PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

“พฤษภาทมิฬ” ทำว่าที่ “เสือตัวที่ 5” กลายเป็น “เสือติดหล่ม” ?

“พฤษภาทมิฬ” ทำว่าที่ “เสือตัวที่ 5” กลายเป็น “เสือติดหล่ม” ?

วันที่ 17 พฤษภาคมนี้ เป็นวันครบรอบปีที่ 24 เข้าไปแล้วสำหรับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ การปราบปรามผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยด้วยความรุนแรงจนมีผู้เสียชีวิตมากมาย โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อทั้งชีวิตของประชาชน และอนาคตของประเทศ

วันนี้ผู้เขียนไม่ขออภิปรายในประเด็นการเมืองมากนัก แต่อยากจะเท้าความถึงความฝันอันเรืองรองของผู้ใหญ่ในยุคนั้น ซึ่งเด็กในยุค 90 (เช่นเดียวกับผู้เขียน) น่าจะคุ้นเคยกันดีกับคำว่า “เราจะเป็นเสือตัวที่ 5” ซึ่งผู้คนร่วมสมัยน่าจะเคยได้เห็นได้ยินจากทั้งหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ และในห้องเรียนวิชาสังคม
เพื่อให้ผู้อ่านรุ่นใหม่ที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับคำๆนี้ (เนื่องจากหลังๆไม่มีใครพูดถึงแล้ว) ได้ที่รู้ที่มาที่ไปคร่าวๆว่า ในอดีตมีกลุ่มประเทศที่ได้รับการยกย่องในฐานะประเทศที่เป็นดั่งเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจของเอเชียในฉายา “สี่เสือแห่งเอเชีย” อันประกอบด้วย ฮ่องกง สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวัน ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่มีระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่อเนื่องในอัตราสูงนับแต่หลังทศวรรษที่ 60 และในช่วงปลายทศวรรษที่ 80 ถึงต้นทศวรรษที่ 90 นี่เอง ที่คนไทยไม่น้อยฝันว่าจะประเทศของตัวเองจะสามารถเทียบชั้นประเทศทั้ง 4 ได้ในฐานะเสือตัวที่ 5 ของเอเชีย หลังมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูงกว่า 10 เปอร์เซนต์ต่อเนื่องหลายปี

แต่การพัฒนาทางเศรษฐกิจภายใต้นโยบายของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ดำเนินไปพร้อมกับการลดบทบาทของกองทัพ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยของการรัฐประหารในปี 1991 (บวกกับข้อหาประจำอย่างการคอรัปชั่น) ตามมาด้วยการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งลงท้ายด้วยการนองเลือดในเหตุการณ์ “พฤษภาทมิฬ” ในปีถัดมา อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยจึงได้เริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เพื่อรักษา “ตัวเลข” การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับสูงต่อไป ไทยจูงใจนักลงทุนต่างชาติด้วยการรักษาอัตราดอกเบี้ยสูง เปิดเสรีทางการเงิน ผ่อนคลายการควบคุมสินเชื่อ ผ่อนปรนระเบียบธานาคาร ปล่อยเสรีการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ กลายเป็นการส่งเสริมการเก็งกำไรของสถาบันการเงินมากกว่าการเติบโตที่แท้จริง

นับแต่ปี 1992 หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเพียง 4 ปี หนี้สาธารณะของไทยได้เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่าตัว การตรึงค่าเงินบาทไว้กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้เงินบาทของไทยมีมูลค่าสูงเกินจริง ถึงช่วงเดือนมิถุนายน 1997 รัฐบาลไทยได้ใช้เงินสำรองเกือบทั้งหมดไปกับการพยุงค่าเงินบาท รัฐบาลจึงจำเป็นต้องปล่อยค่าเงินลอยตัว ค่าเงินบาทจึงร่วงหล่นอย่างไร้ทิศทาง ในปี 1998 ไทยมีเศรษฐกิจหดตัวถึง 12.5 เปอร์เซนต์ ถือเป็นครั้งแรกตั้งแต่ปี 1956 เป็นต้นมา หลังจากนั้นผู้เขียนก็แทบไม่เห็นใครพูดว่าไทยจะเป็นเสือตัวที่ 5 ของเอเชียอีกเลย

เมื่อมองย้อนกลับไปก็เป็นที่น่าเสียดายที่ไทยถูกประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกันในอดีตหรือด้อยกว่าพัฒนานำหน้าไทยไปอย่างไม่เห็นฝุ่น เห็นได้จากตัวเลข GDP จาก Penn World Table 6.3 [ข้อมูลเปรียบเทียบเชิงสถิติพัฒนาโดยผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, เดวิส (University of California, Davis) และมหาวิทยาลัยโกรนิงเกน (University of Groningen)] เมื่อปี 1951 ไทยมีตัวเลขรายได้อยู่ที่ 195 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี ขณะที่ไต้หวันมีตัวเลขที่ 168 ดอลลาร์ต่อคนต่อปีเท่านั้น พูดได้เต็มปากว่าไทยนำหน้าอยู่ 16 เปอร์เซนต์ แต่เมื่อถึงปี 2007 ตัวเลขของไทยอยู่ที่ 10,302 ดอลลาร์ ขณะที่ไต้หวันอยู่ที่ 27,883 ดอลลาร์ กลายเป็นไต้หวันนำไทยไปกว่า 170 เปอร์เซนต์!

เกาหลีใต้เป็นอีกประเทศที่คนไทยไม่น้อยต้องหันมองด้วยสายตาริษยา ทั้งๆที่ไทยเคยตามหลังเกาหลีใต้ในเชิงรายได้เพียงราว 20 เปอร์เซนต์ในช่วงทศวรรษที่ 60 แต่ตอนนี้คนไทยมีรายได้เฉลี่ยตามหลังคนเกาหลีใต้อยู่เป็นเท่าตัว ด้วยทุกวันนี้เกาหลีใต้ได้กลายเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำมีรายได้เทียบเท่าประเทศญี่ปุ่นไปแล้ว

แน่นอนว่าการเมืองไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำให้ไทยกลายเป็นเสือติดหล่ม แต่ยังเกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ รวมถึงความผิดพลาดในการบริหารจัดการร่วมด้วย แต่เด็กยุค 90 อย่างผู้เขียนก็อดเสียดายไม่ได้ ก็ได้แต่หวังว่าคนรุ่นต่อๆไปจะได้เรียนรู้ถึงความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในอดีตเพื่อประโยชน์ในโอกาสต่อๆไป สุดท้ายจึงขอแนบตัวเลขจีดีพีย้อนหลังถึงปี 1950 ของไทย ไต้หวัน และเกาหลีใต้ไว้ให้ผู้อ่านดูเล่นด้วย
———————————————
อดิเทพ พันธ์ทอง, ศิลปวัฒนธรรม
ข้อมูลจาก:
1. Thailand’s Political History From the Fall of Ayutthaya to Recent Times by B.J. TerWiel
2. เศรษฐกิจไทย 15 ปี หลังวิกฤติ: พอเพียงหรือยัง โดย ประสพโชค มั่งสวัสดิ์ และนิรมล อริยอาภากมล
ภาพประกอบ:
1. ภาพถ่ายขณะกองทัพใช้กำลังเข้าควบคุมการชุมนุมของประชาชนเมื่อวันที 18 พฤษภาคม 1992 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 ราย (ตัวเลขจากรายงานของเอเอฟพี), AFP PHOTO / AFP FILES / PONGSAK CHAIYANUWONG
2. ภาพผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหารบนถนนราชดำเนิน ช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 18 พฤษภาคม 1992 ซึ่งต้องอยู่ในสภาพหมอบราบ หลังกองทัพเริ่มการกราดยิงด้วยอาวุธปืนเล็กยาว (รายงานของเอเอฟพี) AFP PHOTO / STR
3. ภาพสถิติ GDP ของไทย จาก Penn World Table 6.3
4. ภาพสถิติ GDP ของไต้หวัน จาก Penn World Table 6.3
5. ภาพสถิติ GDP ของเกาหลีใต้ จาก Penn World Table 6.3

ไม่มีความคิดเห็น: