PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2560

แผนปรองดองยุค รัฐบาลทหาร 2 ปี 3คณะ วาระแท้งก่อนนิรโทษ

(ข้อมูลย้อนหลัง)
updated: 14 พ.ค. 2559 เวลา 20:30:08 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
รายงาน
ไอเดีย "บันได 2 ขั้น" สู่ความปรองดองของ "เสรี สุวรรณภานนท์" ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) อาจกล่าวได้ว่า "ล้มคว่ำไม่เป็นท่า" หลังจากจุดพลุสลายสีเสื้อชนิดไม่มีปี่มีขลุ่ยชั่วข้ามคืนเดียว ไอเดียปรองดองที่ยัง

"ไม่ตกตะกอน" กลายเป็น "ตำบลกระสุนตก" 

ให้กลุ่มการเมืองที่มีส่วนได้-เสียรุมกระหน่ำ ยิ่ง "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" รองนายกฯ ความมั่นคง "พี่ใหญ่แห่งบูรพาพยัคฆ์" ออกมาหักดิบแผนปรองดอง ว่า "ไม่เอา" ยิ่งทำให้เห็นชะตากรรมข้อเสนอของนายเสรี สั้นลงทันตาเห็น

"ตนไม่ค่อยเห็นด้วย เสนอมาทำไมไม่รู้ สถานการณ์ขณะนี้ก็ดีอยู่แล้ว อะไรก่อให้เกิดความขัดแย้ง ตีกัน ก็อย่าไปทำ ไม่เอา ควรปล่อยให้เป็นไปตามโรดแมป" พี่ใหญ่บ้านเกษะโกมลระเบิดอารมณ์สูตรปรองดองฉบับนายเสรี ประกอบด้วย บันไดขั้นแรก การใช้ "อำนาจรัฏฐาธิปัตย์" ของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ 2557 มาตรา 44 ถอนฟ้อง คดีในฐานความผิดลหุโทษ หรือคดีระดับแนวร่วม

บันไดขั้นที่สอง การออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หรือพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) รอการกำหนดโทษ เพื่อให้คดีสิ้นสุดลงทันที โดยไม่ต้องมีการตัดสินหรือฟังคำพิพากษาของศาล โดยจะใช้กับคดีฐานความผิดสถานหนัก หรือคดีระดับแกนนำอาทิ คดีกลุ่มแกนนำการเมืองบุกยึดสถานที่ราชการ ปิดสนามบิน หรือสี่แยกต่าง ๆ ที่เป็นอุดมการณ์การต่อสู้ทางการเมือง แต่ไม่รวมคดีทุจริต คดีหมิ่นสถาบันเบื้องสูง ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และคดีวางเพลิง-เผาทรัพย์

ประธาน กมธ.การเมือง สปท. ขยายความกรรมวิธี "รอการกำหนดโทษ" ว่า เป็นการนำหลักการรอการกำหนดโทษในกฎหมายอาญามาใช้และนำกระบวนการอื่น ๆ เข้ามาผสมเพิ่มเติม โดยเงื่อนไขการเข้าสู่กฎหมายรอการกำหนดโทษนั้น ผู้ถูกดำเนินคดีต้องยอมรับสารภาพว่า ตัวเองกระทำผิดในชั้นศาลก่อน หลังจากได้รับการรอการกำหนดโทษแล้ว จะมีมาตรการอื่น ๆ มาควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อไม่ให้กลับไปกระทำผิดอีก

อาทิ การห้ามชุมนุมการเมือง การห้ามปลุกปั่นก่อความวุ่นวาย รวมถึงอาจจะมีการตัดสิทธิการเมืองตลอดไป ข้อห้ามเหล่านี้จะกำหนดไปตลอดชีวิต ไม่มีอายุความ หากใครฝ่าฝืนข้อห้ามการรอการกำหนดโทษ จะถูกเรียกตัวมาฟังคำพิพากษาในคดีเดิม เพื่อลงโทษทันที มาตรการนี้จึงแตกต่างจากการนิรโทษกรรม เพราะการนิรโทษกรรมไม่มีข้อห้ามต่าง ๆ มาควบคุม หลังจากได้รับการนิรโทษกรรมไปแล้ว

เจ้าของไอเดียถูกตั้งคำถามทันควันว่า "รับงาน" ใครมาหรือไม่ ก่อนที่สปอตไลต์จะสาดส่องไปที่กองบัญชาการเกษะโกมล


แหล่ข่าวมือประสานแม่น้ำ 5 สายเปิดเผยว่า "ข้อเสนอของนายเสรีไม่เกี่ยวข้องกับ พล.อ.ประวิตรใด ๆ ทั้งสิ้น และไม่ใช่การถีบหัวส่ง พล.อ.ประวิตรไม่ใช่เป็นคน

อย่างนั้น เพราะถ้ารับงานจาก พล.อ.ประวิตรมาจริง ๆ พล.อ.ประวิตรก็ต้องออกมาเห็นด้วยและสนับสนุนข้อเสนอของนายเสรีซิ นอกจากนี้นายเสรียังไม่เคยมาหารือก่อนที่จะมีการพูดถึงข้อเสนอออกไปต่อสาธารณะเสียด้วยซ้ำ เป็นการคิดเอง ทำเองขึ้นมาของนายเสรี และคนใน กมธ.การเมือง สปท."

แหล่งข่าวระบุอีกว่า หลังจากนี้ข้อเสนอของนายเสรีคงต้องล้มเลิกและหยุดไว้ก่อน เพราะมีกลุ่มการเมืองที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากข้อเสนอดังกล่าวไม่เห็นด้วยแทบทุกฝ่าย รวมถึง พล.อ.ประวิตรที่รับผิดชอบด้านความมั่นคงก็มองว่า สถานการณ์ขณะนี้กำลังเดินไปสู่โรดแมป คือ การทำประชามติและมีการเลือกตั้ง หากรับข้อเสนอของนายเสรีอาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งและกระทบต่อโรดแมปได้

"อย่างไรก็ตาม สปท.มีหน้าที่หาแนวทางปฏิรูปประเทศ ซึ่งการสร้างความปรองดองเป็นเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญและต้องทำเพื่อให้ประเทศกลับมาสู่ความสมานฉันท์ จึงอาจมีการปรับแก้แนวทางให้ทุกฝ่ายเห็นด้วยมากกว่านี้"


ด้านแหล่งข่าวจาก สปท.วิเคราะห์ว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยผ่านประชามติ จะทำให้ สปท.อยู่ในอำนาจอีกเพียง 6 เดือน ดังนั้นช่วงนี้จึงต้องรีบสร้างผลงาน เพื่อได้เข้าไปนั่งในตำแหน่ง ส.ว.สรรหา ที่ คสช.จะเป็นผู้คัดเลือก

หากย้อนเส้นทาง "ปรองดอง" ในยุค คสช.เข้าควบคุมอำนาจ เกือบ 2 ปีผ่านไป หลัง พล.อ.ประยุทธ์ เก็บกวาดนักการเมืองพ้นกระดาน ไม่ถึง 20 วัน ได้มีการตั้ง "ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.)" วางบันไดการทำงานไว้ 3 ขั้น เพื่อออกแบบการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง

ขั้นที่ 1 เตรียมความพร้อม โดยเชิญผู้แทนส่วนที่เกี่ยวข้อง แผนการปฏิบัติ เพื่อเข้าสู่ขั้นที่ 2 ขั้นดำเนินการ ลงพื้นที่ระดับครอบครัว หมู่บ้าน ตำบล หาข้อเสนอปฏิรูปและปรองดอง ก่อนเข้าสู่ขั้นที่ 3 ส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญไปเขียนรัฐธรรมนูญใหม่

หลายเดือนต่อมา 23 เม.ย. 58 ศปป.เรียกนักการเมือง นักวิชาการ ตัวแทนกลุ่มภาคประชาชน 83 รายชื่อ และมีผู้ตอบรับเข้าร่วมประชุม 40 คน มาปิดห้องหารือที่สโมสรกองทัพบก แบบสายฟ้าแลบ อาทิ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ภายใต้เวทีที่ใช้ชื่อว่า "เสวนาปรองดองสมานฉันท์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทย" ในหัวข้อ "อนาคตของประเทศไทย"

รุ่งขึ้น พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการปิดห้องคุยครั้งนั้นว่า "หลายท่านบอกว่าผมเรียกมาแบบนี้เพื่อเตรียมใช้มาตรา 44 มาทำให้เกิดความปรองดอง ผมบอกหลายครั้งแล้วว่า การปรองดองอยู่ที่หัวใจทุกคน ถ้าอยากปรองดองก็หยุดเสียก่อน หยุดพูด หยุดแสดงความคิดเห็นที่สร้างความขัดแย้ง"

ทว่าการปรองดองก็ยังมิอาจหาข้อสรุปได้ภายในวันเดียว


ต่อมา 3 มิ.ย. 58 ศปป.จัดในรูปแบบการเสวนา "เสวนาปรองดองสมานฉันท์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทย" ครั้งที่ 2 ในหัวข้อเดิม จำนวน 4 วันต่อเนื่องกัน ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีรังสิต สถานที่ปฏิวัติ 22 พฤษภาคม 2557

บุคคลที่ถูกเชิญตัวก็ยังเป็นนักการเมืองต่างขั้วต่างค่าย-นักวิชาการหลากหลายทฤษฎี อาทิ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นายสมศักดิ์

โกศัยสุข อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) และแกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นายธีรยุทธ บุญมี นักวิชาการ นักวิจารณ์การเมือง

ศปป.นำแนวคิดจากทุกขั้ว-ทุกค่าย นำมาผูกโยงเข้าหากันเพื่อแสวงหาจุดร่วม-สงวนจุดต่าง ในชั้น สปช. โดยวันที่ 21 ก.ค. 58 คณะกรรมการศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สปช. ที่มี "เอนก เหล่าธรรมทัศน์" เป็นประธาน นำเสนอเนื้อหาสาระหลังเดินสายเยี่ยมนักโทษการเมืองถึงในคุก หารือกับกลุ่มการเมืองทุกขั้ว ทุกสี คือ เงื่อนไขการนิรโทษกรรมต้องไม่หมายรวมถึงคดีทุจริตคอร์รัปชั่น คดีอาญาร้ายแรง และคดีผิดมาตรา 112 รวมถึงจะไม่นิรโทษกรรมผู้ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง

เบื้องต้นควรนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุมในคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง คาดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินการในขั้นตอนเฉพาะของผู้ชุมนุมประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้นจึงพิจารณาการนิรโทษกรรมในขั้นตอนต่อไป อาทิ แกนนำ โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการสำนึกรับผิดต่อสาธารณะ

มีการเปิดเผยความจริงของผู้กระทำผิดและการให้อภัยของผู้ถูกกระทำโดยโรดแมปปรองดอง 6 ระยะ คือ 1.การสร้างความเข้าใจร่วมของสังคมต่อเหตุแห่งความขัดแย้ง 2.การแสวงหาและเปิดเผยข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรง 3.การอำนวยความยุติธรรม การสำนึกรับผิดและการให้อภัย 4.การเยียวยาและการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การจัดตั้งศูนย์ประสานงานและรวบรวมข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่ายจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ พ.ศ. 2548-2557 5.การสร้างสภาวะที่เอื้อต่อการอยู่ร่วมกัน และ 6.มาตรการป้องกันการใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง อาทิ ควรมีการเฝ้าระวังสถานการณ์ ระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า หรือปะทะรุนแรงระหว่างฝ่ายประชาชนหรือฝ่ายเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง

ทว่าเมื่อส่งไปยังรัฐบาลกลับเงียบหายจนถึง ณ เวลานี้คู่ขนานกับการบรรจุเรื่องการปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญ ฉบับของ "บวรศักดิ์ อุวรรณโณ" 


โดยตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างมากว่า จะมาเป็น "ซูเปอร์รัฐบาล" ควบคุมรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง ทำให้เกิดแรงต้าน กระทั่งร่างรัฐธรรมนูญแท้งไปโดยการโหวตคว่ำของ สปช. พร้อมกับการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชุด 36 อรหันต์

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเก่าแท้งไปด้วยพิษของ คปป. ก็เกิดคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน หลายฝ่ายจับตามองว่า "มีชัย" จะนำ คปป. ที่มีภารกิจปฏิรูป-ปรองดองกลับมาใส่ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญอีกหรือไม่

"มีชัย" สั่งตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาประเด็นปัญหาการสร้างความปรองดอง มี "ภุมรัตน์ ทักษาดิพงศ์" อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ เป็นประธาน โดยมี "3 ทหารเสือ" เป็นแกนหลัก ประกอบด้วย พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช อดีตคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 2550 พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ กระทรวงกลาโหม และ พล.ต.วิระ โรจนวาศ อดีตผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญทหารบก ซึ่งเป็นสายตรง คสช.ที่ถูกส่งมาช่วยร่างรัฐธรรมนูญ

ข้อสรุปของอนุกรรมการ ออกมาตรการ 3 ระยะเพื่อสร้างความปรองดอง ได้แก่ ระยะที่ 1 การสร้างบรรยากาศที่ดีในการนำไปสู่การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น โดยยุติพฤติกรรมใส่ร้ายป้ายสีซึ่งกันและกัน ผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะสังคมออนไลน์

ระยะที่ 2 จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อสร้างความปรองดองหรือสมานฉันท์ ผ่านกระบวนการเจรจาของคู่ขัดแย้งให้เกิดผลอย่างจริงจัง โดยจะต้องประสานความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ระยะที่ 3 ใช้กระบวนการเยียวยา นิรโทษกรรม หรืออภัยโทษ ผ่านการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน คู่กรณีต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด แล้วจึงจะพิจารณาเยียวยา นิรโทษกรรม อภัยโทษ ตามกระบวนการกรอบกฎหมาย ยกเว้นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคดีอาญาร้ายแรง

แต่ที่สุดแล้วก็ไม่ถูกนำมาบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยในเวลาไล่เลี่ยกัน ก็มีความพยายามของ "พรเพชร วิชิตชลชัย" ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อต้นเดือนมกราคม 2559 เตรียมจัดตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาเสริมสร้างสังคมสันติสุข ซึ่งแนวคิดนี้มาจากสถาบันพระปกเกล้า เพื่อทำหน้าที่ศึกษาหาแนวทางสร้างความปรองดองและสันติสุขให้เกิดขึ้นในสังคมไทย มาร่วมเป็นกรรมาธิการ

แต่ก็เงียบมาจนถึงบัดนี้

ยังไม่นับกระแสข่าวที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวคิดจะใช้มาตรา 44 เพื่อตั้งคณะกรรมการปรองดองขึ้นมา ในช่วงต้นเดือน ม.ค. 59

สุดท้ายก็เงียบหายไปอีกเช่นกัน


2 ปีผ่านไป แผนปรองดองยุครัฐบาล-คสช.ถูกนำมาจุดพลุความหวัง-ขายฝัน ถึง 3 คณะ ก่อนจบลงที่การถูกตีตก เป็นวาระคงค้าง แท้งก่อนจุติ

ไม่มีความคิดเห็น: