PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

'วิษณุ' แจงสรรพคุณ กมธ.ยกร่างรธน.โควต้า คสช.-ครม.

สรรพคุณ กมธ.ยกร่างฯ

'วิษณุ' แจงสรรพคุณ กมธ.ยกร่างรธน.โควต้า คสช.-ครม. ชี้ 36 กมธ.มีครบทุกสี เตรียมเปิด 4 เวทีฟังความเห็น เล็งตั้ง 300 คนอกหักจาก สปช. เข้ามามีส่วนร่วม

                            4 พ.ย. 57  นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวให้ข้อมูลรายบุคคลของผู้ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมระหว่าง คสช. และ ครม.ที่อนุมัติรายชื่อบุคคลไปดำรงตำแหน่งเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า ในส่วนของนายปกรณ์ ปรียากร เป็นคนมุสลิม เป็นอดีตคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 และเป็นที่ปรึกษาจุฬาราชมนตรี เรียนจบนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ ก็โอเค

                            ส่วนนายกระแส ชนะวงศ์ นั้น นายวิษณุ กล่าวว่า เราอยากได้คนที่เป็นนักการเมืองน้ำดี เดี๋ยวจะหาว่าคนมาร่างรัฐธรรมนูญไม่เคยลงเลือกตั้ง ก็คิดถึงนายกระแส และสุขภาพท่านยังดีอยู่ ใช้ได้ ส่วนที่หายไปจากวงการการเมืองไปนาน ถ้าไม่หายไป ก็คงไม่เอามา

                            สำหรับนายสุจิต บุญบงการ นายวิษณุ กล่าวว่า ท่านเคยเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์จุฬาฯ เคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ นายเจตน์ โทณวณิก ซึ่งเป็นนักวิชาการวัยรุ่นนั้น ก็ไม่ใช่วัยรุ่น เพราะคุณสมบัติต้องอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ก็อยากได้ทุกวัย ท่านก็รุ่นใหม่ไฟแรง

                            ด้านนายกฤต ไกรจิตติ ก็เคยเป็นอธิบดีกรมสนธิสัญญา และกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ เคยเป็นเอกอัคราชทูตไทย ประจำประเทศเวียดนาม อินเดีย ฮังการี และมาเลเซีย เพิ่งเกษียณมาหมาดๆ และคุณพ่อของนายกฤต ก็คือ นายสรรเสริญ ไกรกิตติ เคยเป็นผู้พิพากษาผู้ใหญ่ ซึ่งเลือกนายกฤต เพราะต้องเขียน มาตรา 190 และขณะเดียวกัน ท่านก็เคยทำเรื่องสิทธิมนุษยชนไว้เยอะ ก็รัฐธรรมนูญต้องพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพด้วย ไม่ได้มีแค่เรื่องการเลือกตั้งเท่านั้น

                            ขณะที่นายวิชัย ทิตตะภักดี นายวิษณุ อธิบายว่า มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และเป็นกงสุลกิติมศักดิ์ไทยของประเทศในแอฟริกา มีความคิดในทางเศรษฐกิจ

                            เมื่อถามว่าทั้ง 11 คน ได้มีส่วนร่วมในการพิจารณาหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นเรื่องของท่านนายกฯ แต่ก็ส่งชื่อให้ตรวจสอบ แต่นายกฯ เป็นคนเลือก ตนไม่ได้เลือก ทั้งนี้บรรยากาศในการประชุมไม่มีใครมีความเห็นแย้ง แต่ก็มีถามบ้างว่า ใครเป็นใคร

                            เมื่อถามว่า จะสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาที่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ ได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "ไม่รู้ ยังไม่มีการกล่าวหา รอให้กล่าวหามาก่อน แล้วจะได้ตอบได้ถูก ตอนนี้ไม่รู้"

                            เมื่อถามว่า เมื่อวานบอกว่าคนที่เป็นประธานจะขี้เหร่ แล้วชื่ออกมาแล้ว ถือว่าขี้เหร่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เพราะว่าประธานจะต้องเป็นเป้าอยู่แล้ว ส่วนอีก 35 คน ไม่ได้เป็นเป้า ถึงประธานหล่อ ยังไงคุณก็จะบอกว่าขี้เหร่ วิเศษยังไงคุณก็ต้องบอกว่าขี้เหร่

                            เมื่อถามว่า มีโอกาสในการปรับเปลี่ยนตัวกรรมาธิการได้อีกหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ปรับเปลี่ยนไม่ได้ ต้องอยู่จนกว่าจะล้มหายตายจากกันไป เมื่อตำแหน่งว่างแล้ว ก็ต้องแต่งตั้งเพิ่มเข้าไปได้

                            เมื่อถามว่า จะเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นฉบับสีชมพู ซึ่งเป็นสีของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า "คุณเอาชื่อ 36 คนมาดู คุณก็จะเห็นว่ามันมีทุกสี แดงก็มี เหลืองก็มี เขียวก็มี ชมพูก็มี เพราะตอนเขาตั้งไม่ได้นึกเลย"

                            เมื่อถามว่า ทราบว่าจะมีเวที 4 เวทีนอกสภาเพื่อขับเคลื่อน นายวิษณุ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว โดย
1.จะช่วยเป็นทีมวิชาการของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งจะเป็นผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และเลขานุการ
2. เป็นเวทีที่จะช่วยเป็นกรรมาธิการ
3. เป็นเวทีที่รัฐบาลจะตั้งขึ้น ลักษณะเดียวกับที่รัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยเชิญนายบรรหาร ศิลปอาชา มาเป็นประธานปฏิรูป จะมีคนประมาณ 300 คน แบ่งเป็น 3 ทีม มีทีมการเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ/พลังงาน และทีมสังคม และแยกกันประชุม โดยใช้สถานที่ของสำนักงานที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ และเวทีที่
4. กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในและกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบ ซึ่งสวนใหญ่เป็นเวทีต่างจังหวัด

                            "เวทีที่ 1 ได้เริ่มแล้ว สปช.เริ่มแล้ว เขาก็ขับเคลื่อนของเขาเองได้ ส่วนเวทีที่ 2 หากข้อบังคับกรรมาธิการผ่านความเห็นชอบก็ส่งคนไปได้ ส่วนเวทีที่ 3 จะออกระเบียบสำนักนายกฯ มารองรับ ที่อาจจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.พิจารณาในครั้งต่อไปก็ได้ ส่วนเวทีที่ 4 เขาสามารถทำได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และเวทีเหล่านี้ไม่ได้ใช้งบประมาณพิ่มเติม และบางส่วนจะใช่งบจาก สป.ที่มีอยู่แล้ว กอ.รมน.ก็มีงบอยู่แล้ว"

                            เมื่อถามว่า เวทีที่ 3 มีคน 300 คน เข้ามานั่งทำงาน จะเลือกเข้ามาอย่างไร นายวิษณุ กล่าว จะเริ่มต้นย้อนไปดูว่าเขาสมัครเข้ามาแล้วสนใจเรื่องอะไร และดูว่าเขายังสมัครใจหรือไม่ เพราะบางทีอาจจะไม่อยากมายุ่งแล้วก็เป็นไปได้ เพราะเขาอยากอยู่ สปช.ใหญ่ เมื่อไม่ได้อยู่ ก็อาจจะไม่อยากอยู่แล้วก็ได้ และต้องดูเรื่องของเวลาในการทำงาน ดูคนให้เหมาะกับงาน ซึ่งแฟ้มตั้งอยู่ที่ห้องทำงานของตนแล้ว แต่ต้องรอดูก่อนว่าปัญหามีอะไรบ้าง เราต้องตั้งปัญหาให้ได้ก่อน แล้วนำคนมาตอบปัญหาให้ได้


 กมธ.ยกร่างรธน.สัดส่วนของ คสช.
 
                            1. นายบวรศักดิ์ อุวรรโณ (ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ) รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรีสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตเลขานุการคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2540

                            2. นายสุจิต บุญบงการ อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดแรก อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                            3. นายจรูญ อินทจาร อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ เคยตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชน พรรคมัชฌิมา และพรรคชาติไทย และร่วมตัดสินคดีให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งเนื่องจากโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี ไม่เป็นธรรม

                            4. นายประสพสุข บุญเดช อดีตประธานวุฒิสภา ชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เป็น ศาสตราจารย์พิเศษ ในสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

                            5. นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นหนึ่งในแกนนำ กปปส. และเสนอแนวคิดปฏิรูปของ กปปส. และเสนอ แนวปฏิรูป 'นิด้าโมเดล' อีกด้วย

                            6. นายกฤต ไกรจิตติ อดีตทูตมาเลเซีย อดีตอธิบดีกรมสนธิสัญญาต่างประเทศ และเป็นข้าราชการลำดับแรกที่ถูกฟ้องศาลร่วมกับนายนพดล ปัทมะ สมัยที่เป็น รมว.ต่างประเทศ และไปทำบันทึกความเข้าใจร่วมกับกัมพูชา

 
กมธ.ยกร่างรธน.ในส่วนของ ครม.


                            1. นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550

                            2. นายเจษฎ์ โทณะวณิก ดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จบปริญญาเอกทางกฎหมาย (Doctor of the Science of Law) (JSD) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา

                            3. นายปกรณ์ ปรียากรณ์ อดีตอาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เคยร่วมขึ้นเวที กปปส.

                            4. นพ.กระแส ชนะวงศ์ อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ยังเคยร่วมพรรคการเมืองหลายพรรค รวมถึงพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคไทยรักไทย

                            5. นายวิชัย ทิตตะภักดี อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ



กมธ.ยกร่างรธน.ในสัดส่วน สนช.


                            1. นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา

                            2. นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ กรรมการกฤษฎีกา

                            3. นายปรีชา วัชราภัย กรรมการกฤษฎีกา , อดีตเลขาธิการ กพ.

                            4. นายวุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง

                            5. พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ อดีตหัวหน้านายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา

กมธ.ยกร่างรธน.ในสัดส่วน สปช.


                            1. นายมานิจ สุขสมจิตร สปช. ด้านสื่อสารมวลชน นักหนังสือพิมพ์อาวุโส อดีต ส.ส.ร. ปี 2550

                            2. นายประชา เตรัตน์ สปช. จังหวัดชลบุรี อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และปัจจุบันมีบทบาทสูงในกลุ่ม สปช. จังหวัด

                            3. นางถวิลวดี บุรีกุล สปช. ด้านการบริหาราชการแผ่นดิน ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า

                            4. นางสาวสมสุข บุญญะบัญชา สปช. ด้านสังคม อดีตผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

                            5. นายเชิดชัย วงศ์เสรี สปช. ภาคใต้ อดีตผู้สมัคร ส.ว.ภูเก็ต

                            6. พลโทนคร สุขประเสริฐ  สปช. ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อดีตผู้บังคับการจังหวัดทหารบกร้อยเอ็ด

                            7. พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช สปช. ด้านพลังงาน อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เคยมีชื่อเป็นแคนดิเดต ผบ.ทบ.ยุค พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต ผอ.วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร อดีต ส.ว. เคยเสนอตัวเป็นคนกลางในการเจรจาช่วงวิกฤตการเมืองปี 2553

                            8. นายจุมพล สุขมั่น สปช. ภาคเหนือ อดีต กกต. จังหวัดลำปาง อดีต ผอ.สำนักงานบังคับคดี จ.เชียงราย

                            9. นายวุฒิสาร ตันไชย ด้านการปกครองท้องถิ่น รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า อดีตกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550

                            10. นายคำนูณ สิทธิสมาน สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อดีต ส.ว.สรรหา หนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว.

                            11. นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ สปช. ด้านการเมือง คณบดีวิทยาลัยบริหารรัฐกิจและรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตหัวหน้าพรรคมหาชน เจ้าของทฤษฎี 'สองนคราประชาธิปไตย'

                            12. นางทิชา ณ นคร สปช. ด้านการศึกษา นักวิชาการด้านสิทธิเด็ก ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกาญจนาภิเษก

                            13. นางนรีวรรณ จินตกานนท์ สปช. ด้านเศรษฐกิจ อดีต ส.ว.สรรหา อดีตรองอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)

                            14. นายจรัส สุวรรณมาลา สปช. ด้านการปกครองท้องถิ่น นักวิชาการ อดีตคณบดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อดีต ส.ส.ร. ปี 2550

                            15. นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช. ด้านการเมือง อดีต ส.ว.สรรหา หนึ่งในกลุ่ม 40 ส.ว.

                            16. นางสาวสุภัทรา นาคะผิว สปช. ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิ์ด้านเอดส์

                            17. นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ สปช. ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ผู้อำนวยการสถาบันธรรมรัฐเพื่อการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม (ธ.พ.ส.ส.)

                            18. นายชูชัย ศุภวงศ์ ด้านการเมือง อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อดีตรองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550

                            19. พลโท นาวิน ดำริกาญจน์ สปช. ด้านอื่นๆ อดีตผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม

                            20. นายมีชัย วีระไวทยะ สปช. ด้านการศึกษา อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน อดีต รมช.อุตสาหกรรม สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้รณรงค์เรื่องการใช้ถุงยางอนามัย เคยเป็นนักแสดง เล่นเป็น โกโบริ ในละครเรื่อง 'คู่กรรม' (ปี 2513) ทางช่อง 4 บางขุนพรหม

ไม่มีความคิดเห็น: