PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2558

"มีชัย"ตั้งธง ตัดสิทธิการเมืองโกง ห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต

วันที่ 09 ตุลาคม พ.ศ. 2558 มติชน



นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า เตรียมวางมาตรการไม่ให้คนที่ทุจริตการเลือกตั้งและทุจริตต่อหน้าที่กลับเข้ามาสู่การเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 35 ที่ว่าด้วยการกำหนดให้การร่างรัฐธรรมนูญต้องมีกลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

"ข้าราชการตัวเล็กๆ ไปโกงข้อสอบยังถูกห้ามไม่ให้เป็นข้าราชการตลอดชีวิต นักศึกษาที่โกงการสอบก็ไม่มีทางได้เข้ามาในมหาวิทยาลัยได้เลย แล้วทำไมคนที่เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี ถ้าผิดต่อหน้าที่กลับบอกว่า 5 ปีผ่านไปแล้วเอามาเถอะ เบื้องหลังของเหตุผลมันคืออะไร ผมก็พร้อมรับฟังและช่วยยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการทุจริตอีก" นายมีชัย กล่าว
          
เมื่อถามว่า ตั้งใจจะให้เกิดการตัดสิทธิในการกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งทางการเมืองย้อนหลังแบบเด็ดขาดหรือไม่ นายมีชัย กล่าวว่า ตรงนี้ กรธ.กำลังคุยกันอยู่ว่าเรื่องบางเรื่องอาจจำเป็นต้องให้มีผลย้อนหลัง คนที่จะมาปกครองต้องมีความโปร่งใสทุกด้านเพื่อให้ประชาชนสามารถยกมือไหว้ได้อย่างสนิทใจ
ด้าน นายนรชิต  สิงหเสนี โฆษก กรธ.แถลงกล่าวว่า ที่ประชุมจะเชิญหน่วยงานเกี่ยวกับการปราบปรามทุจริตมาให้ข้อมูลดังนี้ วันที่ 13 ตุลาคม สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) วันที่ 14 ตุลาคม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และวันที่ 15 ตุลาคม คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขณะที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเชิญมาในลำดับถัดไป ส่วนพรรคการเมืองเชื่อว่าจะมีการเชิญมาชี้แจง เพราะมีส่วนสร้างความปรองดองให้กับประเทศชาติ แต่ที่ประชุมยังไม่มีการหารือในเรื่องดังกล่าว
       
เมื่อถามว่ากรอบรัฐธรรมนูญจะย้อนหลังไปถึงนักการเมืองก่อนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ประกาศใช้หรือไม่นั้น นายนรชิต กล่าวว่า นายมีชัย เคยพูดไว้ว่า กรณีผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนัน เมื่อทุจริตก็ไม่สามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้ ดังนั้น ส.ส.และนายกฯ ซึ่งสูงกว่าตำแหน่งดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการคุมเข้มมากกว่า แต่ในประเด็นนี้ ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการ

ไม่มีความคิดเห็น: