PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

(ข้อมูล)อนุกมธ ในกมธ.ยกร่างฯ11คณะ


วันที่ 13 พฤศจิกายน 2557
เผยชื่อ'ปธ.อนุกมธ.11คณะ'


“กมธ.ยกร่างรธน.” เผย “ชื่อ ปธ.อนุกมธ. 11 คณะ” มั่นใจส่งมอบร่าง รธน.ให้“สปช.”ได้ภายใน 17 เม.ย.58 ลั่นไม่ลากยาว
 
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมผ่านมติการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการด้านสารัตถะหรือเนื้อหาจำนวน 10 บวก 1 คณะ คือ 10 คณะเป็นเนื้อหาในรัฐธรรมนูญที่เริ่มดำเนินการทันที ส่วนอีกหนึ่งคณะเป็นการเตรียมการตรากฎหมายหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญด้วย โดยทั้ง 11 คณะประกอบด้วย

โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม วันนี้ได้รายชื่อคณะกรรมาธิการที่อาสาเป็นประธาน คือ คณะที่ 1 คือ อนุกรรมาธิการกรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ รับผิดชอบในการพิจารณาเกี่ยวกับภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวดสอง ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและส่วนที่สามหน้าที่พลเมือง มีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน สำหรับคณะที่สองเป็นคณะอนุกรรมาธิการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ รับผิดชอบพิจารณาศึกษา ภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน หมวดสอง ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง และส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมืองและส่วนที่ 5 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมีนายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธาน

นายคำนูญ กล่าวว่า คณะที่สามรับผิดชอบพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับ ภาคสองผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง ในหมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดี และผู้นำการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวดสาม รัฐสภา และหมวดสี่คณะรัฐมนตรี มีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน สำหรับคณะที่สี่ พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับภาคสอง หมวด 5 การเงิน การคลังและการงบประมาณของรัฐ มีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน ส่วนคณะที่ 5 ศึกษาเกี่ยวกับภาคสอง หมวดที่ 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและประชาชน มีนายปรีชา วัชราภัย เป็นประธาน

โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า คณะที่ 6 พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับภาคสอง หมวด 7 การกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น มีศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ เป็นประธาน ทั้งนี้คณะที่ 7 ศึกษาเกี่ยวกับภาคสาม นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ในหมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม มีนายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน สำหรับคณะที่ 8 ศึกษาเกี่ยวกับ ภาคสามสองเกี่ยวกับการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน

นายคำนูญ กล่าวว่า คณะที่ 9 พิจารณาศึกษาเกี่ยวกับภาคสี่ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง เฉพาะหมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม มีนายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธาน ส่วนคณะที่ 10 ศึกษาเกี่ยวกับภาคสี่ การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การสร้างความปรองดอง มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน ส่วนอีกหนึ่งคณะนั้น โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า คืออนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอแนะในการตรากฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มีนายเจษฏ์ โทณะวณิก เป็นประธาน
โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เมื่อได้คณะอนุกรรมาธิการทั้ง 11 คณะแล้วจะเปิดโอกาสให้ สปช.ส่งตัวแทนมาร่วมคณะละไม่เกิน 5 คน และจะให้มีสนช.ส่งตัวแทนได้ 1 คนต่อ 1 คณะ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามข้อบังคับคือมีจำนวนอนุกรรมาธิการฯแต่ละคณะไม่เกิน 15 คน ยกเว้นบางคณะที่มีความจำเป็นจะมีได้ไม่เกิน 21 คน โดยรายชื่อของคณะอนุกรรมาธิการฯทั้งหมด จะมีคำสั่งแต่งตั้งภายในวันศุกร์ที่ 14 พ.ย.หรือช้าที่สุดไม่เกินเช้าวันจันทร์ที่ 17 พ.ย.57 จากนั้นจะมีการประชุม

นายคำนูณ กล่าวว่า หลังจากที่รับฟังความเห็นพรรคการเมืองและกลุ่มการเมือง ซึ่งกำหนดไว้ในวันที่ 17-25 พ.ย.2557 แล้ว โดยอนุกรรมาธิการฯ 10 คณะจะพิจารณาเนื้อหาตั้งแต่สัปดาห์หน้า ก่อนจะนำข้อสรุปผลการรับฟังความเห็นเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ 26 พ.ย.57 จากนั้นในวันที่ 15-16 ธ.ค.น่าจะมีการพิจารณาในที่ประชุม สปช.และส่งข้อเสนอจาก สปช.ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 ธ.ค. และในวันที่ 20 ธ.ค. คณะกรรมาธิการยกร่างฯจะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญ โดยลงรายละเอียดเป็นรายมาตรา เพื่อส่งมอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ตามกรอบเวลาที่กำหนดในวันที่ 17 เม.ย.58 โดยมีความตั้งใจที่จะให้แล้วเสร็จก่อนสงกรานต์
“การร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกรอบเวลา เพราะเป็นบทบังคับของรัฐธรรมนูญ กรรมาธิการฯทั้ง 36 คน ไม่เอาชื่อเสียงมาทิ้งไว้ในชั้นนี้ รัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดีอีกเรื่องหนึ่งแต่ทำงานไม่ทันอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าฟ้าไม่ถล่มดินไม่ทลายรัฐธรรมนูญจะเสร็จภายในวันที่ 17 เม.ย.58 แม้ว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเปิดช่องให้มีการร่างใหม่ หากไม่เสร็จตามกรอบเวลา แต่ทุกคนมีเกียรติยศชื่อเสียง จึงขอให้ให้ความไว้วางใจต่อคนทำงานเพราะถ้าทำไม่เสร็จ จะถูกกล่าวหาว่าเป็นแผนที่จะลากยาว ย่อมทำให้สังคมไม่เกิดความสงบสุข และเชื่อว่าไม่ใช่ความปรารถนาของ คสช.เช่นเดียวกัน” โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: