PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

ลักลั่นโกยกันเนียนๆ

ลักลั่นโกยกันเนียนๆ

ท่าทางจะเจอ “โจทย์ยาก”

จับอาการที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. เม้งแตกใส่สื่อมวลชนที่รายงานโผโยกย้ายทหารประจำปี

ฟันธงชื่อนั้น ชื่อนี้ จองตำแหน่งกันตาม “พลังภายใน”

ทำให้ “บิ๊กตู่” พูดเป็นเชิงเหน็บ ถ้าไม่ได้ขึ้นมาก็ให้ไปฟ้องสื่อเลยแล้วกัน

อารมณ์บ่งบอกถึงภาวะกดดัน จากการจัดโผที่ยากอยู่แล้ว ยิ่งสื่อมาเสนอข่าวล็อกโพยกันล่วงหน้า มันยิ่งทำให้สร้างความ “ลำบาก” ในการตัดสินใจเข้าไปใหญ่

ที่แน่ๆจากที่ดูราบรื่นไม่มีอะไร กลายเป็นต้องจับตาปมที่ซ่อนอยู่ในกอไผ่

โผทหารรอบนี้ “ขบเหลี่ยม” กันตรงไหนหรือไม่ ตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่จำเป็นต้องโยงกับการคุมความมั่นคงในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของโรดแม็ป คสช.

กองทัพต้องนิ่งไว้ก่อน เท่าที่จะนิ่งได้

ภายใต้โหมดปรองดองทางการเมืองที่คืบหน้าไปตามลำดับ

ล่าสุด พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกลาโหม ในฐานะประธานอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ ความคืบหน้าในการจัดทำร่างสัญญาประชาคม ที่ได้ปรับความเหมาะสมของเนื้อหาตามคำแนะนำของคณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เรียบร้อยแล้ว

เตรียมนำไปเปิดเวทีชี้แจงกับประชาชนในภูมิภาคต่างๆระหว่างวันที่ 17–20 กรกฎาคม 2560 นี้ เริ่มจากกรุงเทพฯ นครราชสีมา พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช ตามลำดับ

และนั่นก็หมายถึงแนวโน้มการเลือกตั้งที่ผูกโยงอยู่กับสัญญาประชาคม

อย่างไรก็ตาม โดยภาวะที่เต็มไปด้วย “ตัวแปร” เต็มไปหมด

สถานการณ์เลือกตั้งใหญ่ยังต้องลุ้น

แต่ที่มาก่อนแน่ๆ ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ส่งสัญญาณชัด จะปล่อยไฟเขียวการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นภายหลังพระราชพิธีสำคัญ 2 พระราชพิธี ให้เตรียมการเตรียมตัวกันไว้

แนวโน้มปีหน้า 2561 คงได้ว่ากันกับการเลือกตั้งสนามเล็ก

นั่นหมายถึงต้องจบปัญหาลักลั่นสักที ตามเงื่อนไขที่กระบวนการบริหารงานท้องถิ่นต้องตกอยู่ในสถานการณ์ “ติดล็อก” ผู้บริหารท้องถิ่นหลายจังหวัดหมดวาระ หมดสภาพ แต่จัดเลือกตั้งไม่ได้เพราะอยู่ในห้วงอำนาจพิเศษ

ทำให้การบริหารขาดช่วง การพัฒนาท้องถิ่นทำได้ไม่เต็มสูบ

แต่ที่ “ลักลั่น” ยิ่งกว่านั้น กับปัญหาของนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่โดนหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งพักงาน เพราะถูกตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารงาน ตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสมุทรปราการ อุบลราชธานี หนองคาย ภูเก็ต ยโสธร นครพนม ฯลฯ

ส่วนใหญ่ก็สลับฉากให้รองนายก อบจ.ที่เป็น “นอมินี” นั่งบริหารแทน

แน่นอนว่าในทางปฏิบัติ มันก็ไม่ต่างจาก “ตัวจริง” เข้ามานั่งบริหารเอง ข้าราชการ เจ้าหน้าที่ บุคลากรในพื้นที่ก็รู้กันอยู่ว่า ใครเป็นใคร ไม่มีใครกล้าหือ

นั่นหมายถึงคำสั่งพักงานตามมาตรา 44 ก็ไม่ได้มีความหมาย แต่อย่างใด

เจ้าตัวนายก อบจ.ที่มีปัญหาเรื่องความโปร่งใสก็ยังชี้นิ้วสั่งงานได้ตามอำเภอใจ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายงบประมาณโครงการต่างๆ ก็ยังทำได้แบบเต็มไม้เต็มมือ

และตามรูปการณ์ที่เดาทางกันได้ ในอารมณ์ของคนที่ไม่มีอะไรจะเสีย

จังหวะนี้ก็ต้องกอบโกยให้เต็มที่

เพราะกว่าคดีจะมีผลก็อีกหลายปี

ยิ่งสัญญาณชัดว่า การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นต้องทอดเวลา ไปถึงปีหน้า นั่นหมายถึงช่วงเวลาที่เหลืออยู่ 6–7 เดือนนี้ มันคือโอกาสทองสุดท้าย

ถ้า คสช.ไม่ชิงอุดรูรั่วไว้ก่อน ปล่อยช่อง “ลักลั่น” กันตามสบาย

เงินหลวงคงหายไปอีกบาน.
ทีมข่าวการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: