PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2557

พลิกปูม ‘นวน เจีย’ อาชญากรสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา เคยเป็นคนไทย?

พลิกปูม ‘นวน เจีย’ อาชญากรสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา เคยเป็นคนไทย?

Thu, 07/08/2014 - 16:57
Printer-friendly version
Views: 2,043
พลิกปูม ‘นวน เจีย’ อาชญากรสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชา เคยเป็นคนไทย?
สืบประวัติ “นวน เจีย” อาชญากรสงครามเขมรแดงที่ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชากว่าสองล้านคนเป็นอดีตคนไทย อดีตศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง แต่เขาก้าวไปเป็นใหญ่ในกองกำลังที่ขึ้นชื่อว่าโหดร้ายที่สุดแห่งศตวรรษได้อย่างไร ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์สืบค้นและเรียบเรียงข้อมูลมาให้ติดตาม
เอ่ยชื่อ “นวน เจีย” หลายคนคงรับรู้ข่าวคราวที่เขาถูกศาลศาลพิเศษกัมพูชา โดยการสนับสนุนของสหประชาชาติลงโทษจำคุกตลอดชีวิตในข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวกัมพูชาในช่วงเขมรแดงเรืองอำนาจพร้อมกับ “เคียว สมพอน”อดีตประธานาธิบดีเขมรแดง โดยช่วงที่นวน เจียมีอำนาจในกองกำลังเขมรแดง เขาเคยดำรงตำแหน่งสูงสุดเป็นหมายเลข 2 รองจากพอล พต อดีตเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชา จนได้รับการเรียกขานจากกองกำลังเขมรแดงว่า “พี่ชายหมายเลข 2”
แต่น้อยคนนักจะรู้ว่านวน เจียคือใคร มีประวัติอย่างไร เพราะอย่างที่รู้กันว่า กองกำลังเขมรแดงเป็นขบวนการที่ลึกลับซับซ้อนที่สุดในโลก อดีตนายทหารระดับนำที่หลุดพ้นช่วงเวลาแห่งการถูกแย่งชิงอำนาจคืนจากพรรคประชาชนปฏิวัติกัมพูชา ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามที่เป็นคอมมิวนิสต์สายโซเวียต ในขณะที่เขมรแดง เป็นสายเหมาอีสต์ หรือจีน ก็ยังสามารถใช้ชีวิตที่เหลือจนชราพร้อมครอบครัว ไม่ว่าจะเป็น ตา ม๊อก, เอียง สารี นางเอียง ทิริธ ฯลฯ
ส่วน “พอล พต” ถูกนักข่าวต่างชาติมาพบขณะที่ใช้ชีวิตในวัยบั้นปลายอย่างเงียบๆ กับครอบครัวที่ จ.ไพลิน ใกล้ชายแดนไทยเมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นอายุของเขาย่างเข้า 80 กว่าปี หลังจากนั้นรัฐบาลกัมพูชาจึงถูกนานาชาติกดดันให้ดำเนินการเอาผิดกับคนเหล่านี้ ทางการกัมพูชาจึงส่งเจ้าหน้าที่มาควบคุมตัวพอล พตไปขังกระทั่งเขาจะเสียชีวิตในคุก ก่อนการพิจารณาคดีจะเริ่มขึ้น เมื่อปี 2541 เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า กัมพูชาเองก็ไม่อยากรื้อฟื้นเอาเรื่องกับคนเหล่านี้เท่าไหร่นัก แต่จำเป็นต้องทำ เพราะการกดดันของนานาชาติที่ยากจะยอมรับการสังหารโหดชาวกัมพูชานับหมื่นๆ คน และเรียกร้องความรับผิดชอบต่อการล้มตายของผู้คนราว2-3ล้านคนในอดีตของคนเหล่านี้
ย้อนกลับไปที่นวน เจีย หลังจากที่ทางการกัมพูชาสืบสวนหาตัวจนเจอก็พบว่าเขาใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัวใหญ่อันแสนจะอบอุ่นอยู่ที่ จ.ไพลินใกล้เคียงกับบ้านของพอล พต โดยนวน เจียยืนยันกับนักข่าวมาตลอดว่าเขาไม่มี"เอี่ยว" ในเรื่องฆ่าฟันประชาชน แต่จากข้อมูลในหนังสือ Candidates for Prosecution ของสตีเฟน เฮดเดอร์ กับไบรอัน ทิทเทอมอร์ สองผู้เชี่ยวชาญเรื่องเขมรแดง ระบุชัดเจนว่า นวน เจียมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายเรื่องประหารชีวิตของรัฐบาลเขมรแดง และการปรับใช้นโยบาย อีกทั้งหลักฐานมัดตัวเขาที่สุด มาจากคำให้การของนายคัง เก็ก เอียบ หรือ"สหายดุจ" อดีตผู้บัญชาการคุกโตน สเลง ที่ถูกจับกุมตัวได้และให้ข้อมูลกับ "เน็ต เทเยอร์" นักข่าวชาวเนเธอแลนด์เมื่อสิบกว่าปีก่อนว่า "ไม่ใช่พอล พต แต่เป็นนวน เจีย ผู้ออกคำสั่งโดยตรงให้ฆ่า"
นักวิเคราะห์มองว่าเขาเป็นคนมีบุคลิกหยิ่งยะโส ชอบข่มขู่ และไม่สำนึกเสียใจในความผิดที่ทำลงไป เขาบอกเพียงว่า นับจากเขายอมเข้ามอบตัวกับรัฐบาลกัมพูชา เมื่อปี 2541 ภายใต้ข้อตกลงที่ปิดฉากเขมรแดงลง นวน เจีย ยอมรับเรื่องการตายของประชาชน ภายใต้รัฐบาลที่เขาเป็นคนควบคุม แต่อ้างว่าเขาไม่ได้ใหญ่พอที่จะยุติการฆ่าฟันกันได้ และเคยกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพีว่า เขาไม่รู้ว่าใครคือผู้ต้องรับผิดชอบต่อการตายของประชาชนเหล่านั้น
จากการสืบค้นประวัติ พบว่านวน เจีย เคยเป็น “คนไทย” มาก่อนโดยสิทธิอาณาเขตแห่งรัฐ เพราะเขาเกิดในครอบครัวเชื้อสายจีนที่จังหวัดพระตะบองในห้วงที่จอมพล ป. พิบูลสงครามไปยึดคืนจากฝรั่งเศสและจัดตั้งเป็นมณฑลบูรพา (โดยมีจังหวัดพิบูลสงครามอีกจังหวัดภายใต้มณฑล ) ก่อนที่ไทยต้องยกให้ฝรั่งเศสอีกครั้งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2489
นวน เจียมีชื่อเป็นไทยคือ “ลอง บุญรอด” หรือ “รุ่งเลิศ เหล่าดี” เกิดเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2469 ด้วยความที่ยุคนั้นเขาถือเป็นคนไทย จึงได้เข้ามาเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร จังหวัดพระนคร ต่อจากนั้นเข้าเรียนที่ โรงเรียนเตรียมปริญญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง หรือ เตรียมธรรมศาสตร์ (ต.มธก.) รุ่นปี พ.ศ.2488
หลังจบการศึกษาเข้าทำงานที่กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ในระหว่างนั้นก็ไปเข้าฟังบรรยายใน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมืองไปพร้อมกันด้วย ซึ่งเขาชื่นชอบวิชานิติศาสตร์มากที่สุด จนกระทั่งถึงปี 2493 ชีวิตการทำงานย้ายมาสังกัดแผนกอินโดจีน ในกระทรวงการต่างประเทศ ได้เงินเดือน 24 บาท
แต่ในระหว่างที่เรียน มธก. และเป็นข้าราชการไทยอยู่นั้น รุ่งเลิศ เหล่าดี ก็เข้าร่วมกับ องค์กรยุวชนไทย อันเป็นองค์กรของฝ่ายซ้าย หลังได้รับแรงบันดาลใจจากการอ่านหนังสือพิมพ์มหาชน ของฝ่ายซ้ายในยุคนั้น รวมถึงบทความของอุดม ศรีสุวรรณ เรื่อง "ทางออกของไทย" และ "ชีวทัศน์" ของประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย
ต่อมาเขาเข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย อย่างเต็มตัวในปี ปี 2493 และโอนเข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอินโดจีน แต่ในเวลาไม่นาน หลังได้ทราบข่าวว่า เกิดเหตุฝรั่งเศสสังหารชาวลาวที่เรียกร้องเอกราช เขาจึงแอบหนีออกจากไทยที่บึงกาฬ ผ่านเข้าลาวที่ปากซัน แล้วไปรับการรฝึกโดยเวียดมินห์ในสมรภูมิเดียนเบียนฟู จนกระทั่งเดินทางถึงกัมพูชา อันเป็นบ้านกิดในเวลาต่อมา
หลังจากนั้น รุ่งเลิศ เหล่าดี กลับไปใช้ชื่อเดิมในภาษาเขมรว่า "นวน เจีย" เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งกัมพูชา กระทั่งก้าวขึ้นมาเป็นรองเลขาธิการพรรค เป็นรองแต่เพียง “พอล พต” เลขาธิการใหญ่ของพรรคคอมมิวนิสต์กัมพูชาเท่านั้น ซึ่งเขาถือเป็นผู้นำเขมรแดงเพียงคนเดียวที่ไม่ได้เรียนจบจากฝรั่งเศสเหมือนคนอื่น
วันที่ 7 สิงหาคม 2557 ศาลพิเศษของกัมพูชาโดยการสนับสนุนของสหประชาชาติก็ตัดสินจำคุกเขาตลอด ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติ และเป็นไปได้สูงที่เขาจะประสบชะตากรรมเดียวกันกับพอล พต พี่ใหญ่ของเขา นั่นคือเสียชีวิตในคุก และนำศพกลับไปฌาปนกิจอย่างเรียบง่ายที่บ้านเกิดต่อไป.
ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ รวบรวมและเรียบเรียงข้อมูล

ไม่มีความคิดเห็น: