PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2562

ในหลวงเปิดประชุมสภา24พ.ค.

"..พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงรับเชิญเสด็จพระราชดำเนิน พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปทรงเปิดประชุมรัฐสภา ในวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ ในการนี้ ภายหลังทรงเปิดประชุมรัฐสภา จะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ส่วนการเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎรและรองประธานสภาผู้แทนราษฎร จะดำเนินการในวันถัดไป.."

ล็อกสูงไว้เผื่อต่อ

เป็นธรรมดาห้วงอย่างนี้ ข้อมูลประเภทจุดไฟไหม้ฟาง ใส่โคมลอยลม ลุกพรึบไปไวเหมือนกัน

กับกระแสข่าวเกมพลิก ล็อกถล่มทลาย ประเภทพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย โป๊ะแตก เปลี่ยนใจนาทีสุดท้าย ย้ายมาร่วมกับขั้วพรรคเพื่อไทย และเครือข่ายร่วมสัตยาบันจัดตั้งรัฐบาล

โดยมี 60 ส.ว.ฉีกมาหนุน เป็นขั้วอำนาจที่ 3

ข่าวว่อนโซเชียลมีเดีย แอปฯแชต ถึงขั้นยกเก้าอี้ใส่ก้นให้เสร็จสรรพ ระบุมี “อนุทิน ชาญวีรกูล” หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เป็นนายกฯ มี “บัญญัติ บรรทัดฐาน” เป็นประธานสภาฯ ขณะที่บิ๊กเนมนั่งเก้าอี้ครบ จัดสรรเก้าอี้กันเสร็จสรรพ ทั้งพรรคเพื่อไทย และค่ายที่เคยจับขั้ว บวกกับพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์

จัดดรีมทีม ครม.ในฝัน แต่มีโอกาสจะ “ฝันค้าง” ชนิดต้องรีบสะกิดให้ตื่น

โดยเฉพาะกรณีนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ล่าสุด กกต.มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสมาชิกภาพ กรณีมีความปรากฏเหตุอันควรสงสัยประเด็นถือครองหุ้นสื่อ โยงคุณสมบัติลงสมัคร ส.ส.

“พ่อของฟ้า” ลุ้นปิ๋วเก้าอี้ ส.ส. และส่อลามไปถึงสังกัด แต้มอนาคตใหม่ยังไม่นิ่ง

ในโลกของความจริง สมการตัวเลขการเมืองก็เริ่มชัดขึ้นทีละลำดับ จากท่าที 11 พรรคการเมืองนาโนขนาดจิ๋ว แพ็กเสียงรวมตัวประกาศหนุนพรรคพลังประชารัฐ เป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล

ชูจั๊กกระแร้กันสลอน เชียร์ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯอีกรอบ

แค่ป้อมค่ายสารตั้งต้น รวมเสียงโหวตเบื้องต้น 135-137 แต้ม บวกแต้ม 50 ส.ว. ทะลุเกินกึ่งหนึ่งรัฐสภา

“บิ๊กตู่” ก็ล็อกเก้าอี้ผู้นำ กุมความได้เปรียบไว้แล้ว

รอโฟกัสชัดเจนแค่ค่ายประชาธิปัตย์ ที่ได้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” นั่งแท่นประมุขพรรค เมื่อประเมินคะแนนในการโหวตเฉพาะ 52 เสียง ส.ส.ประชาธิปัตย์ มีแนวโน้มหนุนขั้วพลังประชารัฐก็ราวกึ่งหนึ่ง

อยู่ที่ว่าสุดท้าย ปชป.จะไหลตามไปหมดยกเข่งหรือไม่

ในห้วงของการเจรจาต่อรอง โดยเฉพาะสูตรพิเศษ ประเภทขอฉีกมาเล่นบทในฝ่ายนิติบัญญัติ จองเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนฯ ก็เป็นอีกเงื่อนไขสูงที่ต้องจับตา

ค่าย “ตัวแปร” เล่นตัวได้ แต่ก็มีเดดไลน์เกมต่อรอง ก่อนเปิดสภาฯปลายเดือนนี้

เช่นเดียวกับอีกค่ายตัวแปร พรรคภูมิใจไทย “เสี่ยหนู อนุทิน” ดึงเช็งโก่งราคาเต็มเหนี่ยว แต่สไตล์เจ้าสัวใหญ่ ดีดลูกคิดบวกลบคูณหาร เก้าอี้ในฝันก็ยังเป็นแค่ได้เคลิ้มตามที่ขั้วเพื่อไทยปั้นฝันให้

โดยเฉพาะสูตรที่ว่าจะมี 60 ส.ว.พลิกมาหนุนนายกฯขั้วที่ 3 แต่เอาเข้าจริงโอกาสที่ ส.ว.ชุด คสช. “จิ้มเลือก” คงพลิกยาก เว้นแต่สัญญาณพิเศษแรงจัด มี “ข้อมูลใหม่” ปรากฏชัด

นาทีนี้เก้าอี้ผู้นำขั้วใหม่ของ “เสี่ยหนู อนุทิน” ก็ยังเป็นเรื่องราวของโลกมายา ของจริงก็คือสิ่งที่จับต้องได้มากกว่า นั่นคือเกมต่อรองโควตาเก้าอี้รัฐมนตรีในรัฐบาล พปชร.ให้ได้ตามที่ต้องการมากที่สุด

หันมาโฟกัสล่วงหน้าที่การฟอร์มทีม ครม. “ลุงตู่ 1” เฟส 2 ก็น่าจะวุ่นยุ่งเหยิงไม่แพ้กัน

ล่าสุด มีกระแสข่าวทีมพลังประชารัฐล็อกโควตาไว้ 10 กว่าเก้าอี้ ทั้งกระทรวงยุทธศาสตร์ กลาโหม-มหาดไทย และกระทรวงเศรษฐกิจให้ “อดีต รมต. 4 กุมาร” รวมถึงกระทรวงคมนาคมที่หมายปองของภูมิใจไทย

สาเหตุที่มาของลูกยึกยักค่ายสีน้ำเงิน

ไม่เท่านั้นกับพรรคแนวร่วม 10 กว่าพรรค ถึงหาของแถมของแจกแลกเปลี่ยน ก็ยังเกลี่ยลงตัวยาก

ขณะที่วงในพรรคพลังประชารัฐเองก็ส่อวุ่นไม่แพ้กัน เพราะตามสัดส่วนยึดโควตาพรรคหลักไว้ทั้งหมดที่ 15-16 ที่นั่ง

แต่เมื่อหั่นไปแล้ว 10 กว่าที่นั่ง ในส่วนกระทรวงยุทธศาสตร์ และกระทรวงเศรษฐกิจ

เหลือให้เกลี่ยแบ่งแค่ 1 กำปั้น หรือ 4-5 ที่นั่งเท่านั้น

กับสภาพการณ์ใน พปชร.มีหลากกลุ่ม สารพัดก๊วน คงต้องวิ่งวุ่นฝุ่นตลบ

ส่วนที่ว่ารัฐบาลขั้ว พปชร.จะโชว์ภาพใหม่ “สลายโควตากลุ่มก๊วน” ถึงเวลาจะทำได้จริงแค่ไหน

น่าจะเป็นแรงกระเพื่อมภายใน ที่ต้องบริหารจัดการกันเหนื่อย.

ทีมข่าวการเมือง

ศึกใน-ศึกนอก ชิง ‘ประธานสภาฯ’ ‘พปชร.’ เคลียร์จบ แต่ ‘ปชป.’ ไม่แน่

ถือเป็นเก้าอี้สำคัญ ในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ อีกหนึ่ง “ดุลอำนาจ” ของประเทศ ผู้จะมาดำรงตำแหน่งในครั้งนี้จึงต้องพิถีพิถัน ไม่น้อยกว่านายกรัฐมนตรี

                โดยเฉพาะในยุคที่เสียง 2 ขั้วระหว่างพรรคพลังประชารัฐกับพรรคเพื่อไทย มีปริมาณ “ปริ่มน้ำ” ประธานสภาผู้แทนราษฎร จึงต้องเป็นคนที่มีบารมี เก๋าเกม และภาพลักษณ์ดีในสายตา “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

                แน่นอนเก้าอี้นี้ พรรคเพื่อไทยเองก็อยากได้เพื่อไว้พลิกเกมในสภาฯ ตามคิวที่มีชื่อของ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” หัวหน้าพรรคประชาชาติ โผล่มาเป็นคู่ชิงแข่งกับอีกขั้ว

                ขณะที่ฝั่งพรรคพลังประชารัฐ ต้องการเก็บเก้าอี้นี้ไว้กับตัว แม้จะเป็นที่หมายปองของบรรดาพรรคร่วมอื่นๆ ด้วยเช่นกัน

                แต่ปัญหาของพรรคพลังประชารัฐคือ ในบรรดา ส.ส. 115 คน เป็น ส.ส.ใหม่เอี่ยมถึง 60 คน ส่วนผู้หลักผู้ใหญ่ที่เหลือ ล้วนแต่หมายปองเก้าอี้รัฐมนตรีมากกว่า

                เหตุนี้ภายในพรรคจึงเหลือตัวเลือกไม่มากเท่าไร ทำให้ปรากฏชื่อ 2 คน ที่มีความอาวุโส และไม่ได้เป็นแคนดิเดตรัฐมนตรีแต่อย่างใด คือ นายสุชาติ ตันเจริญ ส.ส.ฉะเชิงเทรา และ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มาโดยตลอด

                แม้บางช่วงจะมีข่าวว่า อาจมี “ตาอยู่” คว้าพุงปลาไปกิน เนื่องจากภาพลักษณ์ของนายสุชาติ และนายวิรัช ในทางการเมืองไม่สู้ดีเท่าไรนัก

                ทว่า เมื่อตัด 2 คนนี้ออกไป ก็ไม่มีบุคคลใดที่มีคุณสมบัติพอจะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรในยุคที่การฟาดฟันในสภาฯ จะเข้มข้น

                สุดท้ายจึงเหลือแค่ “สุชาติ-วิรัช” ชิงดำเช่นเดิม ทำให้ช่วงที่ผ่านมา ต่างฝ่ายต่างเดินเกมสารพัดวิธีเพื่อให้ตัวเองเข้าสู่เส้นชัย

                “สุชาติ” เอง พละกำลังในพรรคตอนนี้ เมื่อสู้กับ “วิรัช” ถือว่าเป็นรองพอสมควร หากวัดเฉพาะปริมาณ ส.ส.ในมือจากการเลือกตั้งที่ผ่านมา

                แต่ที่เหนือกว่าคือ “สุชาติ” มีประสบการณ์ในเกมสภาที่ต้องชิงไหวชิงพริบมาแล้ว หลังเคยเป็นรองประธานสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว

                นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของ “สุชาติ” ดูจะเหลื่อมๆ กว่า “วิรัช” ที่ก่อนมาร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ มีคดีความเรื่องทุจริตสร้างสนามฟุตซอลติดตัวอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

                ที่สำคัญ “บิ๊กตู่” ให้น้ำหนักเรื่องภาพลักษณ์มากที่สุด ชื่อของ “สุชาติ” ที่เคยแผ่ว จากการออกตัวแรง จึงฮึดขึ้นมาอีกครั้ง

                ส่วน “วิรัช” มีรายงานออกมาว่า พยายามเดินเกมทางลับ โดยเข้าทาง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่มักจะมองเรื่องผลงานเป็นหลักในการบริหารคน จนช่วงหนึ่ง “สุชาติ” แทบจะยอมยกธง

                ในงานสัมมนาของพรรคพลังประชารัฐ ที่โรงแรมเดอะ ซายน์ พัทยา เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ช่วงงานเลี้ยงตอนค่ำ จะเห็นได้ว่ายังคงมีการหาเสียงสนับสนุนกันทางอ้อม

                “วิรัช” เดินทักทายแกนนำ ส.ส. และสื่อมวลชน แทบจะทุกโต๊ะ ในขณะที่ “สุชาติ” ยังคงนิ่งที่โต๊ะตัวเอง ก่อนที่ต่อมาจะเป็นฝ่ายเดินทักทายแกนนำ ส.ส. และสื่อมวลชนเหมือนกัน

                กระทั่งมาถึงโต๊ะ “วิรัช” ที่ตั้งท่ารอรับ ก็โผเข้ากอดจับมือ โอบกันมายังโต๊ะสื่อ เพื่อต้องการสยบข่าวลือขบเหลี่ยมชิงเก้าอี้ประมุขนิติบัญญัติ ก่อนจะพูดว่า “ได้อยู่แล้ว ยังไงก็พลังประชารัฐ”

                “วิรัช” ก็รู้ตัวดีว่า มีชนักปักหลังเรื่องภาพลักษณ์ อันทำให้แต้มในมือด้อยกว่า “สุชาติ” แม้ภายในยังหวังลึกๆ ว่า หวยจะออกที่ตนเอง

                ทว่า จับท่าทีหลายครั้ง “วิรัช” ก็เหมือนจะรับสภาพกลายๆ เหมือนกันว่า อาจไปได้สุดแค่ “ประธานวิปรัฐบาล” ในขณะที่รายงานข่าวล่าสุด “บิ๊กป้อม” ได้เรียกอีกฝ่ายไปสอบถาม เสมือนตรวจทานแบ็กกราวด์ว่า เคยทำอะไรให้ใครไม่พอใจหรือไม่ เพื่อความชัวร์

                กระนั้นแม้คลื่นลมในพรรคพลังประชารัฐเริ่มสงบและได้ข้อยุติบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งนี้ หากแต่ว่า การที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ “จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ อาจทำให้เส้นทางยังยุ่งยากอยู่

                เพราะว่ากันว่า หนึ่งในดีลที่พรรคประชาธิปัตย์อยากได้ก็คือ ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติเช่นกัน!

                แต่บรรดาแกนนำในพรรคยังมั่นใจว่า จะไม่มีการมอบเก้าอี้นี้ให้ใครแน่นอน เพราะเป็นตำแหน่งสำคัญตั้งแต่การเลือกนายกรัฐมนตรี ไปถึงการคุมเกมในสภาฯ ที่ต้องใช้คนของพรรคพลังประชารัฐที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้เท่านั้น

                ยิ่งเป็นพรรคประชาธิปัตย์แล้ว ยิ่งไม่ไว้วางใจเด็ดขาด

                ต้องจับตาดูเกมนี้ว่า พรรคพลังประชารัฐจะเอาตัวรอดจากการบริหารจัดการความพึงพอใจของพรรคร่วม เพื่อรักษาเก้าอี้ที่เป็นหัวใจสำคัญๆ ได้หรือไม่.