PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แก้รธน.7ประเด็นคสช. รีเซตอำนาจอยู่ยาวแก้รธน.7ประเด็นรีเซตอำนาจอยู่ยาว

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 แล้ว โดยได้มีการแก้ถึง 7 ประเด็น ซึ่ง วิษณุ เครืองาม รองนายก
รัฐมนตรี ได้อธิบายรายละเอียดดังนี้

1.ให้แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากเดิมที่ระบุว่า ต้องไม่เคยถูกถอดถอนสิทธิเลือกตั้ง ให้เป็นไม่อยู่ในระหว่างการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง จึงทำให้คนที่เคยถูกเพิกถอนสามารถเข้ามาเป็น สนช.กรรมการอื่น หรือแม้แต่ ครม.ก็ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังร่างอยู่ เพราะมองว่า ถ้าใช้คำว่าถูกเพิกถอนสิทธิแล้วไม่ให้เข้ามาเป็น สนช.ก็จะเหมือนไม่ได้รับความเป็นธรรม ดูจะไม่ค่อยปรองดองเท่าที่ควร

2.ในตำแหน่งบางตำแหน่งที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งปีหนึ่งมีจำนวนมาก เพื่อไม่ให้เป็นภาระมากเกินไปจึงแก้ไขให้อะไรก็ตามที่ต้องถวายสัตย์ปฏิญาณนอกจากการถวายสัตย์ฯ ต่อหน้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว ยังสามารถถวายสัตย์ฯ ต่อหน้ารัชทายาท หรือผู้แทนพระองค์

3.ได้มีการขยายเวลาการทำงานให้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จากเดิมที่ต้องพิจารณาข้อแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ค. ซึ่งมองว่าเวลาดังกล่าวกระชั้นชิดเกินไป จึงขยายให้อีกไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 90 วัน โดยให้ กมธ.ยกร่างฯ เป็นผู้มีมติว่าจะขยายเวลาหรือไม่ กี่วัน แล้วแจ้งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับทราบ

4.เมื่อ สปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้ต้องมีการนำร่างรัฐธรรมนูญไปทำประชามติ โดยให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดหลักเกณฑ์ กติกา เงื่อนไข โดยผ่านความเห็นชอบของ สนช. แต่ถ้ามีการขัดขวางการทำประชามติ กกต.ไม่สามารถกำหนดโทษได้ โดยต้องนำ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 มาบังคับใช้ ส่วนจะทำประชามติเมื่อใดนั้นกำหนดให้ต้องมีการแจงจ่ายร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนผู้มีสิทธิให้ได้อย่างน้อย 80% ของครัวเรือน หรือประมาณ 19 ล้านครัวเรือน

จากนั้น กกต.จะเป็นผู้กำหนดวันออกเสียงประชามติ โดยต้องไม่น้อยกว่า 30 วัน แต่ไม่ช้ากว่า 45 วัน ซึ่งคาดว่าจะออกเสียงประชามติได้ในช่วงปลายเดือน ม.ค.หรือต้นเดือน ก.พ. และนอกเหนือจากคำถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ อาจจะมีการสอบถามประชามติในประเด็นอื่นด้วย โดย สปช.และ สนช.สามารถทำคำถามเข้ามาได้ฝ่ายละ 1 คำถาม จากนั้นให้ส่งมายัง ครม. ถ้า ครม.เห็นชอบ ก็จะให้ กกต.จัดทำประชามติในครั้งเดียวกัน แต่ถ้าผลของประชามติของคำถามอื่นขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ ก็กำหนดให้ กมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องคำถามอื่นภายใน 30 วัน และส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสอดคล้องกับประชามติหรือไม่ จากนั้นก็ส่งมาให้นายกฯ ทูลเกล้าฯ

5.เมื่อ สปช.ได้ลงมติไม่ว่าจะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญก็ตาม เมื่อลงมติเสร็จถือว่าภารกิจเสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ให้ยุบ สปช.พร้อมให้ตั้ง สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน 200 คน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้ง โดยไม่ต้องนำความขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งเคยเป็น สปช.ชุดเดิมก็ไม่ขัดข้องทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญอีก โดยอายุของสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศจะมีอายุตามที่รัฐธรรมนูญฉบับระบุ

6.ถ้า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน สิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ก็ให้ตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน ประกอบด้วย ประธาน 1 คน กรรมการ 20 คน ซึ่งอาจตั้ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคนเดิมได้ด้วย เพื่อมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และรับฟังความเห็นประชาชนภายใน 180 วัน เมื่อร่างเสร็จก็ให้ทำประชามติอีกครั้ง ทั้งนี้ หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านประชามติ ก็อาจจะมีการหยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา

7.แก้ไขถ้อยคำภาษา เลขมาตราที่เคลื่อน ทั้งนี้ คาดว่าจะส่งให้ประธาน สนช.พิจารณาภาย 1-2 วัน โดยที่ สนช.ไม่สามารถปรับแก้ร่างนี้ได้ เพียงแค่เสนอแนะตั้งข้อสังเกตได้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม รัฐ
ธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมนี้ ยังคงมี 48 มาตรา โดยมาตรา 44 ก็ยังมีอยู่

อย่างไรก็ตาม หลังมีความชัดเจนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว  พิชัย นริพทะพันธุ์   อดีตรมว.พลังงาน แกนนำพรรคเพื่อไทย มองว่า การแก้ดังกล่าวสะท้อนให้เห็นความตั้งใจเปิดทางให้ สมคิด 
จาตุศรีพิทักษ์ อดีต รมว.คลัง ที่ติด 111 เข้ามาใน ครม.ใช่หรือไม่

ทั้งหมดนี้เป็นแผนที่จะอยู่ยาว 2 ปี โดยไม่มีปัญหาข้อกฎหมายเพราะหากทำประชามติแล้วไม่ผ่าน และ ร่างใหม่ แล้วประชามติอีก และไม่ผ่านอีก และเมื่อมาเลือกรัฐธรรมนูญใหม่อีก เท่ากับว่าจะมีอายุต่อไปอีก 2 ปีเช่นกันพิชัย ระบุ

ด้าน สมบัติ ธำรงธัญวงศ์  ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง มองว่า การยุบ สปช.เพื่อตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป 200 คน ไม่เป็นปัญหา เพราะ สปช.ได้สังเคราะห์ประเด็นและแนวทางการปฏิรูปไว้แล้ว ส่วนการเปิดช่องให้มีการตั้งคำถามที่จำเป็นต่อรัฐธรรมนูญ นอกเหนือจากคำถามว่ารับหรือไม่รับนั้น ก็เพื่อไม่ต้องการให้ประชามติเสียของ ก็ควรเปิดช่องให้มีการถามเพิ่มเติมได้

ในขณะที่  เจตน์ ศิรธรานนท์  โฆษกวิป สนช. ระบุว่า ประธาน สนช.ได้แจ้งกำหนดวันพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อเปิดให้ทำประชามติ ในวันที่ 18 มิ.ย. หรือวันที่ 25 มิ.ย. โดยจะพิจารณา 3 วาระรวดภายในวันเดียว

ทั้งหมดจากนี้จะสำเร็จหรือไม่ต้องตามกันอย่ากะพริบ 

ไม่มีความคิดเห็น: