PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

วิษณุ เครืองาม :แม่น้ำ5สาย

ดร.วิษณุ เครืองาม กับแม่น้ำ5สาย

รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ นี้เป็นเหมือนกับต้นสายแม่น้ำอีก 5 สายที่จะหลั่งไหลพรั่งพรูนับจากนี้

สายที่ 1 คือ การเกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. สมาชิกไม่มีการสมัคร คสช. จะคัดเลือกโดยใช้ข้อมูลจากฐานข้อมูลที่จัดทำไว้แล้ว ให้ครอบคลุม สาขา อาชีพ ภูมิภาค เพศ วัย คุณสมบัติ คือ อายุ 40 ปีขึ้นไป เป็นผู้ไม่มีตำแหน่งในพรรคการเมือง เช่น หัวหน้าพรรค (ไม่ห้ามการเป็นสมาชิกพรรค) มีอำนาจ 4 ประการ คือ ออกกฎหมาย ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี การควบคุมการทำงานของรัฐบาล โดยทำได้เพียงการตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี โดยไม่มีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจ ทำไดก้เพียง อภิปรายบทั่วไปโดยไม่ลงมติ ให้ความเห็นชอบบางเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่สภา เช่น แต่งตั้งบุคคลขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ

สายที่ 2 คณะรัฐมนตรี กำหนดเป็นครั้งแรกให้มีอำนาจเพิ่มขึ้นจากอำนาจบริหารราชการแผ่นดินอีก 2 อย่าง คือ อำนาจปฏิรูปในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเริ่มเอง หรือ มีการเสนอมาจากส่วนอื่นๆ และ อำนาจสร้างความสามัคคีปรองดองและความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้น

สายที่ 3 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไม่เกิน 250 คน สมาชิกมาจากการสรรหา จากจังหวัดต่างๆ 77 คน ส่วนอีก 173 คน มาจากทั่วประเทศ โดยกำหนดด้านต่าง 11 ด้าน (เช่น การเมือง การปกครองท้องถิ่น การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม การศึกษา เศรษฐกิจ สาธารณะสุขและสิ่งแวดล้อม พลังงาน สื่อสารมวลชน และด้านอื่นๆ) โดยมีองค์ต่างๆ เป็นผู้เสนอชื่อเข้ามา องค์กรละ 2 คน ให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาคัดเลือก ด้านละไม่เกิน 50 คน รวมแล้ว 11 ด้าน 550 คน และส่งรายชื่อไปคัดเลือกขั้นตอนสุดท้ายอีกครั้ง ทั้งนี้ ไม่มีข้อห้ามการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือ เป็นข้อราชการ เพราะถือว่า การปฏิรูปเป็นเรื่องของประเทศ ข้อจำกัดจึงน้อยที่สุด

อำนาจหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติ คือ (1) เสนอแนวทางปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ถ้าปฏิบัติได้เลยหน่วยงานเกี่ยวข้องจะรับไปดำเนินการ แต่หากต้องมีกฎหมายรองรับต้องยกร่างกฎหมายและนำเสนอ สนช. ต่อไป (2.) ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีคณะกรรมาธิการไปยกร่าง

สายที่ 4 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเวลาทำงานยกร่าง 120 วัน เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ คุณสมบัติต้องไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง 3 ปี ย้อนหลัง ห้ามบุคคลที่ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ และ ในอนาคตจะไม่สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปอีก 2 ปี เมื่อร่างเสร็จอาจมีการแปรญัตติได้ ก่อนจะส่งให้ สภาปฏิรูปให้ความเห็นชอบ การร่างต้องร่างภายใต้กรอบ โดยเฉพาะ กรอบตาม รธน. มาตรา 35

สายที่ 5 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีอำนาจหน้าที่

1. ให้ข้อเสนอแนะ ครม. ไปพิจารณาปฏิบัติ ซึ่ง ครม. มีสิทธิ์ ไม่ดำเนินการตามนั้นได้

2. เชิญ ครม. หารือร่วมกับคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ คสช. ไม่มีอำนาจปลด นายกรัฐมนตรี หรือ ครม. และไม่ได้เป็นพี่เลี้ยงหรือเปลือกหอย ไม่มีอำนาจบังคับ ครม. หรือ ข้าราชการใดๆ ทั้งสิ้น คสช. มีอยู่เพื่อแบ่งเบา ครม. ในเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย ในช่วงเวลา 1 ปี นี้ เพื่อไม่ต้องใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญอื่นใดอีก ซึ่งอำนาจนี้กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 44

นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้ายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ แม้จะมี 48 มาตรา ยาวกว่าฉบับชั่วคราวในอดีต แต่เพื่อให้ครอบคลุมเรื่องต่างๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อใดที่เห็นว่า รธน.ฉบับนี้ มีปัญหาที่ควรแก้ไขให้สมบูรณ์ ให้ ครม. และคสช. เสนอ สนช. แก้ไขได้

11เดือน รธน.เสร็จ


“บวรศักดิ์” ชี้ยกร่าง รธน.ต้องไม่ลอกต่างชาติ ใครโกงถูกตัดสิทธิ คาด 11 เดือนเสร็จ


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2557 12:28 น.



คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (แฟ้มภาพ)


“บวรศักดิ์” แจงอำนาจหน้าที่ 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว สนช.-สภาปฏิรูปฯ ไม่มีสิทธินั่งเป็น กมธ.ยกร่าง รธน. ส่วนการยกร่าง รธน.ต้องเหมาะกับสังคมไทย ห้ามลอกต่างชาติ วางกลไกป้องกันการคอร์รัปชัน ใครโดนคดีทุจริตหมดสิทธิเล่นการเมือง ห้ามใช้ประชานิยมที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศมาเป็นนโยบายหาเสียง ส่วนปฏิทินร่าง รธน.ใหม่คาดใช้เวลา 11 เดือน 
       
       นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย : การเข้าสู่อำนาจของสมาชิกรัฐสภา” ภายใต้โครงการสัมมนาสู่ทศวรรษที่เก้า ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตย ที่จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับกระทรวงกลาโหม ว่า ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ได้ออกแบบให้มี 5 องค์กร คือ 1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 220 คน มีหน้าที่สำคัญ คือ เลือกคนเป็นนายกฯ และร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2. คณะรัฐมนตรี มีจำนวน 36 คน โดยกำหนดอำนาจเพิ่มเติมนอกจากการบริหารราชการแผ่นดิน คือ การปฏิรูป และส่งเสริมความสามัคคี สมานฉันท์ของคนในชาติ โดยการกำหนดดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และไม่ให้การยึดอำนาจเสียเปล่า จึงทำให้หน้าที่ ครม.มีหน้าที่เสนอความเห็นต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และรับความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปปฏิบัติ
       
       3. สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือที่ตนขอใช้ตัวย่อว่า สปร. เพราะฟังดูดีกว่า สปช. ที่จะแปลความคล้ายกับหลักสูตรการสอนเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต ที่ให้มีจำนวน 250 คน ทำหน้าที่ปฏิรูป 11 ด้าน เช่น การเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการปฏิรูประบบราชการ, กฎหมาย และกระบวนยุติธรรม, การศึกษา, สื่อสารมวลชน สำหรับที่มาของ สปร.จะมาจากการสรรหาระดับจังหวัด โดยมีคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด, หัวหน้าศาลประจำจังหวัด เลือกตัวแทนจังหวัดละ 5 คน จากนั้นให้ คสช.เลือกเหลือจังหวัดละ 1 คน รวมเป็น สปร.ชุดแรกจำนวน 77 คน ส่วนที่เหลือจะตั้งคณะกรรมการสรรหา รวม 11 ด้าน โดยเปิดโอกาสองค์กรที่เป็นนิติบุคคลที่ไม่ใช่องค์กรที่แสวงหากำไร เสนอชื่อบุคคลเข้ามาสู่การสรรหา และส่งให้ คสช.เลือกให้เหลือ 173 คน ประกอบเป็น สปร.
       
       สำหรับหน้าที่หลัก คือ 1. ทำข้อเสนอการปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างน้อย 11 ด้าน ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 27 กำหนด จากนั้นเสนอข้อเสนอไปยัง สนช., ครม. หรือ คสช. เพื่อพิจารณาออกกฎหมาย และ 2. ให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายกร่าง และให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่มีอำนาจในการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยตนเอง ดังนั้นประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐธรมนูญ สปร. มีสิทธิ 3 ประการ คือ 1. อภิปรายเสนอแนะ กรอบหรือแนวคิดหลักเพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯ นำไปพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ 2. เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ กมธ.ยกร่างฯ ต้องนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้กับ สปร.และรับฟังความเห็น 3. ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
       
       4. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน โดยเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีตำแหน่ง สนช., สปร. เข้าร่วมทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดกรอบไว้ 10 ประเด็น อาทิ กำหนดให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ตนขอเน้นคำว่าที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย คือแปลว่าไม่เห็นด้วยกับการลอกรัฐธรรมนูญต่างประเทศมาใช้ แต่ต้องยกร่างบทบัญญัติที่เหมาะสมกับสังคมไทย, กำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อต้องการกำกับการทุจริตในภาคเอกชนที่เสมือนเป็นผู้ให้
       
       กำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันบุคคลที่ทุจริต ซื้อเสียง เข้าดำรงตำแหน่งการเมืองอย่างเด็ดขาด ดังนั้นบุคคลที่คิดจะซื้อเสียง หรือทำทุจริตในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะถูกตัดออกจากระบบการเมืองไปตลอดชีวิต, กำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระ ปราศจากการชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคล เพื่อวัตถุประสงค์ไม่ให้มีหุ่นเชิดทางการเมือง
       
       กำหนดกลไกที่ป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนระยะยาว ทั้งนี้มีความหมายถึงโครงการประชานิยม แต่ไมได้ห้ามโครงการประชานิยมทุกประเภท แต่ห้ามในโครงการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบอบเศรษฐกิจระยะยาว, กำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า เท่ากับว่าหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เงินที่อยู่นอกงบประมาณในหน่วยงานต่างๆ ต้องได้รับการตรวจสอบ
       
       สำหรับตารางเวลาทำงานของอค์กรต่างๆ จะเริ่มนับ 1 จากการเรียกประชุม สปร.นัดแรก โดยมีกรอบปฏิทินคือ จากการประชุมนัดแรก ภายในระยะเวลา 15 วันต้องตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ, ภายใน 60 วัน สปร.ต้องให้ความเห็นต่อและกรอบคิดต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปยกร่างรัฐธรรมนูญ, ภายใน 180 วัน กมธ.ยกร่างฯ ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ, ภายใน 10 วันต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปยัง สนช., สปร. และ คสช.เพื่อเสนอความเห็น จากนั้นภายใน 30 วันสปร. ต้องพิจารณาและเสนอญัตติเพื่อขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ กมธ.ยกร่างฯ โดย กมธ.ยกร่างจะแก้ไขหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้รวมเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จ ประมาณ 11 เดือน

สมาคมธนาคารไทยตรวจสอบคนไทยเพื่อสหรัฐ?

สมาคมธนาคารไทยตรวจสอบคนไทยเพื่อสหรัฐ? 

ล่าสุดปรากฏว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยรุกล้ำตรวจสอบคนไทยเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้แก่ประเทศสหรัฐอเมริกา


1) สัปดาห์ที่ผ่านมา ผมไปเป็นลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง ปรากฏว่าต้องกรอกเอกสารยุบยับ ตอบคำถามผ่านแบบฟอร์มชนิดหนึ่ง อ้างว่า เป็นการปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการปลีกเลี่ยงภาษี สหรัฐอเมริกา หรือFATCA (Foreign Account Tax Compliance Act) ซึ่งเป็นกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา สมาคมธนาคารไทยขอความร่วมมือธนาคารทุกแห่งในประเทศไทย ให้ลูกค้าที่มาเปิดบัญชีใหม่ทุกคน จะต้องกรอกเอกสารเกี่ยวกับสถานะความเป็นบุคคลของลูกค้าว่าเป็นบุคคลของอเมริกันหรือไม่ โดยจะต้องตอบคำถามเช่นว่า เป็นพลเมืองอเมริกันหรือไม่ มีกรีนการ์ดหรือไม่? มีถิ่นที่อยู่ในอเมริกาหรือไม่? ตลอดจนมีธุรกรรมการเงินต่างๆนานาเกี่ยวข้องกับสหรัฐอเมริกาหรือไม่ เป็นต้น แถมยังต้องเซ็นต์ยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลการเงินต่างๆทั้งจำนวนเงินและความเคลื่อนไหวทางบัญชี ข้อมูลส่วนตัว เลขประจำตัวผู้เสียภาษีฯลฯให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ FATCA แถมต้องยินยอมหักเงินจากบัญชี ต้องยินยอมให้ยุติความสัมพันธ์ทางการเงินได้โดยฝ่ายเดียวฯลฯ ทั้งหมดเพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีของสหรัฐอเมริกา


2) เรื่องของเรื่องคือ ทางการของสหรัฐอเมริกาต้องการหาเงิน พยายามหาทางจัดเก็บเงินภาษีเข้าคลัง
ของประเทศสหรัฐอเมริกา พูดง่ายๆว่ากำลังถังแตกว่างั้นเถอะ จึงต้องพยายามดิ้นรนหาช่องจะรีดภาษีเอากับทุกคนที่คิดว่าตนเองสามารถทำได้ พลเมืองอเมริกันหรือใครที่อยู่ในข่ายจะถูกรีดภาษีได้ ก็จะต้องถูกตรวจสอบติดตามเพื่อหาทางเรียกเก็บภาษีต่อไป แต่ความซวยกลับมาตกที่คนไทยด้วย กลับกลายเป็นคนไทย ทำมาหากินในประเทศไทย(แถมบางคนไม่ชอบอเมริกาเสียอีก) จะเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารสัญชาติไทย ตั้งอยู่บนแผ่นดินไทยภายใต้กฎหมายไทย อยู่ใต้อำนาจอธิปไตยของไทย ต้องรับภาระถูกตรวจสอบ ถูกซักถาม ถูกรอนสิทธิสำคัญหลายประการ โดยอ้างกฎหมายต่างชาติที่ออกโดยนักการเมืองของสหรัฐอเมริกาฝ่ายเดียว!


3) ถ้าคนไทยคนไหนไม่ยอมร่วมมือ ไม่ยอมตอบคำถามและไม่ยอมเซ็นต์ ยินยอมก็อาจจะถูกตัดสิทธิ ทำให้ไม่สามารถจะใช้บริการสถาบันการเงินของไทยเองได้


4) งานนี้ผลประโยชน์ตกแก่ทางการของสหรัฐอเมริกาโดยฝ่ายเดียว จะอ้างว่าเป็นความร่วมมือของไทยก็คงไม่ได้ เพราะไม่ปรากฏว่าประเทศไทยโดยเฉพาะลูกค้าของธนาคารไทยจะได้ประโยชน์อะไรเลย มีแต่เสีย ข้อมูลเหล่านี้ จะถูกส่งไปยังกรมสรรพากรสหรัฐ (Internal Revenue Service หรือ IRS) เพื่อประโยชน์ของสหรัฐอเมริกาในการตรวจสอบภาษีของชาวอเมริกันและบริษัทอเมริกันที่มีรายได้จากนอกสหรัฐ และจะถูกนำไปใช้อย่างอื่นหรือไม่ ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประเทศไทยเลย


5) กฎหมายของประเทศสหรัฐ แต่ออกมาเพื่อบังคับสถาบันการเงินนอกสหรัฐ แล้วสถาบันการเงินของไทยโดยสมาคมธนาคารไทย ก็นำมาบังคับเอากับลูกค้าคนไทยในประเทศไทย ลิดรอนสิทธิและผลประโยชน์ของคนไทยเอง ที่น่าเจ็บใจคือ คนที่รับงานหรือรับดำเนินการให้สหรัฐอเมริกา คือ สมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารไทยอาจจะอ้างว่า ธนาคารต้องดำเนินการเพื่อมิให้ถูกลงโทษด้วยวิธีหักภาษี ณ ที่จ่ายจากรายได้ทุกประเภทที่เกิดจากการทำธุรกรรมในสหรัฐ เช่น การฝากเงิน การลงทุนหรือการปล่อยสินเชื่อฯลฯ แต่การมาลงโทษเอากับลูกค้าสัญชาติไทยเช่นนี้ เป็นการกระทำที่สมควร ถูกต้องหรือไม่


6) อยากตั้งคำถามเพื่อให้ได้คิดว่า หากประเทศไทยจะออกกฎหมายหรือกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษีคนไทยในสหรัฐ โดยขอให้ธนาคารทุกแห่งในสหรัฐ ให้คนอเมริกันที่เปิดบัญชีธนาคารต้องกรอกแบบฟอร์มและยินยอมให้เปิดเผยข้อมูลเช่นเดียวกับที่ธนาคารไทยทำเช่นนี้ คนอเมริกันจะยอมทำไหม?


อยากจะตั้งคำถามว่า สหรัฐอเมริกาขอความร่วมมือกับประเทศไทย สร้างภาระให้คนไทยอย่างนี้ เขาจะทำกับชาติอื่นๆอีก 200กว่าชาติหรือไม่ และจะมีคนชาติไหนยอมสหรัฐอเมริกา?


สงสัยว่า หากประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ เยอรมนี รัสเซีย จีน ญี่ปุ่น ลาว เขมร พม่า ซึ่งมีคนมีรายได้ในประเทศไทยมาก จะมาขอความร่วมมือเช่นเดียวกัน สมาคมธนาคารไทยเราจะยอมเขาหรือไม่? และคนไทยจะต้องรับภาระในการกรอกแบบสอบถาม รับรองความไม่ใช่คนของประเทศนั้นๆอีกกี่สิบกี่ร้อยครั้ง? สหรัฐอเมริกาไม่มีวิธีอื่นที่จะตรวจสอบเก็บภาษีคนอเมริกันที่ฉลาดกว่านี้หรือ?


7) การตรวจสอบการเงินคนไทยในกรณีนี้ ถือเป็นการขืนใจบังคับให้คนไทยทุกคนต้องรับภาระ เป็นภาระไม่ใช่เพื่อชาติไทยแต่เพื่อชาติอเมริกาโดยกฎหมายภายในของอเมริกา เพื่อประโยชน์ของอเมริกา
ประเทศไทยไม่ใช่เมืองขึ้นของสหรัฐอเมริกา!


ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

อภิสิทธิ์ เตือนสมาชิกห้ามเกี่ยวข้องสนช.


"พี่มาร์คห้าม สมาชิก ปชปเข้าไปยุ่งกับ สนช.และสภาปฏิรูป ไม่ฟังโดนเชือด...."

"คุณหญิงกัลยา"เผยหน.พรรคฯ หวั่นถูกครหาปชป.มีส่วนได้ส่วนเสีย สั่งห้ามเป็น"สนช."เด็ดขาด เตือนไม่ฟังจะไม่ส่งสมัครส.ส.

คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยืนยันแล้วว่าจะไม่มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคณะกรรมการปฏิรูป ทั้งนี้หากสมาชิกพรรคคนไหนต้องการที่เข้าไปเป็น สนช.ก็ถือเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ต้องมีการขอความเห็นชอบจากนายอภิสิทธิ์ก่อน ที่สำคัญคือ ต้องรับเงื่อนไขว่าหากเข้าไปเป็น สนช.แล้ว จะต้องไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง และเชื่อว่านายอภิสิทธิ์คงไม่อนุญาต เนื่องจากจะถูกครหาว่ามีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดทำรัฐธรรมนูญครั้งนี้ และในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ก็คงทำได้เพียงแสดงความคิดเห็นเท่านั้น