PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

"สปท.การเมือง" เสนอแนวทางจำหน่ายคดีชั่วคราวสร้างความปรองดอง

วันที่ 4 มกราคม 2560 เวลา 07:29 น.

"นายเสรี สุวรรณภานนท์" เสนอแนวทางสร้างความปรองดองจำหน่ายคดีชั่วคราว เพื่อช่วยประชาชนที่มีอัตราโทษไม่ร้ายแรง ส่วนแกนนำและคดีร้ายแรง ให้สู้คดีตามกระบวนการยุติธรรม

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สปท. กล่าวว่า ที่ประชุมสปท.การเมืองได้ตั้งกรรมาธิการฯเต็มคณะ เพื่อพิจารณาแนวทางการ
ปฏิรูปเพื่อสร้างความปรองดอง โดยวางหลักการสร้างความปรองดองแยกเป็นกลุ่มๆได้แก่ ส่วนแกนนำชุมนุมหากมีคดีติดตัวจะเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อต่อสู้คดีในชั้นศาล ส่วนระดับประชาชนทั่วไปจะแยกตามความหนักเบาของคดีหากเป็นคดีที่มีความผิดร้ายแรง อาทิ มาตรา 112 คดีทุจริต ความผิดอาญาร้ายแรงเผาบ้านเผาเมือง ซึ่งเป็นความผิดที่ประชาชนรับไม่ได้จะต้องถูกดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน ไม่อยู่ในเกณฑ์ได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ แต่หากเป็นคดีประชาชนทั่วไปที่มีอัตราโทษไม่รุนแรง เช่น การฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินไปชุมนุมทางการเมือง

คดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาศาลแขวง หรือกรณีการขัดคำสั่งไม่ไปรายงานตัว สปท.การเมืองได้เสนอแนวทางลดหย่อนการลงโทษ อาทิ คดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาไต่สวนของศาล จะขอให้ศาลจำหน่ายคดีชั่วคราวระหว่างการสืบพยานไว้ชั่วคราว เพื่อให้โอกาสผู้กระทำผิดกลับตัว แต่มีเงื่อนไขว่าระหว่าง 3-5 ปี ห้ามไปกระทำความผิดซ้ำ ทั้งการไปร่วมการชุมนุม การปลุกระดมข่มขู่

ส่วนกรณีที่ นายสุชน ชาลีเครือ มีแนวคิดเสนอให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ไปร่วมชุมนุมทางการเมืองนั้น นายเสรี กล่าวว่า อยากให้ใช้แนวทางตามกฎหมายปกติไปก่อน แต่ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วย หากต้องการความรวดเร็ว ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายพิเศษได้

"วิรัตน์"หนุน"สปท."ชงนิรโทษ แนะเยียวยาเหยื่อ 3 จว.ใต้

ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า คดีที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ไม่ว่าจะเป็นตัวการหรือผู้สนับสนุน ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมอย่างเด็ดขาด และต้องลงโทษสถานหนักในคดีอาญาร้ายแรง รวมถึงคดีทุจริตทุกประเภท แต่ทั้งนี้เห็นด้วยที่จะนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบปราศจากอาวุธ และจะต้องมีมาตรการเยียวยาด้านการเงิน และด้านจิตใจให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต ผู้ทุพพลภาพหรือเจ็บป่วยจากการเข้าร่วมชุมนุมโดยสงบ ด้วยการจัดเงิน ดูแล หรือหาอาชีพที่เหมาะสม หรือมาตรการอื่นที่เหมาะกับผู้ชุมนุมนั้นๆ ส่วนวงเงินนั้นแม้ไม่ถึง 7 ล้าน 5 แสนบาทต่อราย แต่ควรให้ผู้ที่เสียชีวิต ทุพพลภาพ สามารถดำรงชีพอยู่ได้อย่างไม่เดือดร้อน และได้รับการยอมรับในสังคม ทั้งนี้เห็นว่าแนวทางที่จะนิรโทษกรรมควรให้ สนช. ยกร่างเป็นพระราชบัญญัติ เพื่อจะได้รอบคอบรัดกุมและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายนอกจากนี้ควรคำนึงถึงสถานการณ์ในสามจังหวัดภาคใต้ด้วย

"สาธิต"ย้อนถาม"สุชน"ชงนิรโทษฯเพื่อใคร

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ข้อเสนอของนายสุชน ที่เรียกร้องให้ หัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 นิรโทษกรรมประชาชนในเหตุการณ์การเมือง ตั้งแต่ พ.ศ.2547 เป็นต้นมา เพื่อสร้างความปรองดอง ว่า ถือเป็นข้อเสนอที่ล้าสมัยและควรต้องตอบคำถามสังคมก่อนว่า ทำเพื่อใคร และใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากการนิรโทษกรรมที่เสนอมา เพราะข้อเท็จจริงในเวลานี้ แทบจะไม่มีประชาชนที่เป็นเหยื่อในการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งที่เหลืออยู่มีแต่ผู้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระบวนการยุติธรรม ในทางกลับกันผู้ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมเหล่านี้ล้วนเป็นแกนนำในการชุมนุมทั้งสิ้น อีกทั้งขณะนี้ความขัดแย้งหรือความปรองดองของคนในชาตินั้น สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ที่สำคัญที่สุด คือ ข้อเสนอนี้จะเป็นการล้างอำนาจของฝ่ายตุลาการหรือไม่ เพราะบางคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองนั้น ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว มีผลพิพากษาทั้งลงโทษผู้ที่ทำผิด และที่ยกฟ้องให้ประชาชนไปแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น: