PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ว่าด้วยรัฐบาลหลังเลือกตั้ง

ว่าด้วยรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
โดย สิริอัญญา 
วันอังคารที่ 11 ธันวาคม 2561

มีสถานการณ์สำคัญปรากฏขึ้นในทางการเมืองของประเทศไทยสองเรื่อง ที่จำเป็นจะต้องตั้งข้อสังเกตและพินิจพิเคราะห์ให้จงดี เพื่อจะได้เข้าใจความเป็นไปในบ้านเมืองของเราให้ถูกต้องถ่องแท้ 

เนื่องเพราะการเมืองไทยในปัจจุบันนั้นไม่เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว เป็นการเมืองในสภาพที่ประชาชนชาวไทยเข้าถึงโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวางทั่วประเทศ ทำให้ความนิยมชมชอบหรือความชิงชังรังเกียจทางการเมืองทั้งต่อพรรคการเมืองและนักการเมืองเปลี่ยนแปลงไปอย่างลึกซึ้ง 

พลังของโซเชียลมีเดียได้พิสูจน์ตนเองว่าสามารถพลิกผันการเลือกตั้งได้ชนิดฟ้าถล่มแผ่นดินทลายมาแล้ว ไม่ว่าในสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และไต้หวัน ซึ่งผู้ถืออำนาจรัฐได้ปราชัยให้แก่คู่แข่งอย่างชนิดพลิกล็อค และคาดคิดไม่ถึงที่ความเหนือกว่าทั่วด้านกลับตกเป็นฝ่ายปราชัยอย่างยับเยิน 

สถานการณ์สองอย่างที่เกิดขึ้นได้แก่ 

ประการแรก การแถลงของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะมีขึ้นหลังเลือกตั้ง ซึ่งทำให้เรื่องนี้มีความชัดเจนเป็นครั้งแรก และมีนัยยะที่สำคัญสองเรื่องคือ 

เรื่องแรก รัฐบาลหลังเลือกตั้งคือรัฐบาลที่จะสนองงานการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ซึ่งเป็นพระราชพิธีสำคัญที่สุดพิธีหนึ่งของสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักพระราชวัง และไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล โดยรัฐบาลมีหน้าที่ในการสนองงานเพื่อให้การทั้งหลายได้เป็นไปตามโบราณราชประเพณี และเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่ของราชอาณาจักรไทยและพระบรมราชจักรีวงศ์ 

ดังนั้นใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศจะต้องพินิจไตร่ตรองให้จงดี เพื่อที่จะได้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่มาสนองงานสำคัญของสถาบันพระมหากษัตริย์ในมงคลวโรกาสอันสำคัญยิ่งนี้ 

เรื่องที่สอง จะต้องคำนึงถึงผู้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีความเป็นไทแก่ตัว มีสติปัญญาความสามารถและมีศักยภาพที่จะทำให้การพระราชพิธีครั้งนี้ยิ่งใหญ่สมพระเกียรติ สามารถรักษาดุลความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทุกฝ่ายได้อย่างดียิ่ง ซึ่งจะเป็นโอกาสสำคัญในการเชิดชูประเทศไทยของเราให้ยิ่งใหญ่เด่นเป็นสง่าในสายตาชาวโลก และในสถานการณ์ที่ประเทศไทยเป็นประธานอาเซียนด้วย 

ดังนั้นประชาชนชาวไทยทุกคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งจึงต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ จะต้องตั้งความกตัญญูรู้คุณแผ่นดินและก้าวข้ามพ้นความขัดแย้ง ความชอบ ความชังส่วนบุคคล โดยถือผลประโยชน์แห่งชาติเป็นที่ตั้ง ดังนี้แล้วประเทศไทยก็จะมีเกียรติยศเกียรติศักดิ์ยิ่งใหญ่ในสายตาชาวโลกสืบไป 

ประการที่สอง คือการแถลงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ก็อึมครึมกันอยู่ว่าจะยืนอยู่ข้างไหน เอาข้างไหน โดยล่าสุดนี้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ได้แถลงอย่างเป็นทางการว่าไม่เอาด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ และถ้าทีมเศรษฐกิจของพรรคพลังประชารัฐยังเป็นชุดเดิมก็ไม่มีทางที่จะร่วมงานกันได้ 

การแถลงดังกล่าวทำให้พรรคประชาธิปัตย์มีสถานะเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลทันที เพราะสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้จากผลโพลและกระแสทั้งหมดที่ออกมานั้นสามารถจัดก๊กการเมืองได้เป็น 3 ก๊ก และ 1 กลุ่ม คือ 

ก๊กแรก คือก๊กที่สนับสนุนพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี ได้แก่พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมพลังประชาชาติไทย พรรคประชาชนปฏิรูป ซึ่งทั้งสามพรรคนี้มีอดีต ส.ส. รวมกันประมาณ 85 คน โดยมีกลุ่มนายสมศักดิ์ เทพสุทิน เป็นขุนพลใหญ่ในการรณรงค์เลือกตั้งทั่วประเทศของพรรคพลังประชารัฐ 

ก๊กที่สอง คือก๊กที่ต่อต้านพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสนับสนุนนายทักษิณ ชินวัตร ได้แก่พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคประชาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคอนาคตใหม่ 

ก๊กที่สาม คือพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับพรรคเพื่อไทยมาตั้งแต่ต้น และวันนี้ก็แถลงไม่ร่วมด้วยกับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งก๊กนี้อาจจะรวมพรรคพลังธรรมใหม่ด้วยก็ได้ เพราะเคยประกาศไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจของ คสช. แต่ก็ปฏิเสธนายทักษิณ ชินวัตร 

กลุ่มที่สี่ ได้แก่พรรคซึ่งยังไม่ชัดเจนในทางการเมืองว่าจะเอาข้างไหน สนับสนุนใครกันแน่ ได้แก่พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา และพรรคชาติพัฒนา ซึ่งทั้งสามพรรคนี้เคยร่วมหัวจมท้ายกับพรรคพลังประชาชนและพรรคเพื่อไทยมายาวนานแล้ว 

ดังนั้นการกลับคืนสู่อำนาจนายกรัฐมนตรีและเป็นรัฐบาลของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงขึ้นอยู่กับเงื่อนไขสองประการสำคัญคือ 

ประการแรก ต้องได้รับคะแนนเสียงในการประชุมรัฐสภา ซึ่งมี ส.ว. 250 คน ร่วมลงคะแนนเสียงด้วย จำนวนไม่น้อยกว่า 376 เสียง จึงจะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ 

ประการที่สอง จะต้องมีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงจะสามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ นั่นคือจะต้องมีเสียงในสภาผู้แทนราษฎรเกิน 250 คน และปกติก็ต้องมีถึง 280 คนจึงจะเพียงพอต่อการปฏิบัติหน้าที่ 

ดังนั้นสิ่งที่จะชี้ขาดในการทำหน้าที่เป็นรัฐบาลอย่างสง่างามจึงอยู่ที่เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งแม้จะมี ส.ว.แต่งตั้งถึง 250 คน ก็มีอำนาจเฉพาะการเลือกนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่มีอำนาจที่จะประคองรัฐบาลให้ดำรงอยู่ได้ ถ้าหากมีเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎร 

นี่คือสิ่งที่น่าระทึกใจ และจะต้องจับตาดูหั่งเช้งของพรรคการเมืองต่าง ๆ ตั้งแต่วันปลดล็อคการเมืองเป็นต้นไปด้วย.

ไม่มีความคิดเห็น: