PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

ไทยจะไปได้ไกลขนาดไหนกับรัสเซีย?

ไทยจะไปได้ไกลขนาดไหนกับรัสเซีย?

tnews_1428659046_9044รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
ในช่วงนี้มีข่าวเรื่องการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย โดยเป็นปรากฎการณ์ครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีของรัสเซียมาเยือนไทยในรอบ 25 ปี และคงจะต่อเนื่องด้วยนายกรัฐมนตรีของไทยจะเดินทางไปรัสเซียในอนาคต
ในการเยือนครั้งนี้ก็มีการลงนามข้อตกลงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 10 ฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการขยายการลงทุน การค้า ความร่วมมือทางด้านพลังงาน ด้านวัฒนธรรม และอื่น ๆ การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยและรัสเซียถือว่ามีนัยยะทางการเมืองระหว่างประเทศอยู่ไม่น้อย เพราะเกิดขึ้นในช่วงที่ทั้งไทยและรัสเซียต้องเผชิญกับการบีบคั้นของอเมริกาและสหภาพยุโรป
ซึ่งในส่วนของไทยนั้น การบีบครั้นดังกล่าวมีลักษณะเป็นคำพูดมากกว่าการกระทำ แต่ในแง่การเมืองก็ย่อมมีผลกระทบต่อคนในประเทศซึ่งก็ยังมีการแยกขั้วอยู่อย่างเห็นได้ชัด การตำหนิฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็มีผลเท่ากับการให้กำลังใจหรือเสริมพลังให้กับแรงต่อต้านของอีกฝ่ายหนึ่ง การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียในครั้งนี้จึงมิใช่เป็นเหตุการณ์ตามปกติของการขยายความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทั้งสองฝ่าย
การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียในครั้งนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจและการเมืองโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ของโลก ซึ่งสามารถวิเคราะห์ได้ดังต่อไปนี้
1. จากการยึดไครเมียร์จากยูเครนของรัสเซียภายใต้ปูตินก็ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้ของNATO และสหภาพยุโรป ในลักษณะของการ sanction ทางเศรษฐกิจ ซึ่งก็มีส่วนทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียลดลง และถูกผลกระทบจากราคาน้ำมันที่ลดลงกว่า 60% ซึ่งรัสเซียมีรายได้จากการส่งออกพลังงานเป็นสัดส่วน 60% ของการส่งออกทั้งหมด
ผลกระทบทั้งสองประการดังกล่าวจะทำให้รัสเซียในปีนี้และปีหน้าจะมีอัตราการเติบโตติดลบ ในบริบทดังกล่าว รัสเซียจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจด้วยการกระจายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้มากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึง ความจำเป็นในการขยายความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับจีน อินเดีย ตลอดจนอาเซียนและประเทศอื่น ๆ ไทยจึงเป็นเป้าหมายส่วนหนึ่งของแนวนโยบายดังกล่าวนี้
2. ในแง่ทางการเมืองนั้น รัสเซียซึ่งถือว่าเป็นมหาอำนาจทางปรมาณูและเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีศักยภาพในการทำลายล้างอเมริกา แม้สหภาพโซเวียตจะล่มสลายไปแล้ว แต่รัสเซียในยุคปูตินก็มีแนวคิดที่จะปรับแนวนโยบายทางเศรษฐกิจ การเมืองตลอดจนด้านการทหารให้สอดคล้องกับสถานภาพของตนเอง
นอกจากนั้น รัสเซียเองกำลังถูกปิดล้อมจาก NATO และพันธมิตร เพราะหลายประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตก็กลายเป็นสมาชิกของ NATO และสหภาพยุโรป เช่น ลัตเวีย ลิทัวเนีย และเอสโตเนีย ทั้งนี้ ปูตินยังมองว่า อเมริกาและสหภาพยุโรปพยายามที่จะดึงประเทศอื่น ๆ เช่น จอร์เจีย ยูเครน ไปเป็นส่วนหนึ่งของพันธมิตรทั้งทางเศรษฐกิจและทางการเมือง และนี้จึงเป็นเหตุผลที่รัสเซียยึดไครเมียร์และขยายอิทธิพลมาสู่จอร์เจียและยูเครนตะวันออก
นอกจากนั้น รัสเซียเองเพื่อเป็นการถ่วงดุลอำนาจอเมริกาจึงสร้างพันธมิตรกับประเทศอื่น ๆ ในกรอบทางการเมืองก็คือ การก่อตั้ง shanghai organization ซึ่งมีจีนเป็นสมาชิก ในทางเศรษฐกิจก็มีการรวมกลุ่ม BRICS และมีการจัดตั้งประชาคมยูเรเซีย ในบริบทดังกล่าว รัสเซียจึงมีความจำเป็นในการกระชับความสัมพันธ์กับภูมิภาคต่าง ๆ เช่น กับอิหร่าน หรือแม้กระทั่งกับกรีกและไซปรัส ตลอดจนอาเซียนเพื่อเป็นการถ่วงดุลอเมริกา
3. ในส่วนของไทยนั้น หลังจากที่มีการรัฐประหาร อเมริกาและสหภาพยุโรปก็ได้มีท่าทีบีบบังคับรัฐบาลไทยโดยหาว่าไม่เป็นประชาธิปไตย มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน การบีบบังคับดังกล่าว แม้จะเป็นเพียงท่าที ทั้ง ๆ ที่ในแง่รูปธรรมแล้วยังไม่ได้ดำเนินการมากมายนั้น ยกเว้นการงดการซ้อมรบคอบร้าโกลด์เมื่อปีที่แล้ว หรือการไม่ยอมรับนายกรัฐมนตรีโดยมีการห้ามเข้าประเทศ เป็นต้น สหภาพยุโรปก็มีท่าทีเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม แม้ท่าทีดังกล่าวยังไม่ได้ออกมาในรูปของการบีบบังคับทางเศรษฐกิจ แต่สำหรับรัฐบาลไทยและประชาชนไทยจำนวนมากถือว่าเป็นการก้าวก่ายกิจการภายในของไทยและเป็นการส่งเสริมฝ่ายต่อต้านทางอ้อม นอกจากนั้น แนวนโยบายของอเมริกาในเรื่องประชาธิปไตยก็ถือว่ามี 2 มาตรฐาน สถานการณ์อย่างเดียวกันที่เกิดขึ้นกับไทยก็เกิดกับอียิปต์และยูเครน
แต่อเมริกากลับไปสนับสนุนรัฐบาลที่ก่อการรัฐประหารล้มรัฐบาลจากการเลือกตั้ง แต่ในกรณีของไทยกลับใช้มาตรฐานอีกประการหนึ่ง นอกจากนั้น การรัฐประหารของไทยในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นจากความจำเป็นในการป้องกันสงครามกลางเมือง และรัฐบาลชุดนี้ก็ได้รับการยอมรับจากประชาชนจำนวนมาก ดังจะเห็นได้จากการสุ่มตัวอย่างถามความคิดเห็นที่ให้คะแนนรัฐบาลถึง 70-80% พูดง่าย ๆ คือ ประชาชนจำนวนมากต้องการเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อปูทางสู่การสร้างประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ดีกว่าที่จะมีรัฐบาลที่โกงการเลือกตั้งหรือซื้อเสียงและเมื่อขึ้นมาแล้วก็เป็นเผด็จการเสียงข้างมาก
ความจริงแล้วอเมริกาและสหภาพยุโรปเขาก็รู้แต่แกล้งโง่ เพราะเขากำลังดำเนินแนวนโยบายทางต่างประเทศที่เอื้ออำนวยต่อผลประโยชน์แห่งชาติของเขา โดยหาเหตุผลที่มองจากมุมตัวเองเป็นตัวอธิบาย แต่ถ้าดูให้ลึก เขาก็ดำเนินนโยบายสองหน้า หน้าหนึ่งสนับสนุนฝ่ายต่อต้านโดยอ้างเรื่องการเลือกตั้ง เผื่อในอนาคตถ้าฝ่ายนี้ได้เสียงข้างมาก อเมริกาก็จะได้ประโยชน์ที่มากกว่ารัฐบาลชุดนี้
กล่าวคือ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแต่คอรัปชั่นนั้นจะเป็นเหยื่อของการดำเนินนโยบายต่างประเทศได้ง่ายเพราะผู้นำเหล่านี้สามารถแลกผลประโยชน์ต่างตอบแทนส่วนตัวบนหน้ากากของการเลือกตั้ง แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้ารัฐบาลชุดนี้ยังอยู่ต่อและเมื่อมีการเลือกตั้งจากฝ่ายที่ต้องการประชาธิไตยที่แท้จริง อเมริกาก็ยังไม่มีอะไรเสียเพราะในความเป็นจริง อเมริกาบีบคั้นด้วยคำพูดมากกว่าการกระทำ แต่แน่นอน คำพูดนี้ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งเกิดความไม่พอใจต่ออเมริกาและสหภาพยุโรป
จากแนวนโยบายและความจำเป็นของทั้งไทยและรัสเซียทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองจึงนำไปสู่การพยายามกระชับความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งของทั้งสองประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นนั้น แม้ไม่มีแรงกดดัน แต่ทั้งไทยและรัสเซียก็ต้องขยายความสัมพันธ์ไปสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ในกรอบของโลกาภิวัตน์อยู่แล้ว และขณะที่โลกในทางภูมิรัฐศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป ประเทศเกิดใหม่เกิดขึ้นมากมาย จีน อินเดียและอาเซียนต่างก็มีบทบาททางการเมืองและเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น
จึงถือว่า การกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียจึงเป็นแนวโน้มที่ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม การกระชับความสัมพันธ์ระหว่าไทยกับรัสเซียในครั้งนี้ก็ถือว่ามีนัยยะทางการเมือง โดยไทยต้องการแสดงออกทางสัญลักษณ์ว่า ไทยก็ยังมีทางออกด้วยการพึ่งพาประเทศอื่น ๆ  นอกจากนั้นยังเป็นการแสดงออกถึงท่าทีต่ออเมริกาในทำนองว่า “คุณยิ่งบีบมาก คุณก็ยิ่งเสียพันธมิตรมากขึ้น” ไทยเองก็รู้ดีว่า อเมริกากำลังถ่วงดุลอำนาจจากจีน ที่เรียกว่า Pivot Asia ดังนั้นการเป็นพันธมิตรกับไทยอย่างแนบแน่นจึงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ
มองจากแนวนโยบายของอเมริกาก็มองไทยว่า “How far you can go” ประเทศไทยจะไปได้ไกลขนาดไหนกับรัสเซีย ในแง่การค้าและการลงทุนรัสเซียถือว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพไม่มากนัก ยกเว้นเรื่องการท่องเที่ยว นอกจากนั้นในแง่การเมืองและการทหาร ประเทศไทยก็ยังผูกพันกับอเมริกาภายใต้กรอบทางการทหารตั้งแต่ยุคสงครามเย็นเช่นเดียวกับหลายประเทศในอาเซียน อย่างไรก็ตาม อเมริกาก็ต้องไม่ underestimate หรือประเมินท่าทีไทยต่ำเกินไป เพราะหลายครั้งที่อเมริกาดำเนินนโยบายผิดพลาดไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อิรัก ซีเรีย และยูเครน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียแม้จะมีเนื้อหาที่เป็นรูปธรรมของความเชื่อมโยงมากขึ้นก็ตามที แต่สิ่งสำคัญตอนนี้คือ การแสดงออกทางสัญลักษณ์ให้อเมริกาได้รับรู้มากกว่า

ไม่มีความคิดเห็น: