PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

1 ทศวรรษงบกองทัพ ยุค"บิ๊กตู่" ตั้ง2แสนล้าน แบ่งเค้กซื้ออาวุธจีน-รัสเซีย

(ข้อมูล ช่วงมีการพิจารณางบประมาณกองทัพ ปีงบประมาณ59)

updated: 02 พ.ค. 2558 เวลา 21:55:00 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
ในวงประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะขนาบข้างด้วย 5 รองนายกรัฐมนตรี พร้อมหน้าด้วยเจ้ากระทรวงทุกกระทรวง มีวาระพิจารณา "บรู๊ฟแรก" ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี"59 

ในวันนั้นใช้เวลาถกเถียงกันเพียงวาระเดียวกว่า 4 ชั่วโมง เนื่องจากยอดงบประมาณทั้งหมดที่แต่ละกระทรวงเสนอเข้ามาสูงถึง 3.8 ล้านล้านบาท 

"วันนี้เถียงกันเยอะ เพราะยอดทุกกระทรวงที่ตั้งเบิกจ่ายสูงถึง 3.8 ล้านล้านบาท เพราะทุกกระทรวงก็บอกว่าทำงบ กระทรวงตัวเองลดมากขนาดนี้ เราก็ชี้แจงเพราะว่าการเบิกจ่ายปีที่แล้วเคยใช้จ่ายเท่าไร ประเภทที่ตั้งงบฯแล้วไม่มีการเบิกจ่ายก็ถือว่าใช้ไม่ได้ จึงต้องเถียงกันนานหน่อย เพราะทุกกระทรวงก็อยากได้เต็ม" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล แม่ทัพฝ่ายเศรษฐกิจระบุ

สุดท้ายวงประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เคาะที่วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท โดยผ่าน "ด่านแรก" ของความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ "บิ๊กป้อม"-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม นั่งเก้าอี้ "รักษาการสร.1" เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา 

และงบฯกองทัพ ซึ่งแฝงตัวอยู่ในงบฯกระทรวงกลาโหมก็ถูกประทับตราให้ผ่าน และได้รับวงเงินสูงมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยมากถึง 207,718.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบประมาณปี58 จำนวน 14,769 ล้านบาท

เป็นการจัดงบฯให้กองทัพไว้ใช้จับจ่ายมากที่สุดในรอบ 1 ทศวรรษ
 โดยไล่ตั้งแต่ปี49 จำนวน 85,936 ล้านบาท ปี50 จำนวน 115,024 ล้านบาท ปี51 จำนวน 143,519 ล้านบาท ปี52 จำนวน 170,157 ล้านบาท ปี53 จำนวน 154,032 ล้านบาท ปี54 จำนวน 168,501 ล้านบาท ปี55 จำนวน 168,667 ล้านบาท ปี56 จำนวน 180,491 ล้านบาท ปี57 จำนวน 183,820 ล้านบาท และปี58 จำนวน 192,949 ล้านบาท 

ท่ามกลางกระแสการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กองทัพจากจีนและรัสเซีย อาทิ รัสเซีย-หลัง "ดมิทรี เมดเวเดฟ" นายกรัฐมนตรีรัสเซีย เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย. มีกระแสข่าวการแลกซื้ออาวุธของรัสเซียกับยางพาราของไทยจำนวน 8 หมื่นตัน และ "พล.อ.ประยุทธ์" ถึงกับชื่นชมว่า รัสเซียเป็นมิตรแท้

นายเดนิส แมนทูรอฟ รมว.พาณิชย์ของรัสเซีย หนึ่งในคณะผู้ติดตามนายกรัฐมนตรี ดมิทรี เมดเวเดฟ เดินทางเยือนประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวต่างประเทศว่า รัสเซียมีโอกาสที่จะขายเครื่องบินทหารและยุทโธปกรณ์ทหารอื่น ๆ ให้ไทย เพราะประเทศตะวันตกบางประเทศลังเลไม่เต็มใจที่จะทำธุรกิจดังกล่าวกับรัฐบาลทหารของไทย

ฝ่าย จีน-ก็มีข่าวสะพัดไล่หลัง พล.อ.ประวิตร และผู้นำเหล่าทัพเดินทางกลับจากจีน เมื่อวันที่ 8-10 เม.ย. ตามคำเชิญของกระทรวงกลาโหมของจีน ได้บรรลุข้อตกลงเบื้องต้นในการตั้ง "คณะกรรมการร่วม" ด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยมี "พล.อ.ประวิตร" เป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายไทย ระหว่างการเยือนของ "พล.อ.อ.สวี่ ฉีเลี่ยง" รองประธานคณะกรรมาธิการกลางของจีน ในฐานะแขกกระทรวงกลาโหมของไทย 

วาระใหญ่คือการซื้อเรือดำน้ำของจีนอย่างไรก็ตาม หากย้อนไป 8 ปี (2550-2557) การจัดซื้ออาวุธของกองทัพไทยที่ผ่านมา มีการนำเข้าสินค้าประเภทอาวุธที่ไทยนำเข้าเกือบ 7 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย 3 กลุ่มใหญ่

กลุ่มแรก สินค้าประเภทอาวุธและกระสุน รวมทั้งส่วนประกอบและอุปกรณ์ประกอบของอาวุธดังกล่าว (Arms Ammunition) มูลค่า 43,960.23 ล้านบาทอาทิ อาวุธที่ใช้ในทางทหาร ปืนลูกโม่ ปืนพก ปืนใหญ่ เฮาวิตเซอร์ ปืนครก เครื่องยิงจรวด เครื่องพ่นไฟ เครื่องยิงลูกระเบิด รวมทั้งท่อยิงตอร์ปิโด และเครื่องยิงที่คล้ายกัน ปืนลูกซอง ปืนเล็กยาวที่ใช้ในการกีฬา ปืนแก๊ป ปืนพลุสัญญาณ และอุปกรณ์อื่นๆ ที่ออกแบบเพื่อใช้ยิงพลุสัญญาณเท่านั้น

อาทิ ปืนพกและปืนลูกโม่ สำหรับใช้ยิงกระสุนหลอก ปืนพกยิงเข็มฉีดยา ปืนยิงส่งสายเชือก รวมถึงระเบิด ระเบิดมือ ตอร์ปิโด ทุ่นระเบิด ขีปนาวุธ ลูกปืน กระสุนปืนอื่นๆ จรวด ลูกปราย หมอนลูกปืน กระสุนปืนลม ลูกปืนอื่น ๆ และกระบี่ ดาบ ดาบปลายปืน และทวน

กลุ่มที่สอง ผลิตภัณฑ์จำพวกระเบิดพลุไฟ (Explosive Pyrotechnic Product) เช่น แก๊ปกระสุนปืน เชื้อปะทุสำหรับจุดพลุระเบิดสัญญาณมูลค่า 10,801.76 ล้าน
อาทิ ดินขับ สายชนวนจุดระเบิด ชนวนระเบิด แก๊ปก้นกระสุนปืน หรือแก๊ป หัวชนวนระเบิด เชื้อจุดระเบิด เชื้อปะทุไฟฟ้า สำหรับจุดระเบิด สายชนวนจุดระเบิดกึ่งสำเร็จรูป แก๊ปแบบอีเลเมนเต็ด ซิกแนลทูบ ดอกไม้เพลิง พลุสัญญาณ พลุสัญญาณตัดฝน พลุสัญญาณตัดหมอก และของจำพวกดอกไม้เพลิงอื่น ๆ เครื่องอุปกรณ์ให้สัญญาณขอความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ ยังมีอาวุธยุทธภัณฑ์จำลองจำพวกดอกไม้เพลิง และแก๊ปก้นกระสุนปืนสำหรับของเล่น ไม้ขีดไฟ เฟอร์โรซีเรียม และอัลลอยที่ทำให้เกิดประกายไฟอื่น ๆ รวมทั้งของทำจากวัตถุที่สันดาป เชื้อเพลิงเหลวหรือเชื้อเพลิงที่เป็นก๊าซเหลวบรรจุในภาชนะชนิดใช้บรรจุหรือ เติมไฟแช็กหรือเครื่องขีดไฟที่คล้ายกัน และมีความจุไม่เกิน 300 ลูกบาศก์เซนติเมตร 

เชื้อเพลิงแข็งหรือกึ่งแข็ง แอลกอฮอล์ที่ทำเป็นของแข็ง และเชื้อเพลิงปรุงแต่งที่คล้ายกัน หินเหล็กไฟสำหรับเครื่องขีดไฟเฟอร์โรซีเรียมอื่น ๆ อัลลอยที่ทำให้เกิดประกายไฟอื่น ๆ คบเพลิงเรซิ่น เชื้อไฟ และสิ่งที่คล้ายกัน

และกลุ่มสุดท้าย สินค้าประเภทรถถังและยานรบหุ้มเกราะอื่น ๆ ที่ขับด้วยมอเตอร์ จะติดตั้งอาวุธด้วยหรือไม่ก็ตาม และส่วนประกอบของยานดังกล่าวมูลค่า 10,244.50 ล้านบาท 

ยิ่งเมื่อสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) วิเคราะห์นโยบายความมั่นคงแห่งชาติในอีก 7 ปีข้างหน้า (2558-2564) ผ่านบริบท "ยุทธศาสตร์โลก" 

ในบริบทที่ประเทศไทยยืนอยู่ "ใจกลางจุดยุทธศาสตร์-เส้นทางคมนาคมที่สำคัญของโลก" เชื่อมต่อระหว่างมหาสมุทรอินเดีย-มหาสมุทรแปซิฟิก มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ต่อประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้-มหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกา จีน และญี่ปุ่น

ฝ่ายความมั่นคงวิเคราะห์ว่า สถานการณ์และความเปลี่ยนแปลงของบริบทความมั่นคงทั้งภายใน-ภายนอกประเทศใน ระยะ 7 ปีข้างหน้าว่า "ยังคงมีความเสี่ยงที่จะนำไปสู่การใช้กำลังทหารต่อกันหากเกิดความขัดแย้ง รุนแรงและไม่มีการบริหารจัดการปัญหาร่วมกันที่มีประสิทธิภาพ"

"พล.อ.ประยุทธ์ " พูดอย่างแข็งกร้าวถึงความจำเป็นในการซื้ออาวุธบนเวทีแถลงผลงานครบ 6 เดือนว่า "ไม่ใช่ต้องการแต่ซื้ออาวุธอย่างเดียว ซื้อมาก็เป็นภาระอีก ต้องผ่อน ต้องชำระ งบประมาณจะไปทำอย่างอื่นก็น้อยลง แต่จำเป็น จะทำอะไรก็ตาม จะมีเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง จะเป็นศูนย์กลาง ทุกอย่างต้องมีพาวเวอร์ตรงนี้ไว้ เรียกว่าอำนาจการรบที่ไม่มีตัวตน ขวัญกำลังใจ อาวุธและเครื่องไม้เครื่องมือใหม่ ๆ ไม่ได้ต้องการสะสมไปแข่งกับใคร ทำเพื่อไม่ต้องรบกัน ให้เกรงกันบ้างเท่านั้นเอง ไม่งั้นทั่วโลกก็คงไม่ต้องมีทหารล่ะมั้ง ขนาดมียังรบกันแทบเป็นแทบตาย"

สอดคล้องกับที่ "พล.อ.ประยุทธ์" พูดต่อหน้า สนช. 220 ชีวิต ในวันแถลงนโยบาย ว่า ยิ่งมีอาวุธมาก อำนาจการต่อรองยิ่งสูง

เป็นเหตุผลที่ "บิ๊กตู่" เคาะเงินแสนล้านซื้ออาวุธ


ไม่มีความคิดเห็น: