PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP)

ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ภาคพื้นแปซิฟิค (TPP)

โดย : ศาสตราจารย์พิเศษ พลโท พิศาล เทพสิทธา
ตามที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ประกาศเจตนารมณ์แสดงความสนใจของไทย ในการเข้าร่วมเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Trans-Pacific Partnership: TPP) ในช่วงที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายบารัค โอบามา เดินทางมาเยือนประเทศไทย เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 นั้น
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ได้ว่าจ้างให้ บริษัท ไบรอันเคฟ (ประเทศไทย) จำกัด ทำการศึกษาวิจัยให้ข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับที่ไทยจะเข้าร่วมการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค TPP ดังกล่าวหรือไม่ อย่างใด โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จึงได้นำข้อเสนอแนะดังกล่าว เข้าสู่การสัมมนาเวทีสาธารณะผ่านกลุ่มต่างๆ จำนวน 8 กลุ่ม เพื่อรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะมาประมวลจัดทำร่างกรอบเจรจา และมาตรการการรองรับการเจรจา TPP เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ประกอบการพิจารณาเข้าร่วมการเจรจาความตกลง TPP ต่อไป
การสัมมนาเวทีรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการจัดทำความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (TPP) ได้จัดขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2556 เวลา 09.00-15.00 น. ที่โรงแรมอิสตินแกรนด์ ถนนสาทร กรุงเทพมหานคร
  1. ไทยและสหรัฐฯ ได้เคยมีความพยายามทำข้อตกลงทางการค้าเสรีกันมาแล้ว
    แต่ต้องสะดุดหยุดลงในปี ค.ศ. 2006
  2. ในระหว่างนั้น ประเทศบรูไน สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และ ชิลี 4 ประเทศ
    ได้มีข้อตกลงการค้าเสรีร่วมกัน เรียกว่า 4P
  3. ต่อมาสหรัฐฯ ได้พยายามเจรจาการค้าเสรีกับประเทศริมฝั่งแปซิฟิค ทำให้เกิดประชาคม APEC (Asian Pacific Economic Community)
  4. ปี ค.ศ. 2008 สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามข้อตกลงการค้าเสรี กับกลุ่ม 4P ตามข้อ 2 โดยสหรัฐฯ ได้แสดงบทบาทโดดเด่นเป็นพิเศษ ทำให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรี ที่เรียกว่า Trans-Pacific Partnership: TPP หรือ TPP 8 โดยได้เชิญอีก 4 ประเทศมาร่วม ทำให้มี 8 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย บรูไน ชิลี นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม โดยมาร่วมลงนามในข้อตกลงดังกล่าว โดยเรียกชื่อว่า TPP 8
  5. ต่อมาใน ค.ศ. 2013 สหรัฐฯ ได้เชิญประเทศต่างๆ เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก TPP อีก 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น แคนาดา มาเลเซีย และเม็กซิโก ทำให้สมาชิก TPP มีจำนวนทั้งสิ้น 12 ประเทศ ในปี ค.ศ. 2013 จึงเรียกว่า TPP 12
  6. การดำเนินการดังกล่าวของสหรัฐฯ ทำให้เห็นได้ว่า สหรัฐฯ มีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ และพัวพันในเอเชียยิ่งขึ้น อาจพิจารณาไปได้ว่า สหรัฐฯ ต้องการลดอิทธิพล และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีน ต่อประเทศต่างๆ ในเอเชียก็ได้
    ประเทศสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ Gross Domestic Products (GDP) รวมกันทั้งสิ้น มีมูลค่า 27,558 พันล้านเหรียญสหรัฐ ถือได้ว่าเป็นมูลค่าที่สูงมาก
  7. ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้เชิญชวนนายกรัฐมนตรีไทย ขอให้ประเทศไทยพิจารณาการสมัครเข้าเป็นสมาชิก TPP ในคราวที่มาเยือนประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555 ตามที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น
  8. การที่ไทยจะเสนอตัวเข้าเป็นสมาชิก TPP ต้องดำเนินการตามกระบวนการดังต่อไปนี้ คือ ต้อง
    1. แสดงความประสงค์เข้าร่วมกับสมาชิก TPP เดิม
    2. เข้าสู่กระบวนการเจรจากับสมาชิก TPP เป็นรายประเทศ คือต้องทำเป็น Bilateral consultation
    3. ยื่นหนังสือแสดงเจตจำนงและมีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของ TPP
    4. เข้ากระบวนการพิจารณาของประเทศสมาชิกดั้งเดิม
    5. หากได้รับความเห็นชอบจากประเทศสมาชิกทุกประเทศ TPP ก็ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากทุกประเทศสมาชิก TPP ก็ไม่ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP
    6. การเจรจากับกลุ่ม หรือของกลุ่ม TPA ถือเป็นความลับ จะเปิดเผยให้ผู้อื่นที่มิใช่สมาชิกทราบไม่ได้
ตอบได้ว่าอยู่ระหว่างการประเมินท่าทีการเจรจาของประเทศสมาชิก TPP ในประเด็นที่น่าสนใจ นั่นก็คือ เข้าสู่กระบวนการเจรจากับสมาชิก TPP เป็นรายประเทศ ประเทศที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา
เนื่องจาก ประเทศไทยได้ลงนามทางการค้าเสรีกับประเทศสมาชิกของ TPP อื่นๆ ไปเกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้น 4 ประเทศ ต่อไปนี้เท่านั้น คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก และชิลี
ดังนั้น ผลกระทบหากไทยเข้าร่วม TPP จึงจะคล้ายกับการที่ไทยต้องมีข้อตกลงทางการค้าเสรีกับสหรัฐฯ นั่นเอง
กลุ่มหัวข้อเจรจา ภายใต้กรอบ Trans-Pacific Partnership ต้องใช้กลยุทธ์เจรจา “Comprehensive Single Undertaking” นั่นคือ ถ้าการเจรจาแต่ละข้อยังไม่จบ จะถือว่าการเจรจาไม่เสร็จสิ้น จนกว่าการเจรจาทุกข้อบทจะจบลง
แนวทางการเจรจาในหัวข้อการเปิดตลาดสินค้า แบ่งเป็นสินค้า เกษตรกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และ อุตสาหกรรม โดยข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ต้องการการเจรจาแบบทวิภาคี แบ่งสินค้าเป็น 4 ตะกร้า คือ
  1. สินค้าที่ลดภาษีนำเข้าเป็นศูนย์ทันที
  2. สินค้าที่ลดภาษีนำเข้าภายใน 5 ปี
  3. สินค้าที่ลดภาษีนำเข้าภายใน 10 ปี
  4. สินค้าที่ยกเว้นการลดภาษี
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ
สิทธิบัตรยาและการเข้าถึงยาที่จำเป็น
  1. ขยายอายุสิทธิบัตร จาก 20 ปี ออกไปอีกไม่เกิน 5 ปี
  2. การผูกขาดข้อมูลยา 5 ปี สำหรับยาใหม่ และ 3 ปี สำหรับยาที่ได้รับสิทธิบัตรแล้ว
  3. ระบบการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage System)
สิทธิบัตรพืชและสัตว์
  1. ไทยต้องเข้าร่วมอนุสัญญาคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ (UPOV)
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
ยอมรับหลักการของปฏิญญา ILO ว่าด้วย หลักการและสิทธิบัตรขั้นพื้นฐานในการทำงาน 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ การยกเลิกแรงงานเด็กอย่างมีประสิทธิผล ห้ามมิให้มีการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด ขจัดการเลือกปฏิบัติในการจ้างงานและประกอบอาชีพ การยอมรับสิทธิในการร่วมเจรจาเสรีภาพในการสมาคม และการขจัดแรงงานบังคับและการเกณฑ์แรงงานในทุกรูปแบบ
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
  1. เข้าร่วมเป็นสมาชิกในความตกลงสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ 7 ฉบับ
  2. ลดภาษีสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมให้เหลือศูนย์ทั้งหมด และขยายขอบเขตของมาตรการห้ามการค้าสินค้าของป่าที่เก็บเกี่ยวโดยผิดกฎหมาย ร่างกรอบการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
  3. ให้มีบทบัญญัติเฉพาะการอนุรักษ์ สัตว์ป่า การประมงทางทะเล และไม้แปรรูป หรือการลักลอบตัดต้นไม้
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ
  1. ไทยต้องไม่ให้มีการจัดซื้อจัดจ้างโดยหน่วยงานรัฐ เช่น รัฐวิสาหกิจ
  2. ไทยต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส
สหรัฐฯ เห็นว่าไทยมีหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่บริหารเรื่องการจัดซื้อยาของประเทศ ตามนโยบายสาธารณสุขของประเทศ และเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของหน่วยงานของรัฐ ส่งผลกระทบต่อผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ เนื่องจากการบริหารจัดการโดยรัฐบาล และกระบวนการจัดทำบัญชียาหลักนั้น สามารถกีดกันสินค้ายาของสหรัฐฯ ระหว่างการจัดซื้อ นอกจากนี้อาจมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้นในกระบวนการดังกล่าว
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ
ประเทศไทยฯ ต้องป้องกันพฤติกรรมกีดกันการแข่งขัน และดูแลให้รัฐวิสาหกิจใช้อำนาจในลักษณะที่ไม่เลือกปฏิบัติ สอดคล้องกับพันธกรณีในข้อตกลง
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
  1. เปิดให้ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้นได้ 100%
  2. ให้การโอนเงินทำได้โดยเสรีและไม่มีอุปสรรค
  3. ห้ามกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ในการลงทุนประกอบธุรกิจ เช่น การบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือกำหนดสัดส่วนภายในประเทศ
  4. ต้องกำกับดูแลที่โปร่งใส และไม่เลือกปฏิบัติ
  5. ต้องมีการคุ้มครองการลงทุนจากการเวนคืน
  6. ต้องมีบทบัญญัติเรื่องการอนุญาโตตุลาการ
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
  1. เปิดเสรีให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนได้ 100%
  2. มีการเปิดเสรีบริการทางการเงินใหม่
  3. ให้เปิดให้มีบริการข้ามพรมแดน
  4. มีมาตรการกำกับดูแลที่ไม่เป็นภาระต่อการทำธุรกิจ
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้องทำให้
  1. มีการเข้าถึงโครงข่าย และโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมอย่างเท่าเทียมกัน
  2. ต้องมีการแข่งขันที่เป็นธรรม
  3. ต้องมีหน่วยงานกำกับดูแลที่โปร่งใส และมีประสิทธิภาพ
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
  1. ไม่ให้ผู้ผูกขาดบริการไปรษณีย์ ใช้อำนาจผูกขาดไปในทางที่เอาเปรียบผู้ให้บริการจัดส่งด่วนในตลาด
  2. มีการปรับปรุงกระบวนการศุลกากร
ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ไทยต้อง
  1. ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อสินค้าดิจิตอล
  2. นิยามคำว่าสินค้าดิจิตอล ให้ครอบคลุมสินค้าดิจิตอลที่บรรจุอยู่ในวัสดุสื่อกลาง และสินค้าเสมือน (Virtual Goods) เช่น ซอฟท์แวร์ เพลง วิดีโอ หนังสือ ดิจิตอล เป็นต้น
  3. ให้งดเว้นการเก็บภาษีศุลกากรจากการซื้อขายสินค้าทางอิเล็กทรอนิกส์
  4. การเก็บภาษีสินค้าดิจิตอล ให้ประเมินราคาจากวัสดุสื่อกลาง มิใช่ราคาของข้อมูลที่บรรจุในสื่อนั้น
  5. การยอมรับการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์
  6. ให้คุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์
  7. ยืนยันสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และเลือกใช้
  8. ให้มีการส่งข้อมูลข้ามพรมแดนโดยเสรี และลดอุปสรรคด้านการปิดกั้นข้อมูลข่าวสารบนอินเตอร์เน็ต
  1. รักษาความสามารถทางการแข่งขันของผู้ส่งออกไทย จากการลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ และประเทศสมาชิก TPP
  2. ลดความเสี่ยงจากการถูกตัดการลดภาษีนำเข้า GSP. (Generalized System of Preference) โดยสหรัฐฯ (ปัจจุบัน สินค้าส่งออกของไทย ประมาณ 15% มีมูลค่า 17,525.21 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่ส่งไปสหรัฐฯ ได้รับ GSP.)
  3. การเปิดเสรีภาคบริการมีผลกระทบทั้ง Backward และ Forward Linkage ของภาคการผลิตในประเทศ รวมทั้งเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เปิดโอกาสให้ขยายการค้าบริการ และการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น จะทำให้สร้างความเจริญทางเศรษฐกิจต่อไป
  4. เปิดโอกาสในการเข้าถึงตลาดภาครัฐในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และสร้างความโปร่งใสในระบบการจัดซื้อ จัดจ้างในประเทศ
  5. เปิดโอกาสให้ประเทศไทย ได้พัฒนาและปฏิรูป โดยไทยจะมี Gross Domestic Products (GDP) สูงขึ้น
  6. มีต้นทุนการนำเข้า ต้นทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ต่ำลง รวมถึงผู้บริโภคยังมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
  7. เป็นการแสดงจุดยืนของไทยในเวทีการค้าโลก
  8. ลดอุปสรรคทางการค้าตามกรอบ TPP
  1. ข้าวสาร
  2. ปลาทูน่ากระป๋อง
  3. กุ้งแปรรูป
  4. หน่วยเก็บข้อมูลในเครื่องคอมพิวเตอร์
  1. น้ำมันหล่อลื่น
  2. น้ำยางข้น
  3. ยางแท่ง
  4. ทองคำที่ยังไม่ได้ขึ้นรูป
  5. เครื่องประดับทอง
  6. เครื่องปรับอากาศแบบติดหน้าต่างหรือผนัง
  7. รถปิคอัพ
  8. ถังน้ำมันเชื้อเพลิงรถ
  1. ประเด็นสิทธิบัตรและการเข้าถึงยา สหรัฐฯ จะขยายอายุสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับการผลิต หรือการใช้ยา จาก 20 ปี ออกไปอีกไม่เกิน 5 ปี มากกว่าระดับความคุ้มครอง ภายใต้ความตกลงหรืออนุสัญญา ด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่ไทยเป็นสมาชิก
  2. การผูกขาดข้อมูลยา (Data Exclusivity) ทำให้ผู้ผลิตยาชื่อสามัญ ต้องดำเนินการทดลองทางคลินิก ที่มีค่าใช้จ่ายสูงทั้งหมดใหม่อีกครั้ง และวางตลาดได้ช้าลง
    การเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา (Patent Linkage) อาจจะเป็นเครื่องมือกีดกันคู่แข่ง ไม่ให้สามารถขออนุญาตวางตลาดยาได้โดยง่าย
    การผูกขาดข้อมูลยา และการเชื่อมโยงสถานะสิทธิบัตรกับการขึ้นทะเบียนยา ทำให้การใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (Compulsory Licenses: CL) ได้ยากขึ้น และมีการจำกัดการใช้ CL เฉพาะกรณีโรคติดต่อร้าย และในสถานการณ์ “ฉุกเฉินระดับประเทศ” หรือ “ฉุกเฉินเร่งด่วน” เท่านั้น
    สหรัฐฯ มีวัตถุประสงค์เจรจาให้ประเทศคู่เจรจาเปิดโอกาสหรือปรับปรุงกระบวนการให้บริษัทผู้ผลิตยาของสหรัฐฯ มีโอกาสนำเสนอยาใหม่ของตนให้อยู่ในบัญชียาหลักของประเทศคู่เจรจาได้อย่างโปร่งใสขึ้น
  3. ไทยไม่อาจใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ที่เป็นหรือมีส่วนผสม GMO (Genetically Modified Organisms) เพื่อปกป้องคุ้มครองระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยหลักการระมัดระวัง ได้อย่างเต็มที่
  4. เนื่องจากอัตราภาษีนำเข้าที่ต่ำมากอยู่แล้วของสหรัฐฯ ผู้ส่งออกไทย อาจได้ประโยชน์จากการลดภาษีไม่มากนัก โดยไทยต้องยอมรับพันธกรณีต่างๆ ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ของ TPP หรือตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ หรือผลของการเจรจาต่อรองกับประเทศสมาชิก TPP รวมทั้งสหรัฐฯ ด้วย
  5. การเปิดตลาดภาคบริการ อาจนำไปสู่การผูกขาดโดยผู้ประกอบการต่างชาติได้
  6. อาจเกิดความเสียหายต่อภาครัฐ จากกรณีพิพาทภายใต้ Investor-state-dispute กล่าวคือ หากมีการบังคับใช้ข้อตกลงตามอนุสัญญาที่ไทยภาคี แต่สหรัฐฯ มิได้เป็นภาคี อาจทำให้เกิดข้อโต้แย้งได้
  7. กรณีพิพาทที่อาจเกิดขึ้น หากมีการดำเนินการพันธกรณี ภายใต้อนุสัญญาที่แต่ละประเทศสมาชิก TPP เป็นภาคี ไม่ตรงกันอยู่
  8. ประเทศไทยมีธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง เป็นจำนวนมาก หากไทยเข้าเป็นสมาชิก TPP ธุรกิจดังกล่าวได้รับผลกระทบมาก จนถึงต้องเลิกกิจการ รัฐบาลต้องเตรียมการ และหาทางเยียวยา
การเข้าเป็นสมาชิก TPP ของไทย จะมีผลกระทบต่อการพัฒนา ASEAN Economic Community ได้ เพราะ TPP ดูประหนึ่งจะเป็นคู่แข่งของ AEC นั่นเอง
ผู้นำอาเซียน เมื่อพฤศจิกายน 2554 ได้รับรองเอกสาร ASEAN Framework ที่เรียกว่า “Regional Comprehensive Economic Partnership” (RCEP) ซึ่งเป็นกรอบและหลักการพื้นฐานของอาเซียนในการขยายการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยการจัดทำความตกลงการค้าเสรีกับคู่ภาคี ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลี อินเดีย ออสเตรเลีย และ นิวซีแลนด์ ที่สนใจจะเข้าร่วม โดยวางบทบาทให้อาเซียนเป็นตัวขับเคลื่อนกระบวนการต่อไป
อาเซียนอยู่ระหว่างเตรียมการตั้งคณะทำงาน 4 ด้าน คือ สินค้า ถิ่นกำเนิดสินค้า บริการ การลงทุน เพื่อจัดทำแม่บทการเปิดการค้าเสรี โดยอาเซียนตั้งเป้าหมายการเจรจา RCEP ให้เสร็จในปี 2558 อันเป็นปีเดียวกับที่ AEC มีผลใช้บังคับ
การเข้าเป็นสมาชิก TPP จะมีผลกระทบต่อการพัฒนา AEC ทำให้การพัฒนา AEC ให้เข้มแข็ง และประสบความสำเร็จ ต้องใช้เวลายาวนานออกไป เกินกว่าที่คาดหวังไว้ เพราะกลไกต่างๆ ดังกล่าว ต้องหยุดชะงักลง ถ้ามีข้อตกลง TPP เข้ามาสกัดกั้น เพราะ ASEAN มีประชากร 595 ล้านคน ส่วน TPP มีประชากร 792 ล้านคน
  1. การจัดตั้ง TPP ขึ้น โดยมีสหรัฐฯ เป็นผู้นำ พิจารณาได้หรือไม่ว่า เพื่อเป็นการปิดล้อมจีน ไม่ให้เข้ามามีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้
  2. การจัดตั้ง TPP เป็นการชะลอการเติบโตทางเศรษฐกิจของ ASEAN Economic Community (AEC) หรือไม่
  3. กลุ่มประเทศ TPP มีการเจรจาที่เป็นความลับ และดำเนินการในลักษณะลึกลับซับซ้อน เปิดเผยไม่ได้ ทำให้ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก TPP ยากที่จะประเมินได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น หากไม่ได้เป็นสมาชิก หรือเป็นสมาชิก TPP แล้ว มีข้อผูกพันที่เกิดผลลบขนาดใดหรือไม่ อย่างใด กับประเทศของตน
  4. ลักษณะการผูกพันของสมาชิก TPP ขยายตัวได้ไม่มาก เพราะเงื่อนไขขาดการผ่อนปรน หาก TPP ขยายสมาชิกได้ไม่มากกว่านี้ ก็ไม่น่าเป็นที่สนใจ
  5. อาจกล่าวได้ว่า การเข้าเป็นสมาชิก TPP สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ควบคุม โดยสหรัฐอเมริกาต้องการให้การเป็นสมาชิก TPP เสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 2013 โดยที่นักธุรกิจสหรัฐฯ ได้เตือนประธานาธิบดีสหรัฐฯ ว่า อย่าเร่งรัดตกลง TPP เพราะข้อจำกัดด้านเวลา อาจทำให้การเจรจาของสหรัฐฯ มีจุดอ่อน พร้อมระบุว่า ถ้าจำเป็นต้องใช้เวลา เพื่อให้ข้อตกลงสมบูรณ์แบบมากขึ้น ก็ควรดำเนินการขยายเวลาการเจรจาออกไป นักธุรกิจสหรัฐฯ ต้องการได้ข้อตกลงที่มีคุณภาพสูง ต้องไม่มีการประนีประนอม ต้องไม่เร่งการตกลง โดยที่ผ่านมา รัฐบาลสหรัฐฯ พยายามชักจูงให้ประชาชนสหรัฐฯ เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้ ด้วยการระบุว่า “การส่งออกของสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1,000 ล้านดอลล่าห์ จะช่วยสร้างงานในประเทศได้ 5,000 ตำแหน่ง”
  6. เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า ข้อตกลง TPP อาจไม่สามารถยกเลิกภาษีศุลกากรทั้งหมดในกลุ่มสมาชิกทั้ง 12 ประเทศของ TPP ได้
    มีประเด็นที่น่าสนใจว่า สหรัฐฯ ถูกกดดันให้ยกเลิกข้อจำกัดนำเข้าสินค้าอ่อนไหวทางการเมือง เช่น น้ำตาลทราย ผลิตภัณฑ์จากนม รองเท้า และเครื่องแต่งกาย แลกเปลี่ยนกับการที่ประเทศคู่เจรจาจะออกกฎเกณฑ์ใหม่ด้านสินค้าหรือบริการดิจิตัล
  7. ผู้ผลิตน้ำตาลในประเทศสหรัฐฯ ไม่เห็นด้วยกับการเปิดตลาดสินค้าน้ำตาลในสหรัฐฯ ไม่ว่ากับประเทศที่มี FTA เช่น ออสเตรเลีย หรือประเทศที่ยังไม่มี FTA เช่น เวียดนาม โดยให้เหตุผลว่า การลดภาษีน้ำตาลดังกล่าว จะทำให้เกิดอุปทาน (supply) ส่วนเกิน และราคาน้ำตาลลดลง อันส่งผลให้รายได้ของผู้ผลิตน้ำตาลลดลง จนทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องเข้ามาให้ความช่วยเหลือ และเกิดค่าใช้จ่ายภาครัฐต่อไป
  8. ประเด็นทางการค้าและเศรษฐกิจ ถูกยึดโยงไปเป็นประเด็นทางการเมือง ด้วยข้อตกลงทาง TPP โดยสหรัฐฯ กลับมามีอิทธิพลในเอเชีย ทั้งๆ ที่สภาพทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลังของสหรัฐฯ อยู่ในสภาพย่ำแย่ คล้ายกับการผิดนัดการชำระหนี้สินของประเทศของตน ขาดงบประมาณใช้จ่ายเงินให้หน่วยงานของรัฐ ทำให้หน่วยงานของรัฐต้องปิดกิจการไปชั่วคราวเกือบครึ่งเดือน ปัญหาดังกล่าว ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถาวรหรือสิ้นเชิง เป็นเพียงแต่ผ่อนปรนปัญหาออกไปชั่วคราว จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ และมกราคม 2557 เท่านั้น
  9. ประเทศที่เป็นสมาชิก ASEAN ที่ไม่ได้เป็นสมาชิก TPP ปัจจุบัน คือ ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
  10. ประเทศอินโดนีเซีย แม้มิได้เป็นสมาชิก TPP ก็มีต่างประเทศไปลงทุนในอินโดนีเซียเป็นจำนวนมาก มี GDP. สูงขึ้น เพราะค่าแรงงานต่ำ ราคาพลังงานต่ำ ก็สามารถพัฒนาทางเศรษฐกิจของตนให้เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นได้
    การที่ประเทศเวียดนาม สมาชิก TPP มี GDP. สูงขึ้น ไม่ใช่เป็นผลมาจากเป็นสมาชิก TPP แต่เป็นเพราะมีราคาค่าแรงงานที่ต่ำ ต้นทุนสินค้ามีราคาถูก จึงส่งออกได้มาก ทำให้ GDP. สูงขึ้น
  11. ผลกระทบที่รวดเร็วและรุนแรง และการปรับตัวที่ไม่ง่ายนัก หรือจะเรียกว่า เป็นการปรับตัวอย่างทุรนทุรายของไทย จะมีความยากในการเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ของไทย
  12. อย่างไรก็ตาม การที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิก TPP ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญ โดยที่ประเทศไทยต้องเตรียมให้พร้อมในหัวข้อการเจรจา คาดการณ์เนื้อหาการเจรจา ประเด็นถกเถียง ประเด็นอ่อนไหว การเยียวยา และการเตรียมความพร้อมต่อผลกระทบของธุรกิจไทยที่จะได้รับจากการเป็นสมาชิก TPP ครั้งนี้ รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย และการปรับตัว

ไม่มีความคิดเห็น: