PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

เปิดโมเดลใหม่ขับเคลื่อนประเทศ : ก้าวข้ามทหาร-การเมือง

เปิดโมเดลใหม่ขับเคลื่อนประเทศ : ก้าวข้ามทหาร-การเมือง


เป็นนักวิชาการ “ขาประจำ” มักมีมุมคิดเชิงวิพากษ์สังคม นักการเมือง รัฐบาล พร้อมเสนอทางออกเป็นระยะๆ

ถ้อยคำแต่ละตัวอักษรก่อนออกสู่สาธารณะ จะบรรจงเก็บข้อมูลจากแหล่งข่าวเฉพาะนำมาบ่มจนดีกรีได้ที่
วันวานและวันนี้ ยังสวมเสื้อกั๊กคงความเป็นเอกลักษณ์ของเอกบุรุษ นามว่า นายธีรยุทธ บุญมี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งสนใจวัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวบ้าน ประเพณีไม่น้อยไปกว่าการเมือง ได้ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง

โดยบอกถึงทิศทางประเทศในยุคไทยแลนด์ 4.0 เพื่อต้องการให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ยกระดับองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีและคุณภาพของคนอย่างเร็วที่สุด
และหันมาทุ่มเทกำลังให้กับ “ทรัพย์ในดินสินในน้ำ จิตใจงามของคนไทย” ซึ่งเป็นสิ่งที่เรามีอยู่จริง มีศักยภาพในห่วงโซ่มูลค่า อาทิ มรดกทางพันธุกรรม ปลา อาหาร ผลผลิตแปรรูป การท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ ประเพณี ความหลากหลายของพืช ผัก ผลไม้ สมุนไพร ข้าว

รัฐบาลมีนโยบายเหล่านี้อยู่แล้ว แต่ความทุ่มเทยังต่ำไป

เฉพาะ “ข้าว” อย่างเดียว ที่กลุ่มวัฒนธรรมข้าวร่วมเปิดตัวโครงการ “เทศกาลข้าวใหม่” ในปัจจุบันและอนาคตข้าวหอมไทย ข้าวเหนียว ข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งมีเรื่องราว ตำนานที่น่าสนใจก็จะถูกรื้อฟื้นขึ้นมา
ทำให้ข้าวยังคงเป็นเสาหลักของสินค้าเกษตรของไทยต่อไป

ข้าวมีคุณค่าดีเด่นหลายประเภท ข้าวตำนานที่หอมอร่อย เช่น ข้าวพญาลืมแกง ข้าวที่เป็นสิริมงคลใช้ในพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เช่น ข้าวก่ำใหญ่ ข้าวที่ต่อต้านอนุมูลอิสระสูง มีส่วนต้านมะเร็งได้ เช่น ข้าวหอมนิล โดยเฉพาะข้าวกล้องงอกหอมมะลิแดง มีสารต่อต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าข้าวพันธุ์ธรรมดาถึง 31 เท่า

ขณะเดียวกันคนไทยเชื่อเรื่องความเป็นสิริมงคล เชื่อในเรื่องขวัญดี ขวัญเข้มแข็ง ในช่วงปีใหม่หรืองานมงคล จึงมอบ “ของขวัญ” ที่มีความหมายลึกซึ้งในการ “เพิ่มพูนมิ่งขวัญ” เป็นสิริมงคลแก่ผู้รับ เป็นพื้นฐานของชีวิตคนไทย จึงเชื่อว่า “ข้าวมีขวัญ” มีความเป็นสิริมงคลในตัว จึงเหมาะที่จะใช้เป็นของขวัญปีใหม่และงานต่างๆ

“เทศกาลข้าวใหม่” ที่ต้อนรับสิ่งใหม่ ย่อมนำมาซึ่งความปีติ ความหวังใหม่ ความปรารถนาดีต่อกันของผู้คนในสังคม ประเทศก็ได้ประโยชน์จากเศรษฐกิจที่หมุนเวียนเพิ่มขึ้น จากความสนใจของนักท่องเที่ยว ยิ่งมีความต้องการข้าวใหม่เพิ่ม ชาวนาย่อมได้ประโยชน์เพิ่ม ราคาในช่วงต้นฤดูก็จะดีขึ้น

วัฒนธรรมข้าวมันเป็นสากล เป็นต้นทางของอารยธรรมมนุษย์ ทั่วโลกก็มีเทศกาลและมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าว ไม่ใช่เป็นประเพณีที่ล้าหลัง แต่เป็นเรื่องสมัยใหม่ ยิ่งองค์ความรู้ด้านนี้เราฟื้นขึ้นมาใหม่ ในยุคสมัยใหม่ซึ่งคนหนุ่มสาวชอบและตื่นเต้นกับความแปลกใหม่อยู่แล้ว

ปัจจุบัน “ชาวนารุ่นใหม่” ได้ช่วยกันรื้อฟื้นข้าวพันธุ์พื้นเมืองหลากหลายพันธุ์ขึ้นมา สังคมโซเชียลมีเดียก็ช่วยให้การรื้อฟื้นให้กินข้าวใหม่เป็นไปได้ ผลจะปรากฏชัดมากขึ้นเมื่อกระแสความนิยมในเทศกาลนี้อยู่ยืนยาวต่อไป

ในโอกาสวันพระราชสมภพรัชกาลที่ 9 ตรงกับวันที่ 5 ธันวาคม พระองค์ทรงเป็น “กษัตริย์แห่งเกษตร”
ประกอบอยู่ในช่วงเทศกาลข้าวใหม่ จึงสมควรจะยึดถือวันนี้เป็นวันบุญข้าวใหม่ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ประเทศไทยและเพื่อเพิ่มพระกุศลบารมีของพระองค์ในสรวงสวรรค์ด้วย

เมื่อเทศกาลข้าวใหม่เกิดขึ้น ชาวนาซึ่งเป็นฐานรากของสังคมก็เข้มแข็ง จะขยับเป็นพลังบวกเพื่อนำไปสู่การเมืองใหม่ในทางที่ดีและสร้างสรรค์ได้อย่างไร นายธีรยุทธ บอกว่า ยังไม่คิดถึงเรื่องการเมือง
แต่คิดถึงพลังทางสังคมที่จะเป็นทางออกให้กับประเทศไทย

เป็นคำตอบในการแก้ปัญหาต่างๆของประเทศ

ผมใช้คำว่า “พลังบวก” มีความหมายที่กว้างกว่าคำว่า “พลังความดี” เพราะรวมไปถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ สิ่งที่ส่งผลกระทบในทางที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือขจัดปมปัญหาบางอย่างในสังคม หรือปมปัญหาหลายๆอย่าง

ยกตัวอย่างพลังทางบวก สมมติตอนนี้โลกใบนี้มีปัญหาใหญ่เรื่องความมั่นคง เกี่ยวกับการซื้อของผ่านอินเตอร์เน็ตแบงก์กิ้ง ซึ่งต้องมีระบบความปลอดภัย โดยบริษัทแห่งนี้มีนักคณิตศาสตร์คิดระบบรหัสลับ รหัสความปลอดภัยมีประมาณ 300 ตัว ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ทั่วไปที่มีพลังสูงสุดในการถอดรหัสจะใช้เวลา 5 ปี

ปรากฏว่ามีกลุ่มนักคณิตศาสตร์เอาคอมพิวเตอร์ตัวเล็กๆ ประมาณหลายร้อยเครื่อง อาจถึงหนึ่งพันเครื่องเพื่อแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ ใช้เวลาแค่ไม่กี่เดือนก็แก้ได้ บริษัทแห่งนี้ก็ต้องไปพัฒนาระบบความปลอดภัยให้ดีขึ้น

แต่ถ้าใช้พลังความดีนำไปใช้ในทางการเมือง จะทำให้บางคนรู้สึกว่าหรือบางคนจะบอกว่า พลังความดีพอพูดปุ๊บ ก็หาว่าเราเป็นคนไม่ดีปั๊บ มันมีความหมายทางลบสูงไป จะไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้

ที่ผ่านมาโมเดลยุคเก่าที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมหรือการเมือง อาทิ โมเดลการใช้อำนาจเผด็จการหรือทหาร ใช้อำนาจพิเศษแก้ปัญหาในรูปแบบปฏิรูป ปฏิวัติ เช่น สมัยมุสตาฟา เคมาลอตาเติร์ก มีบทบาทในการปฏิวัติยังเติร์ก นำโมเดลแบบทหารใช้อำนาจพิเศษเปลี่ยนแปลงประเทศตุรกี

โมเดลพรรคการเมือง ซึ่งรูปแบบนี้เป็นประเทศคอมมิวนิสต์ทำได้สำเร็จ หรือในยุคชาร์ล เดอ โกล ผู้นำการต่อต้านสงครามของฝรั่งเศส ก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคและประธานาธิบดี ปฏิรูปหลายด้านในทางการเมือง

โมเดลการเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการทางปัญญาชน กระบวนการแรงงาน เกิดขึ้นกับประเทศในเครือหลังสภาพโซเวียตล่มสลาย

รูปแบบ 3 โมเดลเก่านำมาใช้ในประเทศไทยไม่ได้ เพราะสภาพสังคมต่างกัน โมเดลตามทฤษฎีที่อ้างถึงมันสร้างปัญหาซ้ำ พอรัฐประหาร รัฐบาลพลเรือนเข้ามา เกิดคอร์รัปชัน ถูกรัฐประหาร เดินขบวนต่อต้าน มีรัฐประหาร เกิดการนองเลือด

อันนี้เป็นโมเดลเกิดจากวิธีคิดเก่า ในอนาคตจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ ท่ามกลางสังคมไทยยังไร้ความหวัง 3 ปีหลังรัฐประหาร ดูเหมือนคนไทยจะเงียบเฉย คนในรัฐบาลพูดจาอย่างไรก็รับฟัง ไม่มีความเห็น ไม่โต้ตอบ

แต่สังเกตว่าการกระทำทางสังคมใดๆ ไม่ว่าจะเป็นทหาร พรรคการเมือง จะถูกสังคมประเมินตัดสินอยู่ตลอดเวลา เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจพึงตระหนัก เห็นได้จากสังคมแสดง “พลังทางบวกซ่อนเร้น” 3 เหตุการณ์ใหญ่ คือ...

...การชุมนุมมวลมหาประชาชน แสดงออกถึงศรัทธา อยากกระทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองของคนไทยทั่วประเทศ แต่มีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง

งานพระราชพิธีถวาย พระเพลิงพระบรมศพ “พระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” และโครงการก้าวคนละก้าว “ตูน บอดี้สแลม” นายอาทิวราห์ คงมาลัย

โดยเฉพาะ 2 ปรากฏการณ์หลังเป็นเอกเทศ ข้ามขั้วข้ามฝ่าย อยากหลุดพ้นขบวนการความขัดแย้งแบบเก่า ไม่ฝักใฝ่หรือโจมตีผู้อื่น ไม่ขึ้นอยู่กับรัฐ ภาคเอกชน พลังสังคมเริ่มมองข้ามรัฐ พรรคการเมือง เอกชน
และกำลังสะท้อนสังคมไทยว่า สะสมปัญหามายาวนาน ผ่านหนทางแก้ไขมาหลายรูปแบบ ปฏิวัติ รัฐประหาร ปฏิรูปการเมือง มันยังไม่ทะลุทะลวงไปหมด บทเรียนประวัติศาสตร์บอกชัดเจนว่า การปฏิรูปโดยทหารหรือพลเรือนไม่เคยสำเร็จ เพราะไม่มีพลังจูงใจเพียงพอ เกือบทุกรัฐบาลมักตั้งคณะทำงานผลิตแผนปฏิรูปแล้วก็จบลง

ความพยายามดึงพลังสังคมมาช่วยเป็นพลังนำอาจเป็นแนวทางแบบใหม่ ไม่ควรเริ่มต้นไปเกี่ยวกับการเมือง ควรทำการปฏิรูปในจุดย่อยๆ เช่น ในท้องถิ่นเล็กๆ หรือเป็นประเด็นๆ ในที่สุดจะขยายวงกว้างนำไปสู่การแก้ไขปัญหาระดับชาติ

พลังทางบวกมีอยู่ทุกที่ แต่จะมารวมตัวกันมีขนาดใหญ่โตได้ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน มีเหตุปัจจัยที่ลงตัว
พลังนี้อาจเป็นโมเดลการแก้ปัญหาประเทศอย่างราบรื่นได้

แต่ถ้าทหารและพรรคการเมืองยังซ้ำรอยเดิม

เส้นทางบ้านเมืองข้างหน้าอาจสะดุดหกล้มกันอีกหลายหนก็ได้

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ตามแผนการปฏิรูปประเทศและยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล คสช. สุดท้ายถ้าไม่มีพลังทางบวกมาขับเคลื่อน คงทำได้แค่ผลสรุปออกมาเป็นกระดาษ นายธีรยุทธ บอกว่า อย่าเพิ่งไปสรุป

พลังทางบวกไปคิดล่วงหน้าและชี้นำไม่ได้ แนวโน้มเห็นว่ามีโอกาสเกิดขึ้นได้

แต่ขอย้ำว่าถ้ารัฐและพรรคการเมืองยังคิดแบบเก่า ย้ำแบบเก่า

ทิศทางบ้านเมืองอาจจะสะดุดหกล้มอีกได้.

ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: