PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ธีรชัย :รัฐบาลต้องแก้ไขกติกาในการบริหารเศรษฐกิจ

ในช่วงปลายเดือนธันวาคม 2555 ผมได้เสนอแนวคิดใน Facebook หน้านี้

ผมมีข้อกังวลว่ากติกาในการกำกับดูแล และการขอบเขตการบริหารด้านเศรษฐกิจให้แก่รัฐบาล ทั้งแก่รัฐบาลปัจจุบันและรัฐบาลในอนาคต กติกาที่มีกำหนดอยู่ในปัจจุบัน ในกฎหมายต่างๆ ทั้งในกฎหมายรัฐธรรมนูญ และในกฎหมายลูก หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องนั้น ขณะนี้ยังไม่รัดกุมมากพอ

การที่กติกายังไม่รัดกุมพอ จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการคลังได้ในอนาคต

ผมจึงเสนอว่า สมควรมีการคิดแก้ไขกติกาในการบริหารเศรษฐกิจ เพื่อให้มีความยั่งยืนมากกว่านี้

เนื่องจากขณะนี้ ได้มีผู้ที่เข้ามาอ่านหน้านี้มากขึ้น ผมจึงขอนำข้อคิดดังกล่าว กลับมาเสนอใหม่อีกครั้งหนึ่ง

......

ควรแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่

- ในต้นปีหน้า กระแสเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะเข้มข้นมากขึ้น ผมจึงเห็นว่านักวิชาการควรใช้โอกาสนี้ ตั้งคำถามแก่กันว่า ควรแก้ไขกติกาด้านการบริหารเศรษฐกิจอย่างไร จึงจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องกติกาด้านเศรษฐกิจนั้น เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกติกาต่างๆ ที่ผ่านมาในอดีตยังไม่ได้เน้นเรื่องนี้

- ที่ผ่านมา ได้มีการเน้นเรื่องทุจริตเลือกตั้ง เรื่องให้คนดีเข้ามาเป็นรัฐบาล และเรื่องการป้องกันการขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น

- แต่กติกาในด้านการบริหารเศรษฐกิจนั้นยังไม่รัดกุม และหากไม่ทำการแก้ไขปรับปรุงเสียขณะนี้ ในอนาคตประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะประสบหายนะ

- กติกาที่ควรแก้ไขนั้นมีสามเรื่อง คือ (ก) เรื่องนโยบายประชานิยม (ข) เรื่องการป้องปรามคอร์รัปชั่น และ (ค) เรื่องการคุ้มครองข้าราชการ

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องประชานิยม ก็เพราะในอนาคต จะมีพรรคการเมืองต่างๆ ใช้นโยบายประชานิยมหาเสียงมากขึ้น และเมื่อแข่งกันลดแลกแจกแถม ในที่สุดประเทศไทยจะเข้าสภาวะหนี้ล้นพ้นตัว

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องป้องปรามคอร์รัปชั่น ก็เพราะนักธุรกิจเอกชนหลายรายให้ข้อมูลผมว่า การเรียกเงินใต้โต๊ะได้ขึ้นไปสูงถึงระดับร้อยละ 40 แล้ว หากไม่แก้ปัญหานี้ให้เด็ดขาดเสียที ประเทศไทยก็มีแต่จะล่มจม

- เหตุผลที่ต้องเน้นเรื่องข้าราชการ ก็เพื่อทำให้ข้าราชการเป็นที่พึ่งของประชาชน เพื่อทำให้ข้าราชการกล้าที่จะฝืนปฏิเสธนักการเมือง จึงควรจะมีมาตรการคุ้มครองข้าราชการให้มากขึ้น

- ผมจึงขอเชิญชวนให้นักวิชาการช่วยกันคิดหาวิธีในการปรับปรุงกติกาเรื่องเหล่านี้

- และในสี่ห้าวันต่อจากนี้ ผมจะทะยอยเสนอแนวคิดของผมเอง เพื่อขอให้นักวิชาการช่วยกันพิจารณาข้อดีข้อเสีย
----------
ควรแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ (2)

- ตามที่ผมเสนอให้มีการแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ โดยดำเนินการสามเรื่อง คือ (ก) เรื่องนโยบายประชานิยม (ข) เรื่องป้องปรามคอร์รัปชั่น และ (ค) เรื่องคุ้มครองข้าราชการ นั้น

- ในวันนี้ ผมจะขอเสนอแนวคิด เกี่ยวกับกติกานโยบายประชานิยม

- ข้อที่หนึ่ง ควรจำกัดการกู้เงินเพื่อนโยบายประชานิยมที่ไม่จำเป็น

- เราไม่ควรห้ามพรรคการเมืองเสนอนโยบายประชานิยม เพราะนโยบายบางเรื่องก็เป็นความคิดที่ดี และใช้แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของประชาชนได้

- แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด ก็คือรัฐบาลจะใช้เงินจากแหล่งใดเพื่อการนี้

- หากรัฐบาลใช้แหล่งเงินจากการเก็บภาษี หรือหารายได้ หรือประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นชดเชย ก็จะไม่ค่อยมีความเสี่ยง อาจจะเข้าหลักเก็บรายได้จากคนรวย มาช่วยคนจน

- แต่หากรัฐบาลใช้แหล่งเงินจากการกู้ยืมพร่ำเพรื่อ ก็จะทำให้ฐานะของประเทศมีความเสี่ยงสูง

- จึงควรแบ่งนโยบายประชานิยมเป็นสองประเภท (ก) ประเภทที่เป็นความจำเป็นแห่งชีวิต เช่น เรื่องรักษาพยาบาล หรือเรื่องการศึกษา เป็นต้น และ (ข) ประเภทที่ไม่ใช่ความจำเป็นแห่งชีวิต เช่น เรื่องการช่วยเหลือเกษตรกร หรือเรื่องการแก้ไขหนี้นอกระบบ เป็นต้น

- และควรจำกัดขอบเขตการกู้เงิน โดยเปิดให้รัฐบาลใช้แหล่งเงินกู้ เฉพาะสำหรับนโยบายประเภทที่เป็นความจำเป็นแห่งชีวิตเท่านั้น

- แต่สำหรับนโยบายที่ไม่ใช่ความจำเป็นแห่งชีวิต ควรให้รัฐบาลหารายได้หรือลดรายจ่ายอื่นๆ มาชดเชย

- ข้อที่สอง ควรให้พรรคการเมืองประกาศแหล่งเงินสำหรับนโยบายประชานิยม

- พรรคใดที่หาเสียงด้วยนโยบายประชานิยมควรจะต้องประกาศว่า (ก) นโยบายดังกล่าวจะใช้เงินเป็นจำนวนเท่าใด (ข) จะใช้เงินจากแหล่งใด (ค) หากจะเก็บภาษี ก็ให้ระบุว่าเป็นภาษีชนิดใด เป็นเงินเท่าใด (ง) หากจะหารายได้อื่น ก็ให้แจงรายละเอียด

- แต่นอกจากนี้ ผมเห็นว่าควรแก้ไขกติกาในการแทรกแซงสินค้าเกษตรอีกด้วย ซึ่งผมจะขอเสนอแนวคิดเรื่องนี้ในวันพรุ่งนี้
--------------
ควรแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ (3)

- ตามที่ผมได้เสนอแนวคิดเรื่องกติกาประชานิยมไว้แล้ว ในวันนี้ ผมขอเพิ่มเติมกติกาเรื่องการแทรกแซงสินค้าเกษตร

- ข้อที่หนึ่ง ควรห้ามการรับจำนำเกินราคาตลาด

- การช่วยเหลือเกษตรกรนั้น ควรยึดหลักเกณฑ์ 3 ข้อ คือ (ก) โปร่งใส (ข) ป้องกันทุจริต และ (ค) ตกไปถึงมือของเกษตรกรเต็มเม็ดเต็มหน่วย

- การช่วยเหลือนั้นมีสองลักษณะ และแต่ละลักษณะไม่ควรดำเนินการปะปนกัน ลักษณะที่หนึ่งคือการช่วยเหลือด้านสภาพคล่อง (cash flow) ซึ่งควรใช้วิธีการจำนำ สำหรับลักษณะที่สองคือการช่วยเหลือชดเชยต้นทุน (subsidy) ซึ่งไม่ควรใช้วิธีการจำนำ

- กรณี cash flow นั้น ควรแก้ไขกติกาเพื่อห้ามมิให้รัฐบาลรับจำนำสินค้าใดเกินร้อยละ 80 ของราคาตลาด เพื่อให้มีผลเป็นการจำนำอย่างแท้จริงที่เกษตรกรจะมีโอกาสไถ่ถอนคืน

- กรณี subsidy นั้น หากรัฐบาลต้องการช่วยเหลือต้นทุนของเกษตรกร ควรยังให้ทำได้ และถึงแม้หากรัฐบาลต้องการช่วยเกษตรกรสูงกว่าราคาตลาดไม่ว่าจะมากเท่าใด ก็ยังควรให้ทำได้

- แต่ควรกำหนดให้รัฐบาลต้องใช้วิธีการรับซื้อแบบตรงไปตรงมาไปเลย มิให้บิดเบือนไปใช้รูปของการจำนำอีกต่อไป

- การกำหนดให้รัฐบาลใช้วิธีการรับซื้อแบบตรงไปตรงมาแทนการจำนำ จะป้องกันการทุจริตได้ เนื่องจากขั้นตอนการรับซื้อและการเก็บรักษา จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกระทรวงการคลังอย่างเคร่งครัด

- การกำหนดให้รัฐบาลใช้วิธีการรับซื้อแบบตรงไปตรงมาแทนการจำนำ จะทำให้เกษตรกรได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยอีกด้วย

- ข้อที่สอง ควรกำหนดนิยามของการขายแบบ G to G ให้รัดกุม

- กรณีที่รัฐบาลต้องการจะขายสินค้าเกษตรในสต๊อคนั้น กฎระเบียบขณะนี้กำหนดให้รัฐบาลต้องใช้วิธีประมูลเพื่อให้ได้ราคาสูงที่สุด ยกเว้นเฉพาะการขายแบบ G to G ไม่ต้องทำการประมูล

- อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีปัญหาว่าการขายกรณีใดเป็นการขายแบบ G to G หรือกรณีใดเป็นการขายให้แก่บุคคลภายในประเทศ จึงควรมีการกำหนดนิยามให้รัดกุมมากขึ้น

- นิยามควรมี 3 เรื่อง คือ (ก) การทำสัญญาซื้อขาย : ต้องทำสัญญาโดยตรงระหว่างผู้ซื้อต่างประเทศกับหน่วยงานของรัฐ (ข) การชำระเงิน : ผู้ซื้อในต่างประเทศต้องเปิดแอลซีหรือจ่ายเงินตรงไปที่หน่วยงานของรัฐ และ (ค) การส่งออก : ผู้ที่ทำพิธีการส่งออกสินค้าจากประเทศไทย ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ

- หากไม่เข้านิยามนี้ต้องขายโดยวิธีการประมูลทุกกรณี

- ข้อที่สาม ควรกำหนดให้รัฐบาลชดเชยทุกปี

- ที่ผ่านมา มีปัญหาว่ากว่ารัฐบาลจะรับรู้ตัวเลขผลขาดทุนโครงการสินค้าเกษตรนั้น ก็ต่อเมื่อมีการปิดโครงการเป็นทางการแล้วเท่านั้น

- แต่บางโครงการมีขั้นตอนการปิดโครงการที่ใช้เวลาเนิ่นนาน ดังนั้น การรับรู้ขาดทุนและภาระต่อรัฐ จึงล่าช้าไปด้วย และตัวเลขของหนี้สาธารณะก็ยังไม่สะท้อนความเป็นจริง

- จึงควรกำหนดให้ ธกส. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินผลขาดทุนทุกๆ โครงการทุกสิ้นปี แล้วให้รัฐบาลชดเชยเงินตามตัวเลขดังกล่าวไปก่อนทันที แล้วค่อยปรับตัวเลขกันภายหลังเมื่อปิดโครงการเป็นทางการ

- แต่นอกจากนี้ น่าจะมีการปรับปรุงเรื่องการกำกับดูแลการเก็บรายได้และการก่อหนี้สาธารณะอีกด้วย ซึ่งผมจะเสนอแนวคิดในวันพรุ่งนี้

(อนึ่ง ภายหลังจากที่ผมได้เขียนบทความนี้ ผมได้รับฟังแนวคิดของหม่อมราชวงศ์ปรีดียาธร ที่เสนอว่าวิธีที่สะดวกที่สุด ในการที่รัฐบาลจะชดเชยให้แก่เกษตรกรนั้น ก็คือการให้เงินตรงๆแก่เกษตรกร ตามจำนวนผลผลิต โดยจ่ายเงินผ่านบัญชี ธกส. ซึ่งผมเห็นว่า ข้อเสนอนี้เป็นวิธีที่สะดวก และรัดกุมมากที่สุด รวมทั้งเม็ดเงิน จะผ่านลงไปถึงมือเกษตรกร อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริงๆ)

ควรแก้ไขกติกาบริหารเศรษฐกิจใหม่ (4)

- ตามที่ผมได้พยายามชักชวนนักวิชาการให้ช่วยกันพิจารณา ในโอกาสที่จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น การแก้ไขกติกาด้านเศรษฐกิจอย่างไร จึงจะทำให้กรอบบริหารประเทศยั่งยืนอย่างมีเสถียรภาพ

- และสามวันที่ผ่านมาผมได้เสนอแนวคิดเรื่องประชานิยม และเรื่องแทรกแซงสินค้าเกษตรไปแล้วนั้น

- ก่อนที่จะเข้าประเด็นเรื่องการป้องปรามคอร์รัปชั่น ผมเห็นว่าน่าจะมีการศึกษาปรับปรุงกติกาเรื่องรายได้และการก่อหนี้สาธารณะอีกด้วย ดังนี้

- ข้อที่หนึ่ง ควรให้รัฐสภากำกับดูแลเรื่องรายได้และหนี้สาธารณะ

- ขณะนี้ ในด้านรายจ่ายนั้น รัฐสภาทำหน้าที่กำกับอย่างละเอียดอยู่แล้วโดยผ่านขบวนการงบประมาณ แต่ในด้านรายได้และด้านหนี้สาธารณะนั้น รัฐสภายังมิได้มีบทบาทเท่าที่ควร

- จึงควรแก้ไขกติกา ให้รัฐบาลต้องประกาศต่อรัฐสภาทุกปี (ก) เป้าหมายการหารายได้ และ (ข) เป้าหมายหนี้สาธารณะ และต้องรายงานผลการดำเนินงานต่อรัฐสภาเป็นระยะๆ

- และหากรัฐบาลไม่ดำเนินการตามที่ให้สัญญาไว้แก่รัฐสภา ก็น่าศึกษาความเป็นไปได้และข้อดีข้อเสีย ว่าสมควรหรือไม่ที่จะมีบทบัญญัติห้ามมิให้รัฐบาลจ่ายเงินบางประเภทเป็นการชั่วคราวไว้ก่อน จนกว่ารัฐบาลจะเสนอแนวทางแก้ไขให้เป็นที่พอใจของรัฐสภา ในทำนองเดียวกับข้อกำหนดเรื่องหน้าผาการคลัง (fiscal cliff) ของประเทศสหรัฐ

- ข้อที่สอง ควรแสดงภาระอนาคตของรัฐเป็นประจำทุกไตรมาส

- เพื่อให้ภาระอนาคตของรัฐโปร่งใส ควรให้กระทรวงการคลังประเมินภาระอนาคตที่จะเกิดขึ้นจากทุกๆ โครงการของรัฐบาลเป็นประจำทุกไตรมาส (Mark to market estimate) แล้วให้ประกาศตัวเลขดังกล่าวต่อสาธารณะ

- ข้อที่สาม ควรประเมินภาระการเพิ่มทุนสำหรับธนาคารรัฐทุกปี

- ที่ผ่านมารัฐบาลมีการดำเนินนโยบายกึ่งประชานิยมผ่านธนาคารของรัฐด้วย ซึ่งนอกจากจะทำให้กำไรลดลงแล้ว ยังอาจสร้างปัญหาหนี้สูญอีกทางหนึ่ง

- ภาระใดๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อธนาคารของรัฐนั้น สุดท้ายจะตกเป็นภาระของรัฐในที่สุด เนื่องจากรัฐไม่สามารถหลีกเลี่ยงที่จะต้องใช้งบประมาณเพิ่มทุนให้แก่ธนาคารเหล่านี้ในอนาคต

- ดังนั้น ทุกสิ้นปี จึงควรให้กระทรวงการคลังประเมินว่าธนาคารของรัฐทั้งหมด มีวงเงินที่จะต้องเพิ่มทุนในอนาคตเพื่อให้ครบถ้วนตามมาตรฐาน BIS เป็นเงินเท่าใด และให้นับเงินดังกล่าวรวมเข้ากับตัวเลขภาระอนาคตของรัฐที่กระทรวงการคลังจะประกาศตัวเลขทุกไตรมาสด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: