PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2558

วิกฤตเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะรุนแรงขึ้น

วิกฤตเศรษฐกิจไทยที่นับวันจะรุนแรงขึ้น

8810
รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์
ในช่วงเดือนมกราคม การส่งออกไทยปรากฏว่า ติดลบ -3.4% ซึ่งทำให้การคาดการณ์ของกระทรวงพาณิชย์ที่ยังคงวางเป้าหมายไว้ที่ 4%  อาจจะไม่เป็นไปตามที่ตั้งไว้ และถ้าดูจากหนังสือพิมพ์ เราจะเห็นได้ว่ามีการพาดหัวข่าวในด้านเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวช้า ตามมาด้วยราคาสินค้าเกษตรซึมยาว 3 ปี ผนวกกับราคาหุ้นมีการลดลงติดต่อกันหลายวัน ซึ่งถ้าจะวิเคราะห์จากข้อมูลดังกล่าวก็คงจะเห็นว่า แม้เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยกำลังเจอปัญหาวิกฤตและหลายคนก็มีความรู้สึกเริ่มตั้งข้อสงสัยว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้จะฟื้นขึ้นตามที่หลายสำนักพยากรณ์ไว้ตั้งแต่ระดับ 3 – 4.5% ของ GDP หรือไม่ เมื่อเทียบกับปีที่แล้วก็มีอัตราการเติบโตเพียง 0.7%
ความจริงเศรษฐกิจโลกในขณะนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากสิ่งที่ IMF และ World Bank มีการคาดการณ์ไว้ กล่าวคือ เศรษฐกิจโลกในปีนี้ยังมีการขยายตัวสูงกว่าปีที่แล้วประมาณ 0.3% โดยในปีนี้เศรษฐกิจโลกโดยภาพรวมจะมีการขยายตัว 3.5% ซึ่งเทียบกับปีที่แล้วมีการขยายตัวเพียง 3.2% ทั้งนี้ทั้งนั้น 4 กลุ่มประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน ก็ยังไม่มีดัชนีบ่งชี้ว่ากำลังเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ที่กำหนดไว้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะขยายตัวได้ 3.6% สหภาพยุโรปจะขยายตัวได้ 1.3% ญี่ปุ่นจะขยายตัวได้ 0.6-0.7% และจีนจะขยายตัวได้ 6.8% ส่วนการที่ตลาดหุ้นในหลายประเทศไม่ว่าสหรัฐอเมริกาหรือฮ่องกงมีแนวโน้มลดลงก็เกิดจากราคาหุ้นขึ้นสูงไปจากการคาดการณ์ล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว ช่วงนี้จึงเป็นการปรับตัวลดลงชั่วคราว เช่นเดียวกันกับตลาดหุ้นไทยซึ่งก่อนหน้านี้ขึ้นไปถึง 1,600 จุด ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าหรือราคาตลาดหุ้นซึมซับผลประกอบการล่วงหน้าไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อข้อมูลทางเศรษฐกิจที่ปรากฏมาใน 2-3 วันนี้มีลักษณะในแง่ลบ นักลงทุนจึงเริ่มเกิดความหวั่นไหวและเทขายหุ้นซึ่งในทางเทคนิคเรียกสถานการณ์เช่นนี้ว่า “Overbought” นั่นเอง
ความจริงนั้น เศรษฐกิจยังมีการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว เพียงแต่เป็นการขยายตัวที่ไม่เข้มแข็ง โดยเฉพาะสหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน แต่โดยภาพรวมก็ยังถือเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา ผลพวงดังกล่าวก็น่าจะทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้ดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา กล่าวคือ ในปีที่ผ่านมาส่งออกติดลบ -0.3% และเป็นการติดลบที่ต่อเนื่องกัน 2 ปี และแม้ว่าในเดือนมกราคม ส่งออกไทยจะติดลบ -3.4% ผู้เขียนยังเชื่อว่า ถ้าพิจารณาทั้งปี การส่งออกน่าจะเป็นบวก แต่อาจจะไม่ถึง 4% ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ปีนี้ความหวังของเศรษฐกิจไทยจะฟื้นได้ดีหรือไม่ การส่งออกเป็นแค่ตัวรอง ตัวที่จะกำหนดชะตากรรมจะมาจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่ นั่นก็คือ การเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งมีตัวเลขกว่า 3 ล้านล้านบาท ที่มาจากงบประมาณปี 57 ที่ค้างอยู่บวกกับปี 2558 ซึ่งมียอด 2.57 ล้านล้านบาทและงบประมาณปี 2559 อีก 25% (ระหว่างตุลาคม – ธันวาคม ในปลายปีนี้) จากงบซึ่งคาดว่าจะสูงถึง 2.7 ล้านล้านบาท การใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐจะส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อการใช้จ่ายและการลงทุนของภาคเอกชน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่รัฐบาลไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณตามที่กำหนดไว้ โดยใน 5 เดือนของงบประมาณปี 2558 นี้ รัฐบาลเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมาย กล่าวคือ เบิกจ่ายได้ 1.1 ล้านล้านบาท หรือ 42.5% จากงบประมาณ 2.57 ล้านล้านบาท และถ้าแยกเป็นรายจ่ายประจำ ปรากฏว่าเบิกจ่ายได้ 47.21% จากเป้าหมาย 60% ในขณะที่รายจ่ายการลงทุนเบิกจ่ายได้เพียง 18.18%  จากเป้าหมาย 30% ดังนั้น ถ้าจะให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ 3% รัฐบาลจะต้องเร่งการเบิกจ่ายให้ได้ตามเป้าหมาย เพราะถ้าสามารถเบิกจ่ายตามเป้าหมายได้ก็จะสามารถเพิ่มและส่งเสริมเป็นพลวัตไปสู่การลงทุนและการบริโภคของภาคเอกชน มิฉะนั้น เศรษฐกิจไทยจะไม่ขยายตัวตามเป้า
การที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราที่ช้าและส่งออกของไทยขยายตัวช้าและแถมติดลบ 2 ปี ก็สืบเนื่องจากเหตุผลที่สำคัญคือ ประเทศมีการลงนามจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียนในปี 1992 ซึ่งหมายถึง สินค้าเข้าออกประเทศอาเซียนเหลือ 0 ซึ่งก็เปรียบเหมือนกับแต่ละประเทศในอาเซียนเป็นเพียง 1 จังหวัดเท่านั้น และมีการพัฒนาเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2003 ตามปฏิญญาบาหลี แต่ปรากฏว่า รัฐบาลไทยเพิ่งตีฆ้องเรื่อง AEC ในปี 2010 ซึ่งช้ากว่าประเทศอื่น ๆ ในขณะที่มาเลเซียและสิงคโปร์ได้เตรียมตัวเข้าสู่ AFTA ตั้งแต่ปี 1990 ด้วยการปรับสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่ม ส่งเสริมการย้ายฐานเพื่อใช้แรงงานใน CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) รวมทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย มีการจัดโซนนิ่งสินค้าเกษตร พัฒนา Infrastructure มีการส่งเสริม IT ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาเพื่อรองรับทิศทางดังกล่าว ปรากฏว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ไทยเปลี่ยนแปลงน้อยมาก เอกชนยังผลิตสินค้าที่ยังคงเน้นใช้แรงงานและมีมูลค่าเพิ่มต่ำ ดังจะเห็นได้ว่า สินค้าเราไม่สามารถแข่งกับ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) รวมทั้งฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียได้ทั้งในเอเชียและโลก นอกจากนั้นใน 20 ปีที่ผ่านมาก็มีประเทศเกิดใหม่ที่ผลิตสินค้าราคาถูกเป็นคู่แข่งกับประเทศไทย ภาคการเกษตรของไทยก็ยังไม่ได้พัฒนาจึงอ่อนไหวต่อสภาพดินฟ้าอากาศและเศรษฐกิจโลก ไม่ว่าจะเป็นข้าว หรือยางพารา เป็นต้น ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องยอมรับว่าเป็นความผิดพลาดและความล้าหลังของนักการเมืองไทยที่ปรับตัวไม่ทันกับโลก ภาคเอกชนจึงกลายเป็นเหยื่อ (victim) ในการแข่งขัน
โดยสรุป สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นเพียงภาพฉายว่า เศรษฐกิจไทยกำลังสะสมปัญหา และนับวันจะรุนแรงขึ้น ถ้าหากยังไม่สามารถปรับขีดความสามารถในการแข่งขันให้ทันโลกแห่งความเปลี่ยนแปลงได้

ไม่มีความคิดเห็น: