PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560

6 คำถาม "ประยุทธ์" จุดพลุปะทะนักการเมือง : หนีวิกฤติศรัทธา เดินหน้าอำนาจ

6 คำถาม "ประยุทธ์" จุดพลุปะทะนักการเมือง : หนีวิกฤติศรัทธา เดินหน้าอำนาจ

ภาพความสวยงามผุดขึ้นในเมืองไทย

ห้วงเวลานี้ทุกสายตาโฟกัสไปที่คนชื่อ “อาทิวราห์ คงมาลัย” หรือ “ตูน บอดี้สแลม” ศิลปินนักร้องดัง ที่กำลังวิ่งจากใต้สุดของประเทศ อ.เบตง จ.ยะลา สู่เหนือสุดของประเทศ อ.แม่สาย จ.เชียงราย ระยะทางกว่า 2,000 กิโลเมตร ตามโครงการ “ก้าวคนละก้าว” ระดมเงินบริจาคช่วยโรงพยาบาลรัฐ 11 แห่งทั่วประเทศ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เขาคือผู้จุดประกายอย่างแท้จริง

กับสิ่งที่คนไทยคนหนึ่งได้แสดงให้เห็นถึง “หน้าที่พลเมือง” ที่เต็มไปด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเท เสียสละทั้งแรงกาย แรงใจทำเพื่อผลประโยชน์ประเทศชาติส่วนรวม

ท่ามกลางกระแสตอบรับจากประชาชนทั่วประเทศอย่างล้นหลาม

“ตูน บอดี้สแลม” ได้สร้างปรากฏการณ์กระตุ้นพลังแฝงในสังคม กระตุกอารมณ์คนทั่วประเทศให้ก้าวข้ามบริบทเดิมๆของสังคมไทยที่ชอบคิดแต่ธุระไม่ใช่

ตามภาพของผู้คนจำนวนมากที่รอรับนักร้องดังตลอด 2 ข้างทาง พร้อมกับยอดเงินบริจาคที่ทะลุหลักร้อยล้านอย่างรวดเร็ว เป็นคำตอบได้อย่างดี

“ตูน บอดี้สแลม” ได้นำสังคมก้าวข้ามบริบทเดิมๆ ไปแล้ว แต่การเมืองเรื่องของเกมอำนาจประเทศไทย
ยังหนีไม่พ้นวังวนเดิมๆ

ในจังหวะสถานการณ์ต่อเนื่องกับกระแสการปรับคณะรัฐมนตรี ภายหลังตำแหน่งว่างลงจากการลาออกของ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล อดีต รมว.แรงงาน ตามรูปการณ์ที่ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ได้แจ้งต่อที่ประชุม ครม.

มีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเพื่ออนาคต

ตามรูปการณ์ที่ “บิ๊กตู่” พยายามรวบรัดตัดความ จำกัดวงแรงกระเพื่อมของการปรับ ครม.ที่หนีไม่พ้นภาวะทางใจของคนที่ผิดหวัง ท่ามกลางกระแสข่าวจากวงใน วงนอก ช่วยกันใส่ฟืน โหมเติมเชื้อไฟ โดยเฉพาะนักการเมืองทั้งค่ายประชาธิปัตย์กับเพื่อไทยที่อาศัยโหนกระแสตามท้องเรื่อง “ปล่อยของ” ผ่านสื่อ
“เสี้ยม” ให้ทีมงานรัฐบาลแตกคอกัน

และนั่นก็โยงเป็นเหตุผลว่าด้วยการยังไม่ปลดล็อกพรรคการเมืองให้ทำกิจกรรมตามเหตุผลที่ “นายกฯลุงตู่” ได้แจกแจงผ่านเอกสาร ยืนกรานคสช. ได้ประเมินสถานการณ์ขณะนี้ยังไม่เรียบร้อย

จึงขอให้การปลดล็อกที่พูดกันรอไปอีกระยะ อย่าตื่นเต้นกังวล

งานนี้ส่อเค้ายื้อแบบไม่กำหนดเวลา ตามภาวะปัจจัยแทรกไม่อยู่ในวิสัยที่ “บิ๊กตู่” ควบคุมได้ นั่นก็กระตุกเสียงโหวกเหวกโวยวายของนักการเมืองทุกป้อมค่ายไล่บี้ไล่กดดันกันไม่ลดละ

แต่ในจังหวะที่กระแสจับจ้องไปที่การปลดล็อกกฎเหล็กพรรคการเมืองและคิวปรับ ครม. มันก็มีประเด็นแทรกคิวมาสร้างความฮือฮากว่า แทบจะกลบปมปลดล็อกและเบียดข่าวปรับ ครม.ไปเลย

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้ปล่อย “6 คำถามถึงพี่น้องประชาชน”

คำถามข้อที่ 1 คือเราจำเป็นต้องมีพรรคการเมืองใหม่ๆขึ้นมาหรือไม่ในวันนี้ หรือนักการเมืองหน้าใหม่ๆ ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนได้พิจารณาในการเลือกตั้งครั้งต่อไป การมีพรรคเดิม นักการเมืองหน้าเดิมๆ มีรัฐบาลจะทำให้ประเทศชาติเกิดการปฏิรูปและทำงานต่อเนื่องตามยุทธศาสตร์หรือไม่ ตนไม่ได้ว่าใคร สื่ออย่าเขียนให้ทะเลาะกัน เพราะตนพูดกับประชาชนไม่ได้พูดกับนักการเมือง

คำถามข้อที่ 2 การที่ คสช.จะสนับสนุนพรรคใดหรือตนจะสนับสนุนใครเป็นสิทธิ์ของตนหรือไม่ แล้วตนต้องไปลงสมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ ก็เปล่า เพราะลงสมัครเลือกตั้งไม่ได้ เนื่องจากตนไม่ได้ลาออก (ลาออกจากนายกฯ) ก็จบแล้ว สิทธิ์ของตนมีไม่ใช่หรือ ตนจะไปสนับสนุนใครก็ได้ หรือไม่สนับสนุนใครเลยก็ได้ ถ้าไม่มีอะไรใหม่ๆมาตนก็ไม่สนับสนุน

คำถามข้อที่ 3 สิ่งที่ คสช.และรัฐบาลนี้ดำเนินการ ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ประชาชนมองเห็นอนาคตที่ดีของประเทศชาติบ้างหรือไม่ โดยคำถามย่อย

1.เห็นด้วยกับรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาที่หมักหมมมาเป็นเวลานาน ด้วยการรื้อใหม่ ทำใหม่ การวางแผนงานอย่าง เป็นขั้นเป็นตอน เป็นระยะสั้น กลาง ยาว อาทิ การแก้ไขปัญหา IUU, ICAO ฯลฯ หรือไม่

2.เห็นด้วยกับการให้มียุทธศาสตร์ชาติ และแผนปฏิรูปประเทศเพื่อให้การเมืองไทยในอนาคตมีประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล เกิดความต่อเนื่องในการพัฒนาประเทศหรือไม่

3.การทำงานของทุกรัฐบาลต้องคำนึงถึงภาพรวมทั้งประเทศ คนทั้งประเทศ ทุกจังหวัด มิใช่ทำแต่ตามนโยบายพรรคที่ได้หาเสียงไว้ หรือดูแลเฉพาะพื้นที่ฐานเสียงที่สนับสนุน รวมทั้งต้องทำงานตามยุทธศาสตร์ชาติให้เกิดความต่อเนื่องใช่หรือไม่

คำถามข้อที่ 4 การเอาแนวทางจัดตั้งรัฐบาลในอดีต ที่วันนี้พูดว่าเอารัฐบาลในอดีตสมัยโน้นสมัยนี้มาเปรียบเทียบกับการจัดตั้งรัฐบาลวันนี้ มันเหมือนกันหรือไม่ สถานการณ์ภายนอกและประชาชนเหมือนกันหรือไม่ สถานการณ์วันนี้โซเชียลมีเดียพัฒนามากไปหรือไม่ มันเป็นคนละเวลาหมด ก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาไปสู่สิ่งที่ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งในอดีตก็ดีอยู่แล้วในบางรัฐบาล หรือบางช่วง แต่วันนี้อย่าลืมว่า คสช.และรัฐบาลนี้เข้ามาในสถานการณ์อะไร เราได้พบเห็นแต่ความขัดแย้ง ความรุนแรง การแบ่งแยกประเทศเป็นกลุ่มๆ เพื่อมาสนับสนุนทางการเมืองใช่หรือไม่

คำถามข้อที่ 5 รัฐบาลและการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยที่ผ่านมาของไทย ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพ มีธรรมาภิบาล และมีการพัฒนาประเทศที่มีความต่อเนื่องชัดเจนเพียงพอหรือไม่

คำถามข้อที่ 6 ข้อสังเกตเพื่อพิจารณา เหตุใด พรรคการเมือง นักการเมืองจึงออกมาเคลื่อนไหว คอยด่า คสช. รัฐบาล รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี มีการบิดเบือนข้อเท็จจริงช่วงนี้มาก ผิดปกติเพราะอะไร

แบไต๋ แบะท่าโชว์แผนงานทางการเมืองเป็นนัย

โฟกัส 3 ข้อแรก สรุปความตามภาษาทางการเมืองได้ว่า “บิ๊กตู่” ไม่ต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเอง แต่จะประกาศหนุนพรรคการเมืองที่น่าจะตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อเบียดสู้กับขาใหญ่อย่างประชาธิปัตย์กับเพื่อไทย
เป็นสัญญาณให้กองเชียร์ “นายกฯลุงตู่” ได้รับรู้

พล.อ.ประยุทธ์ปูทางสู้ในเกมเลือกตั้ง ตามยุทธศาสตร์การลากยาวอำนาจในห้วงเปลี่ยนผ่าน

และนั่นก็กระตุกอาการนั่งไม่ติดของนักการเมืองอาชีพทั้งพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยรีบแย่งกันออกมาตอบ 6 คำถามของ “นายกฯลุงตู่” ก่อนประชาชน โดยเฉพาะคนพรรคประชาธิปัตย์ออกอาการเต้นผางมากกว่าอย่างเห็นได้ชัด นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค หัวหอกนำทีมเอง

ทั้งด่า ทั้งขู่ ทั้งดักคอ พล.อ.ประยุทธ์อย่าคิดสืบทอดอำนาจ

ประชาธิปัตย์อาละวาดใส่ “6 คำถาม” สะท้อนความหวั่นไหวในฐานะของป้อมค่ายที่ได้รับผลกระทบ มากสุด หากมีการก่อกำเนิดของพรรคการเมืองมาแบ่งแต้มไปช่วย “นายกฯลุงตู่”

งานนี้เหมือนจะรู้ตัวแล้วว่า คสช.ไม่เลือกใช้เป็นฐาน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ว่ากันตามหลักการมันก็ไม่ได้ผิดแต่อย่างใดกับยุทธศาสตร์ในการสื่อสารตรงกับประชาชน อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ทิ้งทุ่นท้าย 6 คำถาม อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ ที่ตนถามเพราะอยากให้ทุกคนที่เป็นคนไทยได้พิจารณาตัดสินใจ

นี่ก็เหมือนกับการย้ำผลประชามติรัฐธรรมนูญให้ลึกไปอีกขั้น

มันมีร่องรอยอยู่แล้วตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่เปิดทางให้ พล.อ.ประยุทธ์ มีโอกาสสูงในการกลับมาเป็นผู้นำในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ไปสู่การปฏิรูปประเทศ

เรื่องของเรื่อง ปฏิเสธไม่ได้ว่านักการเมืองเอง

ก็โวยได้ไม่เต็มปากเต็มคำ ในเมื่อพฤติกรรมในอดีตมันยังหลอนชาวบ้าน กับการแก่งแย่งอำนาจและ ผลประโยชน์กันทุกวิถีทาง สู้กันในเกมสภาไม่พอ ลากออกมาสู้กันบนถนน ปลุกม็อบปิดบ้านปิดเมือง ทำประเทศเกือบเป็นรัฐล่มสลาย

ถึงวันนี้ประชาชนยังไม่ไว้วางใจ นักการเมืองหน้าเดิมจะกลับมาลากประเทศลงเหวอีกหรือไม่

นี่คือจุดที่ทำให้ “นายกฯลุงตู่” มั่นใจ โยน 6 คำถามมาตอกย้ำประตูฝาโลง

แต่ขณะเดียวกัน ในสถานการณ์ที่รัฐบาลทหาร คสช. เองก็ไม่ได้อยู่ในจุดที่กุมสภาพความเหนือกว่า สักเท่าไหร่ ตามปรากฏการณ์เชิงกระแสที่ทีมงาน “ลุงตู่” ก็เริ่มเผชิญกับแรงเสียดทาน ผจญภาวะขาลง สังคม

ไม่ไว้วางใจกับพฤติกรรมแฝงผลประโยชน์ของคนรอบข้างผู้นำ

ชักจะไม่แตกต่างจากที่ด่านักการเมืองสักเท่าไหร่ คนเริ่มรู้สึกหนีเสือปะจระเข้

ในเหลี่ยมที่มองได้ว่า การจุดพลุ “6 คำถาม” มาปะทะกับนักการเมือง ก็คือจังหวะของการชิ่งหนีวิกฤติศรัทธา เพื่อกรุยทางเดินหน้าอำนาจต่อไป

ตามเงื่อนไขสถานการณ์มาถึงจุดท้าทาย กงล้อทางการเมืองไทยจะหมุนข้ามวัฏจักรเดิมๆพ้นหรือไม่
ทั้งหมดทั้งปวง มันก็อยู่ที่ประชาชนเองต้องสำแดงความเป็นเจ้าของประเทศ

ไม่ว่านักการเมือง หรือทหาร ถ้าเจอด่านคนไทย “กาบัตร” เลือกตั้งอย่างมีคุณภาพ

ต่อไปก็ไม่ต้องเสียเวลามาคอยตอบคำถามกัน.

“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: