PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2558

มติชน:กระบวนท่า ลีลา แยกกันเดิน รวมกันตี ต่ออำนาจ 2 ปี




เห็นการออกมาเคลื่อนไหวของนายไพบูลย์ นิติตะวัน เห็นการออกมาให้เหตุผลของ นายวันชัย สอนศิริ แล้ว

ต้องขอบคุณ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์

ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์สามารถอยู่ในตำแหน่ง "นายกรัฐมนตรี" ได้กว่า 8 ปี

ทั้งที่ไม่ได้เป็น "หัวหน้าพรรค"
ทั้งที่ไม่เคยลงสมัครรับ "เลือกตั้ง"
หลายคนอาจจะตอบว่า เพราะว่าเป็น "ผู้บัญชาการทหารบก" ซึ่งเรียกย่อๆ ว่า "ผบ.ทบ." มีกองทัพอยู่ในมือ จึงไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง จึงไม่จำเป็นต้องจัดตั้งพรรคการเมือง จึงไม่จำเป็นต้องเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง

ถูกต้อง แต่คำตอบ 1 ซึ่งไม่ควรมองข้ามก็คือ

การพูดน้อย กระทั่งได้สมญานามว่า "เตมีย์" ซึ่งอาศัยความใบ้มาเป็นอาวุธ

การพูดน้อยของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิได้หมายความจะไม่แอะอะไรเลยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พูดเพียงเป็น "พูดเป็น" และรู้จักว่าเวลาใดควรพูดอย่างไร

"การนิ่ง" จึงกลายเป็น "คุณ"


ถามว่าแล้วที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน มาเสนอ แล้วที่ นายวันชัย สอนศิริ ออกมาอธิบายและขยายระยะเวลาการอยู่ในอำนาจของ คสช.ออกไปอีก

ทำไมต้องอ้าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์
ที่อ้าง พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มิใช่เพราะบังเกิดนัยประหวัดถึงรากที่มาของฉายาทวี ณ ไปรษณียบัตร เมื่อปี 2523

หากเพราะ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ พูดดี พูดเป็น

คำพูดของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ จึงมิได้พร่ำเพรื่อ จึงห่างไกลอย่างยิ่งกับลักษณะที่อาจเรียกได้ว่า

"พล่าม"

ขณะเดียวกัน ในกรณีของ "ไพบูลย์-วันชัย" ลองนำเอาข้อเสนอล่าสุดอันมาจาก นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ มาเปรียบเทียบ

ก็จะประจักษ์ใน "ความต่าง"

"ไพบูลย์-วันชัย"
 เสนอให้ทำประชามติต่ออายุ คสช.ไป 2 ปี แต่ นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เสนอให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญบรรจุการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญลงไปในบทเฉพาะกาลคิดสะระตะแล้วก็ยืดเวลาออกไปได้เกือบ 2 ปี

"เนียน" และ "นิ่ม" อย่าง "นุ่มนวล"
กระนั้น ทั้งท่วงทำนองของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน หรือ นายวันชัย สอนศิริ ตลอดจน นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ก็เป็นท่วงทำนองอันอุปมาได้ว่า

ชวด ฉลู ขาล เถาะ

มีความต่อเนื่อง สัมพันธ์ ยึดโยง เกาะเกี่ยว ระหว่างกันและกันอย่างยากจะแยกขาดออก ดำเนินไปเหมือนภูษาไร้รอยตะเข็บ

เพราะ 1 อยู่ในร่มเงาแห่ง "ร่างรัฐธรรมนูญ"
เพราะ 1 อยู่ในร่มเงาแห่งในที่สุดก็จะต้องนำไปสู่การทำ "ประชามติ" ว่าจะรับหรือไม่รับ โดยการตัดสินใจของ "พลเมือง"

เพียงแต่อาจเป็น "คนละเรื่อง" กระนั้น ก็ "อันเดียวกัน"

ความหมายก็หมายความว่า ผลในบั้นปลายทำให้ "แม่น้ำ 5 สาย" สามารถยืดเวลาอยู่ในอำนาจยาวไปได้อีกอย่างน้อย 2 ปี จะแตกต่างก็เพียงแต่กระบวนท่า จะแตกต่างก็เพียงแต่ "วิธีการ" ในการนำเสนอ

ต่างเพียง "MEAN" แต่ "END" เช่นเดียวกัน

ไม่ว่า นายไพบูลย์ นิติตะวัน ไม่ว่า นายวันชัย สอนศิริ ไม่ว่า นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ จึงล้วนควรได้รับรางวัล

รางวัลในฐานะ "สนองงาน" ได้อย่างยอดเยี่ยม



ที่สุดแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ "36 มหาปราชญ์" ก็ไปยืนรอบนแท่นแห่งการทำ"ประชามติ"
ประชาชนย่อมมองเห็นได้โดยตลอด ทั้งรากที่มา กระบวนการปรับแต่ง กระบวนการทำให้แต่ละด้านแต่ละมุมปรากฏออกมา จะรับหรือไม่รับนั่นเป็น "สิทธิอัตวินิจฉัย"
คนต้องคนให้ทั่ว คนตั้งแต่หัวไปจนถึงตีน จึงจะเรียกว่าคน

ไม่มีความคิดเห็น: