PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2559

เปรียบเทียบความคึกคักการทำประชามติ

วันอาทิตย์นี้ถึงกำหนดไปลง #ประชามติ กันแล้ว บรรยากาศก่อนการลงประชามติครั้งนี้บางคนก็บอกว่าเงียบเหงา บางคนก็บอกว่าแปลกประหลาด บางคนก็บอกว่ารณรงค์กันเยอะเกินไปทำให้วุ่นวาย 

นี่เป็นประชามติครั้งที่สองของประเทศไทย ครั้งแรกก็ทำกันในปี 2550 ถ้าเปรียบเทียบกับครั้งที่แล้ว จะเห็นว่าตอนปี 2550 มีกิจกรรมหลากหลายทั้งการแถงข่าว ขบวนปั่นจักรยาน ฝ่ายไม่รับร่างทำสติ๊กเกอร์และเสื้อสีแดง ขึ้นมาภายใต้คำขวัญ "We Vote No" และ "ล้มรัฐธรรมนูญ=ล้มรัฐประหาร" ฝ่ายที่รับร่างรณรงค์โดยใช้ "ไฟเขียว" เป็นสัญลักษณ์ มีการโฆษณาตามหน้าหนังสือพิมพ์และวิทยุโทรทัศน์มีอย่างเต็มที่ ครม.กำหนดให้วันหลังลงคะแนนเป็นวันหยุดราชการ มีการประกาศลดราคาค่าโดยสารรถไฟ รถเมล์ รถ บ.ข.ส. เรือโดยสาร รถไฟฟ้า จะเห็นได้ว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่มีให้เห็นในปี 2559 [อ่านเปรียบเทียบประชามติขอ'ไทยทั้งสองครั้งที่ https://ilaw.or.th/node/4170]

#อียิปต์ ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ กันสามครั้ง เมื่อปี 2011, 2012 และ 2014 ท่ามกลางการรัฐประหาร การชุมนุมประท้วง และความรุนแรง การทำประชามติครั้งหลังสุดภายใต้รัฐบาลทหาร มีการปราบปรามผู้คัดค้านจำนวนมาก พรรคการเมืองใหญ่ถูกประกาศว่าเป็นผู้ก่อการร้ายและถูกกวาดล้าง ก่อนวันลงคะแนนนักกิจกรรม 7 คนที่ไปติดโปสเตอร์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญถูกจับ หลายฝ่ายจึงประกาศบอยคอตไม่เข้าร่วมกับการจัดทำประชามติ และไม่ไปลงคะแนน แม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบมาด้วยเสียง 98% แต่ก็ไม่ใช่ทางออกของปัญหาการเมืองในอียิปต์ หลังใช้รัฐธรรมนูญฝ่ายทหารชนะการเลือกตั้งและปกครองประเทศเรื่อยมา ท่ามกลางการละเมิดสิทธิมนุษยชนและความหวาดกลัวของผู้คน [อ่านเรื่องของอียิปต์ต่อที่ https://ilaw.or.th/node/4188]

#พม่า ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2008 ซึ่งเป็นร่างที่ทำโดยรัฐบาลทหาร มีหลายส่วนที่ให้ทหารสืบทอดอำนาจต่อในสภาสูง โดยกระบวนการประชามติทหารจัดทำขึ้นเพื่อเป็นโรดแมปไปสู่ประชาธิปไตย (คุ้นๆ นะ) ระหว่างกระบวนการประชามติ รัฐบาทหารคุมเข้มการรายงานข่าว ใช้สถานีโทรทัศน์ของรัฐ และหนังสือพิมพ์รณรงค์ให้คนไปโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ มีการติดป้ายตามสถานที่ราชการต่างๆ ให้คนโหวตรับ มีการโกงทุกวิถีทาง และจับกุมนักกิจกรรมอย่างน้อย 48 คนที่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ จนผลสุดท้ายคนโหวตรับร่าง 93% คนพม่าจึงต้องอยู่กับรัฐธรรมนูญที่ปิดทางไม่ให้ออง ซาน ซูจี ขึ้นเป็นประธานาธิบดี มาจนปัจจุบัน [อ่านเรื่องของพม่าต่อที่ https://ilaw.or.th/node/4220]

การทำประชามติในยุคของเผด็จการทหาร เพื่อหาความชอบธรรมให้ตัวเองอยู่ในอำนาจต่อได้ เกิดขึ้นอีกหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลก เช่น การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของ #รวันดา เมื่อปี 2015 ขยายวาระประธานาธิบดีให้นายพลพอล คากาเมะ ปกครองประเทศต่อ การลงประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญของ #ศรีลังกา ในปี 1982 เพื่อต่ออายุของรัฐสภาของ เจ.อาร์.จายาวาร์ดินี่ ออกไปอีก 6 ปีโดยไม่ต้องเลือกตั้งใหม่ หรือ การลงประชามติของ #บังกลาเทศ ในปี 1977 รับรองพล.ตรี ซิเออร์ รามัน ให้อยู่ในอำนาจต่อ [อ่านเรื่องของศรีลังกาและบังกลาเทศต่อที่ https://ilaw.or.th/node/4181]

การทำประชามติทั้งของศรีลังกา บังกลาเทศ อียิปต์ และพม่า จัดทำในบรรยากาศที่ไม่เปิดกว้าง มีการใช้กฎหมายพิเศษ เช่น กฎอัยการศึก ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การรณรงค์ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเสรี ส่วนใหญ่ผลการทำประชามติออกมาเป็น YES แบบถล่มทลายมากกว่า 90% แต่เมื่อการทำประชามติเป็นเพียงแบบพิธีทางเมืองที่ไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนที่แท้จริง ผลทางการเมืองหลังจากนั้นก็ไม่ได้นำประเทศไปสู่ทางออกที่ดีขึ้นได้ 

____________________________________

ลองมาดูตัวอย่างประชามติแบบอื่นกันบ้าง.....

ในหลายประเทศ ประชามติ ไม่ได้มีไว้เพื่อรับรองร่างรัฐธรรมนูญ หรือต่ออายุของเผด็จการเท่านั้น

ใน #เคนย่า มีการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2010 หลังจากที่ประเทศเกิดความวุ่นวาย เกิดสงครามกลางเมือง ผู้คนต่างเผ่าฆ่าฟันกันล้มตายจำนวนมาก จนUN ต้องเข้าแทรกแซง การร่างรัฐธรรมนูญใหม่และลงประชามติ ในปี 2010 จึงเป็นความหวังของชาวเคนย่าว่าจะหาทางออกของวิกฤติความรุนแรงในประเทศ ร่างรัฐธรรมนูญถูกจัดทำโดยการเอาฝ่ายที่ทะเลากันทุกฝ่ายมาช่วยกันร่าง ไม่ใช่เอาคนที่อ้างว่า "เป็นกลาง" มาทำโดยลำพัง ระหว่างการลงประชามติเปิดให้มีการรณรงค์โดยเสรี ฝ่ายรับใช้สีเขียวในการรณรงค์ ฝ่ายไม่รับใช้สีแดงในการรณรงค์ ผลลัพธ์ที่ได้คือโหวต YES กัน 68% รัฐธรรมนูญจึงถูกบังคับใช้มาต่อเนื่องโดยทุกฝ่ายยอมรับ แม้แต่ฝ่ายแพ้ก็ยอมรับ และประเทศไม่กลับไปสู่ภาวะสงครามกลางเมืองอีก [อ่านเรื่องของเคนย่า ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4180]


หัวข้อการทำประชามติ ไม่ได้มีแค่เพื่อเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น

ใน สหราชอาณาจักร (UK) การออกกฎหมายเป็นอำนาจของรัฐสภาซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว การทำประชามติจะเกิดขึ้นในประเด็นที่นอกเหนือจากอำนาจโดยตรงของรัฐสภาเท่านั้น เช่น ประชามติเอกราชของสก๊อตแลนด์ ในปี 2013 หรือประชามติออกจากEU ในปี 2016 ส่วนที่สวิตเซอร์แลนด์การทำประชามติจะทำได้กว้างขวาง ทั้งการคัดค้านกฎหมาย การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และทำกันเป็นประจำปีละ 4 ครั้ง หัวข้อการทำประชามติเสนอโดยประชาชน ทั้งสหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์ไม่มีข้อจำกัดการรณรงค์ก่อนวันลงคะแนน ตรงกันข้ามรัฐยังสนับสนุนส่งเสริมให้รณรงค์ได้เต็มที่อีกด้วย

ที่ #สวิตเซอร์แลนด์ รัฐบาลจะตีพิมพ์คู่มือประชามติส่งให้ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนทางไปรษณีย์ก่อนล่วงหน้า 3-4 สัปดาห์ ในคู่มือการทำประชามติจะประกอบด้วยเนื้อหาของประเด็นที่จะลงประชามติในครั้งนั้นๆ ข้อคิดเห็น และข้อแนะนำต่อประเด็นดังกล่าว ประชาชนที่เสนอหัวข้อทำประชามติจะเขียนข้อคิดเห็นของตนเองลงในสมุดคู่มือได้ โดยรัฐบาลไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อความนั้นได้ ส่วนการรณรงค์ทำกิจกรรมบนท้องถนน การเดินขบวนด้วยสีสันต่างๆ ก็เกิดขึ้นเป็นประจำทุกครั้งก่อนการลงประชามติในประเด็นต่างๆ

สำหรับ #สหราชอาณาจักร กกต. มีหน้าที่รับจดทะเบียนภาคประชาชนที่ต้องการจะทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ทั้งฝ่าย YES และ NO ช่วงเวลาประมาณ 3 เดือนก่อนวันประชามติ กกต.จะเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายและการรับเงินบริจาคของ ‘แคมเปญที่จดทะเบียน’ องค์กรที่ใช้เงินรณรงค์มากกว่า 10,000 ปอนด์จะต้องจดทะเบียน แต่ทำกิจกรรมขนาดเล็กกว่านั้น ก็สามารถจัดกิจกรรมต่างๆ ได้เลยเต็มที่ 

องค์กรที่จดทะเบียนแล้ว สามารถลงสมัครเพื่อเป็น ผู้นำการรณรงค์ได้ องค์กรที่ กกต. คัดเลือกให้เป็นผู้นำ กกต.จะเพิ่มเพดานการใช้จ่ายเงินให้เป็น 1,500,000 ปอนด์, ได้สิทธิส่งจดหมายรณรงค์ฟรี, สามารถใช้ห้องหรือพื้นที่ราชการบางแห่งได้ฟรี และได้สิทธิใช้พื้นที่โฆษณาทางโทรทัศน์ ในการทำประชามติ #Brexit กกต.ยังมีเงินกินเปล่า 600,000 ปอนด์ ให้เอาไปใช้รณรงค์อีกด้วย

บทเรียนจากการเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายรณรงค์อย่างเต็มที่ เห็นได้ชัดจากกรณีประชามติ Brexit เมื่อผลออกมาพลิกโผ คือ ประชาชนส่วนใหญ่ลงคะแนนให้สหาราชอาณาจักรออกจากEU แต่ท้ายที่สุด ทุกฝ่ายคงรู้ดีว่า เมื่อผลออกมาแล้ว จะพอใจหรือไม่ก็ต้องยอมรับ ซึ่งเป็นเรื่องปกติของระบอบประชาธิปไตยที่ใจความสำคัญคือ "กระบวนการ" ส่วนความผิดหวังและบทเรียนจากข้อผิดพลาดคือส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของประชาชนนั่นเอง
 

[อ่านเรื่อง การทำประชามติเอกราชสก็อตแลนด์ ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4178]
[อ่านเรื่อง การทำประชามติBrexit ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4183]
[อ่านเรื่องของสวิตเซอร์แลนด์ ต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/4225]

อ่านบทเรียนประชามติต่างประเทศ ที่ https://ilaw.or.th/taxonomy/term/1988
ที่มาภาพ http://adst.org/2014/09/scotland-a-land-apart/