PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

นักวิชาการชี้ศาลรธน.แทรกแซงการเมืองเกิน

วันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 16:53
โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

"พรสันต์"ชี้คำวินิจฉัยศาลรธน.มีปัญหา เหตุศาล take Action การเมืองมากเกินไป ย้ำไม่มีคำสั่ง เพราะองค์กรรัฐสภามีอำนาจเต็มในการแก้ไขรธน.

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยแก้รัฐธรรมนูญที่มาส.ว.นายพรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ในฐานะผู้เชี่ยชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ กลุ่มมาตราที่มาของส.ว. ไม่ชอบด้วยกระบวนการแก้ไข ว่า ในภาพรวมของคำวินิจฉัยของศาล เห็นชัดเจนว่าไม่ได้มีการออกคำสั่งให้มีการปฏิบัติใดๆ ซึ่งตามหลักของรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ที่ระบุให้ใช้ได้กับบุคคล หรือนักการเมือง หากพบการกระทำที่มีลักษณะล้มล้างการปกครองเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจนอกรัฐธรรมนูญ ต้องสั่งให้ยุดการกระทำนั้น แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกมาไม่ได้สั่ง นั่นเป็นเพราะไม่ได้เกี่ยวกับบุคคล หรือพรรคการเมือง เนื่องจากส.ว.ไม่ได้มีการสังกัดพรรคการเมือง และถือเป็นเรื่องขององค์กรรัฐสภาที่มีอำนาจทำได้ ดังนั้นจึงถือว่าศาลได้ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 68 อย่างขัดกับเจตนารมณ์

ส่วนประเด็นที่ศาลได้เชื่อมโยงไปยังรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสองว่าด้วยการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลรวมถึงองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม และเชื่อมโยงกับพฤติกรรมของสมาชิกรัฐสภาที่ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายต่อสถานการณ์ทางการเมืองนั้น ตนมองว่าศาลได้วินิจฉัยไปไกล โดยที่ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ ยังมีหน่วยงานหรือองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญอื่นๆ รวมถึงกลไกทางการเมืองอื่นที่ทำหน้าที่ตรวจสอบ

นายพรสันต์ กล่าวต่อว่า กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญบอกให้ยึดหลักนิติรัฐ นิติธรรม หมายถึงการยึดกฎหมายเป็นใหญ่ เพราะประเทศไทยนั้นมีการการปกครองโดยกฎหมาย และกฎหมายสูงสุด คือ รัฐธรรมนูญ ดังนั้นประเด็นคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญควรตัดสินคดีในทางกฎหมาย ส่วนที่บอกว่ากระบวนการตรารัฐธรรมนูญไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น มีการเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอมาก่อนเข้าสู่การพิจารณาวาระแรก

นายพรสันต์ มองว่า หากการเปลี่ยนร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีผลกระทบกับหลักการที่ต้องการให้สมาชิกวุฒิสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็ไม่มีปัญหา และไม่ได้ส่งผลให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ส่วนประเด็นการเสียบบัตรแทนกัน หรือมีการปิดอภิปรายทั้งที่ยังมีผู้อภิปรายไม่แล้วเสร็จ ถือเป็นการบริหารจัดการการประชุม ซึ่งเป็นเรื่องภายในของรัฐสภา ดังนั้นหากกระบวนการดังกล่าวไม่ชอบ ก็เป็นเรื่องภายในของฝ่ายนิติบัญญัติ ที่จะดำเนินการตรวจสอบตามขั้นตอน เช่น กรรมการจริยธรรม, ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ฝ่ายตุลาการจะตรวจสอบเรื่องดังกล่าว และการที่ศาลฯ วินิจฉัยแบบนี้ถือว่าศาลได้เข้ามาก้าวล่วงการทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัต

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญรอบล่าสุดถือว่ามีปัญหามากๆ เพราะระบุชัดเจนว่าไม่สามารถแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาสาระที่ขัดกับเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ ดังนั้นประเด็นที่กระทบกับธรรมชาติของการแก้ไขกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญได้ ผมมองว่าสิ่งที่ศาลทำคือการเข้ามา Take Action ในทางการเมืองของฝ่ายนิติบัญญัติ ซึ่งมีความอันตรายอย่างมากและการลงมาเล่นการเมืองของศาลจะทำให้เกิดปัญหาได้" นายพรสัตน์ กล่าว

นายพรสันต์ กล่าวต่อว่าสำหรับคำวินิจฉัยดังกล่าว เชื่อวาจะถูกผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลนำไปสร้างความชอบธรรมให้กับประเด็นการขับไล่รัฐบาล โดยเชื่อมโยงกับร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ได้ ทั้งนี้ตนขอฝากคำถามไปยังสมาชิกรัฐสภาที่ยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้มาตรวสอบองค์กรของตนเอง ว่าเข้าใจในอำนาจของฝ่ายตุลาการ หรือ อำนาจฝ่ายนิติบัญญัติจริงหรือไม่ หากไม่เข้าใจตนเชื่อว่าจะทำให้ระบบมันเจ๊งกันหมด

ไม่มีความคิดเห็น: