PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอาทิตย์ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

กรณีสมเด็จช่วงกับอำนาจกดดันจากทหาร


การเมือง-กฎหมาย-ธรรมวินัย กรณีสมเด็จช่วง

สุรพศ ทวีศักดิ์(20/2/59)

เรื่องสมเด็จช่วง ยกเรื่อง "กฎหมาย" ไว้ในฐานที่ผมไม่ปฏิเสธการตรวจสอบเอาผิดทางกฎหมายนะครับ คือผมขอเรียกร้องให้มี "มาตรฐานเดียวกัน" ด้วยซ้ำว่า ถ้าอำนาจรัฐเข้าไปดำเนินการกับ "ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช" แบบนั้น รัฐก็ต้องมีคำอธิบายว่าได้ดำเนินการอย่างไรกับรถผิดกฎหมายแบบเดียวกันอีกราว 6,000 คัน และมีคำอธิบายอย่างไรว่า ทำไมไม่ดำเนินการอย่างเปิดเผยทุกขั้นตอนต่อสื่อมวลชนกรณีตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ ทำไมการตรวจสอบบุคคลที่มียศ ตำแหน่งสูงทางพระกับทางทหารจึงไม่ใช้ "มาตรฐานเดียวกัน" (เช่นคนที่ไปตรวจสอบทหารมีความผิด แต่ฝ่ายที่ไปตรวจสอบสมเด็จช่วงจะแสดงออกยังไงก็ได้ ทำไมไม่ยอมรับ เสรีภาพในการแสดงออกเหมือนกัน เป็นต้น)  

ในแง่ "การเมือง" คำถามก็คือว่า ถ้าเป็นการกล่าวหาสมเด็จช่วงในประเด็นเกี่ยวกับ "กฎหมายเพียวๆ" และเกี่ยวความเหมาะสมทาง "ธรรมวินัย" ก่อนเข้าสู่ตำแหน่งสำคัญทางสงฆ์เพียวๆ ไม่มีการเมืองเกี่ยวข้อง อำนาจรัฐจะเข้าไปดำเนินการกับสมเด็จช่วงแบบที่ทำไปแล้วไหม?

ที่ผมถามเช่นนี้ ก็เพราะมีกรณีที่โด่งดังมาก (หลายคนคงจำกันได้) คือกรณีที่ท่านจันทร์แห่งสันติอโศกและ อ.สุลักษ์ ศิวรักษ์ออกมากล่าวหาว่าอธิการบดี ม.สงฆ์ท่านหนึ่งมีปัญหาเรื่องเงินกับเรื่องสีกา กรณีนี้ อ.สุลักษณ์ได้ทำหนังสือถึงทั้งหน่วยงานปกครองสงฆ์และหน่วยงานของรัฐให้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ทั้งเขียนบทความเผยแพร่ทางสื่อ และพูดในเวทีต่างๆมาเป็นปีๆ แต่ก็ไม่มีการดำเนินการใดๆทั้งหน่วยงานปกครองสงฆ์ และหน่วยงานภาครัฐ และท่านที่ถูกกล่าวหาก็ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

ประเด็นสำคัญของการกล่าวหาก็คือเรื่องเงิน เรื่องสีกาซึ่งเป็นเรื่องที่พระและชาวพุทธไทยถือเป็นเรื่องใหญ่คือเรื่องต้อง "อาบัติปาราชิก" (หรือไม่?)

ที่ผมตั้งคำถาม ผมไม่เรียกร้องให้เอาการเมืองหรืออำนาจมหาเถรไปไล่ล่าดำเนินการกับพระท่านนั้นนะครับ (แต่เรื่อง "เงิน" นี่เกี่ยวข้องกับกฎหมายด้วยนะ)

ผมเพียงแต่ตั้งคำถามว่า ไม่ว่าเรื่องกฎหมาย หรือเรื่องความบริสุทธิ์ทางธรรมวินัยในการเข้าสู่ตำแหน่งของพระผู้ใหญ่ ถ้าไม่มี "การเมือง" เป็นปัจจัยหลัก จะมีการดำเนินการกันไหม?

และการดำเนินการภายใต้การใช้ "การเมือง" เป็นปัจจัยหลักนั้น มี "ความชอบธรรม" หรือไม่ เป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกฝ่ายหรือไม่? 

ทำไมพุทธอิสระชุมนุมถึงไม่ผิดในฐานขัดคำสั่ง คสช. แต่พระเมธีธรรมมาจารย์ถูกหมายเรียกจากตำรวจ เป็นต้น 

คือ ประเด็น "ความเป็นการเมือง" มันไม่ใช่เพียงจะบอกว่า "ทุกฝ่ายก็มีการเมืองทั้งนั้น" แต่มันมีปัญหาเรื่อง "ความชอบธรรม" ของวิธีการ ของอำนาจที่เข้ามาจัดการ และความเป็น "มาตรฐานเดียวกัน" เป็นต้นด้วยอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งก็เป็นปัญหา "ทางหลักการ" นั่นเอง
////

เรื่องทักษิณ เรื่องสมเด็จช่วง มีจุดเหมือนจุดต่างอยู่ ในทัศนะประชาธิปไตยไม่เคยปฏิเสธว่าทักษิณอำนาจนิยม พรรคไทยรักไทย พรรคเพื่อไทย มีปัญหาผลประโยชน์ (เยอะด้วย) แต่สิ่งที่เรายอมรับไม่ได้คือ หนึ่ง การทำลายทักษิณโดยทำลายสิทธิเสรีภาพ ทำลายประชาธิปไตย สอง การทำลายทักษิณโดยใช้ความอยุติธรรม ไม่เฉพาะกับทักษิณแต่กับมวลชนด้วย

เรื่องสมเด็จช่วง เราไม่เคยเห็นด้วยกับพวก "พุทธเป็นศาสนาประจำชาติ" หรือ กม.คุ้มครองศาสนา ทัศนะกีดกันเกลียดกลัวต่างศาสนา รวมทั้งการแผ่อิทธิพลของธรรมกาย แต่สิ่งที่อีกฝ่ายทำ มันไม่ใช่การปฏิรูปศาสนา ไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการแยกศาสนาออกจากอำนาจรัฐ แค่ต้องการโค่นอำนาจและยึดอำนาจในคณะสงฆ์ ให้อยู่ขั้วเดียวกับอำนาจการเมือง แล้วก็ใช้ทุกวิถีทาง ตั้งแต่ให้ร้าย ทาสี ไปจนใช้อำนาจรัฐ พูดง่ายๆ ฝ่ายที่เล่นงานเขาก็ไม่มีความชอบธรรม

ใบตองแห้ง
20/2/59

ไม่มีความคิดเห็น: