PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560

สินบน 'โรลส์-รอยซ์'

บันลือโลกครับ!!!
สำนักงานปราบปรามการทุจริตของอังกฤษ (Serious Freud Office (SFO) ตีแผ่ว่า ได้ตรวจสอบ บริษัท โรลส์-รอยซ์ ในข้อหาคบคิดทุจริต ตกแต่งบัญชี และไม่มีการป้องกันการจ่ายสินบนในการทำธุรกิจ
เป็นการตรวจสอบครั้งใหญ่ที่สุดของ SFO ซึ่งต้องใช้เงินดำเนินการถึง ๑๓ ล้านปอนด์ หรือกว่า ๕๖๕ ล้านบาท
ด้านกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐ แถลงเมื่อวันที่ ๑๗ มกราคมที่ผ่านมาว่า บริษัท โรลส์-รอยซ์ ยอมรับว่าได้จ่ายเงินให้แก่เจ้าหน้าที่ของบริษัทพลังงานของรัฐในหลายประเทศ
เช่น คาซัคสถาน, บราซิล, อาเซอร์ไบจาน, แองโกลา, อิรัก, จีน และไทย
โฟกัสมาที่ประเทศไทย การซื้อขายเครื่องยนต์รุ่น T-๘๐๐ เพื่อติดตั้งในเครื่องบินรุ่นโบอิ้ง ๗๗๗ ของการบินไทยมีการจ่ายเงินสินบน จำนวน ๓ ครั้ง รวม ๑,๒๒๓ ล้านบาท
ครั้งที่ ๑ เกิดขึ้นในการจัดซื้อ ระหว่างวันที่ ๑ มิ.ย.๒๕๓๔ - ๓๐ มิ.ย.๒๕๓๕
โรลส์-รอยซ์ จ่ายค่านายหน้าคนกลางให้หน่วยงานหนึ่งเป็นเงิน ๑๘.๘ ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๖๖๓ ล้านบาท) และเงินดังกล่าวมีการนำไปให้กับเจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย เพื่อช่วยให้โรลส์-รอยซ์ ชนะการเสนอขายดังกล่าว
ครั้งที่ ๒ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ มี.ค.๒๕๓๕ - ๓๑ มี.ค.๒๕๔๐
โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงิน ๑๐.๓๘ ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๓๓๖ ล้านบาท) ให้นายหน้าคนกลาง ซึ่งนำเงินดังกล่าวบางส่วนไปให้พนักงานการบินไทย
และครั้งที่ ๓ เกิดขึ้นระหว่างวันที่ ๑ เม.ย.๒๕๔๗ - ๒๘ ก.พ.๒๕๔๘
โรลส์-รอยซ์ จ่ายเงินให้กับคนกลาง ๗.๒ ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว ๒๕๔ ล้านบาท) ซึ่งมีเงินบางส่วนตกไปสู่เจ้าหน้าที่รัฐและพนักงานของการบินไทย
ใครงาบไปบ้าง กลุ่มบุคคลที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการจ่ายเงินสินบนเป็นพวกไหน จับข่าวสารจากหลายสำนักมายำรวมกัน ก็พอเห็นเค้าลางครับ
กลุ่มที่ได้เงินจากการจ่ายสินบนครั้งที่ ๑ ประกอบด้วย ๑.นายหน้าคนกลาง ๒.หน่วยงานแห่งหนึ่ง ๓.เจ้าหน้าที่รัฐ ๔.พนักงานการบินไทย
จ่ายสินบนครั้งที่ ๒ มี ๑.นายหน้าคนกลาง ๒.พนักงานการบินไทย
และการจ่ายสินบนครั้งที่ ๓ กลุ่มที่รับเงินไปมี ๑.นายหน้าคนกลาง ๒.เจ้าหน้าที่รัฐ ๓.พนักงานการบินไทย
ทีนี้ไปดูว่า เจ้าหน้าที่รัฐ พนักงานการบินไทย ในช่วงเวลาที่ถูกระบุถึงนั้น ใครอยู่ในตำแหน่งหน้าที่ใดบ้าง แบ่งเป็น ๓ ช่วงเวลา
ช่วงแรก
นายวีระ กิจจาทร เป็นดีดีการบินไทย ปี ๒๕๓๑-๒๕๓๕
พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ด ปี ๒๕๓๑-๒๕๓๒
พล.อ.เกษตร โรจนนิล ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ด ปี ๒๕๓๒-๒๕๓๕
ช่วงที่สอง
นายฉัตรชัย บุญญะอนันต์ เป็นดีดีการบินไทย ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๖
พล.อ.อ.กันต์ พิมานทิพย์ ผบ.ทอ. เป็นประธานบอร์ด ปี ๒๕๓๕-๒๕๓๖
นายธรรมนูญ หวั่งหลี เป็นดีดีการบินไทย ปี ๒๕๓๖-๒๕๔๓
พล.อ.อ.ม.ร.ว.ศิริพงษ์ ทองใหญ่ เป็นประธานบอร์ดการบินไทยตั้งแต่ปี ๒๕๓๖-๒๕๓๙
นายมหิดล จันทรางกูร ปลัดกระทรวงคมนาคม มาดำรงตำแหน่งประธานบอร์ดการบินไทย ช่วงระหว่างธันวาคม ๒๕๓๙ - พฤศจิกายน ๒๕๔๓
ช่วงที่สาม
นายกนก อภิรดี ดีดีการบินไทย ปี ๒๕๔๕-๒๕๔๙
นายทนง พิทยะ ประธานบอร์ด มิถุนายน ๒๕๔๕ - มีนาคม ๒๕๔๘
บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ฉะนั้นต้องไปดูด้วยว่า เจ้าหน้าที่รัฐอีกประเภทคือ รัฐมนตรีคมนาคมในช่วงเวลาดังกล่าวมีใครบ้าง
นายนุกูล ประจวบเหมาะ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ระหว่าง 2 มีนาคม ๒๕๓๔ - ๒๒ มีนาคม ๒๕๓๕
นายบรรหาร ศิลปอาชา ระหว่าง ๗ เมษายน๒๕๓๕ - ๙ มิถุนายน ๒๕๓๕
นายนุกูล ประจวบเหมาะ ระหว่าง ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๕ - ๒๒ กันยายน ๒๕๓๕
พันเอกวินัย สมพงษ์ ระหว่าง 23 กันยายน ๒๕๓๕ - ๒๕ ตุลาคม ๒๕๓๗
นายวิชิต สุรพงษ์ชัย ระหว่าง ๒๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๓๗ - ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๓๘
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ระหว่าง ๑๓ กรกฎาคม ๒๕๓๘ - ๒๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๙
นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ระหว่าง ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๙ - ๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๐
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ระหว่าง ๓ ตุลาคม ๒๕๔๕ - ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล ระหว่าง ๒ สิงหาคม ๒๕๔๘ - ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙
เบื้องต้น ไม่ได้หมายความว่าท่านเหล่านี้รับสินบนนะครับ
เพราะผลสอบไม่ได้ระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่ระดับไหน แต่เป็นข้อมูลให้รับรู้ว่า ณ ช่วงเวลาที่ว่านี้ ใครมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลงานการบินไทยบ้าง
จึงถือว่าทุกคนยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่
แต่คนโกงมีแน่!!!
แม้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เข้ามาดูเรื่องนี้แล้ว ก็ยังตอบยากครับว่า จะจับมือใครดมได้หรือไม่
ยกเว้นจะมีการเปิดรายชื่อโดย บริษัท โรลส์-รอยซ์
คอร์รัปชันเป็นประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาต่อเนื่อง เพราะคนโลภมันเยอะ!
หากจะปราบโกงกันจริงจัง บอร์ดการบินไทยชุดปัจจุบัน ท่านมีเรื่องต้องทำครับ
ใครคือนายหน้าคนกลางในแต่ละช่วงเวลา ซึ่งแน่นอนว่า...การบินไทยต้องรู้ เป็นหน้าที่ท่านต้องให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. และ สตง.
และนับจากนี้ไป การจัดซื้อไม่ควรผ่านคนกลางอีกต่อไป
ลองไปดูซิครับว่าสายการบินใหญ่ๆ เขาใช้วิธีไหน และเขาทำอย่างไรถึงได้ใสสะอาด ไม่มีเรื่องโกงมารบกวนใจ
อย่าลืมนะครับ บริษัท โรลส์-รอยซ์ ค้าขายกับสายการบินทั่วโลก แต่ที่มีปัญหาก็สายการบินประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องคอร์รัปชันทั้งนั้น
รวมไทยเราด้วย
โรลส์-รอยซ์ เข้ามาตั้งสำนักงานส่วนภูมิภาคที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ ๒๕๓๒ เสียด้วยซ้ำ ก็ยังมีความพยายามซื้อขายผ่านคนกลาง
ที่บ่นซื้อเครื่องบินแล้วทำให้ขาดทุนหนัก ก็ลองกลับไปพิจารณาดูว่า เงินหล่นไปที่ไหนบ้าง แล้วต้องแก้ไขอย่างไร
ไปดูสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันไทยปี ๕๙ กันหน่อยครับ
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดตัวเลขมาวานนี้ (๑๙ มกราคม)
โดยภาพรวมแล้วถือว่าดีขึ้น และดีที่สุดในรอบ ๖ ปีที่ผ่านมา
พบว่ามีอัตราการจ่ายเงินใต้โต๊ะลดลง จากเดิมที่เคยจ่าย ๒๕-๓๕% คิดเป็นมูลค่ากว่า ๔๐๐,๐๐๐ ล้านบาท เหลือเพียง ๑๕% หรือ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท
นั่นทำให้รัฐบาลประหยัดงบประมาณรายจ่ายไปได้กว่า ๓๐๐,๐๐๐ ล้านบาท
ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เขาคำนวณว่าการลดเรียกเงินสินบนทุกๆ ๑% ส่งผลให้ลดการคอร์รัปชันลง ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท
จะชมรัฐบาล คสช.ว่าขจัดคอร์รัปชันได้ผล มันพูดไม่เต็มปากครับ
ใต้โต๊ะจาก ๓๕% มาเหลือ ๑๕% ลดลงก็จริง แต่ถามว่าน่าพอใจหรือไม่
๑๕% หรือ ๑๒๐,๐๐๐ ล้านบาท มันมหาศาลเกินไป
เป็นตัวเลขที่ไม่สามารถยอมรับได้ครับ
นี่ถ้าหยุดโกง ๕ ปี สามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงได้ครบทุกเส้นทาง เหนือ ใต้ ออก ตก มีใช้หมด
บอกตรงๆ ฟัง นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย แถลงแล้วอยากร้องไห้
"ปี ๕๘ รัฐบาลยังไม่ได้มีโครงการขนาดใหญ่ออกมา ขณะเดียวกันได้เริ่มต้นมีโครงการปราบปรามทุจริตต่างๆ ก็เหมือนหมูกลัวน้ำร้อน จึงหยุดพฤติกรรมทุจริตไปก่อน ต่อมาปี ๕๙ รัฐบาลเริ่มมีโครงการต่างๆ ออกมา ขณะที่หมูเริ่มคุ้นกับน้ำอุ่นแล้ว แต่ปี ๖๐ นี้ ดูเหมือนว่าหมูจะวิ่งสู้ฟัด เพื่อให้ได้งานต่างๆ ที่รัฐบาลกำลังทยอยออกมาในปีนี้”
นั่นซิครับ...เกรงว่าใต้โต๊ะที่ลดลงมามันเป็นแค่ปรากฏการณ์เทียมเท่านั้น
ของจริงกำลังจะกลับมา?.
ผักกาดหอม

ไม่มีความคิดเห็น: