PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

คณะทำงาน ป.ป.ช.เคาะแล้ว! ไม่ถอนฟ้องคดีสลายพธม.ชี้ไม่มีพยานหลักฐานใหม่

คณะทำงานฯเคาะแล้ว! ข้อสรุปปมถอนฟ้องคดีสั่งสลายการชุมนุมพันธมิตรปี’51 ยันไม่ถอนฟ้อง เหตุไม่มีพยานหลักฐานใหม่ แจงตามข้อร้องเรียนเป็นข้อ ๆ เตรียมเสนอที่ประชุมกรรมการลงมติ 26 พ.ค.นี้ ยันต้องถกอย่างถี่ถ้วนรอบคอบ เอาคดีสลายชุมนุมปี’53 มาเทียบทำตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่ ให้ ‘พล.ต.อ.วัชรพล’ ตัดสินใจร่วมลงมติเอง
PIC naiidm 15 5 59 1
จากกรณี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งคณะทำงานพิจารณากรณีการถอนฟ้องคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรปี 2551 ที่มีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. หนึ่งในจำเลยคดีดังกล่าวร้องเข้ามานั้น
ล่าสุด แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. ยืนยันสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงกรณีนี้ว่า คณะทำงานมีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่าไม่ควรถอนฟ้องในคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตร เนื่องจากเห็นว่า พยานหลักฐานที่ผู้ร้องยื่นเข้ามาไม่มีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ นอกจากนี้ได้ชี้แจงเหตุผลต่อข้อร้องเรียนเป็นข้อ ๆ จนเสร็จสิ้นข้อสงสัยแล้ว
ทั้งนี้ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาเรื่องดังกล่าว กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ที่ประชุมของคณะทำงานในวันนี้ (17 พ.ค. 2559) ได้ข้อสรุปแล้วว่า จะเสนอแนวทางอย่างไร โดยให้เลขานุการของคณะทำงานฯ สรุปรายละเอียดและเรียบเรียงจัดทำเอกสาร เพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะทำงานฯลงนามในมติดังกล่าวอีกครั้งในวันที่ 24 พ.ค. 2559 ก่อนเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในวันที่ 26 พ.ค.นี้ อย่างเป็นทางการ
“ขณะนี้คณะทำงานได้แนวทางที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรียบร้อยแล้ว ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะมีความเห็นชอบอย่างไรนั้น คงจะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการอีกครั้ง สำหรับแนวทางที่เสนอนั้น ไม่ได้มีเป็นข้อ ๆ แต่เป็นเพียงภาพรวมที่ได้พิจารณาข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และความคิดเห็นต่าง ๆ” นายสรรเสริญ กล่าว
ส่วนประเด็นที่สื่อมวลชนสงสัยว่าคณะทำงานฯจะมีข้อเสนอแนะต่อประเด็นนี้ที่เกี่ยวโยงกับประธาน ป.ป.ช. (พล.ต.อ.วัชรพล) เพื่อให้ข้อเสนอแนะแก่ประธานฯว่า ควรจะร่วมลงมติหรือไม่นั้น นายสรรเสริญ กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่หน้าที่ของคณะทำงานฯ เพราะมีหน้าที่เพียงพิจารณากรอบการทำงาน ตามที่ได้รับมอบหมายเท่านั้น
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงาน ป.ป.ช. แจ้งว่า สำหรับแนวทางการพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะต้องพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบที่สุด เนื่องจากอาจจะมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์โดยรวมขององค์กร นอกจากดูในประเด็นพยานเอกสารหลักฐานใหม่ที่ผู้ร้องยื่นมาเป็นไปตามนั้นหรือไม่ มีความเหมาะสมหรือไม่ และกฎหมายทำได้หรือไม่ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว ยังต้องดูที่ระเบียบศาลฎีกาฯด้วยว่า สามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งต้องถูกต้องตามข้อกฎหมายด้วย
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาตามข้อเสนอของคณะทำงานฯว่า มีความเห็นอย่างไร ให้ความเป็นธรรมต่อผู้ร้องหรือไม่ ขณะเดียวกันต้องดูมีความถูกต้องและสอดคล้องกับกฎหมาย ป.ป.ช. หรือไม่ เพราะ ป.ป.ช. เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง ต้องดูตรงนี้เป็นหลัก อย่างไรก็ดีที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. จะพิจารณาโดยนำ 2 สำนวนคดีที่คล้ายกัน คือคดีสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 กับคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรปี 2551 มาเปรียบเทียบกัน โดยดูว่าการดำเนินการสลายการชุมนุมในปี 2551 เป็นการใช้แผนปฏิบัติการฉุกเฉินในการสลายการชุมนุมหรือไม่ เนื่องจากการดำเนินการสลายการชุมนุมปี 2553 จะมีแผนการปฏิบัติงานตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
ส่วนกรณีความเหมาะสมที่ พล.ต.อ.วัชรพล จะร่วมลงมติว่าจะถอนฟ้องคดีดังกล่าวหรือไม่นั้น ประเด็นนี้ พล.ต.อ.วัชรพล ต้องพิจารณาเองว่า ในเมื่อเป็นประเด็นทางสังคม และมีคนท้วงติงก็อาจจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมและความเกี่ยวข้องหรือไม่ว่า ประธาน ป.ป.ช. เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ควรหรือไม่ควรนั่งร่วมพิจารณาเรื่องนี้ ดังนั้นจะถอนตัวในการลงมติหรือไม่ คงเป็นเรื่องของประธาน ป.ป.ช. คนอื่นคิดแทนไม่ได้ 

ไม่มีความคิดเห็น: