PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เสกสรรค์และธีรยุทธ คนวันนั้นกับคำถามวันนี้

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา
-----------------------------------------------

ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ธีรยุทธ บุญมี เป็นตัวแทนนักศึกษาเข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัวที่สวนจิตรลดา
เสกสรรค์ ประเสริฐกุล กุมมวลชนกุมไมค์ปราศรัยอยู่บนรถกระจายเสียง

40 ปีผ่านไป ทั้งสองคนกลับมาปาฐกถากันคนละเวที

อาจารย์ธีรยุทธ บุญมี เก่งในเรื่องการใช้ถ้อยคำ ที่จะทำให้เป็นข่าวหน้าหนึ่งในวันรุ่งขึ้น

อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล เก่งในการใช้ถ้อยคำ ที่เหมาะนำไปรวมเล่มอ่านข้ามปี

ทั้งสองท่านมีดีไปคนละแบบ

และเป็นสองในหลายแบบของ 14 ตุลา ที่ไม่ได้มีอยู่หน้าเดียว

14 ตุลาจึงเป็นหนังสือเล่มใหญ่ ที่คนรุ่นใหม่อาจเห็นแต่ภาพปก

ครั้นเปิดไปข้างในกลับเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลาย

แม้ในหมู่นักศึกษาเองก็ยังมีทั้งฝ่ายก้าวหน้าและฝ่ายอนุรักษ์

จึงไม่น่าแปลกที่เดือนตุลาปีนี้ จะมีการจัดงานจากคนทั้งสองปีก

เป็นสองปีกที่พยายามนำพาประเทศไทยให้โผบินไปข้างหน้าด้วยสองวิธีคิดใหญ่

ทำให้นกแอร์ลำนี้บินไปได้ไม่ราบรื่นนัก หรืออาจจะมีหยุดพักเป็นช่วงๆ

ถ้าตัดลีลาแห่งถ้อยคำออกเสีย

อาจารย์ธีรยุทธพยายามชี้ให้เห็นความไม่มีธรรมาภิบาลของระบอบทักษิณ

อาจารย์เสกสรรค์พยายามชี้ให้เห็นความไม่เป็นประชาธิปไตยของการโค่นทักษิณ

ผู้เป็นตัวแทนของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ซึ่งจับมือกับชนชั้นล่างและชนชั้นกลางใหม่ผ่านนโยบาย

จนกลายเป็นคู่ต่อสู้กับกลุ่มอำนาจเก่าที่อาจารย์ธีรยุทธเรียกว่า พลังอนุรักษ์

ความแตกต่างในการมองปัญหานั้นมีแต่ประเด็นที่ทั้งสองเห็นพ้องต้องกันก็คือ เรื่องการรัฐประหาร
อาจารย์เสกสรรค์สรุปชัดเจนว่า
“ความผิดพลาดใหญ่หลวงของรัฐประหารปี 49 นั้น มิได้เป็นเรื่องของหลักการเท่านั้นหากยังเป็นเรื่องการประเมินกำลังของคู่ต่อสู้ด้วย พวกเขามองข้ามการมีอยู่ของมวลชนมหาศาลที่ประกอบกันเป็นชนชั้นกลางใหม่ในต่างจังหวัดและชนชั้นกลางค่อนไปทางล่างในเมือง มองไม่เห็นการมีอยู่ของปัญญาชนและชนชั้นกลางเก่าบางส่วนที่ผูกพันและหวงแหนระบอบประชาธิปไตย มองไม่เห็นศักยภาพในการตอบโต้ของชนชั้นนำใหม่ที่โตมากับทุนนิยมโลกาภิวัตน์เรื่องจึงไม่จบลงง่ายๆ หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 50 ความขัดแย้งยิ่งรุนแรงและซับซ้อนยิ่งขึ้นความขัดแย้งเรื่องประชาธิปไตยได้ลุกลามลงสู่ระดับมวลชน
และหมิ่นเหม่ต่อการก่อรูปเป็นสงครามกลางเมือง”

สงครามกลางเมืองนี่แหละ ที่นักคิด และปัญญาชนทุกคนหวั่นเกรงมากที่สุด

ในขณะที่อาจารย์ธีรยุทธฟันธงว่า

“รัฐประหารไม่อาจเกิดขึ้นได้แล้วในประเทศไทยเพราะจะมีคนต่อต้านมากขึ้น ไม่มีคนสนับสนุน
ถึงแม้รัฐประหารโดยใช้กำลัง พลังอนุรักษ์ก็ไม่มีทั้งบุคลากร วิสัยทัศน์ กระบวนทัศน์ที่ถูกต้อง
ที่จะนำพารัฐไทยต่อไปได้”

อาจารย์ธีรยุทธสรุปว่า
พลังอนุรักษ์ต้อง remodernize ตัวเองใหม่

ในขณะที่อาจารย์เสกสรรค์เตือนให้ฝ่ายก้าวหน้าเข้าใจประวัติศาสตร์ วัฒนธรรมอันเป็นเนื้อดินในจิตใจของคนไทยส่วนใหญ่ที่ประชาธิปไตยอันเป็นของใหม่ต้องฝังราก

อาจารย์ธีรยุทธตั้งคำถามสำคัญต่อประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมนั้นว่าการเน้นสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นศูนย์กลางของความมั่นคงทางการเมืองเป็นใจกลางของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเป็นใจกลางของคุณธรรมอย่างล้นเกินนั้น คล้ายการสุ่มเสี่ยง เพราะนี่เป็นลักษณะเฉพาะของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันจึงควรคำนึงถึงความต่อเนื่องเชิงสถาบันว่า พระมหากษัตริย์องค์ถัดๆ ไป ซึ่งเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจะสามารถดำเนินภารกิจและบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ดังกล่าวได้หรือไม่
“ถ้าไม่ได้จะส่งผลสะท้อนกลับอย่างไร”

นี่เป็นหนึ่งในหลากหลายประเด็นใหญ่ จากสองนักคิดไทย ผู้เป็นหนึ่งในหลากหลายหน้า
ของหนังสือที่ชื่อว่า 40 ปี 14 ตุลาคม
ลองหาอ่าน หาชมฉบับเต็มกันเองนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น: