PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2557

นิ้วกลม:เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม

Roundfinger ได้แชร์ รูปภาพ ของ Roundfinger
ท่ามกลางความขัดแย้งและแตกต่างทางความคิด อยากชวนทุกคนมาแลกเปลี่ยนกันครับ (แปะไว้เมื่อคืนนี้)
เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม
******************************

ท่ามกลางความขัดแย้งและสถานการณ์ที่แม้แต่หมอดูที่แม่นที่สุดยังไม่รู้ว่าจะจบลงอย่างไร เสียงหนึ่งดังแหวกอากาศขึ้นมาในม่านหมอก "เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม" ผมคิดว่านี่เป็นคำถามที่สร้างสรรค์ อย่างน้อยที่สุดก็มีเจตนาดี แทนที่จะเพิ่มความต่าง ความเกลียดชัง การแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งมีโอกาสนำไปสู่ความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นทุกวัน คำถามนี้ถามทุกฝ่ายในบ้านเมืองว่า มีอะไรบ้างที่เป็น "จุดร่วมต่ำสุด" ที่เราทุกคนพอจะยอมรับตรงกันได้ หรือมีความเป็นห่วงในเรื่องเดียวกัน

ผมได้ยินเสียงถกเถียงจากผู้คนรอบตัว (และผมเองก็เป็นหนึ่งในผู้ถกเถียงนั้นด้วย) ในหัวข้อหลักของวันนี้คือ เราควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือควรเลือกตั้งก่อนปฏิรูป

ฝ่ายต้องการให้ปฏิรูปก่อนไม่ไว้วางใจนักการเมือง (ซึ่งก็ไม่ควรจะวางใจ) ว่าเมื่อเข้ามามีอำนาจจะทำการปฏิรูปหรือไม่ ฝ่ายที่เห็นว่าการเลือกตั้งเป็นสิ่งจำเป็นก็มองว่า หากมีการปฏิรูปจาก "สภาประชาชน" ที่ได้รับการเลือกจาก กปปส. (ซึ่งไม่ใช่คนทั้งหมดของประเทศ) ก็อาจนำไปสู่ความวุ่นวาย เพราะอธิบายไม่ได้ว่า ใช้อำนาจใดมาตั้งสภาประชาชนนั้น และอีกฝ่ายก็มีสิทธิ์จะออกมาประท้วงเพื่อทำในสิ่งเดียวกัน

ท่ามกลางเสียงถกเถียงที่ดังขรม คำถามหนึ่งดังขึ้นมาว่า "เราสามารถเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปได้ไหม" เราจะทำอย่างไรให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็น "การเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป"

ในความหมายว่า 1.ลดความเหลื่อมล้ำ 2.ขจัดคอร์รัปชั่น 3.กระจายอำนาจและทรัพยากร 4.วิธีการเลือกตั้ง การเข้าสู่อำนาจ 5.พัฒนาศักยภาพมนุษย์ 6.เพิ่มผลิตภาพโดยรวม 7.กระบวนการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ (อ้างอิงจากhttps://www.facebook.com/banyong.pongpanich/posts/198925906977383 )

ไม่กี่วันก่อน ผมมีโอกาสได้เข้าไปนั่งเป็นเด็กหลังห้อง (ผู้สังเกตการณ์) เพื่อฟังคนกลุ่มหนึ่งซึ่งห่วงใยประเทศ ไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นในบ้านเมือง ประชุมกันเพื่อช่วยกันระดมสมองหาทางออกจากวิกฤตที่กำลังเกิดขึ้น ในห้องนั้นมีทั้งนักวิชาการ เอ็นจีโอ ตัวแทนภาคประชาชน ซึ่งมีทั้งคนที่ถูกสังคมมองว่าเป็นแดงและเป็นเหลือง (ทั้งที่เขาอาจไม่ได้สังกัดสีใด) แน่นอนว่า ความเห็นของคนทั้งหมดย่อมไม่ตรงกัน แต่ละคน แต่ละกลุ่ม พอจะเป็นตัวแทนความคิดของคนในสังคมกลุ่มต่างๆ ได้จำนวนหนึ่ง ข้อแตกต่างจากการถกเถียงของผู้คนในสังคมก็คือ ในห้องนั้นเริ่มต้นการพูดคุยด้วยการตั้งธงว่า "มาดูซิว่า เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม"

นั่นย่อมหมายถึง ถ้าหากมีสิ่งที่เห็นไม่ตรงกัน แต่ละฝ่ายจะพูดคุยเพื่อ "ยอม" ให้กันในบางจุด ในบางรายละเอียด ได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

แน่นอนครับ ว่าการพูดคุยของคนที่มีความเห็นแตกต่างกันย่อมไม่ง่าย แต่สิ่งที่ทำให้การพูดคุยในห้องนี้ง่ายขึ้นคือ "เจตนา" ของการพูดคุยกัน นั่นคือ "การหลีกเลี่ยงความรุนแรงในทุกรณี" ทุกคนในห้องเห็นตรงกันว่า ไม่อยากให้บ้านเมืองของเราต้องเดินไปถึงทางตัน และการปะทะที่รุนแรง

จึงตั้งธงไว้ที่การ "แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง" เพื่อหาทางออก

ข้อเสนอที่ได้จากความคิดเห็นของทุกคนในห้องประชุมได้แถลงออกมาแล้วในนามของ "เครือข่าย 2 เอา 2 ไม่เอา" ซึ่งทุกคนน่าจะได้รับฟังผ่านการแถลงข่าวไปแล้ว ในมุมของผมเอง การได้ไปนั่งฟังผู้มีเหตุมีผลถกกันในวันนั้นนับเป็นประสบการณ์ที่มีค่ายิ่ง ทำให้ได้คิดอะไรมากมาย จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

...

สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากห้องประชุม และคิดว่า เราสามารถนำมาปรับใช้เพื่อหารือกันได้ในสังคมวงกว้าง ทั้งในสเกลใหญ่ระดับสังคมผ่านสื่อต่างๆ และในสเกลอย่างในกลุ่มเพื่อนหรือในครอบครัวก็ตาม มีดังต่อไปนี้ครับ

1. เราสามารถตกลงร่วมกันก่อนได้ไหมว่า เราเอาอะไร และเราไม่เอาอะไร สำหรับผม ผมไม่เอาอำนาจนอกระบบ ไม่เอารัฐประหาร ไม่เอาการปราบปรามที่รุนแรงโดยรัฐบาล สรุปว่า ไม่เอาความรุนแรงทุกรูปแบบ

2. เราเริ่มต้นตกลงกันก่อนได้ไหมว่า เรายังยึดหลักประชาธิปไตย เราให้ความสำคัญกับทุกเสียงเท่าเทียมกัน ไม่มีกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเสียงดังกว่า ไม่มีกลุ่มใดสามารถตั้ง "สภาประชาชน" ขึ้นมาได้ โดยที่ไม่ผ่านกระบวนการลงคะแนนจากคนทั้งประเทศ หากตกลงกันเช่นนี้ เราก็จะขีดเส้นเริ่มต้นได้ว่า เราจะปฏิรูป "ในระบบ" และ "ในกติกา"

3. สำหรับข้อถกเถียงว่า จะเลือกตั้งก่อนหรือปฏิรูปก่อน เราสามารถทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูปได้หรือไม่ คือไม่ได้ปฏิเสธหรือขัดขวางการเลือกตั้ง แต่กดดันนักเมืองให้รับฟังข้อเสนอการปฏิรูปจากกลุ่มต่างๆ หรือเสนอนโยบายเพื่อการปฏิรูปแล้วให้ประชาชนเลือกว่าชอบของพรรคใด (ซึ่งคงจะดีถ้าประชาธิปัตย์ลงเลือกตั้งและร่วมเสนอด้วย) หรือกระทั่งทำสัญญาประชาคมว่า เมื่อเลือกตั้งเข้ามาแล้วคุณต้องทำหน้าที่ปฏิรูปตามที่สัญญาไว้ หากไม่ทำก็เท่ากับทรยศประชาชนที่เลือกคุณเข้ามา

4. เราจำเป็นต้องเปิดพื้นที่ให้กับความคิดที่แตกต่างได้แสดงตัว เพื่อหาทางออกอื่นๆ และส่งเสียงอื่นๆ บ้าง โดยไม่รีบ "พิพากษา" หรือ "ป้ายสี" ให้คนที่ออกมาแสดงตัวกลายเป็นเพียงหนึ่งในขั้วความขัดแย้ง เช่น กิจกรรมจุดเทียนหรือปล่อยลูกโป่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "แดงแปลงกาย" ทั้งที่ในคนจำนวนนั้นอาจมีทั้งแดง ทั้งไม่แดง ซึ่งการผลักคนที่เห็นต่างจากตนเองไปเป็นฝั่งตรงข้ามตลอดเวลาเช่นนี้ เป็นการมองโลกแบบทวิลักษณ์ "ไม่เป็นพวกฉันต้องเป็นพวกมัน" ซึ่งยิ่งเพิ่มความรู้สึก "พวกกู-พวงมึง" มากยิ่งขึ้น จนเราไม่คิดจะมองหา "จุดร่วม" ของเรากับคนอื่นๆ ที่หลากหลายไปกว่าชื่อเรียกแคบๆ เหล่านั้นอย่าง แดง เหลือง สลิ่ม แมลงสาบ ควาย ฯลฯ

การพิพากษาเช่นนี้ ทำให้เราไม่ได้ยินเสียงของคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะหลายคนที่เป็น "พลังเงียบ" ไม่กล้าแสดงตัว เพราะพอแสดงความคิดเห็นที่ไม่ตรงใจ "มวลมหาประชาชน" ก็อาจจะถูกพิพากษาว่าเป็นอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งที่เขาอาจจะไม่เห็นด้วยทั้งกับนกหวีดและเพื่อไทยก็เป็นได้ เช่นกันกับที่เขาอาจจะมีบางส่วนที่เห็นด้วยกับชาวนกหวีด เช่น เห็นด้วยกับข้อเรียกร้อง แต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการเรียกร้อง ฯลฯ

ผมเชื่อว่ายังมีคนกลุ่มนี้อีกเป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าการเปิดพื้นที่ให้ได้ยินเสียงของคนกลุ่มนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพื่อส่งสัญญาณว่า ยังมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการเดินหน้าเพื่อนำไปสู่ทางตันของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง และการรัฐประหาร

หากลดน้ำเสียงลักษณะที่ว่า "ไม่ใช่กู มึงก็เป็นพวกมัน" ลดบ้าง เราจะได้ยินเสียงกลางๆ ที่ยังเชื่อในระบบและกติกาดังขึ้น ซึ่งในระยะยาวนั้นน่าจะเป็นข้อดี เราควรสลายขั้วและสลายวิธีการมองเพื่อนร่วมสังคมแบบ "ไม่แดง มึงก็เหลือง" หรือ "ไม่เหลือง มึงก็แดง" ได้หรือยัง เพราะบางที คนที่ถูกป้ายสีว่าแดงหรือเหลืองก็มีความคิดตรงกันในหลายเรื่อง แต่ทันทีที่ถูกขีดเส้นจากการกระทำเพียงครั้งเดียวหรือไม่กี่ครั้ง เราก็เลิกฟังกันไปแล้ว

คนที่ถูกมองว่าเหลือง ก็ใช่ว่าจะไม่เอาประชาธิปไตย
คนที่ถูกมองว่าแดง ก็ใช่ว่าจะเอาคอร์รัปชั่น
อย่างน้อยก็ไม่ใช่ทุกคน หากเราไม่เรียกกันว่าสีนั้นสีนี้ เราก็จะเห็นว่า บางครั้งความคิดความเห็นของแต่ละคนไม่ต่างกันมากนัก แค่อาจให้น้ำหนักไม่เท่ากัน ซึ่งก็แลกเปลี่ยนกันได้มิใช่หรือ

แน่นอนว่า เดินกันมาถึงจุดนี้ คงไม่มีใครกล้าฝันถึงสังคมที่ปราศจากความขัดแย้งอีกต่อไป แต่เราสามารถขัดแย้งกันอย่างให้เกียรติกันได้ เคารพในความคิด และในสถานะความเป็นคนเหมือนกันของอีกฝ่าย เถียงกันด้วยเหตุผล ไม่ก่นด่าคนที่ไม่เหมือนเราอย่างดูถูกเหยียดหยาม เพราะนั่นยิ่งทำให้เราคุยกันไม่ได้ เราเกลียดกัน และที่แย่ที่สุดคือ ไม่มีใครกล้าพูดความเห็นต่าง ไม่มีใครอยากแสดงความคิด ซึ่งนั่นจะทำให้เรากลายเป็นสังคมประชาธิปไตยที่พิการ ไม่มีความเห็นที่หลากหลายอย่างที่ควรจะเป็น ทั้งที่การแสดงความคิดเห็นของแต่ละคนนั้นเป็นสิทธิและเสรีภาพที่พึงจะมีในสังคมประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นว่า เราสามารถพูดได้ตาม "กฎหมาย" แต่พูดไม่ได้ทาง "วัฒนธรรม" เพราะคนจำนวนหนึ่งในสังคมไม่ยอมรับความเห็นต่าง และผลักให้ไปอยู่ฝ่ายตรงข้ามเสียจนไม่กล้าพูด ซึ่งความกัดดันหรือการควบคุมทางสังคมแบบนี้ บางครั้งส่งผลแรงไม่น้อยไปกว่ากฎหมายเลย

หากเราเป็นสังคมประชาธิปไตยจริง ทุกความคิดต้องมีสิทธิส่งเสียง และต้องได้รับการเคารพในฐานะความคิดหนึ่ง เท่ากับความคิดของทุกคนมิใช่หรือ และไม่ใช่สิ่งนี้หรอกหรือที่ทำให้สังคมประชาธิปไตยมีคุณค่าและงดงาม--ความหลากหลายทางความคิด และการอดทนกับความคิดที่แตกต่าง

...

ในวันที่ 13 มกราคม แม้ลุงกำนันจะยืนยันเดินหน้าปิดกรุงเทพฯ อย่างน้อยผมก็ขอใช้สิทธิ์ในการส่งเสียงเล็กๆ ของผมว่า

1. ผมอยากให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป และเราจะใช้ทั้งพลังจากมวลมหาประชาชน พลังเงียบ รวมทั้งพลังจากคนที่เลือกรัฐบาลใหม่เข้าไป ช่วยกันกดดันให้เดินหน้าสู่การปฏิรูป (ในวงเล็บว่า การปฏิรูปที่สังคมได้ประโยชน์ และเกิดขึ้นจากข้อเสนอของประชาชนทุกภาคส่วน) และผมจะรอใช้สิทธิ์ของผมในวันเลือกตั้งครับ

2. ผมไม่สนับสนุนการทำรัฐประหาร และไม่สนับสนุนการปราบปรามที่รุนแรงจากทางฝั่งเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผมคิดว่าทุกฝ่ายไม่ควรเดินหน้าไปสู่จุดที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการเกิดการปะทะ

3. ผมไม่สนับสนุนรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งแล้วอ้างเสียงข้างมากมาสร้างความชอบธรรมให้กับทุกอย่างที่ตัวเองทำ ไม่ว่าจะเป็นการทุจริตหรือนโยบายที่ล้มเหลวแล้วดันทุรังเดินหน้าต่อไป ซึ่งคงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่ตื่นตัวแล้ว ในการช่วยตรวจสอบรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลที่เราได้ลงคะแนนให้ หรือเราไม่ได้ลงคะแนนให้ก็ตาม ซึ่งผมคิดว่า เราเดินมาสู่จุดที่พอจะให้ความหวังกับพลังตรวจสอบของประชาชนได้ไม่น้อยแล้วนะครับ

4. เป็นไปได้ไหมว่า เราจะค่อยๆ ถอนตัวออกจากการเป็น "กองเชียร์" พรรคการเมือง มาสู่การเป็นพลเมืองด้วยกัน และเลิกป้ายสีให้คนที่คิดต่างต้องเป็นฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา หากเราเป็นพลเมืองด้วยกัน เราน่าจะได้พลังพลเมืองที่เข้มแข็งเพื่อตรวจสอบผู้มีอำนาจ/นักการเมืองทั้งหลาย แทนที่จะแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ซึ่งเข้าทางนักการเมือง เพราะยิ่งมีมวลชนสนับสนุน เขาก็ยิ่งเข้มแข็ง แต่ถ้าเราด่าฝ่ายที่เราเลือกเท่าๆ กับฝ่ายที่เราไม่ได้เลือก เห็นความผิดของฝ่ายที่เราเลือกเท่าๆ กับที่เห็นความผิดของฝ่ายตรงข้าม นักการเมืองไม่ว่าพรรคไหนก็น่าจะยิ่งต้อง "ดูแลพฤติกรรม" ของตัวเองมากขึ้น ไม่ว่าเขาจะเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน เพราะพอเราเป็นกองเชียร์ของพรรคการเมือง เราก็ได้เห็นพรรคการเมืองแต่ละพรรคทำพฤติกรรมน่ารังเกียจให้เห็นโดยไม่สนใจประชาชน เพราะเขามั่นใจว่า ยังไงกองเชียร์เขาก็เกลียดอีกฝ่ายมากกว่าพฤติกรรมห่วยๆ ของพรรคตัวเอง เลยกลายเป็นว่าเราต้องอยู่กับปิศาลสองตนที่ไม่คิดเปลี่ยนพฤติกรรมของตัวเอง เพราะมั่นใจในความทุเรศของฝ่ายตรงข้ามว่าจะมีมากกว่า

ดูเหมือนเรากำลังยืนอยู่บนทางแยก ระหว่างการเดินหน้าไปตามเส้นทางประชาธิปไตย ตรวจสอบ ส่งเสียง ยอมรับฟัง พูดคุย เคารพกติกา เปิดพื้นที่ให้ความหลากหลาย ประชาชนเข้มแข็ง และเดินหน้าปฏิรูปเพื่อประเทศ กับการถอยหลังไปสู่สังคมที่ไม่เคารพกติกา (อาจจะรัฐประหาร) กำจัดคนคิดต่าง ดูถูก เลิกคบ ทะเลาะ ลงไม้ลงมือ เกลียดชัง แตกแยก และผู้มีอำนาจเข้มแข็ง (ทั้งนี้ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นได้จากทุกฝ่าย)

หากเราเชื่อในพลังตรวจสอบ พลังกดดันของประชาชน ซึ่งอยู่ในทีม "พลเมือง" ด้วยกัน ผมคิดว่าไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องรังเกียจการเลือกตั้งเพื่อการปฏิรูป แน่นอนครับ นักการเมืองนั้นอาจไม่น่าเชื่อถือสักเท่าไหร่ แต่นักการเมืองก็เป็นคน ที่ต้องคิดและปฏิบัติตามกระแสของสังคม

คำถามจากเพื่อนๆ ที่เป่านกหวีดคือ "มึงจะมั่นใจได้ยังไงว่า มันจะเข้าไปปฏิรูปจริงๆ เดี๋ยวมันก็อ้างเสียงข้างมาก แล้วก็โยนแผนปฏิรูปทิ้ง" ซึ่งก็คล้ายๆ กับหลายอย่างที่ลุงกำนันเดินหน้าปฏิรูปได้ตั้งแต่ตอนเป็นรัฐบาล แต่ก็ไม่ทำ

ผมไม่มีคำตอบให้กับคำถามของเพื่อน ผมไม่รู้ว่าเราจะมั่นใจได้อย่างไร แหม ใครจะไปมั่นใจนักการเมืองผู้มีผลประโยชน์ส่วนตัวเต็มไม้เต็มมือไปหมด ทั้งที่ดิน เงินทอง มรดก อำนาจ ใครจะอยากกระจายมันออกไปให้คนอื่น หรือเกลี่ยให้เท่าเทียมกันมากขึ้น ผมว่าสิ่งที่พอจะมั่นใจได้คือ พลังการตรวจสอบของพวกเรานี่แหละ ซึ่งคงต้องเริ่มกดดันพรรคการเมืองต่างๆ ตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่เราได้เห็นการปฏิรูปอย่างแท้จริง

ผมจะไปเลือกตั้ง และผมก็จะเกาะติดรอดูการปฏิรูปจากรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหาร ผมเชื่อว่า เราสามารถปฏิรูปได้ด้วยการใช้พลังของประชาชนกดดัน ในรูปแบบที่อยู่ที่กติกา อธิบายได้ และนับทุกเสียงในประเทศ

5. สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ข้อสุดท้ายจากการได้นั่งฟังผู้รู้ทั้งหลายในห้องประชุมวันนั้นก็คือ แม้ว่าเราจะคิดต่างแค่ไหน หากเราตั้งธงก่อนว่า เราปรารถนาดีต่อประเทศชาติจริงๆ ไม่เอาแต่ใจ ไม่อยากให้ต้องเกิดเรื่องแย่ๆ ขึ้น เราพอจะมี "จุดร่วมต่ำสุด" ที่ยอมรับร่วมกันได้มาก-น้อยแค่ไหน ในห้องประชุมวันนั้น ผมเห็นการโต้แย้ง เห็นการยอม เห็นการถอย ไม่มีใครได้ทั้งหมด และไม่มีใครเสียทั้งหมด ไม่มีใครชนะทั้งหมด ไม่มีใครแพ้ทั้งหมด ผลลัพธ์เช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้

หากฝ่ายใดคิดที่จะชนะทั้งหมด และผลักให้อีกฝ่ายแพ้ทั้งหมด ก็น่าตั้งคำถามเหมือนกันว่า ฝ่ายที่คิดเช่นนั้นหวังดีกับประเทศชาติจริงหรือ แล้วคุณจะเอาคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นพี่น้องร่วมชาติกับคุณไปไว้ที่ไหน

ทั้งหมดทั้งมวลที่เขียนมา เป็นความคิดที่ได้มาจากการฟังผู้รู้ในห้องประชุมวันนั้นถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน และนำมาขบคิดเองอีกทีหนึ่ง เพื่อสรุปจุดยืนของตัวเอง ผมเชื่อว่าหลายคนก็ฟังความเห็นและข้อมูลมามากมาย ทุกคนล้วนมีความคิดเห็นของตัวเองทั้งนั้น อยู่ที่จะพูดออกมาหรือแสดงออกมาหรือเปล่า

ผมยังเชื่อว่า มีอีกหลายเสียงที่เป็น "เสียงเงียบ" ยังมีคนที่ไม่เอาความรุนแรง ไม่เอารัฐประหาร และเชื่อว่าการเลือกตั้งนำไปสู่การปฏิรูปได้ และผมคิดว่าอาจจะถึงเวลาแล้ว ที่ "เสียงเงียบ" ทั้งหลายต้องแสดงตัวออกมาบ้าง ตามเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เพราะมันอาจจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ รวมถึงพี่น้องมวลมหาประชาชนที่อาจจะคิดเห็นไม่ได้ต่างกันมากนัก ก็น่าจะส่งเสียงในฐานะปัจเจกได้ด้วยเช่นกัน ผมเชื่อว่าพี่ๆ น้องๆ น้าๆ อาๆ ไม่ได้เห็นด้วยกับลุงกำนันไปเสียทุกอย่างหรอก ใช่ไหมครับ

และถ้าเสียงจากผู้คนในกลุ่มต่างๆ ดังขึ้นมามากพอ เราก็จะเห็นความหลากหลายของคนในสังคม ไม่มีใครป้ายสีใครได้ง่ายๆ แล้วคนก็จะกล้าแสดงความคิดเห็นกันอย่างเสรีมากขึ้น โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องผลักไปอยู่ฝั่งไหน (ซึ่งผมว่าก็มีคนผลักอยู่ดีนั่นแหละ 555 แต่ถึงตอนนั้น การผลักคนอื่นไปยืนฝั่งตรงข้ามอาจจะกลายเป็นเรื่องตลกไปแล้วก็ได้)

หากเราคิดตรงกัน ถ้าเราพอจะมี "จุดร่วม" ตรงกันอยู่บ้าง ฝากส่งเสียง และแชร์ความคิดหรือข้อความออกไปเพื่อร่วมกันเดินหน้าปฏิรูปในระบบประชาธิปไตยไปด้วยกัน

เชื่อว่า ไม่ได้มีแค่ผมที่คิดเช่นนี้

ส่วนพี่ๆ เพื่อนๆ ที่เชื่อมั่นในแนวทางอื่น ผมเคารพการตัดสินใจ ความคิด และการกระทำของทุกคนครับ แค่อยากชวนมาร่วมกันคิดว่า ในความเห็นที่แตกต่างกันนั้น เราพอจะมีอะไรที่เห็นตรงกันบ้างไหม หากเห็นต่างก็อยากชวนมาแลกเปลี่ยนความคิดกันด้วยเหตุด้วยผล ไม่มีประโยชน์ที่จะก่นด่ากันด้วยอารมณ์หรือผลักคนที่คิดต่างไปเป็นฝ่ายนั้นฝ่ายนี้ ถ้าเราปรารถนาดีกับสังคมที่เราอยู่ร่วมกันจริงๆ เราน่าจะหันมาช่วยกันลดอุณหภูมิ และถกเถียงกันอย่างใจเย็นด้วยเหตุด้วยผลมากกว่าอารมณ์มิใช่หรือ สุดท้ายแล้ว ทุกคนย่อมสามารถแสดงออกตามเสรีภาพในสิ่งที่ตัวเองเชื่อ ข้อเขียนนี้ของผมก็ขออนุญาตใช้สิทธินั้นเช่นกันครับ แม้เราคิดไม่ตรงกัน แต่เราก็คุยกันได้อย่างสร้างสรรค์ ผมเชื่อเช่นนั้นเสมอ

ด้วยความเคารพในทุกความคิดเห็นครับ
///
หมายเหตุ : "นิ้วกลม" หรือ นายสราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดังระดับประเทศ ขวัญใจคนรุ่นใหม่ เขียนผ่านเฟซบุ๊ก http://www.facebook.com/Roundfinger  แสดงทัศนะต่อวิกฤตการเมืองที่กำลังเกิดขึ้น
16

ไม่มีความคิดเห็น: