PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

11เดือน รธน.เสร็จ


“บวรศักดิ์” ชี้ยกร่าง รธน.ต้องไม่ลอกต่างชาติ ใครโกงถูกตัดสิทธิ คาด 11 เดือนเสร็จ


โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 24 กรกฎาคม 2557 12:28 น.



คลิกที่ภาพเพื่อดูขนาดใหญ่ขึ้น

บวรศักดิ์ อุวรรณโณ (แฟ้มภาพ)


“บวรศักดิ์” แจงอำนาจหน้าที่ 5 องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว สนช.-สภาปฏิรูปฯ ไม่มีสิทธินั่งเป็น กมธ.ยกร่าง รธน. ส่วนการยกร่าง รธน.ต้องเหมาะกับสังคมไทย ห้ามลอกต่างชาติ วางกลไกป้องกันการคอร์รัปชัน ใครโดนคดีทุจริตหมดสิทธิเล่นการเมือง ห้ามใช้ประชานิยมที่สร้างความเสียหายแก่ประเทศมาเป็นนโยบายหาเสียง ส่วนปฏิทินร่าง รธน.ใหม่คาดใช้เวลา 11 เดือน 
       
       นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา เรื่อง “การปฏิรูปประเทศไทย : การเข้าสู่อำนาจของสมาชิกรัฐสภา” ภายใต้โครงการสัมมนาสู่ทศวรรษที่เก้า ก้าวใหม่ของระบอบประชาธิปไตย ที่จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับกระทรวงกลาโหม ว่า ในรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 ได้ออกแบบให้มี 5 องค์กร คือ 1. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จำนวน 220 คน มีหน้าที่สำคัญ คือ เลือกคนเป็นนายกฯ และร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 2. คณะรัฐมนตรี มีจำนวน 36 คน โดยกำหนดอำนาจเพิ่มเติมนอกจากการบริหารราชการแผ่นดิน คือ การปฏิรูป และส่งเสริมความสามัคคี สมานฉันท์ของคนในชาติ โดยการกำหนดดังกล่าวเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และไม่ให้การยึดอำนาจเสียเปล่า จึงทำให้หน้าที่ ครม.มีหน้าที่เสนอความเห็นต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และรับความเห็นจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปปฏิบัติ
       
       3. สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือที่ตนขอใช้ตัวย่อว่า สปร. เพราะฟังดูดีกว่า สปช. ที่จะแปลความคล้ายกับหลักสูตรการสอนเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต ที่ให้มีจำนวน 250 คน ทำหน้าที่ปฏิรูป 11 ด้าน เช่น การเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการปฏิรูประบบราชการ, กฎหมาย และกระบวนยุติธรรม, การศึกษา, สื่อสารมวลชน สำหรับที่มาของ สปร.จะมาจากการสรรหาระดับจังหวัด โดยมีคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด, หัวหน้าศาลประจำจังหวัด เลือกตัวแทนจังหวัดละ 5 คน จากนั้นให้ คสช.เลือกเหลือจังหวัดละ 1 คน รวมเป็น สปร.ชุดแรกจำนวน 77 คน ส่วนที่เหลือจะตั้งคณะกรรมการสรรหา รวม 11 ด้าน โดยเปิดโอกาสองค์กรที่เป็นนิติบุคคลที่ไม่ใช่องค์กรที่แสวงหากำไร เสนอชื่อบุคคลเข้ามาสู่การสรรหา และส่งให้ คสช.เลือกให้เหลือ 173 คน ประกอบเป็น สปร.
       
       สำหรับหน้าที่หลัก คือ 1. ทำข้อเสนอการปฏิรูปด้านต่างๆ อย่างน้อย 11 ด้าน ตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 27 กำหนด จากนั้นเสนอข้อเสนอไปยัง สนช., ครม. หรือ คสช. เพื่อพิจารณาออกกฎหมาย และ 2. ให้ความเห็นต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณายกร่าง และให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่มีอำนาจในการทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยตนเอง ดังนั้นประเด็นที่เกี่ยวกับรัฐธรมนูญ สปร. มีสิทธิ 3 ประการ คือ 1. อภิปรายเสนอแนะ กรอบหรือแนวคิดหลักเพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯ นำไปพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ 2. เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ กมธ.ยกร่างฯ ต้องนำเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้กับ สปร.และรับฟังความเห็น 3. ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ
       
       4. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 36 คน โดยเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกที่ไม่ได้มีตำแหน่ง สนช., สปร. เข้าร่วมทั้งนี้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว กำหนดกรอบไว้ 10 ประเด็น อาทิ กำหนดให้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย ตนขอเน้นคำว่าที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย คือแปลว่าไม่เห็นด้วยกับการลอกรัฐธรรมนูญต่างประเทศมาใช้ แต่ต้องยกร่างบทบัญญัติที่เหมาะสมกับสังคมไทย, กำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ตรวจสอบ และขจัดทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อต้องการกำกับการทุจริตในภาคเอกชนที่เสมือนเป็นผู้ให้
       
       กำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันบุคคลที่ทุจริต ซื้อเสียง เข้าดำรงตำแหน่งการเมืองอย่างเด็ดขาด ดังนั้นบุคคลที่คิดจะซื้อเสียง หรือทำทุจริตในอนาคตมีความเสี่ยงที่จะถูกตัดออกจากระบบการเมืองไปตลอดชีวิต, กำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพรรคการเมือง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระ ปราศจากการชี้นำโดยบุคคลหรือคณะบุคคล เพื่อวัตถุประสงค์ไม่ให้มีหุ่นเชิดทางการเมือง
       
       กำหนดกลไกที่ป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนระยะยาว ทั้งนี้มีความหมายถึงโครงการประชานิยม แต่ไมได้ห้ามโครงการประชานิยมทุกประเภท แต่ห้ามในโครงการที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบอบเศรษฐกิจระยะยาว, กำหนดกลไกที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายเงินของรัฐให้เป็นไปอย่างคุ้มค่า เท่ากับว่าหลังจากที่มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว เงินที่อยู่นอกงบประมาณในหน่วยงานต่างๆ ต้องได้รับการตรวจสอบ
       
       สำหรับตารางเวลาทำงานของอค์กรต่างๆ จะเริ่มนับ 1 จากการเรียกประชุม สปร.นัดแรก โดยมีกรอบปฏิทินคือ จากการประชุมนัดแรก ภายในระยะเวลา 15 วันต้องตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ, ภายใน 60 วัน สปร.ต้องให้ความเห็นต่อและกรอบคิดต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปยกร่างรัฐธรรมนูญ, ภายใน 180 วัน กมธ.ยกร่างฯ ต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จ, ภายใน 10 วันต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไปยัง สนช., สปร. และ คสช.เพื่อเสนอความเห็น จากนั้นภายใน 30 วันสปร. ต้องพิจารณาและเสนอญัตติเพื่อขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ กมธ.ยกร่างฯ โดย กมธ.ยกร่างจะแก้ไขหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้รวมเวลาการยกร่างรัฐธรรมนูญจะแล้วเสร็จ ประมาณ 11 เดือน

ไม่มีความคิดเห็น: