PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สู่ความสามัคคีปรองดอง

สู่ความสามัคคีปรองดอง

การสร้างความปรองดองในชาติ เป็นวาระแห่งชาติสำคัญของรัฐบาล คสช. แต่ผ่านไปแล้วกว่าสามปีนับแต่การยึดอำนาจ ยังไม่เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม คนไทยทั่วไปรู้แต่เพียงว่ารัฐบาลจะทำเป็น “สัญญาประชาคม” และเพิ่งจะเปิดร่างสัญญาประชาคมเป็นครั้งแรก มีส่วนประกอบ 3 ส่วน ได้แก่บทนำ ความคิดเห็น และภาคผนวกซึ่งเป็นความเห็นนายกรัฐมนตรี

ร่างสัญญาส่วนที่เป็นความคิดเห็นมี 10 ข้อ เริ่มต้นด้วยการประกาศว่าคนไทยทุกคนพึงร่วมมือกันสร้างบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง เพื่อให้ประเทศ ไทยมีความเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ประชาชนมีส่วนร่วมกับการ เมือง ส่งเสริมสถาบันการเมืองให้เข้มแข็ง เพื่อการเลือกตั้งที่โปร่งใส

ส่วนภาคผนวกที่เป็นความเห็นนายกรัฐมนตรี มีทั้งหมด 15 ข้อ เช่น ต้องมีกลไกควบคุมพรรคการเมืองให้มีความรับผิดชอบต่อประชาชน การทุจริตระดับนโยบายต้องได้รับการตรวจสอบอย่างจริงจัง คนไทยต้องมีส่วนร่วมการเมืองภาคประชาชน และยอมรับความแตกต่างทางความคิดเห็น และน้อมนำศาสตร์พระราชามาปรับใช้ในการดำรงชีวิต

อาจเรียกได้ว่าเป็นสัญญาประชาคมฉบับทหาร เพราะคณะผู้นำกองทัพเป็นผู้จัดทำ โดยมีการรับฟังความคิดเห็นประชาชนประกอบ ภาคความคิดเห็นส่วนใหญ่เป็นแนวทางปฏิบัติคล้ายกับเป็นคำสั่งให้ทำตาม ส่วนภาคผนวกเป็นความเห็นนายกรัฐมนตรี เน้นการปฎิรูปการเมือง การให้ประชาชนมีส่วนร่วมการเมือง และยอมรับความเห็นต่าง

สอดคล้องกับหลักการของประชาธิปไตย ที่มุ่งส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเมือง เพื่อให้การเมืองประชาชนเข้มแข็ง นำไปสู่การเลือกตั้งที่สุจริตเที่ยงธรรม เสริมสร้างประชาธิปไตยให้เข้มแข็งและมั่นคง ล้วนแต่เป็นข้อเสนอที่ดี แต่สิ่งดีๆเหล่านี้ไม่สามารถผุดเกิดขึ้นเองได้ จะต้องมีกลไกบังคับและตรวจสอบ ตามหลักการประชาธิปไตย

นักการเมืองที่เข้าร่วมเวทีรับฟังบางคนวิจารณ์ว่าเนื้อหาของร่างสัญญาประชาคมส่วนใหญ่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญแล้ว การสร้างความสามัคคีปรองดอง น่าจะเริ่มต้นด้วยการค้นหาสาเหตุของความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางแก้ไข บางคนเตือนว่าการพัฒนาประชาธิปไตย ต้องไม่มองข้ามอุปสรรคปัญหาที่ทำให้ประชาธิปไตยล้มลุกคลุกคลานไม่รู้จักโต

สัญญาทุกฉบับจะต้องมีคู่สัญญา แต่สัญญาประชาคมฉบับนี้ไม่ทราบว่าใครบ้างเป็นคู่สัญญา ผู้มีพันธสัญญาร่วมกันที่จะปฏิบัติตามสัญญา เมื่อไม่ทราบว่าใครเป็นคู่สัญญา จึงเหมาเอาว่า “คนไทยทุกคน” ร่วมกันทำสัญญาประชาคม เพื่อความสามัคคีปรองดอง ด้วยการสร้างประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยแท้ สังคมที่เป็นสุข และยุติธรรม ภายใต้รัฐธรรมนูญเดียวกัน.

ไม่มีความคิดเห็น: