PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ปรับวิธี‘ถวายสัตย์’ ต่อหน้ารัชทายาท-ผู้แทนพระองค์แก้รธน.7ประเด็นจับตาประชามติ

ครม.และ คสช.เคาะแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 7 ประเด็น ปรับวิธีการถวายสัตย์ปฏิญาณให้ถวายสัตย์ฯ ต่อหน้ารัชทายาทหรือผู้แทนพระองค์ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พร้อมปลดล็อกผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสามารถนั่งเก้าอี้ "รมต.-สนช." ได้ และจัดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ่วงอีก 2 คำถาม คาดถามปฏิรูปก่อนเลือกตั้งและนิรโทษกรรม "วิษณุ" ระบุคณะรัฐมนตรีมีอำนาจขัดเกลาคำถาม ลั่นใช้งบ 3 พันล้านบาทต้องทำให้คุ้ม
เมื่อวันอังคาร(9มิ.ย.58) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าที่ประชุมเห็นชอบให้ส่งร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2558 ไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตามความในมาตรา 46 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งกติกาในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประกอบด้วย 1.ต้องเป็นความเห็นชอบของ ครม.และ คสช. 2.จะต้องร่างรัฐธรรมนูญฉบับการแก้ไข เพื่อใช้แทนฉบับเก่าแล้วส่งไป สนช. โดย สนช.ต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน
นายวิษณุกล่าวต่อว่า 3.สนช.มีอำนาจพิจารณาเพียงว่าจะรับหรือไม่รับร่างแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญโดยไม่สามารถปรับเปลี่ยนแปลงได้ ยกเว้นได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของร่างคือ ครม.และ คสช. 4.ความเห็นของ สนช.ต้องมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของทั้งหมดคือ 111 เสียงขึ้นไป จากนั้นให้นายกฯ ทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 15 วัน คาดว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ก่อนวันที่ 21 หรือ 23 กรกฎาคม 2558
รองนายกฯ ระบุด้วยว่า สำหรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเสนอไปยัง สนช.นั้น มีทั้งหมด 7 ประเด็น ประกอบด้วย 1.ให้แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ สนช.จากเดิมที่ระบุว่า ต้องไม่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้เป็น ไม่อยู่ในระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงทำให้คนที่เคยถูกเพิกถอนสามารถเข้ามาเป็น สนช. และกรรมการอื่นๆ หรือแม้แต่ ครม.ก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่ เพราะถ้าใช้คำว่าถูกเพิกถอนสิทธิ์แล้วไม่ให้เข้ามาเป็น สนช. ก็จะเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม ดูจะไม่ค่อยปรองดองเท่าที่ควร
"ประเด็นที่ 2 ในตำแหน่งบางตำแหน่งที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งปีหนึ่งมีจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เป็นภาระมากเกินไป จึงแก้ไขให้อะไรก็ตามที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณนอกจากการถวายสัตย์ฯ ต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังสามารถถวายสัตย์ฯ ต่อหน้ารัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์" นายวิษณุระบุ
นายวิษณุกล่าวว่า ในข้อ 3 ได้มีการขยายเวลาการทำงานให้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เดิมที่ต้องพิจารณาข้อแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม ซึ่งมองว่าเวลาดังกล่าวกระชั้นชิดเกินไป จึงขยายให้อีกไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 90 วัน โดยให้ กมธ.ยกร่างฯ เป็นผู้มีมติว่าจะขยายเวลาหรือไม่ กี่วัน แล้วแจ้งให้ สปช.รับทราบ
4.เมื่อ สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องมีการนำร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติ โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดหลักเกณฑ์ กติกา เงื่อนไข โดยผ่านความเห็นชอบของ สนช. แต่ถ้ามีการขัดขวางการทำประชามติ กกต.ไม่สามารถกำหนดโทษได้ ต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาบังคับใช้ ส่วนจะทำประชามติเมื่อใดนั้น กำหนดให้ต้องมีการแจกจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนผู้มีสิทธิ์ให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 80 ครัวเรือน หรือประมาณ 19 ล้านครัวเรือน จากนั้น กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 45 วัน ซึ่งคาดว่าจะออกเสียงประชามติได้ในช่วงปลายเดือนมกราคม หรือต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559
“นอกเหนือจากคำถามว่าจะรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะมีการสอบถามประชามติในประเด็นอื่นด้วย โดย สปช.และ สนช.สามารถทำคำถามเข้ามาได้ฝ่ายละ 1 คำถาม จากนั้นให้ส่งมายัง ครม.ถ้า ครม.เห็นชอบ ก็จะให้ กกต.จัดทำประชามติในครั้งเดียวกัน แต่ถ้าผลของประชามติของคำถามอื่นขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดให้ กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องคำถามอื่นภายใน 30 วัน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสอดคล้องกับประชามติหรือไม่ จากนั้นส่งมาให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย” นายวิษณุกล่าว
ประเด็นที่ 5 นายวิษณุบอกว่า เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ลงมติไม่ว่าจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม เมื่อลงมติเสร็จถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ให้ยุบ สปช.พร้อมให้ตั้ง “สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ” มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยไม่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย ซึ่งเคยเป็น สปช.ชุดเดิมก็ไม่ขัดข้อง ทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญอีก โดยอายุของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ จะมีอายุตามที่รัฐธรรมนูญฉบับระบุ
รองนายกฯ ด้านกฎหมายกล่าวอีกว่า ในประเด็น ที่ 6 ถ้า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คนสิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ก็ให้ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ประกอบด้วย ประธาน 1 คน กรรมการ 20 คน ซึ่งอาจตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคนเดิมได้ด้วย เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรับฟังความเห็นประชาชนภายใน 180 วัน เมื่อร่างเสร็จก็ให้ทำประชามติอีกครั้ง ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็อาจจะมีการหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา และประเด็นที่ 7 แก้ไขถ้อยคำภาษา เลขมาตราที่เคลื่อน
นายวิษณุคาดว่าจะส่งให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาภาย 1-2 วันนี้ โดยที่ สนช.ไม่สามารถปรับแก้ร่างนี้ได้ เพียงแค่เสนอแนะตั้งข้อสังเกตได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ยังคงมี 48 มาตรา ซึ่งมาตรา 44 ก็ยังมีอยู่
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปิดให้ถามคำถามอื่นได้ควบคู่กับการทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หมายถึงคำถามที่ว่าจะให้ คสช.และรัฐบาลอยู่ต่อ 2 ปีด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ใช่ อาจเป็นคำถามอื่น ซึ่งประเด็นถามให้อยู่ต่อ 2 ปีหรือไม่ก็ถามได้ แต่คำถามนี้ต้องผ่านด่าน สปช.และ สนช.ให้ได้ก่อน เพราะต้องได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เมื่อผ่านแล้วก็ต้องมาผ่านด่าน ครม. ซึ่ง ครม.จะไปดัดแปลงคำถามหรือถามด้วยก็ไม่ได้ ครม.ดูแค่ว่ามาถูกกาลเทศะหรือไม่ ในภาวะที่บ้านเมืองเป็นแบบนี้ ซึ่งในเมื่อจะเสีย 3,000 ล้านบาทในการทำประชามติแล้วก็ต้องให้คุ้ม
เมื่อถามว่า หากเป็นคำถามต่ออายุรัฐบาลจริง จะเป็นเรื่องผลทับซ้อนของ ครม.หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ก็อาจจะมองอย่างนั้นได้ แต่ขึ้นอยู่กับการตั้งคำถามว่าถามเป็นหรือไม่
ถามว่า การทำประชามติถามเรื่องนิรโทษกรรมได้ด้วยหรือไม่ นายวิษณุตอบว่า "เป็นต้น"
ต่อคำถามที่ว่า หากการทำประชามติครั้งที่ 2 ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นมาใหม่ 21 คน ไม่ผ่านอีกจะทำอย่างไร นายวิษณุตอบว่า เรื่องนี้ในที่ประชุม ครม.และ คสช.มีการสอบถามเหมือนกัน ตรงนี้คงจะไม่มีการตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ใหม่ ร่างเสร็จแล้วทำประชามติอีก แต่อาจจะหยิบยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา อย่างรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50 มาปรับใช้ แต่เวลานี้คงไม่ใช่เวลาที่จะมาคิดตอนนี้ เพราะผลยังไม่ออกมา
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวภายหลังการประชุมร่วมระหว่างครม.และ คสช. ตอนหนึ่งถึงประเด็นการถามในประชามติว่า "เราให้เขาคิดมาก่อน ปกติเขาถามอะไรที่ผ่านมา ผมเป็นประชาชนก็เลือกตั้ง ลงประชามติจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หรือมีข้อ 2 ข้อ 3 ก็ไปหามา"
“ไม่รู้ ก็ผมไม่รู้นี่ไงเล่า ก็ให้เขาไปทำมาสิ ทำไมผมต้องสั่งทุกเรื่องหรือไง เข้าห้องน้ำต้องเช็ดก้นก่อนออกมาหรือไง ปัดโธ่ ผมพูดข้อเท็จจริงไม่ได้โมโหเลย เพียงแต่ถามคำถามที่วนไปวนมา ผมขี้เกียจ แล้วท่านก็มาได้อารมณ์หงุดหงิด มีรูปชี้นิ้ว หน้างอ หน้าหงิก นายกฯ หงุดหงิด เรื่องการต่ออำนาจ ต่อทอดไปเรื่อยเปื่อย เขียนนิยายไปเรื่อย” นายกฯ และหัวหน้า คสช. กล่าวเสียงดังเมื่อถูกถามว่า มีการทำประชามติเพื่ออยู่ต่อหรือไม่
สื่อข่าวถามถึงการลงพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทราและระยอง ของนายกรัฐมนตรีวันที่ 10 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า “ทำไม ต้องกลัวใครอีก ก็ไปตรวจดูพื้นที่ ดูแลการปลูกป่า การบริหารจัดการน้ำ แล้วมันจะมีอะไรเกินไปกว่านั้น ใครจะมาทำร้ายผม เรื่องนี้มีกำหนดเวลา แผนการอยู่แล้ว เดี๋ยวโฆษกก็แถลง ท่านมาถามเหมือนคราวที่แล้วที่จะมีการประชุม ครม.นอกสถานที่ที่ จ.เชียงใหม่ในช่วงปลายเดือนนี้ว่าผมกลัวหรือไม่ ก็ถามกันแบบนี้ล่ะ ทำไม ผมจะเลือกไปไหนไม่ได้หรือ"
เมื่อถามว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองทำให้นายกฯ เสียสมาธิหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวตัดบทด้วยน้ำเสียงดุดันว่า “ไม่มี มีก็จับ ไม่สนใจ ไม่ตอบ ถามเรื่องอื่น ถ้าไม่มีพอแล้ว กลับบ้าน”
วันเดียวกัน มีความเคลื่อนไหวของหลวงปู่พุทธะอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม ได้นำรายชื่อ 50,000 รายชื่อยื่นต่อ ครม. สปช. และ สนช. เพื่อให้มีการทำประชามติถามประชาชนด้วยว่าต้องการให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์อยู่ปฏิรูปก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งหรือไม่
พระพุทธะอิสระกล่าวว่า วันนี้นำรายชื่อจำนวน 5 หมื่นรายชื่อ มามอบให้แก่ สปช.และ สนช.เพื่อทำประชามติ ให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง และเพื่อสนับสนุนรัฐบาลให้ดำเนินงานต่อเพื่อปฏิรูปประเทศ โดยการรวบรวมรายชื่อในครั้งนี้ใช้เวลา 2 วัน ซึ่งมีมากกว่าจำนวนที่นำมายื่น ทั้งนี้ ขอร้องไม่ให้ถอดสมัชชาคุณธรรมและสมัชชาพลเมือง ซึ่งเป็นอำนาจของประชาชนออกจากรัฐธรรมนูญ
“รายชื่อที่มามอบคือ 5 หมื่นชื่อ แต่ถ้าไม่พอจะเอามาให้ 5 ล้าน เพื่อให้กำลังใจคุณประยุทธ์ จันทร์โอชาและรัฐบาล คิดว่าถ้าเลือกตั้งแล้วยังปฏิรูปไม่สำเร็จ เราไม่มั่นใจและไม่ศรัทธาต่อพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งจะปฏิรูปได้สำเร็จตามเป้าของภาคประชาชน แต่เชื่อใจในรัฐบาล คสช. จึงขอร้องให้ปฏิรูปก่อนจึงจัดการเลือกตั้ง” พระพุทธะอิสระกล่าวและว่า การรวบรวมรายชื่อครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือและสนับสนุนรัฐบาลคสช.
นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การขอให้มีการเปิดช่องทางทำประชามติเพื่อทำความคิดเห็นของประชาชนในปัญหาสำคัญ โดยปัญหาหนึ่งในหลายเรื่องคือ ประชาชนควรมีสิทธิ์และแสดงความคิดเห็นว่าให้ปฏิรูปประเทศก่อนจัดการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญ โดยการดำเนินการจัดทำประชามตินั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องทำในขณะนี้ อย่างไรก็ดี ประชาชนอยากให้รัฐธรรมนูญปี 2557 ระบุช่องทางทำประชามติเรื่องสำคัญต่างๆ ด้วยนอกจาก รธน. แค่เปิดช่องทางให้เท่านั้น ซึ่งหลังจากวันนี้เป็นเรื่องของประธาน สปช. โดยจะส่งต่อไปยังนายกรัฐมนตรี
นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. กล่าวกรณีหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่ออีก 2 ปีว่า เป็นการสุ่มเสี่ยงที่จะมีผลกระทบต่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจทำให้คนทั่วไปเข้าใจได้ว่าจะอยู่สืบทอดอำนาจต่อไป ก็อาจจะถูกคนบางกลุ่มเอามาเป็นเงื่อนไขเบี่ยงเบนประเด็นว่าตระบัดสัตย์ ต้องการมีอำนาจ เสพติดอำนาจ ออกมาเคลื่อนไหวสร้างปัญหาให้เกิดแรงกระเพื่อมได้ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นใคร กลุ่มใดก็ตามรวมทั้งแม่น้ำ 5 สาย โดยเฉพาะรัฐบาลจะต้องแสดงออกถึงความจริงใจ มุ่งมั่นทุ่มเท ประกาศออกมาให้ชัดเจนว่าจะจัดการปฏิรูปในเรื่องใหญ่ๆ อะไรให้เสร็จบ้างนับแต่เวลาบัดนี้.

ไม่มีความคิดเห็น: