PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2560

ภาษีบาป-บาปของใคร?

ภาษีบาป-บาปของใคร?

อาจจะถือได้ว่าการขึ้น “ภาษี บาป” ครั้งนี้ เป็นครั้งแรกที่ค่อนข้างจะมีเสียงโวยวายดังกว่าครั้งก่อนๆ ส่วนมากเห็นว่าเป็นการขึ้นภาษีที่มากเกินไป ทำให้ราคาเหล้าและบุหรี่พุ่งขึ้นทันที และตำหนิว่าไม่มีการชี้แจงราคาใหม่อย่างชัดเจน รวมทั้งเปิดช่องให้ร้านค้าที่ไม่สุจริตกักตุนสินค้าเพื่อฟันกำไร และมีการตั้งคำถามว่าภาษีบาปเป็นภาษีที่เป็นธรรมหรือไม่?

หลายคนตั้งข้อสงสัยมานานแล้วว่า ทุกครั้งที่รัฐบาลเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า มักจะขึ้นภาษีบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะไม่มีคนโวยวาย เนื่องจากถูกเรียกว่า “ภาษีบาป” ผู้สูบบุหรี่และดื่มเหล้าเบียร์ ถูกตราหน้าเป็น “คนบาป” ไปด้วย กลายเป็นประเพณีที่ถือปฏิบัติมานมนาน ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง หรือรัฐบาลที่ไม่เลือกตั้ง

แต่น่าสงสัยว่าเป็น “บาป” ของใครกันแน่ สมมติว่ารัฐเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า เนื่องจากเศรษฐกิจซบเซา การใช้จ่ายและการบริโภคภาคประชาชนทรุด เช่นเดียวกับการลงทุนทั้งจากภายในและจากต่างประเทศ น่าจะถือว่าเป็นบาปกรรมของรัฐบาล ไม่เกี่ยวกับประชาชน เนื่องจากรัฐบาลบริหารผิดพลาด หรือขาดความรู้ความสามารถในด้านเศรษฐกิจ

ตามหลักธรรมของพระพุทธศาสนา คำว่า “ภาษีบาป” น่าจะหมายถึงภาษีที่เกิดจากการทำบาป เช่นการละเมิดศีล 5 ข้อใดข้อหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการฆ่าสัตว์ การลักทรัพย์ การทำผิดทางกาม การพูดโกหก และการดื่มสุราเมรัย หรืออาจเป็นการกระทำที่เข้าข่าย “อบายมุข 4” คือการเป็นนักเลงผู้หญิง นักเลงสุรา นักการพนัน และการคบคนชั่วเป็นมิตร

หรือมิฉะนั้นก็อาจหมายถึงการทำตามอบายมุข 6 เช่น การดื่มน้ำเมา การเที่ยวกลางคืน การเที่ยวดูการละเล่น ส่วนการสูบบุหรี่ไม่ใช่บาปในพระพุทธศาสนา แต่บุหรี่เป็นการค้าผูกขาดของรัฐ เช่นเดียวกับเหล้าและเบียร์ ก็เป็นกิจการกึ่งผูกขาดที่ได้รับสัมปทานจากรัฐ จึงน่าจะถือว่ารัฐมีส่วนทำบาปร่วมกับประชาชน มอมเมาประชาชนให้ติดบุหรี่และสุรา

ภาษีสรรพสามิตที่เก็บจากเหล้าและบุหรี่ เป็นภาษีทางอ้อมที่เก็บจากผู้ดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านธรรมดา แต่ต้องเสียภาษีเท่ากับกลุ่มผู้มั่งคั่งร่ำรวย เช่นเดียวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อสินค้าและบริการก็เป็นภาษีทางอ้อมที่เก็บได้มากที่สุดในประเทศ (63.6%) ส่วนภาษีทางตรงที่เก็บจากผู้มั่งคั่งเป็นส่วนใหญ่ เก็บได้เพียง 26.1%

จึงนำไปสู่คำถามว่าระบบภาษีของไทยในปัจจุบันเป็นธรรมหรือไม่? นอกจากรัฐบาลจะไม่มีมาตรการการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงแล้ว ยังซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำในสังคมด้วยระบบภาษีที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่? เพราะนโยบายแก้ปัญหายอดนิยมของรัฐบาลมักจะได้แก่ การลดแลกแจกแถม แจกเงินผู้มีรายได้น้อยเป็นครั้งคราว จะทำให้ทุกฝ่ายมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนได้หรือไม่?

ไม่มีความคิดเห็น: