PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2561

บิ๊กตู่’คนใน’ โดย นฤตย์ เสกธีระ

บิ๊กตู่’คนใน’ โดย นฤตย์ เสกธีระ



แฟ้มภาพ
เดิมที “คนนอก” มีความหมายถึงคนที่ไม่ได้รับเลือกตั้งแล้วมารับตำแหน่งรัฐมนตรีหรือนายกรัฐมนตรี
เวลาแยกแยะ “คนใน” กับ “คนนอก” ก็ไม่ซับซ้อน
แต่เดี๋ยวนี้รัฐธรรมนูญอนุญาตให้ใครก็ได้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองและได้รับเสียงสนับสนุนจากรัฐสภาสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้
คำว่า “คนใน” กับ “คนนอก” จึงมีความพยายามตีความกันใหม่
ตีความกันว่า “คนนอก” คือ คนที่มาด้วยวิธีพิเศษตามกลไกทางรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้
นั่นคือในกรณีที่บุคคลที่พรรคการเมืองเสนอชื่อไม่สามารถขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้
หมายความว่า เมื่อแต่ละพรรคสามารถเสนอชื่อบุคคลที่เป็นนายกรัฐมนตรีได้พรรคละ 3 คน
แต่เมื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาแล้วตกลงกันไม่ได้
ต้องมีการขอใช้เสียงเพื่อของดใช้ข้อห้ามบางประการ และเปิดทางให้เลือกคนอื่นๆ นอกเหนือจากนั้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี
เขาตีความว่า “คนนอก” ในยุคนี้หมายถึงการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีด้วยวิธีนี้
แต่กรณีคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรี
เขาตีความว่าเป็น “คนใน”
กรณีเช่นนี้ในแวดวงการเมืองจะยอมรับกันหรือไม่ และจะเป็นที่ยอมรับในหมู่ผู้นิยมประชาธิปไตยกันหรือเปล่า
แต่กระบวนการตีความ “คนนอก” และ “คนใน” กำลังเป็นเช่นนี้
ดังนั้น เมื่อมีข่าวว่ากระบวนการที่จะไปสู่วิธีพิเศษ คือ “คนนอก” เป็นไปได้ยุ่งยากมาก
ต้องใช้เสียงรัฐสภาถึง 2 ใน 3 คือ 500 เสียงจาก 750 เสียง ในการดำเนินการ
ต้องถูกต่อต้าน ถูกครหาว่า เป็น “คนนอก”

ตอนนี้จึงโหมกระแสข่าว ถ้าเป็นบุคคล 1 ใน 3 ที่พรรคการเมืองเสนอชื่อก็ถือว่าเป็น “คนใน”
กลายเป็นประเด็นข่าวที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีปัจจุบัน อาจจะได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง
เป็น 1 ใน 3 ของบุคคลที่สมควรได้เป็นนายกรัฐมนตรี
แล้วเปิดโอกาสให้สภาผู้แทนราษฏรและสมาชิกวุฒิสภาโหวตด้วยคะแนนเกิน 375 เสียง
หากเป็นเช่นนี้ โอกาสที่ พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ยังมีอยู่สูงยิ่ง เพราะแค่เสียงวุฒิสภาก็ 250 เสียงแล้ว
แถมยังสามารถประโคมบอกได้ว่าเป็น “นายกฯคนใน” ไม่ใช่ “นายกฯคนนอก”
ดังนั้น แม้ก่อนหน้านี้จะมีพรรคการเมืองหลายพรรคประกาศจุดยืน ไม่เอานายกฯคนนอก
แต่ถ้านายกฯคนต่อไปได้มาตามวิธีการทางรัฐธรรมนูญ
พรรคเสนอ รัฐสภาโหวต
หากเป็นเช่นนี้แล้วจะยอมรับหรือไม่ยอมรับ
ถ้าเป็นเช่นนี้จะยอมร่วมรัฐบาลหรือไม่เอาด้วย
เรื่องนี้ต้องเทียวถามกันใหม่ เพราะนิยามคำ “คนนอก” และ “คนใน” เปลี่ยนแปลง
การยอมรับคนที่ไม่ได้เป็น ส.ส.มานั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะเปลี่ยนไปหรือไม่
จะเป็นเช่นไรต่อไป น่าติดตาม
………………….
นฤตย์ เสกธีระ maxlui2810@gmail.com

ไม่มีความคิดเห็น: