PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561

เลือกตั้งชี้ชะตาประเทศ : อนาคตประเทศไทยบนทางสามแพร่ง

เลือกตั้งชี้ชะตาประเทศ : อนาคตประเทศไทยบนทางสามแพร่ง



ใกล้ถึงฤดูเซ็ตซีโร่พรรคการเมือง
สองพรรคใหญ่หัวใจยืนอยู่คนละขั้วการเมือง ถูกจับตามากที่สุดว่าจะจัดทัพสู้ศึกเลือกตั้งอย่างไร ในสภาพพรรคเพื่อไทยระส่ำระสาย พรรคประชาธิปัตย์อ่อนระทวย
โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมียอดสมาชิกพรรคมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองด้วยกัน
มีอุดมการณ์มายาวนานตั้งแต่ 6 เม.ย.2489 หนึ่งในอุดมการณ์ที่ยึดถือปฏิบัติมาโดยตลอด
คือ “ไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ”
ช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมาติดล็อกการเมือง แกนนำก็ใช้เวลาเดินสายพบปะตัวแทนกลุ่มอาชีพต่างๆ อาทิ ผู้ใช้แรงงาน เกษตรกร สมาคมการค้า เพื่อรวบรวมประเด็นปัญหากำหนดเป็นนโยบายด้านต่างๆ ซึ่งเป็นไปทิศทางเดียวกับอุดมการณ์ของพรรค พลวัตของสังคมและโลก โดยไม่ก่อให้เกิดหายนะแก่บ้านเมือง ถึงทำให้พรรคอยู่คู่กับประเทศไทยมาตลอด
ปัจจุบันก็เตรียมความพร้อม เพื่อเป็นทางเลือกของประเทศในยุคปฏิรูปได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เปิดใจให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ว่า อนาคตของประเทศมีความสำคัญกว่า
ขอให้เอาอนาคตของประเทศเป็นตัวตั้ง แล้วปรับวิสัยทัศน์ของพรรคจะไปรับใช้อนาคตของประเทศได้อย่างไร ขณะนี้สิ่งสำคัญประเทศไทยกำลังเดินอยู่บนทางสามแพร่ง
ทางหนึ่งยึด “แนวคิดเชิงอนุรักษนิยม” รัฐราชการเป็นตัวชี้นำประเทศ เน้นความสงบเรียบร้อย เป็นแนวทางที่เดินอยู่ในปัจจุบัน รวมหมายถึงหลังการเลือกตั้งแล้วเราก็จะเดินในแบบนี้ต่อไป
อีกทางหนึ่งย้อนไปสู่ “แนวคิดประชานิยม” มีทั้งการทุจริต คอร์รัปชัน ใช้อำนาจที่มีปิดปากและบั่นทอนระบบการตรวจสอบ ถ่วงดุล สุดท้ายประเทศก็วนกลับมาเป็นเหตุให้เกิดแบบทางที่หนึ่งอีก
ทางสุดท้าย “ระบบเสรีนิยมประชาธิปไตย ควบคู่รัฐสวัสดิการ” พรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้ประเทศไทยเดินบนถนนเส้นทางนี้ ไม่ให้บ้านเมืองติดอยู่กับแนวทางปัจจุบันและไม่เอาประเทศย้อนไปสู่แนวทางประชานิยม
การวางอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ต้องกลับมาดูทั้งภายในและภายนอกพรรค
เรื่องภายในพรรค เราเป็นพรรคการเมืองหนึ่งเดียวที่เป็นสถาบัน มีประชาธิปไตยในพรรค สมาชิกทั่วประเทศราว 2.5 ล้านคน สาขาพรรค 150 สาขา คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 53/2560 กลับทำให้ประชาชนถูกจำกัด มีปัญหา การยืนยันตัวตนของสมาชิกพรรคในช่วงสั้นๆและยังไม่สามารถทำกิจกรรมการเมืองได้
คาดจะปลดล็อกการเมืองเดือน มิ.ย.-ก.ค.61 หลังจากนั้นจะมีการประชุมใหญ่ ทำข้อบังคับพรรค เลือกคณะผู้บริหารพรรค สุดท้ายต้องเลือกไพรมารีโหวตก่อนไปสู่การเลือกตั้ง
สิ่งแรกที่ผมยืนยันกับทุกคนในพรรค เราจะต้องยึดมั่นในหลักการของการสร้างพรรคแบบสถาบัน เป็นพรรคของประชาชน ไม่ใช่คิดแค่ให้เป็นไปตามเงื่อนไขของกฎหมาย ต้องทำให้ได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด สอดคล้องกับกฎหมาย ทั้งการตั้งสาขาพรรค สมาชิกพรรคจังหวัดต่างๆ การเลือกคณะกรรมการบริหารพรรค
เรายืนยันจะปฏิรูปและพัฒนาพรรคจากระบบเดิม แต่ที่สะดุดลงเพราะการปฏิวัติและห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง เราจะเร่งทำตรงนี้ คิดว่าทำได้ทัน แม้จะมีเงื่อนเวลาบีบอยู่มาก
ขณะเดียวกันจะทำงานร่วมกับมูลนิธิควง อภัยวงศ์ ซึ่งมีสถาบันออกแบบอนาคตประเทศไทย ทำการวิจัย และกำลังจัดตั้งสถาบันฝึกอบรมความรู้ทางการเมืองและประชาธิปไตย รวมถึงนโยบายสาธารณะ งานการเมืองจะเชื่อมกับงานวิจัย และงานวิชาการที่ให้ความรู้ด้านต่างๆควบคู่กันไป
ยอดอดีต ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์ เหลือเท่าไหร่ ได้ตรวจสอบจำนวนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า กระบวนการยืนยันตัวตนของสมาชิกมีกรอบชัดเจนตั้งแต่วันที่ 1-30 เม.ย. ใครจะมายืนยันหรือไม่ เขาคิดได้เอง
ต่อให้ไปเช็กชื่อแม้วันนี้เขาไม่ไป แต่พอถึงวันจริงเขาไม่มายืนยัน ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของเขา
ใครที่เห็นว่าแนวทางอื่นมันตอบโจทย์มากกว่าก็ย่อมมีสิทธิที่จะไป
พรรคมีหน้าที่เดินต่อเพื่อสานแนวคิดของพรรค ผมไม่มานั่งกังวลเรื่องการนับหัว
อย่างที่บอกวันนี้ความสนใจของพรรคประชาธิปัตย์อยู่ที่ทิศทางการเดินของประเทศ
แต่การเลือกคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ อาจกระทบต่อพรรคได้ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า พรรคเราเปิดกว้างอยู่แล้ว ที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยก็แข่งขันกัน
ครั้งนี้ตอบไม่ได้ว่าจะมีใครแข่งขันกันบ้าง ถ้ามีเราก็ใช้หลักการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมให้ได้มากที่สุด
มาถึงเวลานี้ กปปส.เตรียมตั้งพรรค จะมีผลกระทบต่อฐานเสียงของพรรคอย่างไร และถ้าไม่ตั้งพรรคใหม่ก็มีโอกาสฟอร์มทีมคณะกรรมการบริหารพรรคลงแข่ง นายอภิสิทธิ์ บอกว่า เราเป็นพรรคเดียวที่มีความเป็นประชาธิปไตยในพรรค จึงขึ้นอยู่กับสมาชิกพรรคที่จะตัดสินใจ
การตั้งพรรคใหม่ก็เป็นสิทธิที่สามารถทำได้ เราไม่ก้าวล่วง แต่ที่เราติดตามแนวคิดของคนที่จะไปตั้งพรรคใหม่มาตลอดว่า มีความประสงค์ที่จะตั้งพรรคเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ให้เป็นนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้ง ใครมีแนวคิดทางนี้ก็คงไปสนับสนุนหรือไปร่วมกับพรรคนั้นได้ เป็นสิทธิของแต่ละบุคคล
สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ต้องสืบทอดเจตนารมณ์และสืบสานอุดมการณ์ของพรรค เอาอุดมการณ์เป็นตัวตั้ง ไม่ยึดตัวบุคคลเป็นตัวตั้ง
และเดินตามแนวทางปฏิรูปการเมือง เป็นทางเลือกให้กับประชาชน
อุดมการณ์เปลี่ยนแปลงไม่ได้ นโยบายพรรคต้องเป็นพลวัต มีการพัฒนาขึ้นตลอดเวลา แล้วให้บุคลากรของพรรคเป็นคนขับเคลื่อนว่า ถ้าเลือกพรรคประชาธิปัตย์ เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนจะได้รับ
ฉะนั้น เมื่อประชาชนสนับสนุน พรรคก็ตั้งจัดบุคลากรของพรรคเข้าไปผลักดันตามแนวทางนี้ จึงเป็นความคิดที่แตกต่างกับผู้ที่จะตั้งพรรคใหม่ที่มีธงว่า จะไปสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเป็นนายกฯหรือว่าจะเป็นใครก็ตามที่จะขึ้นเป็นนายกฯ เป็นเรื่องที่ประชาชนและสมาชิกพรรคจะตัดสินใจว่า จะเลือกอะไรว่าเขาจะร่วมหรือสนับสนุนพรรคไหน อะไร อย่างไร เป็นการแข่งขันกันทางการเมืองตามปกติ
“คณะกรรมการบริหารพรรคในวันข้างหน้า ใครจะขึ้นมานำพรรคก็ต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ของพรรค
ปัจจุบันยังมีปัญหาท้าทายใหม่เกิดขึ้นมาก ทั้งเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงในด้านทำลายล้างและการสร้างสรรค์ไปพร้อมกัน
เราเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงมาก และเรากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้เราต้องเอาจุดยืนและอุดมการณ์มาตอบให้ชัดว่านโยบายของพรรคคืออะไร
เมื่อเราไม่ใช่ประชานิยม ไม่ใช่อนุรักษนิยมประชารัฐหรือไทยนิยมยั่งยืน
แต่ยืนยันว่านโยบายของพรรคจะตอบสนองระบบเศรษฐกิจเสรีโลกาภิวัตน์
ควบคู่ไปกับการมีหลักประกันสวัสดิการสังคม ต่อยอดจากโครงการที่เคยร่วมก่อตั้งและทำมาแล้วทั้งสิ้น
ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ การว่างงานและสังคมสูงวัย”
ถ้าเราเดินหน้าอย่างนี้แล้วประชาชนบอกว่า อันนี้คือคำตอบของประเทศ เราต้องเป็นหลักในเรื่องเหล่านี้ ไม่ใช่ว่าจะมาตั้งคำถามตั้งแต่แรกว่า จะไปสนับสนุนใครให้เป็นนายกฯ ส่วนใครจะมาสนับสนุนเราก็ต้องมาว่ากัน
สมมติเราเดินไปอย่างนี้ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าประชาชนเลือกเรามานิดเดียว
อย่างนี้ก็ต้องเจียมตัว และต้องตัดสินใจว่าเราจะมีบทบาทอย่างไรต่อไป
พรรคจะไปสนับสนุนใคร หรือจะไปร่วมรัฐบาลกับใคร ถ้าแนวทางไม่เป็นอย่างนี้ เราก็ไม่เอา
ได้ย้ำมาหลายครั้งว่า ระบอบทักษิณไม่ต้องพูดเลย แต่ถ้าพรรคเพื่อไทยหลุดพ้นจากระบอบทักษิณค่อยมาคุยกัน แต่ยังไม่เห็นแนวโน้มว่าจะหลุดพ้น เช่นเดียวกันตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นนายกฯคนนอกหรือคนใน ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร
สมมติ พล.อ.ประยุทธ์ อยากอยู่ในอำนาจต่อ ก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ
ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าท่านจะเลือกเป็นนายกฯคนนอกหรือคนใน หรืออาจจะไม่สนใจอะไรเลยก็ได้
หลายคนจะมาบอกว่าให้สนับสนุนคนนอกเป็นนายกฯ ถามว่าคนนอกสนับสนุนแนวทางของเราหรือไม่
ถ้าคนนอกบอกว่าไม่เชื่อในแนวทางนี้ เราจะไปสนับสนุนได้อย่างไร
ถ้าเราไปสนับสนุนก็เท่ากับไม่เคารพเสียงของประชาชน
การเมืองต้องเดินไปแบบนี้ ไม่เช่นนั้นก็จะไม่มีการปฏิรูป.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: