PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

เลือกตั้ง 2562 : เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ เผชิญอดีตส.ส. แหกค่าย-ย้ายพรรคนับร้อย

พรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าสู่ภาวะวิกฤต เมื่อยุทธศาสตร์ในการเลือกตั้งที่วางไว้ผิดพลาด-คลาดเคลื่อน จากเคยตั้งเป้า "ปักธง" ชนะเลือกตั้งในภาคเหนือและภาคอีสาน แต่การณ์ที่ปรากฏคืออดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ภาคเหนือ อีสาน และกลางอย่างน้อย 39 คนได้ย่องเงียบออกจากพรรค พลิกขั้ว-แหกค่าย-ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.)
สื่อมวลชนไทยหลายสำนักใช้คำว่า "กระอัก" "ทะลักซบ" "ดูดหนัก" ขึ้นเป็นพาดหัวข่าวเช้าวันที่ 27 พ.ย. หลังพ้น "เส้นตายย้ายพรรค"
การตัดสินใจของนักเลือกตั้งเหล่านี้มาจากทั้ง "แรงดูด" และ "แรงผลัก" สะท้อนผ่านคำอธิบายของเหล่าสมาชิก พท. เอง
ตัวอย่าง "แรงผลัก" จากเพื่อนร่วมพรรคที่ชัดเจนที่สุด หนีไม่พ้นกรณี เดชนัฐวิทย์ เตริยาภิรมย์ บุตรชายของ บุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว. พาณิชย์ กลุ่มวังบัวบาน ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุกในคดีทุจริตระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ ที่ระบายความรู้สึกผ่านสื่อมวลชนอย่างไม่ปิดบังว่า "พ่อผมถูกโจมตีเสีย ๆ หาย ๆ จากฝั่งทนายของอดีตนายกฯ" และพอพ่อเจ็บป่วยก็มีคนนำไปเชื่อมโยงกับคดีความต่าง ๆ จนไม่มีใครอยากช่วยเหลือ
เดชนัฐวิทย์ประกาศลงสมัคร ส.ส. เชียงใหม่ เขต 7 แทนบิดา พร้อมเปรียบเปรยผู้สมัคร ส.ส. เป็นเหมือนลาบ ส่วนพรรคการเมืองคือภาชนะ "ถ้าประชาชนอยากกินลาบ จะไปอยู่บนจาน ในถ้วย หรือในแก้ว ประชาชนก็อยากกินเหมือนเดิม"
อีกคนที่เผ่นหนีไปเพราะ "แรงผลัก" คือ ณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส. สุพรรณบุรี ที่ขอยุติการเป็นสมาชิก พท. ไว้เพียงเวลาเดือนเศษ กลับไปเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ตามเดิมท่ามกลางกระแสข่าวหนาหูเรื่องยุบ พท. ทำให้เขาทบทวนการตัดสินใจใหม่ "เชื่อว่ามันมีเชื้ออยู่ แต่จะไปถึงขั้นนั้นหรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่นักการเมืองจะต้องหาที่ที่มั่นคงที่สุดให้ตัวเอง"
แต่ถึงกระนั้น แกนนำ พท. ประเมินว่าคดียุบพรรคจะเกิดขึ้นในเร็ววัน แผนตั้ง "พรรคสำรอง" อย่างพรรคเพื่อธรรม (พธ.) จึงพับไป ทั้ง สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และ พงศกร อรรณนพพร ทิ้งหัวโขนหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค กลับมาตั้งหลักที่ พท. ดังเดิม ทิ้ง นลินี ทวีสิน อดีต รมต. ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อยู่โยง "เฝ้าพรรค" แบบเหงา ๆ ไป
กราฟฟิค
4 ปัจจัยดันปฏิบัติการ "ดูด"
ขณะที่สมาชิก พท. ที่ย้ายไปสังกัด พปชร. ด้วย "แรงดูด" มีหลากหลายกลุ่ม แต่ที่เรียกเสียงฮือฮาที่สุดชนิดต้นสังกัดเดิม "ไม่คาดคิดมาก่อน" และทำได้เพียง "ตั้งรับ" คือกลุ่มกำแพงเพชรของ วราเทพ รัตนากร อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ผู้ไม่เคยถูกปรับ-ปลด-ย้ายออกจากตำแหน่งทั้งที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึง 10 ครั้ง
หลังพ้น "เส้นตายย้ายพรรค" ภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการ พท. สรุป 4 ปัจจัยที่ส่งผลให้ปฏิบัติการ "ดูด" เกิดขึ้นอย่างคึกโครม ประกอบด้วย การให้สินทรัพย์/เงินทอง, การเอื้อประโยชน์ในการแบ่งเขตเลือกตั้ง, การช่วยเหลือในทางคดี และการคลายทุกข์ให้เครือญาติ
กลยุทธ์ที่ พท. เตรียมนำมาใช้เพื่อ "กู้คะแนนเสียง" ที่หายไปคือการให้ พานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายของ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งสมัครเป็นสมาชิก พท. เรียบร้อย ปรากฏตัวในภาคเหนือและอีสานร่วมกับทีมหาเสียงของพรรคโดยไม่ขึ้นเวทีปราศรัย เพื่อเรียกคะแนนจาก "ชาวรากหญ้า" แต่การให้ "ทายาททักษิณ" มาเปิดหน้าก็อาจเป็นปัจจัยเร่งคดีปล่อยกู้กรุงไทยที่พานทองแท้ตกเป็นจำเลย และไม่เป็นคุณแก่ตัวเขานัก จึงเป็นเรื่องที่พ่อ-แม่ต้องประเมินสถานการณ์อีกครั้ง
3 พรรคเฉือนเนื้อ-ตัดแต้มกันเอง
นอกจากต้องเสียนักเลือกตั้งเจ้าของพื้นที่เดิมให้พรรคคู่แข่ง พท. ยัง "เฉือนเนื้อตัวเอง" แบ่งสมาชิกคนสำคัญ 20 คนให้พรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) ภายใต้ยุทธศาสตร์ "แยกกันเดิน ร่วมกันตี" หวังแบ่งบท-กำหนดเกมต่อสู้ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นคุณแก่พรรคใหญ่ ซึ่งถูกพรรคคู่แข่งเรียกว่าการ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย"
Image copyrightกองโฆษก ทษช.
คำบรรยายภาพแกนนำ ทษช. ลงพื้นที่ภาคใต้เพื่อหาสมาชิกพรรค
จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. ถูกส่งไปเป็นตัวยืน-หวังเก็บคะแนนเสียงตกน้ำจากผู้สมัคร ส.ส. ภาคใต้และภาคตะวันออกมาเป็นแต้ม ส.ส. บัญชีรายชื่อ ให้ ทษช. แทน พท. ที่ไม่มีโอกาสได้ ส.ส. ในระบบนี้
แต่เอาเข้าจริง ตัวละครที่ ทษช. ได้ไปก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักในวงกว้างนัก แม้มีอดีตรัฐมนตรีอย่างน้อย 9 คน และอดีต ส.ส. นับสิบ แต่ก็ไม่มีฐานเสียงเป็นกิจลักษณะเพราะส่วนใหญ่เป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อ ยกเว้น ร.ท. ปรีชาพล พงษ์พานิช อดีต ส.ส. ขอนแก่น ที่เคยกำคะแนนเสียงทะลุ 7 หมื่นเสียงในการเลือกตั้งปี 2554
ส่วนคะแนนเสียงที่หวังเก็บจากมวลชนคนเสื้อแดง ก็คล้ายถูกพรรคเพื่อชาติ (พช.) ตัดแต้มกันเอง จากเดิมที่ดูเหมือนจะเป็นพรรคเล็ก ทว่าด้วยทุนของ สงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรค และเสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับ "ภารกิจพิเศษ" ของ จตุพร พรหมพันธุ์ โดยมีการจัดการแบบ ยงยุทธ ติยะไพรัช สอดแทรกเข้ามา ก็ทำให้ พช. ได้แนวร่วมคนเสื้อแดงไปอยู่ในพรรคหลายคน นอกจากนี้ยังมีทีมโคราชของ "ตระกูลเชิดชัย" และ พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ ร่วมด้วย
อดีต กรธ. เย้ย "คนแก่แยกสองพรรค" ไม่เข้าเป้า
ภายใต้ยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ของ พท. อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผู้ร่วมออกแบบระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมในรัฐธรรมนูญปี 2560 ตั้งคำถามว่าแน่ใจได้อย่างไรว่าคะแนนเศษของพรรคที่แตกออกไปจะมากกว่าเศษของพรรคอื่น
ศ. อุดม รัฐอมฤต กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ไม่ค่อยเชื่อในทฤษฎีของพรรคที่ตั้งใจส่งผู้สมัคร "บุกไปแพ้" แล้วโกยคะแนนเข้าส่วนกลางเป็นคะแนน ส.ส. บัญชีรายชื่อ แต่เชื่อว่าการเปิดหน้าคนใหม่ ๆ คือการสร้างโอกาสให้พรรคมากกว่า
"อย่างพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ผมมองว่าเขาเป็น 'ซับเซ็ทของเพื่อไทย' นะ แต่เขาน่าจะมีโอกาสมากกว่า ทษช., พช., พธ. ที่แตกออกไปพรรคเดิม เพราะชูจุดขายคนรุ่นใหม่" และ "กลุ่มนักการเมืองหน้าเดิมที่เป็นพวก 'คนแก่แยกสองพรรค' เขาแค่เปลี่ยนยี่ห้อ แต่ฐานเสียงก็เป็นฐานเดิม ชาวบ้านก็รู้ว่าของเดิม ยุทธศาสตร์แตกแบงก์นี้จะบรรลุผลได้ เขาต้องรักษาฐานเสียงเดิมได้ และต้องหาคะแนนใหม่มาเพิ่ม"
ทั้งปรากฏการณ์ "แตกแบงก์ย่อย" และ "ดูด ส.ส." แบบอึกทึกครึกโครม ทำให้นักวิชาการและนักการเมืองระบุตรงกันว่าสวนทางกับความพยายามปฏิรูปการเมืองของรัฐบาล คสช. ศ. อุดมยืนยันว่าในช่วงยกร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้คิดถึงการสกัดกั้นพรรคไหน หรือเอื้อให้พรรคไหนชนะการเลือกตั้ง แม้แกนนำ พปชร. จะระบุว่า "รัฐธรรมนูญดีไซน์ (ออกแบบ) มาเพื่อพวกเรา" ก็ตาม
อภิสิทธิ์ทำนายได้อดีต ส.ส. เยอะทั้งก่อน-หลังเลือกตั้ง
ด้านพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งฐานที่มั่นหลักอยู่ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ก็อยู่ในภาวะระส่ำระสายไม่แพ้กัน เพียงแต่ไม่มีใครออกมาร้องระงงผ่านสื่อ
สุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ รปช. เดินหาสมาชิกพรรคที่ จ. สุราษฎร์ธานีImage copyrightกองโฆษก รปช.
คำบรรยายภาพสุเทพ เทือกสุบรรณ และแกนนำ รปช. เดินหาสมาชิกพรรคที่ จ. สุราษฎร์ธานี
บีบีซีไทยตรวจสอบพบว่า พรรค 7 ทศวรรษต้องเสีย "เจ้าของที่นั่งเดิม" 9 คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสุราษฎร์ธานี ให้กับพรรครวมพลังประชาชาติไทย (รปช.) ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ ซึ่ง รปช. ก็ต้องไปฟาดฟันกับพรรคประชาชาติ (ปชช.) ของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา ต่อไปเพื่อช่วงชิงเสียงในพื้นที่ปลายด้ามขวาน
ส่วนกำลังหลักใน กทม. ก็แตกออกไปอยู่กับ พปชร. เมื่อก๊วน "3 หนุ่ม กปปส." ประกอบด้วย ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ, พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ และสกลธี ภัททิยกุล หอบหิ้วเอาอดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) บางส่วนย้ายพรรคตามไปด้วย
ยังไม่รวมตระกูลการเมืองในภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออก โดยเฉพาะ จ. ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ที่ว่ากันว่าบางส่วนไหลไปตามอานิสงส์ของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ของรัฐบาล รวมเบ็ดเสร็จแล้ว ปชป. เสียอดีตนักเลือกตั้งให้ "พรรคอายุ 2 เดือน" อย่าง พปชร. ไปอย่างน้อย 14 คน
ภายใต้ยุทธศาสตร์ "แตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย" ของ พท. และยุทธศาสตร์ "รวมแบงก์ร้อยเป็นแบงก์พัน" ของ พปชร. อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้า ปชป. บอกสื่อมวลชนว่าไม่ได้สนใจเรื่องแบงก์ แต่สนใจยกระดับการเมืองไทยให้หลุดพ้นจากการใช้เล่ห์เหลี่ยม ใช้ช่องของกฎหมายหรือวิธีต่อรองเพื่อแบ่งปันผลประโยชน์
สมชัย ศรีสุทธิยากรImage copyrightกองโฆษก ปชป.
คำบรรยายภาพสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้งชุดที่ไม่เคยจัดการเลือกตั้งสำเร็จ สมัครเข้าเป็นสมาชิก ปชป.
เขาบอกด้วยว่าเป็นเรื่องดีที่การโยกย้ายสิ้นสุดลงแล้ว เพราะประชาชนจะได้เห็นภาพชัดเจน และเตือนบรรดานักยุทธศาสตร์การเมือง-นักคณิตศาสตร์การเมืองทั้งหลายว่าสมการอาจไม่เป็นอย่างที่คิด เพราะทุกการเลือกตั้งจะมีคนใหม่เข้ามาร้อยละ 20-30
"ที่คิดว่ามีอดีต ส.ส. เยอะ เผลอ ๆ หลังเลือกตั้งแล้วก็ยังมีอดีต ส.ส. เยอะอยู่ เช่น พปชร. ได้อดีต ส.ส. ไปเยอะก็อาจจะได้อดีต ส.ส. เยอะหลังการเลือกตั้งด้วย" อภิสิทธิ์กล่าว
อย่างไรก็ตามอดีต ส.ส. ผู้ทำคะแนนเสียงทะลุ 7 หมื่นแต้มส่วนใหญ่ 12 จาก 14 คน ยังอยู่ในสังกัด ปชป. มีเพียง เชน เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส. สุราษฎร์ธานี คนเดียวที่ย้ายไปอยู่พรรคพี่ชาย และอีกรายเสียชีวิต แต่พรรคได้เปิดตัวบุตรสาวของเขาลงสนามเลือกตั้งในนามกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ NEW DEM
นายพล คสช. ปัดบงการ "ดูด" ส.ส.
การเปิดรับสมัครสมาชิกพรรคถึงเที่ยงคืนที่ผ่านมาของ พปชร. ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ทางการเมือง ล่าสุด วิเชียร ชวลิต นายทะเบียน พปชร. เปิดเผยว่า มีบุคคลกว่า 1,300 คนสมัครเป็นสมาชิกพรรค โดยหลังจากนี้จะเร่งตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประสงค์จะลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบเขตเข้าเป็นสมาชิกในลำดับต้นก่อน พร้อมยอมรับว่าตัวเลขของผู้สมัคร "เกินการคาดหมาย"
ด้านนายพลในรัฐบาล คสช. ออกมาประสานเสียงว่าไม่รู้-ไม่เห็นกับความคึกโครมที่เกิดขึ้น โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ยืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง-สั่งการให้เกิดการย้ายพรรค แต่เชื่อว่าเป็นการย้ายเพราะ "เห็นว่านโยบายทางการเมืองตรงกัน อยากแก้ไขปัญหาความบกพร่องในอดีต
พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว. กลาโหม ก็ปฏิเสธข่าวว่ามีการใช้เงื่อนไขคดีความกดดันให้อดีตนักการเมืองย้ายมาเป็นสมาชิก พปชร. "..ผมไม่สามารถช่วยได้ คนที่โดนคดีจะเกี่ยวข้องอะไรกับผม เพราะไม่เกี่ยวกับพรรค ไม่มีใครไปควบคุมศาลได้"
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์Image copyrightกองโฆษก พท.
คำบรรยายภาพคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง พท. เปิดศูนย์ประสานงานพรรคที่ จ. นครพนม โดยฝากบอกสมาชิกที่ย้ายพรรคว่า "ขอให้โชคดี"

ไม่มีความคิดเห็น: