PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2559

รับเพื่อความสงบ? ทายท้าวิชามาร

ใบตองแห้ง
นักธุรกิจบางราย ออกมาเปิดตัวว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญ “เพื่อให้บ้านเมืองสงบ” ฟังแล้วตลก พร้อมน่าสมเพช แม้ไม่แน่ใจว่าพูดเพื่อเอาใจผู้มีอำนาจหรือเปล่า
ก็เข้าใจนะครับ ภาคธุรกิจไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย ต้องการความสงบ เพื่อทำมาหากิน ผมเข้าใจดีว่าคนทำมาค้าขายพึงพอใจบรรยากาศทางการเมืองใน 2 ปีที่ผ่านมา แต่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่านี่คือความสงบชั่วคราว รอวันปะทุ
คนส่วนหนึ่งคิดเอาง่ายๆ อยากให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน เพราะกลัวจะมีการลุกฮือไล่ คสช. หรือกลัวบรรยากาศการเมืองกระทบความเชื่อมั่น เศรษฐกิจกำลังจะฟื้น หยวนๆ ยอมๆ กันดีกว่า ไม่แปลกอะไรนี่คือนิสัยคนไทยที่ชอบผลักภาระไปข้างหน้า
โดยไม่ยักมองว่าร่างรัฐธรรมนูญที่ 2 พรรคการเมืองใหญ่ไม่รับ ภาคประชาสังคม NGO ไม่เอา จะนำไปสู่การเลือกตั้งได้ไง นำไปสู่ความสงบได้ไง
ย้อนคิดง่ายๆ สมมติประชามติครั้งนี้เปิดให้มีดีเบตรณรงค์เหมือนปี 2550 คุณว่าจะผ่านไหม ครั้งนั้นมีแค่พรรคไทยรักไทยกับผู้รักประชาธิปไตยจำนวนหนึ่ง กรธ.ชูจุดขาย “รับรัฐธรรมนูญเลือกตั้งเร็ว” “รับไปก่อนแก้ทีหลัง” ก็ยังชนะกัน 14.7 ต่อ 10.7 ล้านเสียง ครั้งนี้เพิ่มพรรคประชาธิปัตย์ครึ่งพรรค เพิ่ม NGO อีกหลากหลาย เพียงแต่ฝ่ายไม่รับเสียเปรียบเพราะถูกปิดกั้นมีข้อห้ามเอาผิดกันมากมาย
ถ้าประชามติผ่านเพราะคนไม่เข้าใจ หรือผ่านเพราะคนลงประชามติใต้บรรยากาศหวาดกลัว แม้ผ่านได้ก็กลายเป็นพันธนาการนำไปสู่ความขัดแย้งที่แรงขึ้น
อย่าลืมนะครับ ปี 50 มีพรรคไทยรักไทยค้านอยู่กลุ่มเดียว ก็ยังวุ่นวายจนเกิดรัฐประหารใหม่ ครั้งนี้มีทั้งเพื่อไทย ปชป. ไม่นับภาคประชาสังคมที่คนต่างสียังเห็นตรงกัน แล้วมันจะสงบได้ไง แน่ละ ตราบใดที่มี ม.44 คสช.ก็ยังคุมอำนาจได้ แต่จะไปสู่เลือกตั้ง จะมีรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้อย่างไร ในสถานการณ์ที่คนไม่เห็นด้วยมีมากขึ้นทุกที
แน่ละ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ไม่สงบหรอก ต่อให้ผู้นำบอกว่าไม่ต้องรับผิดชอบอะไร โหวตแล้วกลับบ้านไปดูหนังดูละคร แต่ความจริงก็รู้แก่ใจ เสถียรภาพไม่เหมือนเดิม แม้กองทัพเป็นปึกแผ่น ยังไม่มีใครล้มได้ แต่การยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ทางลงจากอำนาจ จะลำบากยากเย็น เว้นแต่จะหันกลับมา “ปรองดอง” หาทางออกร่วมกับทุกฝ่าย
แน่ละ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็จะปั่นป่วนระลอกใหญ่ เพราะต้องเกิดการเจรจาต่อรอง เรียกร้อง กดดัน ไปสู่การจัดระเบียบอำนาจในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ฝ่ายต่างๆ ยอมรับได้มากขึ้น แต่ถามว่าจะนำไปสู่ความวุ่นวายจนแตกหักหรือไม่ ยังหรอกครับ เพราะแต่ละกลุ่มแต่ละฝ่ายยังไม่มีพลังพอจะเอาชนะกัน ภายใต้อำนาจกองทัพที่เป็นเอกภาพกว่า
เอ๊ะ พูดอย่างนี้แปลว่าเลือกทางไหนก็ไม่สงบ ใช่เลย ประชามติ 7 สิงหา มองอีกมุมคือจุดเปลี่ยนสถานการณ์ จุดเปลี่ยนขั้วแยกขั้วใหม่ ไม่มีทางเป็น“ประชามติรวมใจ” เพราะมีทางออกแค่ 2 ทาง
ร่างรัฐธรรมนูญผ่านคือระบอบอำนาจวันนี้ชนะ สามารถวางกฎเหล็กคุมประเทศอย่างน้อย 5 ปี แต่ก็ต้องเผชิญพลังต่อต้านที่กว้างขวางขึ้น ไม่มีทางกลับสู่สถานการณ์ปกติ ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านคือระบอบอำนาจวันนี้เพลี่ยงพล้ำ ต้องถูกกดดัน ให้ยอมหาทางออกร่วมกัน ซึ่งไม่ง่าย
ไม่ว่าอย่างไร “ความสงบชั่วคราว” ก็ใกล้ถึงจุดจบ อยู่ที่จะเลือกอย่างไรให้เห็นความสงบยั่งยืนในอนาคต

ไม่มีความคิดเห็น: