PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2561

หน้าฉากแต้มรอง หลังฉากแต้มต่อ

หน้าฉากแต้มรอง หลังฉากแต้มต่อ



ผ่าเกมอำนาจคสช.“ประยุทธ์”ฝ่าด่านเลือกตั้ง
อากาศอบอ้าว เข้าสู่ฤดูร้อนเต็มรูปแบบ
ตามประกาศกรมอุตุนิยมวิทยาจะกินเวลาลากยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคม
โดยสถานการณ์คนเมือง โดยเฉพาะคนกรุงเทพฯจะต้องเจอกับอุณหภูมิร้อนทะลักปรอท ต้องเปิดแอร์ เปิดพัดลม ดันยอดการใช้ไฟฟ้าพุ่งสูงทำสถิติทุกปี
ขณะที่ปัญหาประจำฤดู พื้นที่ต่างจังหวัดต้องเผชิญกับภาวะภัยแล้ง พืชผลเกษตรเสียหาย ปศุสัตว์ไม่มีน้ำเพียงพอ เกษตรกรเดือดร้อน ไม่มีเงินใช้จ่าย
ชาวไร่ ชาวนา ก่อม็อบเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือ
และนั่นก็เข้าทางกลุ่มต่อต้านรัฐบาลที่จ้องป่วนผสมโรง ปั่นบรรยากาศการเมืองร้อนตามอุณหภูมิ
วัฏจักรที่หมุนวนซ้ำซากทุกปี ณ วันนี้ก็มีอะไรที่ส่อเค้าอยู่
กับบรรยากาศเร้ากระแสเลือกตั้ง แรงกดดันให้ทหารคืนอำนาจประชาธิปไตย
เงื่อนไขสถานการณ์แบบที่ผู้นำอย่าง “นายกฯลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ต้องประกาศย้ำแล้วย้ำอีก จะไม่มีการเลื่อนโรดแม็ป
เลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แน่นอน
แต่ก็ยังมีคนจำนวนไม่น้อย ที่ยังไม่ปักใจเชื่อ ไล่บี้ไล่ต้อน เค้นคอถาม พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เว้นแต่ละวัน
ยิ่งเป็นอะไรที่ล่าสุด “พญาจิ้งจก” อย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ออกมาทัก 2–3 รอบ เตือนให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ชิงยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พ.ร.บ.การได้มาซึ่ง ส.ว.เพื่อให้เกิดความชัดเจน
เพราะถ้าถูกยื่นตีความภายหลังและผลออกมาว่าขัดรัฐธรรมนูญ จะสั่นสะเทือนโรดแม็ป
กระบี่มือหนึ่งกฎหมายของประเทศไทย “ขู่” แรงซะขนาดนี้ มันก็เลยทำให้ “นายกฯลุงตู่” ต้องออกอาการลังเลๆ แนวโน้มต้องเดินตามนายมีชัย เพื่อเอาเสียให้ชัดตั้งแต่ตอนนี้
และก็เป็นนายสมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป) ที่แบไต๋ สนช. หลายคนมีความเห็นร่วมกันว่า น่าจะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้เกิดความชัดเจน
โดยจะดำเนินการเพื่อไม่ให้เกิดปัญหากระทบต่อโรดแม็ป
ในจังหวะที่นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ต้องแตะเบรกชะลอการยื่นร่างกฎหมายลูก 2 ฉบับสุดท้ายให้นายกรัฐมนตรี เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย ตามข้อห่วงใยของ “ซือแป๋มีชัย”
แบไต๋ หากยื่นให้ศาลตีความร่างกฎหมายลูก ส.ส. ก็จะกระทบต่อโรดแม็ปเลือกตั้งแน่นอน
ถึงตอนนี้ ความแน่นอนก็คือความไม่แน่นอน
กำหนดเลือกตั้งยังมีปัจจัยแทรกซ้อน อุปสรรคแฝงอยู่ตลอดสองข้างทาง
ขณะเดียวกันหันไปดูความพร้อมของนักการเมือง ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้เลือกตั้งเช้าเย็น
ตามรูปการณ์อย่างที่เห็น ทิศทางกระแสภายหลังกระบวนการจดทะเบียน จัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ตามประกาศ คสช.ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ที่ผ่านมา
ดูเหมือนว่า โฟกัสอยู่ที่ 3 จุดใหญ่
ไล่ตั้งแต่ค่าย กปปส. ของ “ลุงกำนัน” นาย
สุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิ กปปส. ที่ทำท่าออกตัวแรง แต่เอาเข้าจริงกระแสฝ่อลงดื้อๆตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่นายสุเทพเล่นบท “ติ๊ดชึ่ง” ไม่ชัดเจน ประกอบกับแกนนำ กปปส. ไม่กล้า
ออกจากพรรคประชาธิปัตย์มาล่มหัวจมท้าย
ไม่เสี่ยงวัดดวงกับ “เสาไฟฟ้า” ในปักษ์ใต้
ต่างกับอาการคึกคักของขบวนการ “ยังบลัด” ที่นำโดย “ไพร่หมื่นล้าน” อย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานบริหารกลุ่มบริษัทไทยซัมมิทฯ กับผู้ร่วม
อุดมการณ์อย่างนายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์มหา-วิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการกลุ่มนิติราษฎร์
ที่ประกาศเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ตั้งพรรคอนาคตใหม่
อย่างไรก็ตาม ภายใต้จังหวะการเคลื่อนไหวที่ถูกจับตาไม่กะพริบ จากฐานความคิดของตัวบุคคลที่ร่วมอุดมการณ์ที่สลัดไม่พ้นคราบของ “นิติราษฎร์–นิติเรด” ล่อแหลมหมิ่นเหม่ปมสถาบัน
แถมกระบวนท่ายังเลียนแบบการตลาดยี่ห้อ “ทักษิณ” ในช่วงเดินยุทธศาสตร์ “คิดใหม่ทำใหม่” เปิดตัวพรรคไทยรักไทยชนิดถอดแบบกันมา
นั่นก็ยิ่งหนีไม่พ้นข้อครหานอมินี “นายใหญ่”
แต่จุดที่เป็นไฮไลต์จริงๆก็คือชื่อของพรรค “พลังประชารัฐ” ที่ถูกตามแกะรอยมากที่สุด ตามสถานะของป้อมค่ายที่จะเป็นฐานคะแนนให้ พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเบิ้ลเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
ยี่ห้อที่คนทั่วไปรู้ว่าเป็นแบรนด์ประจำของ “ลุงตู่”
และเท่าที่มีกระแสร่ำลือแคนดิเดตหัวหน้าพรรค และทีมงานเป็นรัฐมนตรีในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะชื่อของนายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กับ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์
ล้วนแต่ทีมงานในค่ายของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ
ทั้งทีมงานและภารกิจเป้าหมายในการหนุน พล.อ.ประยุทธ์ สานงานปฏิรูปต่อเนื่อง รวมถึงชื่อ “ประชารัฐ” ที่ติดเป็นแบรนด์ “ลุงตู่”
มันจึงเป็นอะไรที่ลงตัว เข้าเค้าความเป็นจริง
ที่แน่ๆโดยกระแสตอบรับ “เชิงบวก” กับความพยายามยกระดับความชอบธรรมของ “บิ๊กตู่” กับสถานะนายกรัฐมนตรี “คนใน” ที่มาจากที่ปรึกษาพรรคการเมือง
ไม่ใช่ “คนนอก” ที่ส่งเทียบไปหามเข้ามา
ชื่อของ “พลังประชารัฐ” จะเป็นพรรคที่กระตุกโมเมนตัมทางการเมืองนับแต่นี้ไปแน่นอน
แต่ทั้งหมดทั้งปวง ตามธรรมชาติของพรรคใหม่ที่เริ่มต้นจากศูนย์ ต่อให้คึกคัก ฟอร์มดีมีอนาคตยังไง ก็ยังเป็นอะไรที่อยู่ในห้วงของกระแสลอยๆ
โดยฐานต้นทุนจริงๆยังไม่มีอะไรจับต้องได้
เหนืออื่นใด โดยสูตรคุมเกมอำนาจช่วงเปลี่ยนผ่านของ “ลุงตู่” ยังจำเป็นต้องพึ่งเสียงของพรรคการเมืองใหญ่ที่เกินหลักร้อยเสียง ในการประคองการบริหารในสภาผู้แทนราษฎร
พรรคขนาดกลางหรือขนาดเล็กยังไม่ใช่คำตอบของสมการ
ตามรูปการณ์พวกที่ถือดุลในเกมเลือกตั้งก็ยัง
อยู่ที่ป้อมค่ายการเมืองเดิม โฟกัสอยู่ที่ 2 ค่ายหลักคือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์
ที่จะมีความชัดเจนในวันที่ 1 เมษายน นี้ ตามคิวที่ คสช.เปิดให้พรรคเก่าเคลียร์ฐานสมาชิกได้
แต่พวกเขี้ยวลากดิน “ลักไก่” มั่วนิ่มออกตัวกันก่อนนานแล้ว
ว่ากันตามปรากฏการณ์ที่สะท้อนออกมาจากแรงกระเพื่อมทั้งในประชาธิปัตย์และเพื่อไทยที่เปิดศึกชิงอำนาจการนำพรรคกันตั้งแต่สัญญาณเลือกตั้งดังมาไกลๆ
พรรคเพื่อไทยฟัดกันเละในศึกแย่ง “นอมินี นายใหญ่”
ตามฉากป่วนๆที่ลูกชายของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรี แกนนำสายตรงดูไบ ออกมาฟาดหางใส่ “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ เจ้าแม่เมืองกรุง พรรคเพื่อไทย
เค้าลางเกมชิงการนำพรรคเพื่อไทยต้องฟัดกันถึงขั้นพรรคแตก
สถานการณ์เดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ดีกรีศึกสายเลือดกำลังระอุ ระหว่างทีมของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค กับเครือข่ายของ “ลุงกำนัน” ที่แฝงตัวอยู่ในพรรค
ตามสไตล์พรรคเก่าแก่ เปิดศึกกันเองทีไร ต้องฟัดกันพรรคแตกทุกครั้ง
ทั้งประชาธิปัตย์และเพื่อไทยต้องเปิดศึกหักดิบ ชิงการนำพรรคในยกแรกก่อนลงสนามเลือกตั้ง
เพื่อนำไปสู่การเดินยุทธศาสตร์ข้ามช็อตหลังเลือกตั้ง ใครจะเกาะขบวนไปกับ “ลุงตู่”
แน่นอนโดยเงื่อนไขความเป็นไปได้ สถานการณ์จับจ้องไปที่ฝั่งประชาธิปัตย์มากกว่าเพื่อไทย
แม้ ณ วันนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังชิงเหลี่ยมยึดหลักการพรรคเก่าแก่ ประกาศไม่เอาทหาร ประชาธิปัตย์ต้องสนับสนุนหัวหน้าพรรคเป็นนายกรัฐมนตรี
แต่การเมืองไม่มีตีไพ่หน้าเดียว
ก่อนเลือกตั้งกับหลังเลือกตั้ง มักจะพูดคนละภาษา
อย่าลืมว่า “อภิสิทธิ์” ก็ติดภาพตั้งรัฐบาลในค่ายทหารมาแล้ว การตั้งแง่รังเกียจท็อปบูตจึงดูกระไรอยู่
อีกทั้งแนวโน้มก็อย่างที่ลูกทีมของนายอภิสิทธิ์แพลมไต๋ ถ้าจะแตะมือกับพรรคเพื่อไทย โหวตให้คนของระบอบ “ทักษิณ” เป็นนายกรัฐมนตรี ขอเลือกสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ดีกว่า
แบะท่าแค่ขอกั๊กจังหวะหาเสียง ให้ดูหล่อๆตอนเลือกตั้งแค่นั้น
ที่สำคัญ วันนี้ คสช.แค่ปล่อยไหลตามแต้มต้นทุนของ “ลุงตู่” ที่ดูเป็นธรรมชาติ แต่ถึงที่สุด ถ้าจำเป็นต้องเจรจาภาษาทหารแบบที่จำเป็นต้องได้
ทีมงาน “ลุงตู่” ก็มีปืน มีกฎหมาย มีผลประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจยื่นให้
ยังไงก็ถือ “แต้มต่อ” ในการเจรจา
หน้าฉากทหารถือ “แต้มรอง” อาจเสียเปรียบ ความชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตยสากล แต่หลังฉาก คสช.ได้เปรียบภายใต้สไตล์การเมืองแบบไทยนิยม
โดยเฉพาะข้ออ้างเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปสู่การปฏิรูป ไม่ย้อนกลับไปสู่วังวนวิกฤติเหมือนเดิม
มันมีน้ำหนักในตัวอยู่แล้ว.
“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: