PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันเสาร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เส้นทาง"จรูญ อินทจาร"ประธานศาลรธน.คนใหม่


วันพุธที่ 9 ตุลาคม 2556, 04:38 น.
โดย...ทีมข่าวการเมือง

เป็นไปตามคาดเมื่อที่ประชุมองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ “จรูญ อินทจาร” เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญใหม่แทน “วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์” ที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้ ขั้นตอนต่อไปจะส่งเรื่องให้ “นิคม ไวยรัชพานิช” ประธานวุฒิสภานำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

จรูญ ในวัย 69 ปี จะมีวาระดำรงตำแหน่งอีกเพียงหนึ่งปีเท่านั้น เพราะทันทีที่มีอายุครบ 70 ปี ในวันที่ 29 พ.ค. 2557 จะต้องพ้นจากตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ โดยเวลาเหลืออีกเพียงประมาณ 1 ปี แม้จะเป็นเวลาที่สั้นแต่หนทางข้างหน้านับว่าวิบากไม่น้อย เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีงานใหญ่รออยู่ถึง 2 งานด้วยกัน

1.การวินิจฉัยคำร้องเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งแยกย่อยเป็นอีก 2 ประเด็น 

- การวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 68 และ 237 ที่ตัดอำนาจไม่ให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถรับคำร้องจากประชาชนว่าด้วยสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญได้โดยตรง ถือเป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครองหรือไม่ โดยมีอยู่ในสารบบของศาลอยู่จำนวน 6 คำร้อง 

- การวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนที่มาของ สว. เป็นลักษณะของการกระทำที่เข้าข่ายต่อการล้มล้างการปกครองหรือไม่ ซึ่งมีอยู่ในสารบบของศาล 4 คำร้อง 

2.การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 169 หรือไม่ หลังจากกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในอนาคต

นอกเหนือไปจากงานวินิจฉัยอรรถคดีแล้ว ประธานศาลคนใหม่ยังมีภารกิจในการสรรหาและคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระถึง 3 องค์กรด้วยกัน ได้แก่ 1.คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 3 คน 2.ผู้ตรวจการแผ่นดิน 1 คน และ 3.กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 1 คนแทน 

สำหรับเส้นทางในสายศาลรัฐธรรมนูญของ “จรูญ” เริ่มจากการได้รับฉันทามติจากที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2551 ให้มาดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญร่วมกับ “อุดมศักดิ์ นิติมนตรี” โดยการทำงานในด้านการพิจารณาวินิจฉัยอรรถคดีนั้นนับว่าเป็นหนึ่งในตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นที่ปลาบปลื้มของพรรคเพื่อไทยมากนัก ไล่ตั้งแต่ปี 2551 วินิจฉัยให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย เป็นเวลา 5 ปี

ถัดมาปี 2553 ได้เป็นเสียงข้างมากไม่ยุบพรรคประชาธิปัตย์ในคำร้องกล่าวหาว่าบริษัท ทีพีไอโพลีน จ่ายเงินค่าจ้างทำสื่อโฆษณาให้กับบริษัท เมซไซอะ บิซิเนส แอนด์ ครีเอชั่น เป็นการอำพรางการบริจาคเงินของบริษัท ทีพีไอโพลีน ให้กับพรรคประชาธิปัตย์จำนวน 258 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านี้ ในปีเดียวกันได้แจ้งความดำเนินคดีกับ “พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์” โฆษกพรรคเพื่อไทย ในข้อหาหมิ่นประมาทเกี่ยวกับการบริหารในสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เป็นผลให้จรูญต้องขอถอนตัวจากการเป็นองค์คณะตุลาการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ในปมเงินบริจาคเข้าพรรค 29 ล้านบาท

ขณะที่การวินิจฉัยคดีในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ของจรูญนับว่ามีความน่าสนใจเช่นกัน โดยเฉพาะใน 2 คดีสำคัญทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเมือง

เริ่มตั้งแต่การให้ความเห็นว่าการตราพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อลงทุน วางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555 วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท และ พ.ร.ก.ปรับปรุงการบริหารหนี้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2555 เป็นเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 184 

“การโอนการบริหารจัดการหนี้ไปให้กองทุนฯ มีเจตนา เพื่อบรรเทาภาระของงบประมาณแผ่นดินในการที่จะต้องจัดการคืนหนี้พร้อมดอกเบี้ยของกองทุนฯ อันจะทำให้มีงบประมาณแผ่นดินสำหรับจัดสรรไปฟื้นฟู บรรเทา เยียวยา และในการบริหารจัดการป้องกันอุทกภัย” ส่วนหนึ่งจากความเห็นในการวินิจฉัยคดีส่วนตน เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2555 

ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ “จรูญ” ได้ให้แนวทางเอาไว้ในคำวินิจฉัยส่วนตนว่า “หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับหรือจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่...ย่อมกระทำได้โดยการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ซึ่งอาจแสดงออกโดยการลงประชามติเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550” (วันที่ 13 ก.ค. 2555) 

เห็นแบบนี้แล้วทำให้การทำงานของศาลรัฐธรรมนูญภายใต้ผู้นำคนใหมจึงเป็นที่น่าจับตาอย่างยิ่ง 

ไม่มีความคิดเห็น: