักหน่วงคงหนักในเนื้อหา ทุกคนจะรู้หน้าที่ดี หวังว่าคงไม่ถึงขั้นที่ประธานต้องจับค้อนออกมาทุบ

เมื่อถามว่าประเด็นบรรดาพรรคการเมืองวิจารณ์อย่างหนักเรื่องเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกนายเทียนฉายกล่าวว่า เข้าใจว่าสื่อกำลังสร้างสมดุลของข่าว ไปถามอดีตหัวหน้าพรรคฝ่ายค้านบ้าง ถามอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ที่เคยมีตำแหน่งในรัฐบาลที่แล้วบ้าง แม้ไม่เคยเห็นใครบอกว่าเห็นด้วยสักที แต่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ควรปล่อยให้พูดไม่ต้องไปป้องปราม เพราะการออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นประโยชน์มากกว่าผลร้าย ถ้าพูดแรงมากไป เดี๋ยวพรรคก็ห้ามกันเอง

วิกฤตเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะรุนแรงขึ้น

วิกฤตเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะรุนแรงขึ้น

8810
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
ในช่วงเดือนมกราคม การส่งออกไทยปรากฏว่า ติดลบ -3.4% ซึ่งทำให้การคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ยังคงวางเป้าหมายไว้ที่ 4%  อาจจะไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ และถ้าดูจากหนังสือพิมพ์ เราจะเห็นได้ว่ามีการพาดหัวข่าวในด้านเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ตามมาด้วยราคาสินค้าเกษตรซึมยาว 3 ปี ผนวกกับราคาหุ้นมีการลดลงติดต่อกันหลายวัน ซึ่งถ้าจะวิเคราะห์จากข้อมูลดังกล่าวก็คงจะเห็นว่า แม้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังเจอปัญหาวิกฤตและหลายคนก็มีความรู้สึกเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะฟื้นขึ้นตามที่หลายสำนักพยากรณ์ไว้ตั้งแต่ระดับ 3 – 4.5% ของ GDP หรือไม่ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วก็มีอัตราการเติบโตเพียง 0.7%
ความจริงเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ IMF และ World Bank มีการคาดการณ์ไว้ กล่าวคือ เศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังมีการขยายตัวสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 0.3% โดยในปีนี้เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมจะมีการขยายตัว 3.5% ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วมีการขยายตัวเพียง 3.2% ทั้งนี้ทั้งนั้น 4 กลุ่มประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ก็ยังไม่มีดัชนีบ่งชี้ว่ากำลังเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่กำหนดไว้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวได้ 3.6% สหภาพยุโรปจะขยายตัวได้ 1.3% ญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ 0.6-0.7% และจีนจะขยายตัวได้ 6.8% ส่วนการที่ตลาดหุ้นในหลายประเทศไม่ว่าสหรัฐอเมริกาหรือฮ่องกงมีแนวโน้มลดลงก็เกิดจากราคาหุ้นขึ้นสูงไปจากการคาดการณ์ล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว ช่วงนี้จึงเป็นการปรับตัวลดลงชั่วคราว เช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นไทยซึ่งก่อนหน้านี้ขึ้นไปถึง 1,600 จุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าหรือราคาตลาดหุ้นซึมซับผลประกอบการล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ปรากฏมาใน 2-3 วันนี้มีลักษณะในแง่ลบ นักลงทุนจึงเริ่มเกิดความหวั่นไหวและเทขายหุ้นซึ่งในทางเทคนิคเรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า “Overbought” นั่นเอง
ความจริงนั้น เศรษฐกิจยังมีการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพียงแต่เป็นการขยายตัวที่ไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน แต่โดยภาพรวมก็ยังถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ผลพวงดังกล่าวก็น่าจะทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ในปีที่ผ่านมาส่งออกติดลบ -0.3% และเป็นการติดลบที่ต่อเนื่องกัน 2 ปี และแม้ว่าในเดือนมกราคม ส่งออกไทยจะติดลบ -3.4% ผู้เขียนยังเชื่อว่า ถ้าพิจารณาทั้งปี การส่งออกน่าจะเป็นบวก แต่อาจจะไม่ถึง 4% ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ความหวังของเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ดีหรือไม่ การส่งออกเป็นแค่ตัวรอง ตัวที่จะกำหนดชะตากรรมจะมาจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ นั่นก็คือ การเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งมีตัวเลขกว่า 3 ล้านล้านบาท ที่มาจากงบประมาณปี 57 ที่ค้างอยู่บวกกับปี 2558 ซึ่งมียอด 2.57 ล้านล้านบาทและงบประมาณปี 2559 อีก 25% (ระหว่างตุลาคม – ธันวาคม ในปลายปีนี้) จากงบซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณตามที่กำหนดไว้ โดยใน 5 เดือนของงบประมาณปี 2558 นี้ รัฐบาลเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย กล่าวคือ เบิกจ่ายได้ 1.1 ล้านล้านบาท หรือ 42.5% จากงบประมาณ 2.57 ล้านล้านบาท และถ้าแยกเป็นรายจ่ายประจำ ปรากฏว่าเบิกจ่ายได้ 47.21% จากเป้าหมาย 60% ในขณะที่รายจ่ายการลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 18.18%  จากเป้าหมาย 30% ดังนั้น ถ้าจะให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 3% รัฐบาลจะต้องเร่งการเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมาย เพราะถ้าสามารถเบิกจ่ายตามเป้าหมายได้ก็จะสามารถเพิ่มและส่งเสริมเป็นพลวัตไปสู่การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน มิฉะนั้น เศรษฐกิจไทยจะไม่ขยายตัวตามเป้า
การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ช้าและส่งออกของไทยขยายตัวช้าและแถมติดลบ 2 ปี ก็สืบเนื่องจากเหตุผลที่สำคัญคือ ประเทศมีการลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 1992 ซึ่งหมายถึง สินค้าเข้าออกประเทศอาเซียนเหลือ 0 ซึ่งก็เปรียบเหมือนกับแต่ละประเทศในอาเซียนเป็นเพียง 1 จังหวัดเท่านั้น และมีการพัฒนาเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2003 ตามปฏิญญาบาหลี แต่ปรากฏว่า รัฐบาลไทยเพิ่งตีฆ้องเรื่อง AEC ในปี 2010 ซึ่งช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์ได้เตรียมตัวเข้าสู่ AFTA ตั้งแต่ปี 1990 ด้วยการปรับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการย้ายฐานเพื่อใช้แรงงานใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) รวมทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย มีการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตร พัฒนา Infrastructure มีการส่งเสริม IT ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาเพื่อรองรับทิศทางดังกล่าว ปรากฏว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เอกชนยังผลิตสินค้าที่ยังคงเน้นใช้แรงงานและมีมูลค่าเพิ่มต่ำ ดังจะเห็นได้ว่า สินค้าเราไม่สามารถแข่งกับ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) รวมทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียได้ทั้งในเอเชียและโลก นอกจากนั้นใน 20 ปีที่ผ่านมาก็มีประเทศเกิดใหม่ที่ผลิตสินค้าราคาถูกเป็นคู่แข่งกับประเทศไทย ภาคการเกษตรของไทยก็ยังไม่ได้พัฒนาจึงอ่อนไหวต่อสภาพดินฟ้าอากาศและเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดและความล้าหลังของนักการเมืองไทยที่ปรับตัวไม่ทันกับโลก ภาคเอกชนจึงกลายเป็นเหยื่อ (victim) ในการแข่งขัน
โดยสรุป สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเพียงภาพฉายว่า เศรษฐกิจไทยกำลังสะสมปัญหา และนับวันจะรุนแรงขึ้น ถ้าหากยังไม่สามารถปรับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทันโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงได้

การปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศไทย

การปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศไทย

8902
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
อดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยู ของสิงคโปร์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่เขาทิ้งให้เป็นมรดกตกทอดคือ ความสำเร็จในด้านการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์ จากประเทศเล็ก ๆ ซึ่งมีประชากรในสมัยนั้นเพียงสองล้านกว่าคน จนในวันนี้สิงคโปร์มี GDP ต่อหัวประชากร 51,000 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าไทย 9 เท่า และเป็นประเทศพัฒนาตลอดจนเป็นประเทศผู้นำทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ความสำเร็จในการบริหารประเทศของลีกวนยูจัดเป็นรูปแบบที่น่าศึกษาสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย โดยจะเป็นจุดชี้ถึงองค์ประกอบความสำเร็จว่า การปฏิรูปลักษณะไหนจากตัวอย่างของสิงคโปร์ถึงจะมีส่วนทำให้การปฏิรูปประเทศไทยตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ
สิงคโปร์ถูกอัปเปหิจากสหพันธรัฐมลายูปี 1965 นายลีกวนยูอยู่ในสภาพเศร้าสร้อยเมื่อมาคิดถึงสถานภาพของประเทศเล็ก ๆ ซึ่งมีเกาะใหญ่อยู่เพียงเกาะเดียว กับเกาะเล็ก ๆ อีกหลายเกาะ ไม่มีทรัพยากร แม้กระทั่งน้ำ โดยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำจากมาเลเซีย อย่างไรก็ดี นายลีกวนยูได้ใช้ความฉลาดในการวางแผนยุทธศาสตร์ไปสู่ความสำเร็จ ยุทธศาสตร์ของนายลีกวนยูมี 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นยุทธศาสตร์ตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1980 สาระสำคัญของยุทธศาสตร์นี้คือ
1. การพัฒนาบุคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์ทั้งในด้านความสามารถในการมองอนาคต (Visionary) การบริหารการจัดการ และมีจริยธรรมโดยเน้นการต่อต้านคอรัปชั่น โดยตัวเขาเองจะเป็นตัวอย่างให้ประชาชน แนวคิดของเขาคือ การพัฒนาคุณภาพของผู้นำทางการเมืองและข้าราชการให้เก่งและดี เก่งก็คือมองเห็นอนาคตและมีประสิทธิภาพ ดีก็คือ เกลียดชังคอรัปชั่น และปรับปรุงคุณภาพประชาชนในด้านการศึกษาให้มุ่งไปในแนวทางดังกล่าว
2. มีการวางทิศทางล่วงหน้า 2 ทศวรรษ ว่าประเทศสิงคโปร์จะต้องเป็นประเทศอุตสาหกรรม มุ่งมั่นพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่ม โดยมีการส่งเสริม Infrastructure และส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นแหล่งศูนย์กลางทางการเงิน ส่งเสริมให้สิงโปร์เป็นแหล่งศูนย์กลางท่าเรือ และมีการปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ เน้นภาษาอังกฤษ เน้นคำนวณ เน้นวิทยาศาสตร์ และเน้นการบริหารการจัดการ ด้วยการปรับปรุงมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ตลอดจนโรงเรียนต่าง ๆ มีการเชิญครูจากต่างประเทศเพื่อมาถ่ายทอดความรู้
3. มีการพัฒนาขนส่งมวลชน น้ำ ดิน ตลอดจนการพัฒนาภูมิทัศน์และเอาจริงเอาจังเรื่องระเบียบ จะเห็นได้ว่า คนจีนไม่กล้าถ่มน้ำลายลงพื้น ร้านค้าข้างถนนในสิงคโปร์ก็หายไป
4. รัฐจะต้องมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ กระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ ถ้าไม่มีประสิทธิภาพก็โดนไล่ออก ถ้าโกงก็ต้องติดคุก ทำงานเช้าชามเย็นชามก็โดนไล่ออก ส่งผลให้ราชการและรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพสูงมาก รัฐวิสาหกิจมีกำไรยกเว้นรัฐวิสาหกิจประเภทส่งเสริมสวัสดิการสังคม
5. ในระยะต้นมีการเก็บภาษีสำหรับคนสิงคโปร์สูง แต่เก็บภาษีนิติบุคคลต่ำเพียง 17% เพื่อจูงใจให้บริษัทข้ามชาติมาตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ ภาษีที่เก็บได้บวกับรัฐวิสาหกิจบางส่วนถูกนำมาใช้พัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนสิงคโปร์ คนสิงคโปร์ 75% ต่างมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง อีกส่วนก็มาตั้งกองทุน เช่น เทมาเส็ก เพื่อเอากำไรจากการลงทุนในต่างประเทศมาพัฒนาประเทศ
ยุทธศาสตร์แผนที่ 2 ดำเนินการในทศวรรษ 1990 โดยมีเป้าหมายหลักคือ พัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นประเทศพัฒนาเต็มที่ ให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจบนฐานความรู้ (Knowledge based Economy) โดยมีสาระสำคัญดังนี้คือ
1. พัฒนาการศึกษาให้เป็นระดับโลกโดยเชิญชวนมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยชิคาโก มหาวิทยาลัยอินซีด (Insead) จากฝรั่งเศส และอื่น ๆ มาจัดตั้งที่สิงคโปร์และพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้เป็นระดับชั้นนำของโลก นอกจากนี้ยังพัฒนาคุณภาพอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยโลกและส่งเสริมให้มีการนำคณาจารย์ต่างประเทศระดับโลกมาสอนที่สิงคโปร์
2. พัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางโลกในด้านการเงิน
3. พัฒนา IT ในระดับสูงโดยร่วมมือกับบังกะลอร์ของอินเดีย และซิลิคอนแวลลี่ร์ของอเมริกาเพื่อผลิตสินค้าประเภท Hi-end
4.ส่งเสริมการร่วมกลุ่มกับประเทศต่าง ๆ เช่น AEC RCEP TPP และ FEALAC มีการตั้งสำนักงานใหญ่ของ APEC ที่สิงคโปร์ นอกจากนั้นยังทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศสำคัญทั่วโลก เพราะเท่ากับสิงคโปร์ได้ประเทศใหม่โดยไม่ต้องใช้กำลังทหาร
5. เมื่อมีการรวมกลุ่มก็มีนโยบายเน้นการลงทุนต่างประเทศ (Go regional) จึงไม่น่าแลกใจว่า ประเทศไทยจึงมีร้านอาหาร ร้านขนมปัง ร้านป๊อบคอร์นของสิงคโปร์เต็มไปหมด นอกจากนั้น สิงคโปร์ยังร่วมมือกับจีนด้านโรงกลั่นน้ำมัน ร่วมมือกับเวียดนามด้าน Infrastructure ร่วมมือกับกัมพูชาด้านท่าเรือและสนามบิน
ความสำเร็จของสิงคโปร์จะเห็นได้ชัดว่ามีองค์ประกอบที่เกิดจากคุณภาพของบุคลากรที่สามารถมองเห็นอนาคตได้ไกลๆ มีคุณธรรม และมีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
สรุปได้ว่า การปฏิรูปประเทศไทย แผนยุทธศาสตร์จะต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอีก 20-30 ปี ข้างหน้า และมีบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์เพียงพอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การปฏิรูปประเทศไทยแม้จะพยายามแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ เพราะเกี่ยวข้องกับระบบคิดของผู้ร่างการปฏิรูปและเกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ดังกล่าวด้วย และระบบการเมืองต้องมีความต่อเนื่อง

บทบาทของจีนในเวทีโลกและผลกระทบต่อภูมิภาคและไทย

บทบาทของจีนในเวทีโลกและผลกระทบต่อภูมิภาคและไทย

8963
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
แม้ประเทศจีนจะมีปัญหาเศรษฐกิจขยายตัวในอัตราชะลอลงจากค่าเฉลี่ย 10% ตลอดช่วง 2 ทศวรรษจนถึง 3-4 ปีที่ผ่านมา อัตราการเติบโตของจีนค่อย ๆ ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 7% โดยในปีนี้ IMF ถึงกับวิเคราะห์ว่า จะเหลือ 6.8% และปีหน้าจะเหลือ 6.5% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 ปี อย่างไรก็ตาม แม้จีนจะมีปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวลง หนี้สาธารณะและหนี้ของสถาบันการเงินรวมแล้วเท่ากับ 260% ของ GDP ซึ่งถือว่าสูงสุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา (ความจริงประเทศจีนขณะนี้ถูกจัดกลุ่มเป็นประเทศรายได้ระดับกลาง) อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์และ shadow banking อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนในอีกด้านหนึ่งของเหรียญก็ได้พยายามขยายบทบาททั้งทางการเมืองและทางเศรษฐกิจทั้งในภูมิภาคและระดับโลกอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สอดคล้องกับฐานะของประเทศซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก
ในทางการเมือง จีนได้เพิ่มบทบาททางด้านทหารด้วยการใช้งบประมาณเพิ่มในอัตราที่สูงติดต่อกันหลายปี ถ้าเทียบกับงบประมาณประจำปีด้านอาวุธและทหาร ถือว่า จีนมีการใช้จ่ายในด้านนี้สูงเป็นอันดับ 3 รองจากสหรัฐอเมริกาและรัสเซีย อีกทั้งจีนยังได้มีการเพิ่มอาวุธที่สำคัญไม่ว่าจะเป็น เรือดำน้ำที่มีขีปนาวุธนิวเคลียร์ ตลอดจนการพัฒนาด้านอวกาศ
ในด้านเศรษฐกิจจีนได้ขยายอิทธิพลโดยให้ความช่วยเหลือกับประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแอฟริกา ละตินอเมริกา อาเซียนและอื่น ๆ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ จีนได้มีการวางหมากรุกทางการเมืองอันใหม่เพื่อเพิ่มบทบาทของตนในทางเศรษฐกิจและการเมืองของภูมิภาคและของโลก โดยนโยบายดังกล่าวประกอบด้วย
1. ส่งเสริมความเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคและอนุภูมิภาค ในระดับภูมิภาคคือ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม Asean+3 และ +6 และขยายผลสู่ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership) และเป้าหมายในอนาคตอีก 10 ปี ก็คือ การพัฒนา RCEP สู่ประชาคมเศรษฐกิจเอเชีย และที่ไกลกว่านั้นคือ สนับสนุน APEC ไปสู่ FTAAP (Free Trade Area of the Asia-Pacific หรือ เขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก) สำหรับในระดับอนุภูมิภาคคือ ส่งเสริมการเชื่อมโยงอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง GMS (Greater Mekong Subregion) เพื่อเชื่อมโยงด้านขนส่ง สาธารณูประโภค การค้าการลงทุนในกลุ่มลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนสินค้าจากจีนแล้วยังเป็นการกระชับความสัมพันธ์ด้านการเมืองอีกด้วย
2. ในปีที่ผ่านมา ประเทศจีนได้เสนอให้จัดตั้งองค์กรทางการเงินใหม่ 2 องค์กร ได้แก่ AIIB (Asian Infrastructure Investment Bank) และ BRICS Bank ทั้งนี้ AIIB ก็คือ การจัดตั้งในลักษณะเหมือนกับธนาคารโลก คือทำหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนด้านสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งเป็นที่ต้องการมากในภูมิภาคเอเชีย แต่สิ่งที่จีนต้องการมากกว่านั้นก็คือ การสร้างองค์กรเพื่อเป็นเครื่องมือในการกำหนดนโยบายต่างประเทศทางด้านเศรษฐกิจของจีน เหมือนกับที่ธนาคารโลกเป็นเครื่องมือของอเมริกา และ ADB เป็นเครื่องมือของญี่ปุ่น การจัดตั้ง AIIB ยังมีส่วนในการแบ่งแยกยุโรปตะวันตกและประเทศอื่น ๆ จากอเมริกา ดังจะเห็นได้ว่าเริ่มจากอังกฤษที่สมัครเป็นสมาชิกและตามมาด้วย ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น ทั้ง ๆ ที่อเมริกาพยายามห้ามปราบ อีกองค์กรคือ BRICS Bank ที่เปรียบเหมือน IMF ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อเสริมสภาพคล่องของประเทศสมาชิกเหมือนหน้าที่ของ IMF
3. ประเทศจีนได้มีการจัดตั้งการประชุมที่เรียกว่า Boao Forum ซึ่งถือเป็นการประชุมประจำปีของเอเชียซึ่งเป็นคู่แข่งกับ World Economic Forum ที่เมือง Davos ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นการประชุมร่วมกันระหว่างนักธุรกิจ นักการเมือง นักวิชาการ และผู้บริหารองค์กรที่สำคัญของโลกเพื่อมาพบปะ ประชุม ถกปัญหา เสนอทางแก้ ในด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ซึ่ง Boao Forum  เปรียบเสมือนเวทีคู่แข่งของ World Economic Forum ในภาคพื้นเอเชียนั่นเอง และในขณะนี้ก็ทำการประชุมโดยเน้นประเด็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและความเชื่อมโยงของกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชีย
ประเทศจีนในวันนี้กำลังดำเนินนโยบายต่างประเทศทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองในการเปลี่ยนแปลงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ดังนั้นผู้ดำเนินนโยบายของแต่ละประเทศโดยเฉพาะของไทยจึงต้องมีความสามารถในการประเมินจิ๊กซอว์ทางการเมืองและสามารถประเมินทิศทางเศรษฐกิจและการเมืองในระดับภูมิภาคและระดับโลกได้ล่วงหน้า ก่อนที่จะเจอปัญหาเมื่อมันเกิดขึ้นเรียบร้อยแล้วดังที่ไทยกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้

ไทยจะไปได้ไกลขนาดไหนกับรัสเซีย?

ไทยจะไปได้ไกลขนาดไหนกับรัสเซีย?

tnews_1428659046_9044รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
ในช่วงนี้มีข่าวเรื่องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย โดยเป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีของรัสเซียมาเยือนไทยในรอบ 25 ปี และคงจะต่อเนื่องด้วยนายกรัฐมนตรีของไทยจะเดินทางไปรัสเซียในอนาคต
ในการเยือนครั้งนี้ก็มีการลงนามข้อตกลงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 10 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขยายการลงทุน การค้า ความร่วมมือทางด้านพลังงาน ด้านวัฒนธรรม และอื่น ๆ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซียถือว่ามีนัยยะทางการเมืองระหว่างประเทศอยู่ไม่น้อย เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งไทยและรัสเซียต้องเผชิญกับการบีบคั้นของอเมริกาและสหภาพยุโรป
ซึ่งในส่วนของไทยนั้น การบีบครั้นดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำพูดมากกว่าการกระทำ แต่ในแง่การเมืองก็ย่อมมีผลกระทบต่อคนในประเทศซึ่งก็ยังมีการแยกขั้วอยู่อย่างเห็นได้ชัด การตำหนิฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็มีผลเท่ากับการให้กำลังใจหรือเสริมพลังให้กับแรงต่อต้านของอีกฝ่ายหนึ่ง การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียในครั้งนี้จึงมิใช่เป็นเหตุการณ์ตามปกติของการขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสองฝ่าย
การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียในครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของโลก ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้
1. จากการยึดไครเมียร์จากยูเครนของรัสเซียภายใต้ปูตินก็ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ของNATO และสหภาพยุโรป ในลักษณะของการ sanction ทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียลดลง และถูกผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงกว่า 60% ซึ่งรัสเซียมีรายได้จากการส่งออกพลังงานเป็นสัดส่วน 60% ของการส่งออกทั้งหมด
ผลกระทบทั้งสองประการดังกล่าวจะทำให้รัสเซียในปีนี้และปีหน้าจะมีอัตราการเติบโตติดลบ ในบริบทดังกล่าว รัสเซียจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจด้วยการกระจายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง ความจำเป็นในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน อินเดีย ตลอดจนอาเซียนและประเทศอื่น ๆ ไทยจึงเป็นเป้าหมายส่วนหนึ่งของแนวนโยบายดังกล่าวนี้
2. ในแง่ทางการเมืองนั้น รัสเซียซึ่งถือว่าเป็นมหาอำนาจทางปรมาณูและเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีศักยภาพในการทำลายล้างอเมริกา แม้สหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้ว แต่รัสเซียในยุคปูตินก็มีแนวคิดที่จะปรับแนวนโยบายทางเศรษฐกิจ การเมืองตลอดจนด้านการทหารให้สอดคล้องกับสถานภาพของตนเอง
นอกจากนั้น รัสเซียเองกำลังถูกปิดล้อมจาก NATO และพันธมิตร เพราะหลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตก็กลายเป็นสมาชิกของ NATO และสหภาพยุโรป เช่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย ทั้งนี้ ปูตินยังมองว่า อเมริกาและสหภาพยุโรปพยายามที่จะดึงประเทศอื่น ๆ เช่น จอร์เจีย ยูเครน ไปเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง และนี้จึงเป็นเหตุผลที่รัสเซียยึดไครเมียร์และขยายอิทธิพลมาสู่จอร์เจียและยูเครนตะวันออก
นอกจากนั้น รัสเซียเองเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจอเมริกาจึงสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่น ๆ ในกรอบทางการเมืองก็คือ การก่อตั้ง shanghai organization ซึ่งมีจีนเป็นสมาชิก ในทางเศรษฐกิจก็มีการรวมกลุ่ม BRICS และมีการจัดตั้งประชาคมยูเรเซีย ในบริบทดังกล่าว รัสเซียจึงมีความจำเป็นในการกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคต่าง ๆ เช่น กับอิหร่าน หรือแม้กระทั่งกับกรีกและไซปรัส ตลอดจนอาเซียนเพื่อเป็นการถ่วงดุลอเมริกา
3. ในส่วนของไทยนั้น หลังจากที่มีการรัฐประหาร อเมริกาและสหภาพยุโรปก็ได้มีท่าทีบีบบังคับรัฐบาลไทยโดยหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การบีบบังคับดังกล่าว แม้จะเป็นเพียงท่าที ทั้ง ๆ ที่ในแง่รูปธรรมแล้วยังไม่ได้ดำเนินการมากมายนั้น ยกเว้นการงดการซ้อมรบคอบร้าโกลด์เมื่อปีที่แล้ว หรือการไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีโดยมีการห้ามเข้าประเทศ เป็นต้น สหภาพยุโรปก็มีท่าทีเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ท่าทีดังกล่าวยังไม่ได้ออกมาในรูปของการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยจำนวนมากถือว่าเป็นการก้าวก่ายกิจการภายในของไทยและเป็นการส่งเสริมฝ่ายต่อต้านทางอ้อม นอกจากนั้น แนวนโยบายของอเมริกาในเรื่องประชาธิปไตยก็ถือว่ามี 2 มาตรฐาน สถานการณ์อย่างเดียวกันที่เกิดขึ้นกับไทยก็เกิดกับอียิปต์และยูเครน
แต่อเมริกากลับไปสนับสนุนรัฐบาลที่ก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ในกรณีของไทยกลับใช้มาตรฐานอีกประการหนึ่ง นอกจากนั้น การรัฐประหารของไทยในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นจากความจำเป็นในการป้องกันสงครามกลางเมือง และรัฐบาลชุดนี้ก็ได้รับการยอมรับจากประชาชนจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากการสุ่มตัวอย่างถามความคิดเห็นที่ให้คะแนนรัฐบาลถึง 70-80% พูดง่าย ๆ คือ ประชาชนจำนวนมากต้องการเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อปูทางสู่การสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ดีกว่าที่จะมีรัฐบาลที่โกงการเลือกตั้งหรือซื้อเสียงและเมื่อขึ้นมาแล้วก็เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก
ความจริงแล้วอเมริกาและสหภาพยุโรปเขาก็รู้แต่แกล้งโง่ เพราะเขากำลังดำเนินแนวนโยบายทางต่างประเทศที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์แห่งชาติของเขา โดยหาเหตุผลที่มองจากมุมตัวเองเป็นตัวอธิบาย แต่ถ้าดูให้ลึก เขาก็ดำเนินนโยบายสองหน้า หน้าหนึ่งสนับสนุนฝ่ายต่อต้านโดยอ้างเรื่องการเลือกตั้ง เผื่อในอนาคตถ้าฝ่ายนี้ได้เสียงข้างมาก อเมริกาก็จะได้ประโยชน์ที่มากกว่ารัฐบาลชุดนี้
กล่าวคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่คอรัปชั่นนั้นจะเป็นเหยื่อของการดำเนินนโยบายต่างประเทศได้ง่ายเพราะผู้นำเหล่านี้สามารถแลกผลประโยชน์ต่างตอบแทนส่วนตัวบนหน้ากากของการเลือกตั้ง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ต่อและเมื่อมีการเลือกตั้งจากฝ่ายที่ต้องการประชาธิไตยที่แท้จริง อเมริกาก็ยังไม่มีอะไรเสียเพราะในความเป็นจริง อเมริกาบีบคั้นด้วยคำพูดมากกว่าการกระทำ แต่แน่นอน คำพูดนี้ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจต่ออเมริกาและสหภาพยุโรป
จากแนวนโยบายและความจำเป็นของทั้งไทยและรัสเซียทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจึงนำไปสู่การพยายามกระชับความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น แม้ไม่มีแรงกดดัน แต่ทั้งไทยและรัสเซียก็ต้องขยายความสัมพันธ์ไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ในกรอบของโลกาภิวัตน์อยู่แล้ว และขณะที่โลกในทางภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป ประเทศเกิดใหม่เกิดขึ้นมากมาย จีน อินเดียและอาเซียนต่างก็มีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
จึงถือว่า การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียจึงเป็นแนวโน้มที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การกระชับความสัมพันธ์ระหว่าไทยกับรัสเซียในครั้งนี้ก็ถือว่ามีนัยยะทางการเมือง โดยไทยต้องการแสดงออกทางสัญลักษณ์ว่า ไทยก็ยังมีทางออกด้วยการพึ่งพาประเทศอื่น ๆ  นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงออกถึงท่าทีต่ออเมริกาในทำนองว่า “คุณยิ่งบีบมาก คุณก็ยิ่งเสียพันธมิตรมากขึ้น” ไทยเองก็รู้ดีว่า อเมริกากำลังถ่วงดุลอำนาจจากจีน ที่เรียกว่า Pivot Asia ดังนั้นการเป็นพันธมิตรกับไทยอย่างแนบแน่นจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
มองจากแนวนโยบายของอเมริกาก็มองไทยว่า “How far you can go” ประเทศไทยจะไปได้ไกลขนาดไหนกับรัสเซีย ในแง่การค้าและการลงทุนรัสเซียถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพไม่มากนัก ยกเว้นเรื่องการท่องเที่ยว นอกจากนั้นในแง่การเมืองและการทหาร ประเทศไทยก็ยังผูกพันกับอเมริกาภายใต้กรอบทางการทหารตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเช่นเดียวกับหลายประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตาม อเมริกาก็ต้องไม่ underestimate หรือประเมินท่าทีไทยต่ำเกินไป เพราะหลายครั้งที่อเมริกาดำเนินนโยบายผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อิรัก ซีเรีย และยูเครน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียแม้จะมีเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมของความเชื่อมโยงมากขึ้นก็ตามที แต่สิ่งสำคัญตอนนี้คือ การแสดงออกทางสัญลักษณ์ให้อเมริกาได้รับรู้มากกว่า