PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

รัฐบาลถังแตกจริงไหม

กำลังทอล์กกันให้แซ่ด รัฐบาลถังแตกจริงไหม เมื่อ กรมสรรพสามิตขึ้นภาษีน้ำมันเครื่องบินและน้ำมันเครื่อง เพื่อหารายได้เพิ่ม 8,000 ล้านบาท เนื่องจาก 3 เดือนแรกของงบปี 60 ถึงเดือนธันวาคม รายได้ติดลบอยู่ 5,000 ล้านบาท ในการทำงบกลางปีเพิ่มอีก 190,000 ล้านบาท ก็มีการตั้งงบ “คืนเงินคงคลัง” ถึง 27,000 ล้านบาท

ร้อนถึง พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกรัฐบาล ต้องออกมาแถลงว่า ไม่จริงรัฐบาลไม่ได้ถังแตก ณ เดือนธันวาคม 2559 รัฐบาลมีเงินคงคลังเหลือ 74,907 ล้านบาท (ถือว่าต่ำสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา) ยิ่งทำให้ตกใจกันใหญ่

คุณเดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยเกษตรฯ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กว่า ขอช่วยโฆษกชี้แจงเพิ่มเติม “ตอนเดือนกันยายน 2557 หลังจากรัฐบาล คสช. เข้ารับตำแหน่งใหม่ รัฐบาลมีเงินคงคลัง 495,747 ล้านบาท ผ่านไป 2 ปีกว่า เงินคงคลังรัฐบาลเหลืออยู่ 74,907 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพราะฉะนั้นรัฐบาลยังไม่ถังแตกครับ แค่เงินคงคลังลดลงไป 420,840 ล้านบาท เท่านั้นเอง

ยังไม่นับรวมในระหว่างเดือน ก.ย.57 ถึง ธ.ค.2559 รัฐบาล คสช.ได้กู้ยืมเงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีก 744,187 ล้านบาท นึกไม่ออกเลยจริงๆว่า ถ้าได้รับโอกาสบริหารประเทศไปอีก 15 ปี ฐานะการคลังของประเทศจะเป็นอย่างไร เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้”

เมื่อนักข่าวเอาไปถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ทำเอานายกฯตู่ มีอารมณ์หงุดหงิด จนนักข่าวต้องปลอบ ให้นายกฯ ใจเย็นๆ นายกฯก็ตอบว่า ใจเย็นอยู่แล้ว

ต่อมา คุณอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีคลัง ได้แถลงยืนยันว่า รัฐบาลไม่ได้ถังแตกจนต้องขึ้นภาษีสรรพสามิต แต่ขึ้นเพื่อความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ภาษีน้ำมันประเภทอื่นปรับขึ้นไป 3-6 บาทต่อลิตร ดีเซลอยู่ที่ 5 บาทต่อลิตร คนโดยสารรถ บขส. เสียภาษีลิตรละ 5 บาท คนโดยสารเครื่องบินเสียภาษีเพียงลิตรละ 20 สตางค์

แต่เงินคงคลังลดเหลือ 7 หมื่นล้านบาท รัฐมนตรีคลัง ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง แต่เป็นไปตามนโยบายที่เพิ่งมอบหมายให้ กรมบัญชีกลาง ไปรักษาระดับเงินคงคลัง ให้อยู่ในระดับต่ำที่สุดเท่าที่จะรับได้ เพื่อ ประหยัดรายจ่ายดอกเบี้ย ที่รัฐบาลไปกู้เงินคงคลังมาไว้ โดยที่ยังไม่จำเป็นต้องจ่าย ปัจจุบันเงินคงคลัง 100,000 ล้านบาท ต้องจ่ายดอกเบี้ย 2,000 ล้านบาท กรมบัญชีกลางเสนอว่า เงินคงคลังควรอยู่ที่ 50,000–100,000 ล้านบาท ระดับ 100,000 ล้านบาทก่อนจ่ายเงินเดือนและค่าสวัสดิการต่างๆ เมื่อจ่ายแล้วเหลือ 50,000 ล้านบาท

(ผมรู้สึกว่า กรมบัญชีกลาง จะ “ประมาท” มากไปหน่อย “ไม่เผื่อวิกฤติ” เอาไว้เลย)

รัฐมนตรีคลัง บอกว่า หลักการเงินคงคลัง จะเตรียมเงินไว้ใช้ล่วงหน้าประมาณ 2 สัปดาห์ หากเกิดเหตุการณ์ที่ประเทศจำเป็นต้องใช้เงิน เราก็ยังมีช่องทางในการกู้เงินอีกมาก เรายังมีวงเงินกู้ระยะสั้นอีกประมาณ 80,000 ล้านบาท ปีงบประมาณที่ผ่านมาเราขาดดุล 3.9 แสนล้านบาท มีการกู้จริงเพียงแสนล้านบาท ทำให้มีวงเงินกู้ส่วนนี้รวมแล้วเกือบ 3 แสนล้านบาท เพียงพอรองรับการใช้เงินของประเทศแน่นอน
เงินคงคลังคืออะไร ชาวบ้านทั่วไปอ่านแล้วอาจจะงงๆ ผมขออธิบายสั้นๆว่า

เงินคงคลัง คือ เงินสดและเงินฝากของกระทรวงการคลัง นั่นเอง พูดง่ายๆก็คือ “เงินออมของประเทศ” ถ้าปีไหนรัฐบาลมีรายได้สูงกว่ารายจ่าย ก็มีเงินเหลือเก็บ มีรายได้มาก เงินก็เหลือมาก มีรายได้น้อย เงินก็เหลือน้อย แต่ถ้าปีไหนมีรายได้ต่ำกว่ารายจ่าย ก็ต้องเอาเงินคงคลังออกมาใช้

การที่เงินคงคลังลดลงจาก 495,747 ล้านบาท เหลือ 74,907 ล้านบาท ในเวลาเพียงสองปีเศษ แสดงว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายได้ จึงต้องเอาเงินคงคลังมาใช้มาก

ผมไม่มีความรู้ว่า เงินคงคลังที่มั่นคง จะต้อง มีกี่เปอร์เซ็นต์ของงบประมาณ แต่รู้ว่าหลักการเงินที่ดีที่สุดในโลกก็คือ Cash Is King เงินสดคือพระเจ้า ไม่ว่าจะเป็น “ธนบัตร” หรือ “เงินอิเล็กทรอนิกส์” ถ้าไม่มีเงินสดในมือ เกิดวิกฤติขึ้นมาลำบากแน่นอนครับ.
“ลม เปลี่ยนทิศ”

ไม่มีความคิดเห็น: