กรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐอ้างได้ ส.ส. ทะลุร้อยแน่ หลังกลุ่ม "สามมิตร" สมัครสมาชิกพรรค ป้อง "มาดามเดียร" ตั้งใจทำงานการเมืองเพื่อชาติ ไม่เกี่ยวนามสกุล
นายอุตตม สาวนายน รมว. อุตสาหกรรม ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดโรงแรงแชงกรี-ล่า รองรับการสมัครเป็นสมาชิกพรรคของอดีตนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม "สามมิตร" ราว 60 คน ซึ่งอยู่ภายใต้การนำของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน และนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ โดยทั้งหมดเดินทางมาโรงแรมหรูด้วยรถโดยสารขนาดใหญ่
"หลังจากนี้จะไม่มีกลุ่มสามมิตร เพราะเรามาเข้าเป็นกลุ่มพรรคพลังประชารัฐแล้ว" นายสุริยะกล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนสมัครเป็นสมาชิก พปชร. และย้ำว่าเขาและนายสมศักดิ์จะเป็นเพียงสมาชิกพรรคธรรมดา ๆ และไม่มีการตั้ง "มุ้ง" ภายในพรรคแน่นอน
นายสุริยะยังปฏิเสธข้อครหาที่ว่ากลุ่มสามมิตรรับใช้ทหาร โดยระบุว่าพวกเขาเป็นพลเรือน ไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาฝ่ายทหาร แต่ถามว่ามีใครชักชวนให้กลับมาเล่นการเมืองหลังจากที่เลิกเล่นการเมืองไป 10 กว่าปี ก็ตอบว่ามี และคน ๆ นั้นเป็นคนที่นายสุริยะให้ความเคารพตั้งแต่สมัยทำพรรคไทยรักไทยอยู่ด้วยกัน
ผู้ส่งเทียบเชิญนายสุริยะ อดีตเลขาธิการพรรคไทยรักไทย กลับสู่แวดวงการการเมืองได้พูดจาหว่านล้อมเขาว่า หากไม่มีพรรคการเมืองใหม่เกิดขึ้น การเมืองก็จะเป็นการต่อสู้ระหว่าง 2 พรรคเดิม ซึ่งในที่สุดอาจเกิดวิกฤติการเมืองอีก จึงคิดว่าอยากให้ตั้งพรรคการเมืองที่เป็นทางเลือกใหม่ของประชาชน
- พรรคพลังประชารัฐ : ใครเป็นใครในผู้ร่วมก่อตั้ง
- พลังประชารัฐ: จาก "เพื่อนสมคิด" สู่ "เพื่อประยุทธ์" ?
- จาก ทักษิณ ถึง "สามมิตร" การเมืองไทยไม่ไร้ "การดูด ส.ส."
สำหรับบุคคลที่เจรจาให้นายสุริยะมาร่วม พปชร. คือนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งเคยเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจในยุครัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร และเป็นบุคคลที่นายสุริยะและสมศักดิ์ให้ความนับถือ เรียกว่า "อาจารย์" ทุกคำ เช่นเดียวกับ 4 รัฐมนตรีที่กลายมาเป็นผู้บริหาร พปชร. ก็ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ของนายสมคิดทั้งสิ้น
อ้างได้ ส.ส. ทะลุร้อยเสียงแน่
นายสุริยะยังกล่าวปราศรัยต่อหน้าสมาชิกพรรค โดยช่วงหนึ่งเขาได้ขยายความว่า "คนที่ชักชวนมาบอกผมว่าถ้าไม่มีพรรคการเมืองใหม่ สองพรรคการเมืองเดิมก็จะเข้ามา จากนั้นจะเกิดวิกฤติการเมือง ทหารจะเข้ามาดับวิกฤติอีก ไม่เกิดการพัฒนา จึงต้องมีพรรคทางเลือก เราจึงเข้ามา" ผ่านไปเกือบ 8 เดือน ต่อไปนี้จะเป็นขั้นที่ 2 ซึ่งจะต้องได้ ส.ส. เกิน 150 คน จากประสบการณ์และทำโพลต่าง ๆ มั่นใจว่า ได้แน่นอน 150 เสียง วันนี้เห็นดาวรุ่งไฮด์ปาร์กคนใหม่คือท่านสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เลขาธิการ พปชร. จึงขอให้ท่านรีบลาออก เพื่อไปช่วยพรรคปราศรัยหาเสียง ส่วนขั้นที่ 3 เราต้องเป็นแกนนำตั้งรัฐบาล และฟื้นฟูประเทศ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งแนวนโยบายทางภาคตะวันออกอย่างอีอีซี ถือเป็นตัวอย่างที่ดี แต่จะทำอย่างไรให้โครงการแบบนี้เกิดในภาคเหนือและอีสาน ถ้าทำสำเร็จ พปชร. จะอยู่ในหัวใจคนทั้งประเทศ
ด้านนายสมศักดิ์แสดงความมั่นใจว่า ว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งของ พปชร. มีสิทธิได้เป็น ส.ส. "ถ้าจะพูดคุยถามเรื่องตัวเลข จะเป็นการพูดคุยเวอร์ไปเปล่า ๆ แต่ถ้าดูจากความพร้อมของพรรคและผู้สมัคร ผมมั่นใจ และความเสมอภาคที่พรรคให้กับผู้สมัครทั้งคนใหม่และคนเก่า ทั้งอดีต ส.ส. ดาวรุ่ง ดาวฤกษ์ตรงนี้ก็มีความเสมอภาค ดังนั้นจึงไม่จำเป็นว่าต้องเป็นผู้แทนฯ เก่า"
นายอนุชา นาคาศัย กรรมการบริหาร พปชร. ในโควต้ากลุ่มสามมิตร กล่าวอ้างว่าพรรคของเขามีโอกาสได้ ส.ส. กว่า 100 ที่นั่ง เนื่องจากนโยบายที่นำเสนอดีและตรงใจประชาชน และผู้สมัครของพรรคมีคุณภาพ

ท่ามกลางอดีตนักการเมืองจากหลากหลายกลุ่มที่เข้ามาสังกัด พปชร. หัวหน้าพรรคการเมืองผู้ไม่เคยลงสมัครับเลือกตั้งมาก่อน แสดงความเชื่อมั่นว่าจะบริหารจัดการได้ เพราะทุกคนที่เข้ามาใน พปชร. ถือเป็นกลุ่มเดียวกันทั้งหมด พร้อมปฏิเสธว่าจะไม่มีปัญหาเรื่องการจัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้ง "เรามีสรรพกำลังพอสมควร บางจุดอาจจะมีคนเก่งมีความสามารถมากกว่า 1 คน ก็ต้องพูดคุยกัน"
3 คำตอบที่ พปชร. ถูกวิจารณ์มากที่สุด ณ เวลานี้
นอกจากนี้นายอุตตมยังตอบคำถามผู้สื่อข่าวในอีก 3 ประเด็นซึ่งพรรคถูกจับจ้อง-วิจารณ์มากที่สุด ดังนี้
1. การเข้าเป็นสมาชิกพรรคของ น.ส. วันทยา วงษ์โอภาสี หรือมาดามเดียร์ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติไทยชุดอายุไม่เกิน 23 ปี และรองประธานเจ้าหน้าบริหารในกลุ่มบริษัท สปริงนิวส์ สมัครเป็นสมาชิก พปชร. ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการแทรกแซงสื่อ ?
- ทำไมไปคิดแบบนั้น เราเปิดกว้างทางการเมือง จะมาตั้งแง่ทำไม คนที่มีความตั้งใจจะเข้ามาทำงานการเมืองเพื่อชาติไม่ว่านามสกุลไหนทั้งหมดอยู่ที่ตัวบุคคล อย่าไปมองที่นามสกุล
2. คำสั่งหัวหน้า คสช. ยืดเวลาให้ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งถูกวิจารณ์ว่าแทรกแซง กกต. และเอื้อประโยชน์ให้กับ พปชร. ?
- ไม่มีการเอื้อเพื่อประโยชน์ให้กับ พปชร. พรรคมีความพร้อมและได้เตรียมการมาอย่างต่อเนื่อง โดยยึดหลักตามที่ กกต. กำหนดให้วันที่ 24 ก.พ. 2562 เป็นวันเลือกตั้ง เราถือคำสั่งนี้เป็นหลัก ส่วนงานอื่นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการ และเราพร้อมดำเนินการตามกติกา
3. สรุปจะเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี ใช่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หรือไม่ ?
- คำถามนี้เร็วเกินไป วันนี้เราเพิ่งได้รับการรับรองความเป็นพรรคการเมือง ขอเวลาให้พรรคได้มีการหารือแล้วจึงจะได้สรุปจะเสนอใคร กรณีของ พล.อ. ประยุทธ์ก็คงต้องไปถามตัวท่านเองว่าพร้อมเสนอตัวทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ แต่ยืนยันว่าในส่วนของพรรคยังไม่ได้เลือกใคร

พลิกชื่ออดีตนักเลือกตั้งไหลเข้า พปชร.
ก่อนประกาศสลายกลุ่ม "สามมิตร" แกนนำ 2 ส. ได้รวบรวมนักการเมืองไว้เป็นกลุ่มก้อน ก่อนยกคณะมาสมัครเป็นสมาชิก พปชร. ต่อไปนี้เป็นรายชื่อเพียงบางส่วน
อดีตรัฐมนตรี
- นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว. คมนาคม
- นายสมศักดิ์ เทพสุทิน อดีต รมว. เกษตรและสหกรณ์
- นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต รมว. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- นายสันติ พร้อมพัฒน์ อดีต รมว. การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
- นายภิญโญ นิโรจน์ อดีต รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
- นางพรรณสิริ กุลนาถศิริ อดีต รมช. สาธารณสุข และอดีต นายก อบจ.สุโขทัย
- นายจำลอง ครุฑขุนทด อดีต รมช. ศึกษาธิการ
อดีต ส.ส.
- นายมณเฑียร สงฆ์ประชา อดีต ส.ส. ชัยนาท
- นางบุญยิ่ง นิติกาญจนา อดีต ส.ส. ราชบุรี
- นายจักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส. สุโขทัย
นอกจากกลุ่มสามมิตร ยังมี ร.อ. ธรรมมนัส พรมมเผ่า หรือที่รู้จกในชื่อเดมว่า "ผู้กองมนัส" หรือ "ผู้กองตุ๋ย" เดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคด้วย โดยให้เหตุผลว่าต้องการก้าวข้ามความขัดแย้ง อยากเห็นบ้านเมืองเดินหน้าได้ ไม่ใช่ประชาธิปไตยข้างถนน ทั้งนี้ทราบว่าในส่วนของผู้สมัคร ส.ส. พะเยา มีตัวผู้สมัครครบทั้งหมดแล้ว จึงคาดว่าจะได้ลง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น