PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

2ผู้นำจีนไต้หวันคุยอะไรกัน

11112558  จับมือครั้งประวัติศาสตร์แล้ว สองผู้นำจีนแอบคุยอะไรกัน?
โดย : กาแฟดำ    

ความสำคัญของการพบกันครั้งประวัติศาสตร์ระหว่าง “นายสีจิ้นผิง” กับ “นายหม่าอิงจิ่ว”

ที่มาจากคนละฝั่งของช่องแคบไต้หวัน เมื่อวันเสาร์ที่สิงคโปร์นั้น นอกจากภาพจับมือออกสื่อทั่วโลก ต้องดูเนื้อหาของการประชุมระหว่างผู้นำปักกิ่งกับไต้หวันด้วย

คำถามใหญ่ก็คือว่านอกจากจับมือที่ยาวนาน 70 วินาที และคำกล่าวแถลงของหม่าอิงจิ่วยาว 7 นาทีกับของสีจิ้นผิง 3 นาทีแล้ว ทั้งสองแลกเปลี่ยนหัวข้ออะไรกันบ้าง?

เพราะเนื้อหาสาระต่างหากที่ตัดสินว่าการพบกันครั้งนี้จะนำไปสู่สันติภาพหรือความตึงเครียดเพิ่มเติม

ผมจับประเด็นได้อย่างน้อย 7 ข้อของการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้นำปักกิ่งกับไต้หวันคือ

1. ข้อตกลงเมื่อปี ค.ศ. 1992 ที่เรียกว่า “ความเห็นร่วมข้ามช่องแคบไต้หวัน” ที่เห็นพ้องต้องกันว่าโลกนี้มี “จีนเดียว” เท่านั้น 
ปัญหาอยู่ที่ว่าแม้ทั้งสองฝ่ายตกลงว่ามี “จีนเดียว” แต่การตีความของปักกิ่งกับไทเปไปกันคนละทาง เพราะต่างก็ตีความเข้าข้างตนเอง ทำให้ต้องมีการประชุมแบบกึ่งทางการในปีต่อมา แต่ก็ไม่ได้ข้อตกลงอะไรชัดเจน จนทำให้หม่าอิงจิ่วพูดเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาว่า “เอกสารชิ้นนี้เป็นสุดยอดแห่งความคลุมเครือ” เพราะท้ายสุดอยู่ที่ว่าใครจะตีความอย่างไรก็เข้าข่าย “เห็นพ้องกัน” อยู่ดี

2. ข่าวบอกว่าผู้นำไต้หวันเสนอให้มีการติดตั้ง “สายร้อน” หรือ hotline ระหว่างหัวหน้าสำนักงานกิจการไต้หวันของปักกิ่ง กับสำนักงานกิจกรรมแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน ทำให้ผมสงสัยว่าสองผู้นำไม่คุยกันทางมือถือเป็นระยะๆ ก่อนจะนัดพบกันครั้งนี้หรือ? หรือ hotline สายทางการเป็นเพียงสัญลักษณ์ของการแสดงความใกล้ชิดกันมากขึ้นเท่านั้น?

3. หม่าอิงจิ่วบอกสีจิ้นผิงว่าปักกิ่งยัง “โดดเดี่ยว” ไต้หวันต่อเนื่องในเวทีระหว่างประเทศ ขอให้ลดการกดดันประเทศและองค์กรระหว่างประเทศอื่นต่อไต้หวันได้หรือไม่? ดูเหมือนผู้นำจากแผ่นดินใหญ่จะแสดง “ความเข้าใจ” และบอกว่าขอให้ไต้หวันทำอะไรก็ทำไปเพียงแต่อย่าได้ฝ่าฝืนหลักการ “จีนเดียว” ก็พอ...เท่ากับว่ายังต้องตีความกันต่อว่า “จีนเดียว” ตามนิยามของฝ่ายใด?

4. สีบอกหม่าว่ายินดีที่ไต้หวันจะเข้าร่วมเป็นสมาชิก ของธนาคารแห่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหรือ Asia Infrastructure Investment Bank (AIIB) ที่ปักกิ่งเป็นหัวหอกทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้จีนเคยบอกว่าจะไม่ให้ไต้หวันมาร่วมวงด้วย

5. ไต้หวันยกประเด็นละเอียดอ่อนที่เป็นเรื่องเป็นราวมาตลอด นั่นคือการที่จีนแผ่นดินใหญ่เอาหัวจรวดขีปนาวุธหันมาทางไต้หวัน สีบอกหม่าว่าไม่ต้องห่วง เพราะเป้าของอาวุธร้ายแรงเหล่านั้นไม่ใช่ไต้หวัน แต่ไม่บอกว่าเป็นประเทศใด

6. จีนบอกว่าจะเร่งกระบวนการตั้งสำนักงานถาวรของตนในไต้หวัน และให้ไต้หวันตั้งสำนักงานลักษณะเดียวกันนี้บนแผ่นดินใหญ่ เพราะแม้จะมีข้อตกลงกันแล้วเมื่อปีก่อนหลังการประชุมระดับเจ้าหน้าที่สองฝ่าย แต่ยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร...มาคราวนี้เมื่อระดับสูงสุดของสองฝ่ายพบกันแล้ว ก็จะเร่งฝีเท้าในประเด็นนี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสานสัมพันธ์กันอย่างเป็นรูปธรรม

7. ข้อนี้ดูเหมือนจะสำคัญที่สุด เพราะมีคำถามว่าสีจิ้นผิงเจอหม่าอิงจิ่วแล้ว ไม่ว่าจะตกลงอะไรกัน จะมีอะไรรับรองว่าจะสามารถเกิดผลในระยะยาวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวัน ในเดือนมกราคมนี้ทำให้พรรคฝ่ายค้านได้บริหารประเทศ อย่างนี้มิทำให้ทุกอย่างพลิกไปอีกด้านหนึ่งหรือ?

ผมชอบคำตอบของประธานาธิบดีหม่าอิงจิ่วต่อนักข่าวเมื่อถูกถามประเด็นสำคัญข้อนี้ แกบอกว่า

“ผมอาจจะมีเวลาเหลือในตำแหน่งอีกหกเดือน แต่ท่านสีจิ้นผิงยังมีเวลาอีกตั้ง 7 ปี... ดังนั้นผลจากการสร้างสัมพันธ์ใหม่ระหว่างเราจะยังดำเนินไปอีกยาวนานครับ...”

แต่ถ้าถามนางใช่อิงเหวิน ตัวแทนพรรค Democratic Progressive Party (DPP) ที่เป็นฝ่ายค้านอยู่ขณะนี้แต่เป็นตัวเก็งที่จะชนะการเลือกตั้ง, คำตอบอาจจะเป็นว่า

“หม่าอิงจิ่วไม่มีสิทธิ์สร้างข้อผูกพันกับสีจิ้นผิงเกินกว่าหกเดือนที่ตัวเองมีอำนาจอยู่ หลังจากนั้นต้องขึ้นอยู่กับผู้นำคนต่อไปของไต้หวัน...”

ดังนั้นแม้จะเขียนประวัติศาสตร์บทใหม่แล้วเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา แต่ตรงช่องแคบไต้หวันยังมีเรื่องสนุกและต้องลุ้นกันอีกมาก

เพราะมีคนต้องการจะแย่งเขียนบทต่อไปอีกหลายคน!
- See more at: http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/636083#sthash.xjw3i0Yu.dpuf

ไม่มีความคิดเห็น: