PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

การปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศไทย

การปฏิรูปเศรษฐกิจประเทศไทย

8902
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
อดีตนายกรัฐมนตรีลีกวนยู ของสิงคโปร์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สิ่งที่เขาทิ้งให้เป็นมรดกตกทอดคือ ความสำเร็จในด้านการบริหารเศรษฐกิจและสังคมของสิงคโปร์ จากประเทศเล็ก ๆ ซึ่งมีประชากรในสมัยนั้นเพียงสองล้านกว่าคน จนในวันนี้สิงคโปร์มี GDP ต่อหัวประชากร 51,000 เหรียญสหรัฐฯ สูงกว่าไทย 9 เท่า และเป็นประเทศพัฒนาตลอดจนเป็นประเทศผู้นำทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ความสำเร็จในการบริหารประเทศของลีกวนยูจัดเป็นรูปแบบที่น่าศึกษาสำหรับการปฏิรูปประเทศไทย โดยจะเป็นจุดชี้ถึงองค์ประกอบความสำเร็จว่า การปฏิรูปลักษณะไหนจากตัวอย่างของสิงคโปร์ถึงจะมีส่วนทำให้การปฏิรูปประเทศไทยตรงประเด็นและมีประสิทธิภาพ
สิงคโปร์ถูกอัปเปหิจากสหพันธรัฐมลายูปี 1965 นายลีกวนยูอยู่ในสภาพเศร้าสร้อยเมื่อมาคิดถึงสถานภาพของประเทศเล็ก ๆ ซึ่งมีเกาะใหญ่อยู่เพียงเกาะเดียว กับเกาะเล็ก ๆ อีกหลายเกาะ ไม่มีทรัพยากร แม้กระทั่งน้ำ โดยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำจากมาเลเซีย อย่างไรก็ดี นายลีกวนยูได้ใช้ความฉลาดในการวางแผนยุทธศาสตร์ไปสู่ความสำเร็จ ยุทธศาสตร์ของนายลีกวนยูมี 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นยุทธศาสตร์ตั้งแต่ทศวรรษ 1960-1980 สาระสำคัญของยุทธศาสตร์นี้คือ
1. การพัฒนาบุคลากรหรือทรัพยากรมนุษย์ทั้งในด้านความสามารถในการมองอนาคต (Visionary) การบริหารการจัดการ และมีจริยธรรมโดยเน้นการต่อต้านคอรัปชั่น โดยตัวเขาเองจะเป็นตัวอย่างให้ประชาชน แนวคิดของเขาคือ การพัฒนาคุณภาพของผู้นำทางการเมืองและข้าราชการให้เก่งและดี เก่งก็คือมองเห็นอนาคตและมีประสิทธิภาพ ดีก็คือ เกลียดชังคอรัปชั่น และปรับปรุงคุณภาพประชาชนในด้านการศึกษาให้มุ่งไปในแนวทางดังกล่าว
2. มีการวางทิศทางล่วงหน้า 2 ทศวรรษ ว่าประเทศสิงคโปร์จะต้องเป็นประเทศอุตสาหกรรม มุ่งมั่นพัฒนาสินค้ามูลค่าเพิ่ม โดยมีการส่งเสริม Infrastructure และส่งเสริมให้สิงคโปร์เป็นแหล่งศูนย์กลางทางการเงิน ส่งเสริมให้สิงโปร์เป็นแหล่งศูนย์กลางท่าเรือ และมีการปรับระบบการศึกษาให้สอดคล้องกับทิศทางเศรษฐกิจ เน้นภาษาอังกฤษ เน้นคำนวณ เน้นวิทยาศาสตร์ และเน้นการบริหารการจัดการ ด้วยการปรับปรุงมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ตลอดจนโรงเรียนต่าง ๆ มีการเชิญครูจากต่างประเทศเพื่อมาถ่ายทอดความรู้
3. มีการพัฒนาขนส่งมวลชน น้ำ ดิน ตลอดจนการพัฒนาภูมิทัศน์และเอาจริงเอาจังเรื่องระเบียบ จะเห็นได้ว่า คนจีนไม่กล้าถ่มน้ำลายลงพื้น ร้านค้าข้างถนนในสิงคโปร์ก็หายไป
4. รัฐจะต้องมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ กระทรวง ทบวง กรม รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ ถ้าไม่มีประสิทธิภาพก็โดนไล่ออก ถ้าโกงก็ต้องติดคุก ทำงานเช้าชามเย็นชามก็โดนไล่ออก ส่งผลให้ราชการและรัฐวิสาหกิจมีประสิทธิภาพสูงมาก รัฐวิสาหกิจมีกำไรยกเว้นรัฐวิสาหกิจประเภทส่งเสริมสวัสดิการสังคม
5. ในระยะต้นมีการเก็บภาษีสำหรับคนสิงคโปร์สูง แต่เก็บภาษีนิติบุคคลต่ำเพียง 17% เพื่อจูงใจให้บริษัทข้ามชาติมาตั้งบริษัทที่สิงคโปร์ ภาษีที่เก็บได้บวกับรัฐวิสาหกิจบางส่วนถูกนำมาใช้พัฒนาที่อยู่อาศัยให้คนสิงคโปร์ คนสิงคโปร์ 75% ต่างมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง อีกส่วนก็มาตั้งกองทุน เช่น เทมาเส็ก เพื่อเอากำไรจากการลงทุนในต่างประเทศมาพัฒนาประเทศ
ยุทธศาสตร์แผนที่ 2 ดำเนินการในทศวรรษ 1990 โดยมีเป้าหมายหลักคือ พัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นประเทศพัฒนาเต็มที่ ให้สิงคโปร์กลายเป็นประเทศเศรษฐกิจบนฐานความรู้ (Knowledge based Economy) โดยมีสาระสำคัญดังนี้คือ
1. พัฒนาการศึกษาให้เป็นระดับโลกโดยเชิญชวนมหาวิทยาลัยชั้นนำ เช่น มหาวิทยาลัยชิคาโก มหาวิทยาลัยอินซีด (Insead) จากฝรั่งเศส และอื่น ๆ มาจัดตั้งที่สิงคโปร์และพัฒนามหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ให้เป็นระดับชั้นนำของโลก นอกจากนี้ยังพัฒนาคุณภาพอาจารย์ระดับมหาวิทยาลัยโลกและส่งเสริมให้มีการนำคณาจารย์ต่างประเทศระดับโลกมาสอนที่สิงคโปร์
2. พัฒนาสิงคโปร์ให้เป็นศูนย์กลางโลกในด้านการเงิน
3. พัฒนา IT ในระดับสูงโดยร่วมมือกับบังกะลอร์ของอินเดีย และซิลิคอนแวลลี่ร์ของอเมริกาเพื่อผลิตสินค้าประเภท Hi-end
4.ส่งเสริมการร่วมกลุ่มกับประเทศต่าง ๆ เช่น AEC RCEP TPP และ FEALAC มีการตั้งสำนักงานใหญ่ของ APEC ที่สิงคโปร์ นอกจากนั้นยังทำข้อตกลงทวิภาคีกับประเทศสำคัญทั่วโลก เพราะเท่ากับสิงคโปร์ได้ประเทศใหม่โดยไม่ต้องใช้กำลังทหาร
5. เมื่อมีการรวมกลุ่มก็มีนโยบายเน้นการลงทุนต่างประเทศ (Go regional) จึงไม่น่าแลกใจว่า ประเทศไทยจึงมีร้านอาหาร ร้านขนมปัง ร้านป๊อบคอร์นของสิงคโปร์เต็มไปหมด นอกจากนั้น สิงคโปร์ยังร่วมมือกับจีนด้านโรงกลั่นน้ำมัน ร่วมมือกับเวียดนามด้าน Infrastructure ร่วมมือกับกัมพูชาด้านท่าเรือและสนามบิน
ความสำเร็จของสิงคโปร์จะเห็นได้ชัดว่ามีองค์ประกอบที่เกิดจากคุณภาพของบุคลากรที่สามารถมองเห็นอนาคตได้ไกลๆ มีคุณธรรม และมีแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวที่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก
สรุปได้ว่า การปฏิรูปประเทศไทย แผนยุทธศาสตร์จะต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในอีก 20-30 ปี ข้างหน้า และมีบุคลากรที่มีวิสัยทัศน์เพียงพอที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว การปฏิรูปประเทศไทยแม้จะพยายามแต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะประสบความสำเร็จ เพราะเกี่ยวข้องกับระบบคิดของผู้ร่างการปฏิรูปและเกี่ยวข้องกับนักการเมืองที่จะต้องมีวิสัยทัศน์ดังกล่าวด้วย และระบบการเมืองต้องมีความต่อเนื่อง

ไม่มีความคิดเห็น: